ดราม่าข่าวแตงโม-กม.สื่อ ช่วยได้? (1)

สื่อมวลชนทุกแขนงทั้งสื่ออาชีพมีองค์กรสังกัด ไม่มีองค์กรสังกัด สื่อพลเมือง สื่อสังคม (Social Media) ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงถึงการนำเสนอข่าวและความเห็นต่อการเสียชีวิตของดาราสาว ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม ถึงขั้นว่าสื่อหากินกับศพ

ซ้ำเติมคนตายและคนที่เกี่ยวข้องเพื่อผลต่อ ยอดขาย จำนวนคนฟังและคนดู จนกลายเป็นดราม่าชักนำผู้คนไปในเรื่องที่มีคุณค่าไม่มาก ในขณะที่สังคมไทยและโลกมีเรื่องราวข่าวสารอื่นที่มีสาระอีกมากมาย

กรณีนี้ทำให้เกิดการถกเถียงทั้งในสังคมทั่วไปและวงการสื่อด้วยกันเองถึงประเด็นความพอดี ความเหมาะสมในการนำเสนอ เลยไปถึงความรับผิดชอบและจรรยาบรรณของสื่อมวลชน ซึ่งความเห็นแตกต่างกันมากมาย มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ขณะที่ฝ่ายสื่อมีมุมมองว่า การนำเสนอข่าวและความเห็นกรณีนี้เป็นการรายงานปกติตามหน้าที่ของสื่อ เพื่อสนองความต้องการ ความสนใจ อยากได้คำตอบของผู้บริโภค ไม่ได้ซ้ำเติมใคร แต่กลับเป็นการแสวงหาความจริงเพื่อให้ความยุติธรรมกับผู้ตาย

Advertisement

ยิ่งมีเงื่อนงำ ความน่าสงสัย ทั้งสาเหตุการเสียชีวิต และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

กรณีเคลือบแคลงสงสัยไปถึงขั้นเรื่องเข้าสู่การประชุมระดับกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระโดยสิ้นเชิง

กระนั้นก็ตามสื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อสังคม สมควรที่จะรับฟังเสียงติติง วิพากษ์วิจารณ์ การใช้วิจารณญาณ การนำเสนอประเด็นข่าว การให้เวลาในการรายงานแต่ละวันยาวนานมากจนเกินไปหรือไม่

Advertisement

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สังคมและสื่อมวลชนควรมีแนวคิดอะไรเป็นหลักยึด และแนวทางปฏิบัติเป็นอย่างไร

สื่อควรเป็นอะไร ระหว่างกระจก กับตะเกียง

ภายใต้หลักการของความรับผิดชอบ ไม่ล่วงละเมิด เคารพสิทธิและชีวิตส่วนบุคคลของผู้อื่น ขณะเดียวกันไม่เป็นข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพการทำหน้าที่เพื่อส่วนรวม

สื่อมวลชนควรมีบรรทัดฐานการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน มีหลักจริยธรรม มีกลไกส่งเสริม สนับสนุนและกำกับให้ทำหน้าที่ด้วยความพอดีหรือไม่

ประเด็นกลไกส่งเสริมสนับสนุนและกำกับระหว่างสื่อด้วยกันเองนี่แหละ ยังมีความคิดเห็นต่างกันมาตลอด ว่าการมีกลไก กระบวนการและองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ดังกล่าว ดีหรือไม่ดีกว่ากัน

ความเคลื่อนไหวล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … สาระสำคัญให้มีกลไกที่เรียกว่า “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน”

ต่อมา วันที่ 17 มกราคม 2565 นักข่าว นักคิด นักเขียน นักวิชาการ สื่อมวลชน 69 ราย รวมตัวกันในนาม “สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย” ออกจดหมายเปิดผนึก เรื่องข้อห่วงใยต่อสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน

ขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ระหว่างรอบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม

ผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกรณีดาราสาวแตงโมขึ้น เกิดคำถามตามมาว่า การมีกฎหมายเฉพาะฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ จะทำให้การทำหน้าที่ของสื่อเป็นไปด้วยความพอเหมาะพอดีมากขึ้นหรือไม่

คำถามแรกที่ต้องร่วมกันหาคำตอบให้ได้ก่อนคือ ควรมีองค์กรวิชาชีพหรือไม่

องค์กรวิชาชีพเป็นการรวมตัวกันเองของนักวิชาชีพ ตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงานในสนามจนถึงผู้บริหารกองบรรณาธิการ จากสื่อมวลชนทุกแขนง

ระหว่างการมีกลไก กระบวนการส่งเสริมสนับสนุน กับการปล่อยให้สื่อมวลชน สื่อพลเมือง สื่อสังคม ปฏิบัติอย่างอิสระเสรี ไม่ต้องมีกลไก องค์กรใดๆ มาส่งเสริม หรือกำกับทั้งสิ้น แนวทางใดเกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและสื่อมวลชนเองมากกว่ากัน

ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ต้องมีกลไกใดๆ ทั้งสิ้น มองว่าปล่อยให้เป็นเรื่องของความรับผิดชอบส่วนบุคคลกับองค์กรต้นสังกัด ควบคุมตัวเองให้ได้ก่อน หากได้ผลการกำกับควบคุมกันเองก็ไม่จำเป็น ที่สำคัญ สังคมจะเป็นกลไกกำกับที่ดีที่สุด

แนวคิดอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เชื่อว่าการควบคุมตนเอง และการควบคุมกันเองจะมีประสิทธิภาพจริง เพราะเป็นการกำกับจากคนอาชีพเดียวกันซึ่งสำเร็จได้ยาก หากไม่เลิกวิธีคิดและปฏิบัติที่ว่า แมลงวันไม่ตอมแมลงวันด้วยกันเองให้ได้

การมีกลไก กระบวนการ ไม่ว่าในรูปของสมาคม สมาพันธ์ สภาวิชาชีพ จึงเป็นส่วนเสริมให้การกำกับควบคุมตัวเอง และกำกับควบคุมกันเองได้อีกทางหนึ่ง

การส่งเสริมและกำกับกันเองจะมีประสิทธิภาพแค่ไหน เงื่อนไขอยู่ที่การออกแบบ กำหนดขอบเขต บทบาทหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพอย่างไร

ครอบคลุมภารกิจทั้งสามด้านหรือไม่ ได้แก่ 1 สร้างพลังเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ถ่วงดุลอำนาจ ทัดทานเผด็จการ และอำนาจทุน

2 ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกในวิชาชีพ ภายใต้ความรับผิดชอบและจริยธรรม รวมถึงความสัมพันธ์กับองค์กร สถาบันสื่อในประเทศและสากล

3 ส่งเสริมสนับสนุนสวัสดิการ สวัสดิภาพของนักวิชาชีพ

ครับ วิวาทะว่าด้วยกลไกส่งเสริมและกำกับสื่อ บทบาท ความรับผิดชอบของสื่อ กับข้อกังวลของนักวิชาชีพ นักวิชาการ ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ต้องว่ากันต่อไปทีละประเด็นทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image