ดูเหมือนว่านิสัยประจำชาติของไทย จะเปลี่ยนไปอีกแล้ว

เรื่องนิสัยประจำชาตินี้มีการศึกษากันมาตั้งแต่ นายอเล็กซิส เดอ ท็อคเคววิล นักวิชาการทางด้านกฎหมายและนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ประชาธิปไตยในอเมริกา” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ.2378 ซึ่งมีสาระสำคัญในการกล่าวถึงลักษณะนิสัยประจำชาติของชาวอเมริกันว่า “ชาวอเมริกันรักความเสมอภาคและชอบการรวมกลุ่มด้วยการจัดตั้งสมาคมหรือองค์การต่างๆ ตามความสมัครใจ” นิสัยดังกล่าวเอื้อต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง ต่อมา เซอร์เออร์เนสต์ บาร์เกอร์ ชาวอังกฤษได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ “National Character” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับทรรศนะของนักรัฐศาสตร์หลายคนที่เกี่ยวกับนิสัยประจำชาติต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการปกครองอาณานิคมทั่วโลกของอังกฤษนั่นเอง

ศาสตราจารย์รูธ เบเนดิกต์ เป็นสุภาพสตรีอเมริกันผู้ทำการศึกษาเรื่องลักษณะนิสัยประจำชาติของไทย
และของญี่ปุ่น สำหรับกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากทั้งประเทศญี่ปุ่นและไทยนั้นประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา ทางกระทรวงกลาโหมอเมริกันก็เลยอยากรู้จักศัตรูของเขาให้ถ่องแท้ เข้าทำนอง “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะทั้งร้อยครั้ง” นั่นเอง

ผลงานรูธ เบเนดิกต์ เกี่ยวกับลักษณะนิสัยประจำชาติของญี่ปุ่นนั้นเป็นที่แพร่หลายรู้จักกันดีทั่วโลก โดยถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อเรื่องคือ The Chrysanthemum and the Sword – ดอกเบญจมาศกับดาบซามูไร ซึ่งหนังสือเล่มนี้กองทัพสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ นายพลแมคอาเธอร์ ยึดถือเสมือนคัมภีร์ไบเบิลในการปกครองชาวญี่ปุ่นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถือว่าเป็นการยึดครองประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างวิเศษที่สุดในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

ส่วนงานของรูธ เบเนดิกต์ เกี่ยวกับประเทศไทยนั้นไม่ค่อยมีใครรู้จักนัก เพราะไม่ได้ถูกตีพิมพ์เป็นเล่มในภาษาอังกฤษ แต่ทางเมืองไทยได้แปลออกมาพิมพ์เป็นภาษาไทยแล้ว โดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2524 โน่น ยังพอหาอ่านได้ตามห้องสมุดมหาวิทยาลัยต่างๆ ชื่อเรื่องคือ Thai Culture and Behavior ส่วนชื่อหนังสือภาษาไทยคือ “วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย”

Advertisement

รูธ เบเนดิกต์ สรุปว่าเป็นลักษณะนิสัยประจำชาติของไทยก็คือ “คนไทยมีนิสัยชอบซ้ำเติมคนที่พลาดพลั้ง
จากการถูกหลอกลวงหรือถูกทำร้าย แต่ไม่ค่อยมีความรู้สึกว่าคนที่หลอกลวงหรือทำร้ายคนอื่นนั้นมีความผิด
แต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังไม่ค่อยจะเห็นว่าการหลอกลวง หรือการทำร้ายบุคคลอื่นนั้นจะเป็นการกระทำที่
เลวร้ายอะไรนัก” ดูเหมือนคำพูดที่ติดปากคนไทยที่ว่า “สมน้ำหน้า” จะเป็นแคปซูลที่บรรจุลักษณะนิสัยประจำชาติของคนไทยเอาไว้ทั้งหมด ซึ่งตรงข้ามกับพวกฝรั่งที่เขามีความเชื่อและการประพฤติปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานว่าต้องช่วยเหลือผู้ที่ถูกหลอกลวง หรือผู้ที่ถูกทำร้าย เพราะเหยื่อที่ถูกหลอกลวง หรือถูกทำร้ายเป็นผู้ที่ควรแก่ความสงสาร สำหรับผู้ที่หลอกลวงหรือทำร้ายผู้อื่นนั้นเป็นการกระทำที่ชั่วร้าย

สำหรับการมองโลกของไทยนั้น ถ้าหากผู้หญิงถูกข่มขืนก็มักจะถูกคนไทยสมน้ำหน้า โดยถูกหาว่าแต่งตัวไม่เรียบร้อย ยั่วผู้ชาย หรือไม่ก็หาเรื่องใส่ตัวโดยไปในที่ไม่ปลอดภัยเอง สรุปก็คือเป็นความผิดของเหยื่อเองที่โง่ ส่วนผู้ชายที่ข่มขืนผู้หญิงดูจะถูกยกย่องว่าเก่งเสียด้วยซ้ำไป ส่วนถ้าใครถูกหลอกให้เสียเงินเสียทอง เช่น เรื่องตกทอง (ลูกไม้ของการหลอกลวงที่เก่ากะลาแต่ยังใช้ได้ผลอยู่จนทุกวันนี้ คือนักต้มมนุษย์ มักจะหลอกคนที่มีทองคำเป็นเครื่องประดับ ว่าเก็บสร้อยทองคำหนัก 5-10 บาทได้ ให้เอาไปขายเอาเงินมาแบ่งกัน แต่ฝากให้ถือเอาไว้ก่อนจะไปตามเพื่อนอีกคน แต่ขอแหวนทอง หรือกำไลทอง หรือสร้อยทองของเหยื่อที่หนักสัก 2-3 สลึง หรือ 1-2 บาท ไปเป็นประกันก่อน แล้วก็หายไปเลย ส่วนสร้อยทองที่ให้ถือไว้ก็เป็นของเก๊) หรือเล่นไพ่สามใบ (การหลอกให้เล่นไพ่สามใบนั้นจะมีหน้าม้าเล่นกับเจ้ามือ แล้วก็เล่นได้เอาๆ แบบรวยกันง่ายๆ แล้วจึงชักชวนให้เหยื่อเล่นด้วย ก็หมดเนื้อหมดตัวทุกที) ก็จะถูกสมน้ำหน้าว่าโง่เอง ดังนั้น คนไทยที่ถูกใครโกง หรือถูกหลอกลวงจะปิดปากตัวเองเงียบเพราะกลัวจะถูกซ้ำเติม แบบว่ากลืนเลือดเงียบๆ นั่นแหละ

งานวิจัยเกี่ยวกับนิสัยประจำชาติคนไทยนี้ รูธ เบเนดิกต์ทำเสร็จแล้วส่งให้กระทรวงกลาโหมอเมริกัน ตั้งแต่เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2486 เธอเสียชีวิตในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ.2491 รวมอายุได้ 61 ปี

Advertisement

อีทีนี้ก็มีการศึกษาถึงนิสัยประจำชาติของไทยใหม่ในยุคเริ่มสงครามเย็นโดยทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ตกลงใจที่จะให้ประเทศไทยเป็นปราการด่านสำคัญที่สุดในการยับยั้งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังปรากฏในเอกสารรายงานสรุปต่อประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ใน พ.ศ.2495 สรุปเกี่ยวกับตัวตนของคนไทยว่า “คนไทยเป็นคนมีความอ่อนน้อม ไม่เอาจริงเอาจัง ชอบความเจ้าเล่ห์เพทุบาย ไม่สนใจปรัชญาที่หนักหน่วง ไม่ทะเยอทะยาน มีความเป็นปัจเจกสูงมาก แต่กลับยอมจำนนต่อผู้ที่มีอำนาจ มีความภูมิใจในตนเองสูง เป็นคนที่รักษาหน้าตามาก และคนไทยพร้อมที่จะต่อต้านทันทีหากมีการทวงบุญคุณ หรือพบกับความหยิ่งยโส แม้จะมีคนไทยที่ต่อต้านชาวตะวันตกบ้าง แต่คนไทยส่วนใหญ่นิยมชมชอบคนอเมริกัน คนไทยมีสำนึกภูมิใจในตัวตนที่ผูกพันหยั่งลึกกับพระมหากษัตริย์ ศาสนาและประเทศชาติ ซึ่งความสำนึกภูมิใจในตัวตนนี้ทำให้พวกเขาหลอมรวมเป็นปึกแผ่นสร้างความเข้มแข็งภายในชาติ ด้วยข้อสรุปเกี่ยวกับบุคลิกแห่งชาติของคนไทยเช่นนี้ ทำให้ไทยมีความเหมาะสมมากในการเป็นฐานปฏิบัติการจิตวิทยาต่อต้านคอมมิวนิสต์ ดังนั้น สหรัฐจำเป็นต้องพัฒนาและขยายความสัมพันธ์กับชนชั้นนำไทย เพื่อทำให้การต่อต้านคอมมิวนิสต์มีความเข้มแข็งมากขึ้น”

เอกสารรายงานสรุปต่อประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ใน พ.ศ.2495 ฉบับนี้เองเป็นหัวเชื้อในการเขียนหนังสือเรื่อง “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” อันลือลั่นของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง แต่ทำให้ผู้เขียนสะกิดใจตรงที่ว่าคนไทยเป็นคนที่ “มีความเป็นปัจเจกสูงมาก แต่กลับยอมจำนนต่อผู้ที่มีอำนาจ” คงเปลี่ยนไปมากแล้วจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เห็นตำตา และได้ยินเต็มหูอยู่ดาษดื่นอยู่ทุกวันนี้

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image