สะพานแห่งกาลเวลา : โควิด กับ สัตว์เลี้ยง

(ภาพ-AFP)

สะพานแห่งกาลเวลา : โควิด กับ สัตว์เลี้ยง

จนถึงขณะนี้เรารู้ได้ชัดเจนในระดับหนึ่งแล้วว่า สัตว์เลี้ยงแสนรักของเราในบ้าน อย่างเช่น สุนัขและแมว สามารถติดเชื้อโควิด-19 ได้

ข้อเท็จจริงดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับผู้เลี้ยงสัตว์และคนรักสัตว์ทั้งหลายอยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดข่าวคราวเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงล่าสุดขึ้นที่ฮ่องกง เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ทางการสั่งการให้ฆ่าหนูแฮมสเตอร์และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็กๆ หลายพันตัว หลังจากพบว่าการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าเชื่อมโยงเข้ากับร้านขายสัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่ง

Advertisement

กรณีแฮมสเตอร์ที่ฮ่องกงทำให้ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เรื่อยมาจนถึงขณะนี้ เราพบว่ามีสัตว์อย่างน้อย 19 สปีชีส์ หรือ 19 ชนิด ในประเทศต่างๆ รวม 35 ประเทศที่พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ได้

ข้อมูลขององค์การอนามัยสัตว์โลก (โอไออี) ระบุไว้ว่า สัตว์เหล่านี้มีตั้งแต่สุนัข, แมว เรื่อยไปจนถึงสิงโต, กวางหางขาว (ไวท์-เทล เดียร์), สิงโต และกอริลลา

แต่กรณีแฮมสเตอร์เป็นเพียงกรณีที่ 2 เท่านั้นที่มีบันทึกไว้อย่างเป็นทางการว่า สัตว์เหล่านี้สามารถแพร่เชื้อโควิด-19 กลับมาสู่คนได้อีกครั้งหนึ่ง แล้วก็เป็นกรณีแรกที่พบการแพร่ระบาดในแวดวงค้าสัตว์เลี้ยงระหว่างประเทศ เนื่องจากแฮมสเตอร์ที่ฮ่องกงเป็นสัตว์เลี้ยงที่นำเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ในภาคพื้นยุโรป

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2020 หลายคนคงจำได้ว่าเกิดการระบาดของโควิด-19 ในหมู่ตัวมิงค์ที่เลี้ยงกันไว้เป็นฟาร์มในประเทศเดนมาร์ก จนเป็นเหตุให้ทางการเดนมาร์กต้องสั่งการให้ “ทำลายทิ้ง” ตัวมิงค์นับล้านๆ ตัว เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด

กระนั้นกรณีที่มีการตรวจยืนยันได้ว่า คนเราติดเชื้อจากการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อเหล่านี้กลับมีน้อยมาก มีที่ได้รับการยืนยันแล้วเพียงแค่ 1-2 กรณีอย่างที่ว่า

นักวิทยาศาสตร์ถึงได้ยอมรับว่า ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะประเมินว่า การที่สัตว์เลี้ยงติดเชื้อโควิดได้นั้นเป็นอันตรายต่อคนมากน้อยเพียงใด

นอกจากนั้นยังอธิบายได้ไม่เต็มปากเต็มคำนักว่า ทำไมสัตว์เลี้ยงบางชนิดถึงมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 จากคนได้มากกว่าชนิดอื่นๆ

สุเรช คูชิปูดี นักไวรัสวิทยาในสัตว์ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดในคนผ่านตัวรับของเซลล์ในร่างกายที่เรียกว่า ACE-2 (angiotensin-converting enzyme-2) ซึ่งอยู่บนเซลล์ในร่างกายคนเรา

ดังนั้น สัตว์ใดก็ตามที่มี ACE-2 ของเซลล์อยู่ด้วยย่อมมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 จากคนได้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ

ซึ่งช่วยให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่า สัตว์ชนิดไหนที่มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ในคนได้ โดยการที่เรารู้ว่าสัตว์ชนิดนั้นมีรีเซปเตอร์ ACE-2 หรือไม่

สัตว์ในวงศ์พังพอน (Mustelids) อย่าง พังพอน, นาก, มิงค์, ออตเตอร์, แบดเจอร์, วีเซลส์ และฟอร์เรตส์ จึงเสี่ยงติดเชื้อมากที่สุด เช่นเดียวกับน้องหมาและน้องแมวที่เลี้ยงอยู่ในบ้าน เพราะมีตัวรับเช่นเดียวกันกับคน

อย่างไรก็ตาม สุเรชตั้งข้อสังเกตว่า ยังคงมีปัจจัยอื่นที่เรายังไม่รู้ ซึ่งเป็นตัวกำหนดหรือชี้ขาดว่าสัตว์ตัวไหนสามารถติดเชื้อได้อยู่ด้วย ซึ่งทำให้แม้จะเป็นสัตว์ชนิดเดียวกันก็มีความเสี่ยงไม่เท่ากันอีกด้วย

กรณีในฮ่องกงแสดงให้เห็นปัจจัยนี้เด่นชัด เนื่องจากในร้านค้าสัตว์เลี้ยงเดียวกันนั้น ซีเรียนแฮมสเตอร์สามารถติดเชื้อเดลต้าได้ แต่แฮมสเตอร์แคระซึ่งเลี้ยงอยู่ติดกันในร้านกลับไม่ติดเชื้อ

สัตว์เลี้ยงอื่นๆ ในร้านไม่ว่าจะเป็นกระต่าย, ตัวคินคิลลา, หนู, และหนูตะเภา ที่เลี้ยงอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันกลับไม่ติดเชื้อเช่นเดียวกัน

สัตวแพทย์ คีธ แฮมิลตัน หัวหน้าทีมสัตวแพทย์ของโอไออี ถึงได้เตือนว่าบ้านไหนที่มีผู้ป่วยโควิดก็ควรระมัดระวัง ไม่ข้องแวะกับสัตว์เลี้ยงเป็นการชั่วคราวเป็นดีที่สุด

แฮมิลตันตั้งข้อสังเกตว่า สัตว์เลี้ยงในบ้านเมื่อติดเชื้อจะล้มป่วยนานพอๆ กับคนที่ติดเชื้อ แต่ด้วยขนาดปอดที่เล็กกว่า ปริมาณเชื้อมีน้อยกว่า จึงมีโอกาสแพร่เชื้อได้น้อยกว่าคน

แต่คูชิปูดีเตือนว่า อันตรายที่สุดที่จะเกิดขึ้นจากการที่คนแพร่เชื้อโควิดให้กับสัตว์ก็คือ การที่เชื้อสามารถแพร่วนเวียนอยู่ในกลุ่มสัตว์ จนเปิดโอกาสให้มันกลายพันธุ์ได้ แล้วแพร่กลับมาสู่คนอีกครั้งหนึ่ง

กรณีของสัตว์ป่าซึ่งควบคุมและกำจัดได้ยาก อย่างเช่นกรณีการพบการระบาดในหมู่กวางป่าหางขาวในแคนาดา ก่อให้เกิดความเสี่ยงนี้มากที่สุด

แต่หากเปรียบเทียบกันระหว่างคนกับสัตว์แล้ว จนถึงขณะนี้คนที่ติดเชื้อ เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อได้มากกว่าสัตว์ที่ติดเชื้อหลายเท่าตัวครับ

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image