ประเทศที่ถูกปิดล้อมทุกด้าน จากอีกประเทศหนึ่ง : เลโซโท

ประเทศเลโซโทคือรูโบ๋ ที่มีสหภาพแอฟริกาใต้ล้อมอยู่ทุกด้าน

ในโลกนี้มีเพียง 3 ประเทศในโลกเท่านั้นที่ถูกปิดล้อมทุกด้านจากอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเทศ
ตั้งอยู่ในยุโรปเป็นจุลรัฐ หรือรัฐขนาดจิ๋ว คือประเทศซานมาริโนและประเทศวาติกัน กล่าวคือ ซานมาริโน
มีเนื้อที่เพียง 61.2 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 33,600 คน และ วาติกัน มีเนื้อที่ 0.44 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 1,000 คน โดยทั้ง 2 ประเทศนี้ถูกประเทศอิตาลีล้อมอยู่ทุกด้าน

สำหรับประเทศที่ถูกปิดล้อมทุกด้านจากอีกประเทศหนึ่งประเทศสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเป็นหลักในบทความนี้คือ ประเทศเลโซโท ที่จัดว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก มีเนื้อที่ 30,355 ตารางกิโลเมตร แต่ก็มีขนาดใหญ่กว่าประเทศหลายประเทศที่เรารู้จักกันดีเสียอีก เช่น อิสราเอล บรูไน สิงคโปร์ และคูเวต เป็นต้น มีประชากรประมาณ 2,108,328 คน เลโซโทเป็นประเทศที่ถูกปิดล้อมทุกด้านจากประเทศสหภาพแอฟริกาใต้ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง มีเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดคือ มาเซรู ประเทศเลโซโทมี
รูปแบบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นหนึ่งในสามประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีกษัตริย์เป็นประมุข เช่นเดียวกับประเทศโมร็อกโกและประเทศเอสวาตีนี

เดิมทีชนเผ่าโซโทได้อพยพมาจากทางเหนือมาสู่ดินแดนที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาและที่ราบสูงที่กว้างใหญ่ และสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,400-1,800 เมตร จึงมีหิมะในฤดูหนาว จัดว่าเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีหิมะและด้วยภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงมากจึงเหมาะแก่การป้องประเทศ จึงมีการก่อตั้งประเทศบาซูโต ขึ้นใน พ.ศ.2361 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) โดยมีกษัตริย์โมโชโชที่ 1 แห่งราชวงศ์โบโกโมทาลีเป็นกษัตริย์องค์แรก ซึ่งก็ต้องทำศึกสงครามกับชนเผ่าซูลูซึ่งเป็นนักเลงโตในแถบนั้นเป็นประจำ แต่ก็สามารถสู้รบป้องกันประเทศที่ตั้งขึ้นใหม่ได้เนื่องจากอาศัยภูมิประเทศที่ได้เปรียบ จนกระทั่งต้องต่อสู้กับชาวบัวร์ซึ่งเป็นชาวดัตช์ผิวขาวอพยพมาจากยุโรปมาตั้งถิ่นฐานในแอฟริกาใต้ และตามมาด้วยอังกฤษ ที่มาปราบชาวบัวร์อีกต่อหนึ่ง ซึ่งพวกผิวขาวจากยุโรปมีปืนใหญ่และอาวุธทันสมัยทำให้กษัตริย์โมโชโชที่ 1 ตระหนักว่าคงสู้ไม่ได้แน่ จึงไปขอยอมเป็นรัฐในการปกครองของอังกฤษแต่โดยดีใน พ.ศ.2411 อังกฤษเรียกดินแดนนี้ว่าบาซูโตแลนด์

ที่ตั้งของเลโซโทมีความสูงจากน้ำทะเล
1,400-1,800 เมตร จึงมีหิมะในฤดูหนาว

บาซูโตแลนด์ยังมีกษัตริย์สืบต่อมาอีก 3 องค์จนถึง พ.ศ.2456 (ตรงกับสมัย ร.6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) อังกฤษก็ส่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมาปกครองแทนจนถึง พ.ศ.2503 จึงได้ฟื้นฟูระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษขึ้น โดยมีกษัตริย์มาจากราชวงศ์โมเชส ชื่อโมโชโชที่ 2 ขึ้นครองราชย์เพื่อเตรียมการเป็นเอกราชใน พ.ศ.2509

Advertisement

ครั้นได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2509 จึงได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นเลโซโท ซึ่งประเทศเลโซโทเป็นประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อชาติเหมือนหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เพราะประชากรที่ร้อยละ 99.7 เป็นชนเผ่าโซโท แต่การปกครองประเทศเลโซโทก็เป็นไปแบบลุ่มๆ ดอนๆ มีการรัฐประหารหลายครั้ง แต่เนื่องจากความเป็นประเทศที่ถูกปิดล้อมทุกด้านจากประเทศสหภาพแอฟริกา และอิทธิพลของการปกครองแบบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงดึงการปกครองแบบประชาธิปไตยกลับมาได้

จนกระทั่ง พ.ศ.2538 หลังจากที่ นายเนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีแห่งสหภาพแอฟริกาใต้ เดินทางไปเยือนประเทศเลโซโทจึงได้มีการพัฒนาความสัมพันธ์บนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกันที่สำคัญคือ โครงการสร้างเขื่อนและอุโมงค์ส่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อส่งน้ำที่ประเทศเลโซโทมีเหลือเฟือเนื่องจากหิมะละลายเป็นน้ำปริมาณมหาศาลทุกปีไปขายให้สหภาพแอฟริกาใต้ เป็นการทำรายได้ให้เลโซโทปีละประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสร้างงานให้ชาวเลโซโทประมาณ 10,000 คน

นอกเหนือจากการส่งน้ำให้แอฟริกาใต้แล้วก็มีการทำเหมืองเพชรและสินแร่อื่นๆ และมีการขยายการเกษตรกรรม เช่น การปลูกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และการปศุสัตว์ แต่ปัญหาสำคัญของประเทศเลโซโทคือ ประชากรส่วนใหญ่ทำไร่เลื่อนลอยทำให้ที่ดินเสื่อมโทรม ผลิตอาหารได้ไม่พอเพียง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ 70 ของการบริโภค ทำให้ขาดดุลการค้าปีละประมาณ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

แต่ทางการเลโซโทตระหนักถึงปัญหาของการทำไร่เลื่อนลอยแล้วพยายามทำการแก้ไขอย่าง
แข็งขัน ซึ่งอนาคตของประเทศเลโซโทดูสดใส เพราะระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ลง
รากลึกมั่นคงแล้วเป็นการนำประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองก้าวหน้าอย่างแน่นอน

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image