คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ยกแรกศึกผู้ว่านครหลวง การเมืองใหม่ของ ‘ป้ายหาเสียง’

แค่หลังเสียงระฆังยกแรกของศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. หลังจากการจับสลากหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อ 31 มีนาคมที่เพิ่งผ่านไป ก็มีปรากฏการณ์น่าสนใจ ที่ถ้าเป็นมวยก็เรียกว่า “ออกอาการ” ไปแล้วหลายเบอร์ ว่ากันตั้งแต่หมัดแรก เรื่อง “ป้ายหาเสียง” ของผู้สมัครแต่ละคน

“ป้ายหาเสียง” ที่เคยธรรมดาประเภท “ของมันต้องมี” ประจำทุกการเลือกตั้งน้อยใหญ่โดยไม่เคยเป็นประเด็นมาก่อน ทั้งที่แท้แล้วการผุดขึ้นของป้ายหาเสียงบนถนนทางเดินนี้เป็นหนึ่งเรื่องที่ก่อปัญหา หรือ pain point อย่างหนึ่ง ชาว กทม.ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ปกติก็มีปัญหากับการเดินทางสัญจรบนทางเท้า หรือพื้นที่จราจรในซอยแคบอยู่แล้ว หากกลับต้องถูกกีดขวางซ้ำลงมาอีกจากป้ายหาเสียงขนาดกว้างเป็นเมตรหลายอันขึ้นมาตั้งดัก บางอันก็บดบังทัศนวิสัยในการขับรถออกจากซอยเข้าสู่ถนนใหญ่ หรือขวางการมองดูรถประจำทางที่กำลังจะวิ่งเข้ามา

ที่ผ่านมานั้นผู้คนแม้จะเห็นปัญหาแต่ก็ด้วยเชื่อไปแล้วว่าเรื่องก็ต้องเป็นเช่นนั้นเอง และคงไม่มีทางเปลี่ยนแปลงอะไรในเรื่องป้ายหาเสียงนี้ได้นอกจากทนๆ ไป หมดเลือกตั้งแล้วเขาก็คงมาเก็บไปเอง หรือถ้าตอนนั้นไม่มีใครจัดการค่อยไปรื้อถอนจัดการกันไป

กระทั่งในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้เองที่มีผู้สมัครเล็งเห็น Pain point ในข้อนี้ตรงกัน ผู้สมัครสองท่านที่ว่านี้คือ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ และ คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล

Advertisement

สำหรับอาจารย์ชัชชาติ (ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี) นั้นใช้แนวทางนอกกรอบเหนือความคาดหมายด้วยกลยุทธ์ “ป้ายที่ดีคือป้ายที่ไม่ต้องมี” ด้วยการใช้ป้ายน้อยที่สุด และเน้นหาเสียงประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ สำหรับป้ายหาเสียงที่พอมีก็ถูกออกแบบให้ผอมและเล็กเสียจนไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องกีดขวาง ที่สำคัญกว่านั้นคือติดตั้งอยู่น้อยในระดับ “หายาก” ทั้งความ “น้อย” และ “หายาก” นี้ก็ถูกใช้เป็นกิมมิคไปอีก ว่าใครหาป้ายท่านเจอให้ถ่ายรูปมาอวด หรือถ้าพบว่าป้ายนั้นกีดขวางก่อความเดือดร้อนก็รีบแจ้งด้วย

กลายเป็นแทนที่ป้ายจะต้องเอาไปติดตั้งเพื่อให้คนมาดู กลับกลายเป็นคนต้องไปตามหาเพื่อดูว่าป้ายของชัชชาตินั้นติดตั้งไว้ที่ไหน และมีหน้าตาเป็นอย่างไรแทน

ส่วนคุณวิโรจน์อาจจะไม่สามารถใช้กลยุทธ์ “ไร้ป้าย” อย่างอาจารย์ชัชชาติได้ เพราะแม้ว่าคุณวิโรจน์อาจจะเป็นที่รู้จักอยู่แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากพรรคก้าวไกลก็ส่งผู้สมัครชิงตำแหน่ง ส.ก.ด้วย จึงจำเป็นต้องหาเสียงให้ผู้สมัครของพรรคไปพร้อมกัน กระนั้นป้ายของคุณวิโรจน์และพรรคก้าวไกลก็ถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบด้วยขนาดเล็กเพียงเท่าที่จำเป็น และติดในตำแหน่งสูงที่พอมองเห็นได้ โดยที่ไม่เกะกะรบกวนการเดินเท้า

Advertisement

การที่มีผู้สมัครอย่างน้อยสองคนเล็งเห็นและได้แก้ไขปัญหาปวดใจเรื่องป้ายหาเสียงนี้ แถมยังทำออกมาได้เป็นที่ชื่นชมของประชาชนด้วย ก็ทำให้เรื่องของ “ป้ายหาเสียง” ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็นเรื่องเป็นประเด็นอะไรเลย กลับกลายต้องเป็นปัญหามาให้ผู้สมัครคนอื่นๆ ที่ “คิดไม่ถึง” หรือ “คิดไม่ทัน” ต้องมาตามแก้กันเป็นพัลวัน เพราะอย่างที่ว่าป้ายหาเสียงก็คือป้ายหาเสียง ซึ่งมีขนาดและรูปแบบของมันอยู่แล้ว แถมการติดตั้งก็มีธรรมเนียมวิธีของมัน ก็คือติดตั้งจัดวางเยอะๆ ในจุดที่เด่นที่สุดให้คนเห็น

แต่การ “เปลี่ยนป้าย” ของผู้สมัครสองท่านกลายเป็นการทำให้ “ป้าย” ของคนที่เหลือนั้นดูตกยุค หรือเท่ากับตัวผู้สมัครนั้นไม่แยแสต่อความเดือดร้อนของชาว กทม. กลายเป็น “ของเข้าตัว” กลับมาก่อโทษให้ คือเมื่อป้ายนั้นไปปรากฏกีดขวางก่อความเดือดร้อนก็มีการถ่ายรูปมาโพสต์ประจานให้ทัวร์ลงผู้สมัครเจ้าของป้ายนั้น

สำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคือ การ “เปลี่ยนป้าย” ของคุณชัชชาติและคุณวิโรจน์ก็ยังไปเปลี่ยน “ความรู้สึก” และ “ความเชื่อ” ของผู้คนที่ใช้ทางเท้า หรือถนน ว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องทนกับป้ายหาเสียงที่ก่อความเดือดร้อนให้แก่ตัวเองอีกต่อไป ผลคือมีผู้ไปทำลายป้ายบางป้ายที่กีดขวางก่อความเดือดร้อนจนผู้สมัครบางท่านต้องออกมาวิงวอนว่าตรงไหนขวางก็มาบอกกันดีๆ ก็ได้ อย่าทุบทำลายหักพังกันเองเลย อันนี้แม้แต่ผู้สมัครระดับอดีตผู้ว่าฯกทม.ยังต้องออกมาพนมมือไหว้ขอโทษให้เสียรังวัดกันไป

ดังนั้น ผู้สมัครที่ทำป้ายขนาดมาตรฐานและติดตั้งแบบเดิมๆ ไปแล้วโดนทัวร์ลงก็ต้องรีบแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยการยกป้ายตัวเองให้สูงขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ใช้ถนนทางเท้า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาอะไรซ้ำมาอีกหรือไม่ เพราะขนาดของป้ายถูกออกแบบให้ตั้งวางบนพื้นเพื่อช่วยรับน้ำหนักด้วยไม่ได้ออกแบบให้เอาไปแขวนลอยไว้ทั้งอัน ดังนั้น เกิดมีอันไหนตกร่วงลงมาใส่หัวคนโชคร้าย หรือทรัพย์สินเสียหายก็อาจจะงานเข้าผู้สมัครเจ้าของป้ายได้

อีกทั้งบางครั้งการยกป้ายขึ้นสูงก็อาจจะเกิดผลในทางที่คาดไม่ถึง เช่น กรณีของผู้สมัครหมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3 ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำป้ายหาเสียงขึ้นมาในขนาดมาตรฐาน และได้แก้ปัญหาด้วยการยกขึ้นไปติดให้สูงขึ้นพ้นทางคนเดิน แต่ก็เจ้ากรรมว่า ภาพที่ใช้ในป้ายของนายสกลธีเป็นภาพตัวเขาเต็มตัวกึ่งยืนกึ่งนั่งบนเก้าอี้ เมื่อยกสูงขึ้นแล้วมีใครสักคนเดินลอดป้ายนั้น ก็เหมือนว่าผู้คนกำลังเดินลอดหว่างขา หรือใต้รองเท้าของนายสกลธีไปเสียอย่างนั้น ซึ่งเป็นภาพที่ออกจะไม่น่าดูและถ้าใครถือสาเรื่องหัวสูงเท้าต่ำก็อาจจะเป็นประเด็นไปได้เหมือนกัน

สำหรับผู้สมัครซึ่งเป็นทั้งอดีตรองผู้ว่าฯกทม.และ กลุ่ม กปปส.ผู้นี้ก็ราวกับโชคชะตาฟ้าดินจงใจ “แกง” เขาเสียเหลือเกิน โดยเฉพาะการจับสลากได้หมายเลข 3 ซึ่งสื่อความหมายถึงการ “ชูสามนิ้ว” ต่อต้านรัฐบาลและขั้วอำนาจที่สนับสนุน เหตุนี้จึงทำให้นายสกลธีไม่อาจชูสามนิ้วเยี่ยงมนุษย์ปกติได้ เพราะแม้ว่ารูปแบบของการชูสามนิ้วแบบปกตินั้นอาจจะชูแบบสามนิ้วกางๆ ก็ได้เพื่อไม่ให้ดูเหมือนสัญลักษณ์แห่งการต่อต้านอำนาจรัฐ แต่ถ้าต้องยกมือขึ้นชูสามนิ้วแบบนั้นบ่อยๆ หรือเผลอเมื่อยมือหมดแรง มันก็พลาดมาเป็นรูปแบบสามนิ้วชิดกันได้ (ใครไม่เชื่อลองชูสามนิ้วแบบกางๆ แล้วยกขึ้นลงซ้ำๆ สักสิบครั้งดู) ทำให้เขาต้องออกแบบท่าชูสามนิ้วที่พิลึกพิลั่นเก้ๆ กังๆ เช่นนั้น

นอกจากนี้ ความที่นายสกลธีเป็นอดีตรองผู้ว่าฯกทม. แต่ใช้คำขวัญ หรือ Tagline ในการหาเสียงว่า “กรุงเทพฯ ดีกว่านี้ได้” และ “ทำทันธี” ก็เลยมีปัญหาให้ผู้คนสงสัยนั่นแหละว่า “แล้ว ‘ธี’ ตอนนั้นทำไมไม่ทำ?” ซึ่งเรื่องนี้เขาจะอ้างก็ได้ว่า ที่ผ่านมาเป็น “รองผู้ว่าฯ” ไม่ใช่ผู้ว่าตัวจริงก็อาจคงได้ แต่จะฟังขึ้นหรือไม่ ก็สุดแต่วิญญูชนจะพิจารณา กระนั้นการที่ผู้ที่เคยทำงานรับผิดชอบอะไรร่วมกับผู้อื่นแล้วออกมาบอกว่าสิ่งที่ตัวเองเคยมีส่วนร่วมด้วยนั้นยังไม่ดีพอ ทำให้ดีกว่านี้ได้ มันก็คงฟังดูไม่ดีเท่าไรนัก

ในขณะที่ “อดีตผู้ว่าฯตัวจริง” อย่าง คุณอัศวิน ขวัญเมือง ที่ใช้แนวทางในการหาเสียงด้วยการ “ขอทำงานต่อ” หรือ “กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ” นั้นจึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ เพราะเท่ากับเขามองว่าที่ผ่านมาสิ่งที่เขาทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.นั้นไม่ได้แย่ หรือมีปัญหาอะไร ดังนั้น เขาจึงขอสานต่อในแนวทางเดิม ดังนั้น ใครรู้สึกว่าพอใจแล้วกับสภาพของเมืองกรุงเทพฯ ที่เป็นอยู่ก็กรุณาเลือกเขา ก็ออกจะสมเหตุสมผลฟังได้ไม่ประดักประเดิด

อย่างไรก็ตาม ความ “มั่นใจ” ว่าที่ผ่านมาทำดีแล้วของคุณอัศวิน หรือการชูการหาเสียงว่าจะขอทำงานต่อในแบบเดิมนั้นก็น่าห่วงว่า เนื่องจากในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่จะมีการเลือกตั้งนั้น หากมีฝนตกหนักหรือน้ำท่วมขึ้นมา ความเดือดร้อนจากน้ำท่วมก็อาจจะเป็นสิ่งที่ชาว กทม.อาจจะรู้สึกว่าต้อง “ทนกันไปต่อ” หากเลือกท่านผู้นั้นกลับมา

ผู้สมัครอีกท่านที่อยากกล่าวถึงไว้ก่อนจะปิดท้ายคือ น.ต.ศิธา ทิวารี ซึ่งเป็นผู้สมัครที่ทำให้รู้สึกผิดคาดพอสมควร เนื่องจากท่านเป็นตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทยของ “แม่หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โดยที่ผ่านมา “คุณแม่” ท่านก็ถือว่าเปิดตัวมาได้สวย คุยกับคนรุ่นใหม่ได้รู้เรื่อง และมีภาพลักษณ์เป็นพรรคฝั่งประชาธิปไตย

กระนั้นแนวทางการหาเสียงของคุณศิธาที่ออกมาในช่วงแรกนี้ก็ออกจะไปในทาง “การเมืองเก่า” ไปเสียหน่อย ทั้งป้ายหาเสียงที่มีปัญหาเดียวกันกับคนอื่น แต่ทีมงานของท่านก็ออกมาแก้ปัญหาค่อนข้างช้า จากที่สังเกตและมิตรสหายบ่นกันผ่านโซเชียลว่าป้ายของคุณศิธาจำนวนมากยังไม่ได้ถูกยกสูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเลยด้วยซ้ำ นอกจากนี้ Tagline ประเภท “เลือกศิธา มายกทีม” ก็ไม่ได้สื่อสารอะไรกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่ามายกทีมแล้วไง มาแล้วจะทำอะไร หรือการจะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯกทม.ไม่เคยทำนั้นคือทำอะไร หรือการเปิดตัวด้วยแคมเปญ “ศิธา comeback” ท่านก็อาจต้องเผื่อใจว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางส่วนอาจจะจำท่านไม่ได้ หรือไม่รู้จักด้วยซ้ำ เพราะท่านก็เรื้อเวทีการเมืองทุกระดับมาอาจจะเกือบสิบปีแล้ว รวมๆ จึงเหมือนกับว่าผู้สมัครท่านนี้ยังไม่ค่อยทันการเมืองใหม่ที่ผู้สมัครจะต้องต่อสู้กันด้วยการนำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรม

สุดท้าย สำหรับ “พี่เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ มีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบที่ชิงเปิดตัวมาก่อนจึงต้องถูก “รับน้อง” กันไป และรวมถึงเรื่องที่ “โป๊ะแตก” เองอย่างการอ้างความเป็นลูกศิษย์สายตรงของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือเรื่องหนักๆ อย่างเช่นเรื่องการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ส่วนหนึ่งก็ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของผู้คนไปแล้ว และเขาก็ได้นำเสนอตัวเองก่อนผ่านทางสื่ออื่นๆ ไป เช่น ในจอภาพในรถไฟฟ้าและที่สถานี ทำให้ป้ายหาเสียงของเขาไม่ได้มีมากจนเตะตา หรือก่อความเดือดร้อนมากนัก จึงอาจกล่าวได้ว่าสำหรับในยกแรกนี้ พี่เอ้เสมอตัวและประคองตัวไปได้โดยไม่เสียรังวัด… อย่างน้อยก็ในตอนนี้

ข้างต้นนี้คือสถานการณ์ใน “ยกที่หนึ่ง” ของศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่ใครๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่แค่การเลือกตั้งผู้ว่าการองค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งนครหลวงกรุงเทพฯ แต่มันคือภาพแทนจำลองสนามการเมืองแห่งการเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.ของการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image