วิธีลงทุนเพื่อสร้างจินตนาการและให้ความสุขแก่ประชาชน….ที่เกาหลีใต้ โดย สิริกร มณีรินทร์

ภาพปกติที่ Seoul Metropolitan Library (ภาพจาก http://blog.korea.net)

ชื่อของบทความนี้มาจากส่วนหนึ่งของ The Financial Times ฉบับวันที่ 28 มีนาคม 2557 ซึ่งเขียนเกี่ยวกับความกังวลของกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษกรณีเยาวชนในประเทศอ่านหนังสือน้อยลง เช่นเดียวกับเด็กทั่วไปในยุคนี้ที่ส่วนใหญ่ใช้เวลากับเกมส์ อินเตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย โดยระบุผลการวัดสมรรถนะการอ่านของเยาวชนอายุ 16-24 ปีใน 24 ประเทศ ซึ่งโออีซีดีประกาศล่าสุดเมื่อ 2556 ว่าเด็กวัยรุ่นจำนวนมากออกจากโรงเรียนโดยไม่สามารถอ่านเขียนได้ดี แต่สมรรถนะการอ่านของเยาวชนในเกาหลีใต้กลับติดอันดับที่สาม และตัวเลขมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ

ดังได้เกริ่นไว้แล้วว่าความสามารถในการอ่านของเด็กเกาหลีใต้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วเวลาข้ามวันเดียว แต่เป็นผลพวงจากนโยบายของรัฐบาลที่วางแผนพัฒนาระบบห้องสมุด รณรงค์ให้ประชาชนและเยาวชนเข้าห้องสมุดและส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจังต่อเนื่องมานานมากกว่า 10 ปี ตั้งแต่ปี 2546

การอ่านสำคัญอย่างไรสำหรับรัฐบาลเกาหลีใต้เล่า ฮา แจ วอล บุคลากรของกระทรวงวัฒนธรรมอธิบายเรื่องนี้ว่า “เราพยายามหาหลายๆ วิธีที่จะส่งเสริมการอ่าน เพราะว่าการอ่านหนังสือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ซึ่งเป็นรากฐานของ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ และทำให้วัฒนธรรมของเราตื่นตัวมีชีวิตขึ้นมา”

นักวิชาการไม่น้อยเขียนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการส่งเสริมการอ่านของเกาหลีใต้ ที่น่าสนใจมี ซุก ฮุน ลี ผู้อำนวยการหอสมุดเด็กและเยาวชนแห่งชาติเกาหลีใต้ ได้เสนอรายงานต่อที่ประชุม IFLA เมื่อ 2554 และจอง ซุง คิม แห่งมหาวิทยาลัย Keimyung ศึกษาเรื่อง “อดีตและอนาคตของห้องสมุดโรงเรียนเกาหลีใต้” ผู้เขียนขอสรุปภาพของวิธีการลงทุนเพื่อสร้างจินตนาการที่รัฐบาลเกาหลีใต้รุกทั้ง “หน้ากระดาน ทั้งระบบ” ด้วยนโยบาย กำกับด้วยกฎหมาย และวางแผนปฏิบัติการระยะยาวคู่ขนานกันที่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรม ดังนี้

Advertisement

พ.ศ.2533-2538 ขบวนการรักการอ่านซึ่งเริ่มมาก่อนหน้าแล้ว ได้เบ่งบานไปทั่วประเทศ ทำให้องค์กรไม่หวังกำไรที่ทำงานด้านห้องสมุดและการอ่านเกิดขึ้นต่อเนื่อง อาทิ สมาคมบรรณารักษ์แห่งเกาหลี สมาคมห้องสมุดขนาดเล็ก สมาคมห้องสมุดและวรรณกรรมเด็กแห่งกรุงโซล ฯลฯ ซึ่งล้วนทำกิจกรรมการอ่านอย่างเข้มแข็ง และผลักดันให้เปิดห้องสมุดขนาดเล็กทั่วประเทศมากมาย ที่สำคัญคือทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในระยะต่อมาหลายประการ อาทิ การปรับปรุงและออกกฎหมายห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่านหลายฉบับ

พ.ศ.2546 กระทรวงวัฒนธรรมฯ เริ่มแผนแม่บทพัฒนาระบบห้องสมุด 5 ปี (2546-2550) ครั้งที่ 1 วางแผนให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ กำหนดเป้าหมายว่า “ห้องสมุดจะเพิ่มพูนความภูมิใจของเกาหลี” มุ่งเพิ่มทั้งจำนวนห้องสมุด หนังสือและบรรณารักษ์เพื่อคุณภาพการบริการ และแน่นอนตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้เข้าใช้ห้องสมุด ในช่วงต้นประเดิมเงิน 552 หมื่นล้านวอนหรือ 1,656 พันล้านบาท เพื่อทำห้องสมุดขนาดใหญ่ 66 แห่ง ขนาดเล็ก 114 แห่ง วางเป้าระยะยาวว่าที่เคยมีห้องสมุดประชาชน 436 แห่ง ในปี พ.ศ.2544 เกาหลีจะมีห้องสมุดประชาชนขนาดใหญ่ 814 แห่ง และมีบรรณารักษ์ 3,470 คน เมื่อถึงปี พ.ศ.2554 งบประมาณที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาลท้องถิ่น ส่วนหนึ่งเป็นของส่วนกลางและเอกชนก็ร่วมสนับสนุน

ห้องสมุดแห่งชาติเกาหลีนั้น นอกจากมีหน้าที่เก็บรักษาหนังสือที่เป็นเอกสารมรดกของชาติ ยังมีภารกิจส่งเสริมสนับสนุนห้องสมุดประชาชนของท้องถิ่นทั่วประเทศ มีหลักสูตรหลากหลายสำหรับอบรมบรรณารักษ์ทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยมีผู้เข้าอบรมเฉลี่ยปีละมากกว่า 1,400 คน และยังมีบทบาทช่วยวางแผนสร้างบรรยากาศการอ่านระดับชาติด้วยกลยุทธ์ต่างๆ เช่นการจัดประกวดการอ่านรูปแบบต่างๆ ค่ายนักอ่านฤดูร้อน ฤดูหนาว เผยแพร่งานวิชาการเกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านต่างๆ แก่ผู้ที่สนใจ

Advertisement

ปีเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการเริ่มแผนแม่บทการฟื้นฟูห้องสมุดโรงเรียนระยะที่ 1 เป็นเวลา 5 ปีเช่นกัน นับเป็นแผนปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียนให้ทันสมัยและมีคุณภาพทั่วประเทศครั้งแรก ด้วยงบประมาณถึง 252 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการยกเครื่องห้องสมุดโรงเรียนทั้งระบบ ทั้งกายภาพ กำลังคน และให้เชื่อมโยงแนบแน่นไปกับการจัดการเรียนรู้ ดังนี้

“สร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม ห้องสมุดโรงเรียนให้น่าใช้ เพิ่มจำนวนหนังสือใหม่ทุกปี

“บูรณาการการใช้ห้องสมุดเข้ากับการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร กล่าวคือนักเรียนอ่านหนังสือในห้องสมุดในวิชาต่างๆ

“จัดหาอัตราบรรณารักษ์โรงเรียนที่เป็นมืออาชีพ อบรมให้ครูและบุคลากรโรงเรียนทำงานบริการในห้องสมุดได้

“ศึกษาการปรับปรุงและออกกฎหมายใหม่เพื่อปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียน

“สร้างบรรยากาศการอ่านทั้งที่บ้าน รร.อนุบาล โรงเรียนและชุมชน

นี่คือปีทองสำหรับคนรักการอ่านเกาหลีใต้ การรณรงค์ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านคึกคักครอบคลุมทุกวัย ทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ต้องโทษ หรือผู้อพยพ โครงการดีมีสีสันมากมายเริ่มในปีนี้ เช่น หนังสือเล่มแรก (Book Start) โครงการ “ห้องสมุดเด็กแห่งปาฏิหาริย์ Miracle Library” โดยมูลนิธิปฏิบัติการประชาชนเพื่อวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งเป็นตัวอย่างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างท้องถิ่น ชุมชนและเอกชน ได้สร้างและบริหารห้องสมุดสำหรับทารก ครอบครัวและเด็กเล็ก 11 แห่งทั่วประเทศ ล้วนเป็นห้องสมุดสนุก อบอุ่น และมีชีวิตด้วยการตกแต่งและกิจกรรมต่างๆ หรือ “หนึ่งเมือง หนังสือหนึ่งเล่ม” เชิญชวนชาวเมืองอ่านหนังสือเล่มเดียวกันแล้วนำมาคุยกัน ฯลฯ

พ.ศ.2549 ประกาศใช้กฎหมายสำคัญสองฉบับได้แก่

“พ.ร.บ.ส่งเสริมห้องสมุดและส่งเสริมการอ่าน (ปรับปรุงมา 11 ครั้ง ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ.2506) กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายห้องสมุดและข้อมูลแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของประธานาธิบดี มีหน้าที่กำกับดูแลแผนแม่บทการพัฒนาระบบห้องสมุดของประเทศ

“พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กำหนดให้รัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นวางกรอบแผนส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน 5 ปีต่อเนื่อง ซึ่งให้รวมทั้งการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการอ่าน การจัดหาหนังสือและสื่อ จัดการส่งเสริมการอ่านและบทบาทที่โรงเรียนทุกสังกัดตลอดจนภาคเอกชนพึงมีในการส่งเสริมการอ่าน

พ.ศ.2550 รัฐบาลประกาศแผนแม่บทการส่งเสริมอุตสาหกรรมการพิมพ์และอุตสาหกรรมความรู้ เป็นประเทศแรกในกลุ่มโออีซีดีที่วางแผน 5 ปีเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมการพิมพ์หนังสือคุณภาพ รวมทั้งสร้างสถานะผู้นำของโลกด้านสื่ออิเล็กโทรนิกส์ วางแผนให้ส่วนลดทางภาษีสำหรับผู้ซื้อหนังสือและให้ผู้จัดรายการต่างๆ เพิ่มเวลาที่มีสาระด้านหนังสือ ในปีเดียวกันนี้ รัฐบาลยังออกกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านซึ่งกำหนดให้กระทรวงวัฒนธรรมรับผิดชอบการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านเพิ่มขึ้น

พ.ศ.2551 เป็นปีที่น่าจะส่งผลใหญ่หลวงต่อการส่งเสริมนิสัยการรักการอ่าน วัยรุ่นและหนุ่มสาวตื่นเต้นไปกับสื่อมัลติมีเดียและอีบุ๊กส์ที่ห้องสมุดดิจิตอลแห่งชาติซึ่งเปิดบริการครั้งแรก พร้อมกันนี้กระทรวงศึกษาธิการวาง “แผนแม่บทการฟื้นฟูห้องสมุดโรงเรียนระยะที่ 2” พร้อมประกาศใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมห้องสมุดโรงเรียน มีกฎระเบียบให้มี “ตัวช่วย” สำหรับการบริหารห้องสมุดโรงเรียนเช่น เพิ่มอัตราครูห้องสมุด บรรณารักษ์ และโครงข่ายห้องสมุด การสร้างสรรค์บรรยากาศการอ่าน เช่น กำหนดให้นักเรียนทุกคนอ่านหนังสือก่อนเข้าห้องเรียนช่วงเช้า รัฐบาลยังตั้งเป้าให้โรงเรียนและบริษัทต่างๆ ตั้งชมรมอ่านหนังสือให้มีถึง 100,000 แห่ง ภายในปี พ.ศ.2561

พ.ศ.2552 กระทรวงวัฒนธรรมฯเริ่ม “แผนแม่บทการพัฒนาระบบห้องสมุด ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552-2556” ย้ำว่า “ห้องสมุดเป็นความภูมิใจของเกาหลี มีทั้งปริมาณและคุณภาพ” ห้องสมุดประชาชนในเกาหลีไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ให้คนไปอ่านหนังสือเท่านั้น ยังเป็นศูนย์เรียนรู้นอกโรงเรียนที่นำเสนอโปรแกรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตหลากหลาย เอื้อตั้งแต่ผู้หญิงตั้งครรภ์ ถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ

ลิม แจ อึน ผู้สื่อข่าว Korea.net เปิดเผยเมื่อกุมภาพันธ์ต้นปี 2558 ว่าจะมีห้องสมุดใหม่เปิดใหม่ 47 แห่งในปีนี้ และรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณ 758.3 หมื่นล้านวอน สำหรับโครงการเกี่ยวข้องกับห้องสมุดและการส่งเสริมการอ่าน อีก 583.6 หมื่นล้านวอน เพื่อสร้างและปรับปรุงห้องสมุดใหม่ โดยวางแผนเพิ่มทั้งจำนวนห้องสมุดประชาชนขนาดต่างๆ ปีละ 50 แห่ง จำนวนหนังสือเป็น 2.5 เล่มต่อประชากร 1 คน จำนวนบรรณารักษ์อีก 212 คน ทำให้ห้องสมุดหนึ่งแห่งจะบริการประชาชน 53,000 คน ทั้งนี้จากที่มีห้องสมุดประชาชนขนาดใหญ่ 828 แห่ง ใน พ.ศ.2555 ถึงปี พ.ศ.2561 เกาหลีใต้ก็จะมีห้องสมุดถึง 1,100 แห่ง ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นดำเนินไปภายใต้วิสัยทัศน์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่มุ่งสร้างสรรค์ชีวิตและอนาคตแห่งความสุขแก่ประชาชน ทั้งนี้ด้วยเป้าหมาย 3 ประการคือ ให้ประชาชนสุขใจจากการเข้าถึงความรู้และการบริการข้อมูล เพิ่มพูนพลังความคิดสร้างสรรค์จากระบบความรู้และการค้นคว้า และท้ายสุดเมื่อประชาชนได้อ่านมากขึ้น ก็เพิ่มพูนปัญญารอบด้านเป็นการยกระดับขีดความสามารถของประเทศ

ขอฝากท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากท่านพิจารณาให้ความสุขแก่คนไทยสักครึ่งเดียว รับรองได้ว่าจะเกิดผลงดงามยั่งยืนยิ่งแก่ประเทศไทย ประชาชนจะกราบขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image