สงกรานต์พม่าในยุคคณะรัฐประหารกับชะตากรรมของคนตัวเล็กตัวน้อย

สงกรานต์ของพม่าเป็นเทศกาลยิ่งใหญ่ที่สุดประจำปี ไม่ว่าจะเป็นช่วงสุขหรือทุกข์ (ภาพ AFP)

เทศกาล “ตินจาน” (Thingyan) หรือ สงกรานต์ของพม่า เป็นเทศกาลยิ่งใหญ่ที่สุดประจำปี ไม่ว่าจะเป็นช่วงสุขหรือทุกข์ ช่วงที่พม่าปกครองแบบเผด็จการทหาร หรือมีรัฐบาลพลเรือนปกครอง ผู้คนก็ออกมาเฉลิมฉลองตินจานกันอย่างสนุกสนาน แต่ตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021 พร้อมกับการปราบปรามประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงรัฐประหารอย่างรุนแรง หนึ่งเดือนต่อมา การประท้วงกระจายตัวไปทั่วประเทศ จนกองทัพสั่งให้มาตรการขั้นเด็ดขาด ในวันที่ 3 มีนาคม 2021 เพียงวันเดียว มีผู้ประท้วงเสียชีวิตมากถึง 38 คน หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ความหดหู่แผ่ซ่านไปทั่วพม่า จนทำให้ในปีนั้น ตินจานกลายเป็นการเฉลิมฉลองให้กับผู้เสียชีวิต มากกว่าจะเป็นเทศกาลรื่นเริงที่สำคัญที่สุดประจำปี

ตินจานเวียนกลับมาอีกครั้งในปีนี้ แต่ผู้คนในพม่าที่ต้องอยู่ด้วยความหวาดกลัวกลับยังไม่มีอารมณ์จะออกไปเฉลิมฉลองเทศกาลใดๆ ปัญหาอื่นๆ ที่ถาโถมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 หรือความยากลำบากในการใช้ชีวิตในทุกมิติอันสืบเนื่องมาจากรัฐประหาร ทั้งการตัดน้ำ ตัดไฟ สัญญาณอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะกับหลายคนที่ยังต่อต้านรัฐประหารผ่านขบวนการอารยะขัดขืน (CDM) อย่างต่อเนื่อง

คนกลุ่มนี้มีทั้งข้าราชการ พนักงานบริษัท หรือลูกจ้างทั่วไป ที่หยุดทำงานเพื่อส่งสัญญาณว่าพวกเขาไม่ต้องการทำงานเพื่อช่วยให้คณะรัฐประหารอยู่ต่อไปได้ คนกลุ่มนี้ไม่มีรายได้ และแม้เราจะไม่เคยเห็นพวกเขาบ่นออกสื่อ แต่นี่คือหนึ่งในประชาชนคนธรรมดาที่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร ไม่นับชาวบ้านในเขตพื้นที่สู้รบ ที่ต้องหอบลูกหอบหลานหลบหนีการโจมตีของกองกำลังฝั่งรัฐบาล ที่กำลังต่อสู้กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) อย่างเข้มข้น

คณะรัฐประหารรู้ดีว่าเทศกาลตินจานมีความสำคัญทางจิตใจกับคนพม่า หรือแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น คนมอญ คนฉาน หรือคนกะเหรี่ยงพุทธ เป็นอย่างมาก ดังนั้น สิ่งที่คณะรัฐประหารและกองทัพพม่าพยายามทำในเทศกาลตินจานปี 2022 นี้คือปล่อยให้มีงานรื่นเริงเฉลิมฉลอง เมื่อปีก่อน นอกจากภาพการสังหารประชาชนในเดือนมีนาคมจะยังติดตาจนทำให้อารมณ์การเฉลิมฉลองตินจานกร่อยสุดๆ แล้ว คณะรัฐประหารจึงออกกฎมาใหม่ในปีนี้ ว่ารัฐบาลคณะรัฐประหารมอบหมายให้แต่ละมณฑลและรัฐจัดเทศกาลตินจานได้ แต่ต้องไม่ละเมิดมาตรการป้องกันโรคโควิด-19

Advertisement

การอนุญาตให้จัดงานตินจานในคราวนี้เป็นความจำเป็นของคณะรัฐประหาร ที่อยากให้ทั่วโลกมองเมียนมาว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว และเมื่อตินจานเป็นงานรื่นเริง ซึ่งในสถานการณ์ปกติจะมีผู้คนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่งทุกปี การจัดงานตินจานในปีนี้อยู่ภายใต้การสอดส่องดูแลของคณะรัฐประหารอย่างเข้มงวด เพราะแน่นอนไม่มีอะไรที่เป็นของแสลงสำหรับคณะรัฐประหารและกองทัพพม่าเท่ากับการที่ประชาชนนับพันนับหมื่นมารวมตัวกันอีกแล้ว ดังนั้น การจะผ่อนคลายมาตรการการจัดงานตินจาน จึงต้องทำอย่างระมัดระวังและมีกำลังเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการประท้วงรัฐประหารขึ้นได้

ความพยายามจัดงานตินจานให้เป็นประเพณีรื่นเริงภายใต้การสอดส่องของ “พี่เบิ้ม” อย่างละเอียดนี้ยังเห็นได้จากการที่คนของคณะรัฐประหารตระเวนขอเงินบริจาคเพื่อจัดงานตินจานกับประชาชนบางเขตในย่างกุ้ง และยังส่งจดหมายไปหาเจ้าของธุรกิจใหญ่น้อยเพื่อขอบริจาคเงิน หรือให้เป็นสปอนเซอร์จัดเวทีการแสดงในเทศกาลนี้

แน่นอน ด้วยปัญหาหลายอย่างที่ถาโถมเข้ามา ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีอารมณ์ออกจากบ้านไปเฉลิมฉลองเทศกาลตินจาน และหลายคนเลือกจะบอยคอตเทศกาลดังกล่าวด้วย

Advertisement

ในเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง การสู้รบระหว่างฝ่ายต่อต้านรัฐประหารกับกองทัพพม่ายังดำเนินต่อไป พร้อมกับชะตากรรมของคนธรรมดาสามัญที่ต่างได้รับผลกระทบจากรัฐประหารครั้งนี้ ด้วยขบวนการ CDM ที่ยังคงดำเนินต่อไป คนที่น่าเห็นใจที่สุดคือข้าราชการหลายพันคนที่พร้อมใจกันนัดหยุดงานมามากกว่า 1 ปีแล้ว และต่างมีสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ เพียงเพราะพวกเขาไม่ต้องการทำงานให้คณะรัฐประหาร

สิ่งที่ผู้เขียนสงสัยมาตลอดนับตั้งแต่มี CDM ขึ้นมาคือคนที่เข้าร่วมขบวนการนี้เขาอยู่กันได้อย่างไรโดยไม่มีรายได้ แน่นอนในช่วงแรกที่การประท้วงต่อต้านรัฐประหารเกิดขึ้น คงมีน้อยคนที่คิดว่า CDM จะกินเวลายาวนานขนาดนี้ หลายคนมีความหวังว่าขบวนการประชาชน ที่นำโดย NUG ที่เป็นรัฐบาลคู่ขนาน และกองทัพพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF อาจจะเอาชนะกองกำลังฝั่งรัฐบาลได้

สำนักข่าว Frontier Myanmar สัมภาษณ์ข้าราชการที่เข้าร่วมขบวนการ CDM คนหนึ่ง เธอมีอาชีพเป็นครูมา 30 ปี ปัจจุบันอายุ 55 ปีแล้ว แต่ตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการ CDM ด้วยเหตุผลเหมือนกับครูคนอื่นๆ อีกหลายร้อยคน ในปัจจุบัน เธออยู่กับมารดาวัย 80 ปี ที่กำลังป่วย และที่ผ่านมาเธอขายเครื่องประดับที่สะสมมาทั้งชีวิตเพื่อนำมาใช้ดำรงชีพ แม้จะต้องมีชีวิตที่ยากลำบาก แต่ผู้ที่เข้าร่วม CDM พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าพวกเขามีความหวัง และจะไม่มีวันยอมกลับไปทำงานให้คณะรัฐประหารอีกอย่างแน่นอน

ในความเป็นจริง การต่อสู้จะกินเวลายาวนานต่อไปอีกนานมาก ถ้าเรามองว่ากองกำลังของกะเหรี่ยงในนาม KNDO ทำสงครามกับกองทัพพม่ามาตั้งแต่ 1948 หรือกว่า 74 ปีมาแล้ว หรือสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ก็พอจะเห็นภาพ “กว้างๆ” ว่าความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังฝั่งประชาชนจะดำเนินไปจนถึงจุดใด

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง สำหรับพม่าคือมีผู้เข้าร่วมขบวนการ CDM นับแสนคน คณะรัฐประหารตอบโต้โดยการประกาศไล่ออกข้าราชการครูที่เข้าร่วม CDM มากถึง 1.4 แสนคน นอกจากนี้ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า รถไฟ และป่าไม้ ก็ถูกไล่ออกในคราวเดียวกันอีกหลายหมื่นคน คนเหล่านี้คือผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพของตน คณะรัฐประหารไม่สามารถหาคนเข้าไปทดแทนตำแหน่งงานมากมายขนาดนั้นได้อย่างแน่นอน ผลที่จะเกิดขึ้นคือระบบราชการของพม่าก็จะกลายเป็นอัมพาต แม้คณะรัฐประหารจะสามารถหาคนเข้าไปเติมตำแหน่งเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถกู้ระบบราชการเดิมกลับคืนมาได้

รัฐบาลคู่ขนาน NUG อ้างว่ามีข้าราชการที่เข้าร่วม CDM มากถึง 4 แสนคน แต่ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่ายังมีข้าราชการที่ยังไม่ยอมกลับไปทำงานอยู่เท่าไหร่ รัฐบาล NUG พยายามหาเงินเพื่อสนับสนุนข้าราชการที่เข้าร่วมกับ CDM ผ่านการจำหน่ายลอตเตอรี่ ในเดือนสิงหาคม 2021 NUG เปิดขายลอตเตอรี่บนแฟนเพจในเฟซบุ๊ก และระดมทุนได้มากถึง 100 ล้านจ๊าต หรือกว่า 6 หมื่นเหรียญสหรัฐ

นอกจากช่องทางของ NUG ก็ยังมีองค์กรสาธารณกุศลอื่นๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระข้าราชการที่เข้าร่วมขบวนการ CDM แต่ถามว่าขบวนการ CDM สร้างแรงกระเพื่อมหรือท้าทายคณะรัฐประหารได้มากเพียงใด ผู้เขียนมองว่าอาจมีผลไม่มากนักในระยะยาว ปัจจัยที่จะชี้ชะตาว่าฝ่ายใดจะได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองครั้งนี้คือการสู้รบทางการทหาร มากกว่าการกดดันจากขบวนการ CDM

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image