สุจิตต์ วงษ์เทศ : แตรสังข์ วงประโคมมีเสียงศักดิ์สิทธิ์ จากอินเดีย

แตรสังข์ วงประโคมย่ำยาม ทำเสียงศักดิ์สิทธิ์ เป็นแบบแผนพราหมณ์จากอินเดีย (ภาพจาก Facebook : Information Division of OHM)

แตรสังข์บัณเฑาะว์ เป็นวงประโคมศักดิ์สิทธิ์ให้สัญญาณต่างๆ รับแบบแผนจากอินเดีย ที่สำคัญคือให้สัญญาณเสด็จเข้า-ออกของเทพเจ้า และพระราชา ส่วนมโหระทึกเป็นเครื่องตีประโคมมีกำเนิดในอุษาคเนย์ (ไม่มีในอินเดีย) เพิ่มเข้ามาเพื่อความขลัง

แตร

แตรได้ชื่อจากเสียงที่เป่าเครื่องเป่าทำด้วยโลหะ รับจากวัฒนธรรมอินโด-เปอร์เซีย (หมายถึงอิหร่านผ่านอินเดีย) แต่สมัยหลังรับจากฝรั่งยุโรปด้วย
แตรในงานพระราชพิธี มี 2 อย่าง เรียก แตรงอน กับ แตรฝรั่ง
แตรงอน เรียกตามรูปร่างลักษณะลำแตรโค้งงอนแล้วบานปลาย ทำด้วยโลหะ มีต้นแบบจากเขาสัตว์จึงโค้งงอนเหมือนเขาควาย (สมัยก่อนในไทย เจ๊กขายหมู เป่าเขาควายเป็นสัญญาณ)
มีผู้รู้อธิบายว่ากลุ่มชนดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้วทั่วโลกใช้เขาสัตว์ เช่น เขาควายเป็นเครื่องเป่าศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม
แตรฝรั่ง เรียกตามแหล่งที่มาจากฝรั่งตะวันตก สมัย ร.1 มีเอกสารเรียก แตรวิลันดา (หมายถึง แตรจากฮอลันดา หรือเนเธอร์แลนด์)
ยุคอยุธยามีกรมแตร ขวา-ซ้าย (อยู่ในตำแหน่งนาทหารหัวเมือง) หมื่นเสน่หราชา (เจ้ากรมแตรขวา) หมื่นจินดาราช (เจ้ากรมแตรซ้าย) ศักดินาคนละ 300

สังข์

ได้ชื่อจากหอยทะเลชนิดหนึ่ง เปลือกขรุขระ ต้องเอาขัดให้เกลี้ยงเกลาเสียก่อน แล้วเจาะก้นหอยให้ทะลุเป็นรูเป่า ไม่มีลิ้น ต้องเป่าด้วยริมฝีปากของตนเอง
ยกย่องเป็นเครื่องมือประจำองค์พระนารายณ์ มีบอกในโองการแช่งน้ำว่า “สี่มือถือสังข์จักรคทาธรณี” ในรามเกียรติ์ฉบับ ร.1 ว่า อันนารายณ์นั้นสี่หัตถา ทรงตรีคทาจักรสังข์

บัณเฑาะว์ (บัน-เดาะ)

เป็นชื่อจากภาษาบาลี หมายถึงกลองเล็กชนิดหนึ่ง ขึงหนังสองหน้าผายใหญ่ มีเอวคอด มีลูกตุ้มผูกหลักตั้งยาวตรงคอคอด
บรรเลงโดยใช้มือไกว โดยพลิกข้อมือกลับไปกลับมา ให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกโยนตัวไปมากระทบหนังหน้ากลองทั้งสองข้าง
ยกย่องเป็นเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะ (พระอีศวร)

Advertisement

มโหระทึก

มโหระทึก หมายถึง กลองสำริด มีเอวคอดคล้ายลูกน้ำเต้า
มีแหล่งผลิตต้นกำเนิดในดินแดนทางภาคใต้ของจีน ราว 3,000 ปีมาแล้ว (ยุคนั้นยังไม่เรียกจีน พวกฮั่นอยู่ทางเหนือขึ้นไปไกลๆ เรียกบริเวณทางใต้เป็นพวกป่าเถื่อน ไม่เป็นฮั่น) ไม่มีในอินเดีย และไม่ใช่วัฒนธรรมฮั่น
คำเรียกมโหระทึก เป็นชื่อที่ไทยได้จากเอกสารเก่า แต่แปลว่าอะไร? และเป็นภาษาอะไร? ยังไม่พบคำอธิบาย และหมายถึงกลองอย่างนี้หรือเปล่ายังบอกไม่ได้
แต่ในจีน, เวียดนาม เรียกกลองทอง เพราะทำจากทองสำริด ส่วนลาวเรียก ฆ้องบั้ง เพราะทำจากโลหะ เป็นต้นแบบให้ฆ้อง, ระฆัง สมัยหลังๆ

[ข้อมูลได้จากหนังสือ 2 เล่ม ได้แก่ (1) เครื่องดนตรีไทย ของ ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2500 (2) ดนตรีอุษาคเนย์ โดย เจนจิรา เบญจพงศ์ วิทยาลัย ดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก 2555]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image