ภาคปฏิบัติประชาธิปไตย : เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ภาคปฏิบัติประชาธิปไตย : เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

ภาคปฏิบัติประชาธิปไตย

จากวันที่ 4 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2565 คือวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทั้ง 31 คน และของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 50 เขต ทั้ง 382 คน

ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร แถลงหลังการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เมื่อเย็นวันสุดท้ายของการรับสมัคร ปรากฏว่า ที่ประชุมคณะกรรมการแจ้งการไม่รับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 1 ราย กับผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 3 ราย ดังนี้

Advertisement

ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คือ นายไกรเดช บุนนาค ผู้สมัครหมายเลข 19 เนื่องจากเป็นผู้ไม่มีสิทธิ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 50 (3) พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน

ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 3 ราย คือ นายอดิเทพ จาวลาห์ ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดุสิต หมายเลข 10 นางสาวณัฐวีณ์ เปาชัย ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางนา หมายเลข 7 มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในกรุงเทพมหานครติดต่อกันน้อยกว่าหนึ่งปี และ นายพีรพล กนกวลัย ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไท หมายเลข 7 เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการสื่อมวลชน

เป็นอันว่า ผู้สมัครเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คงเหลือ 30 ราย ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร คงเหลือ 379 ราย เขตใดเหลือกี่ราย บวกลบคูณหารกันเองนะครับ แล้วอย่าเผลอกาเบอร์ผิด จะกลายเป็นบัตรเสีย เซ็งมะก้องด้องไปเปล่าๆ

ถึงวันนี้ ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาเมืองพัทยา คงมีผู้สมัครในใจไว้แล้วคนละสองสามเบอร์ แต่หลายคงยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร โดยเฉพาะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้ง 30 คน และนายกเมืองพัทยาทั้ง 4 คน ซึ่งน่าจะตัดสินใจง่ายกว่าคนกรุงเทพฯ

นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทั้ง 30 คน จะมีการซ้ำกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง การหาเสียงตามเขตหลายเขต ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดูจะบอกกล่าวทำโน่นทำนี่ของแต่ละเขตที่ขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยะ เรื่องน้ำเสีย เรื่องความสะดวกการจราจร เรื่องหาบเร่แผงลอย เรื่องการทำมาหากิน

เช่นเดียวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต จะหยิบยกปัญหาของเขตนั้นขึ้นมาว่าหากได้รับเลือกจะแก้ไขเรื่องนั้นๆ ทันที โดยเฉพาะผู้สมัครพรรคหรือทีมเดียวกับผู้ว่าราชการน่าจะหาเสียงหรือแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน

เวลาหดหายเข้ามาเหลือ 5 สัปดาห์ ผู้สมัครบางรายยังไม่มีป้ายหาเสียง บางรายใช้การโฆษณาผ่านระบบคลื่นเข้าโทรศัพท์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีจะได้ไม่รกหูรกตา แต่ที่จริง การติดป้ายหาเสียงเลือกตั้งเป็นบรรยากาศสร้างความตื่นตัวสร้างความคึกคักให้กับการเลือกตั้ง เป็นการปลุกเร้าให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกได้รับรู้ว่ามีใครสมัครรับเลือกตั้งบ้าง เป็นที่รู้จักมากน้อยไหม หรือหน้าตาเข้าท่าเข้าทางเข้าตาเราบ้างสักน้อยหนึ่งก็ยังดี

ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีเรี่ยวมีแรงออกไปลงคะแนนเลือกตั้งอีกครั้ง หากได้ยินได้เห็นทางวิทยุทางโทรทัศน์บ้าง ยังพอได้บรรยากาศการเลือกตั้งกับเขาจะได้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า มีสิทธิมีส่วนทางการเมืองระดับท้องถิ่นมีโอกาสเลือกผู้ว่าฯ อีกหน

การเมืองจะคึกคัก เรียกร้องให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และประชาชนเยาวชนทั่วไปรู้สึกว่ามีส่วนร่วมทางการเมือง คือการมีโอกาสได้รับรู้รับฟังการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจอย่างนี้แหละ

อย่างน้อยจะได้รู้ว่า หากผู้สมัครรับเลือกตั้งคนไหนมีนโยบายถูกใจ เมื่อเราเลือกและได้รับเลือกเข้าไปแล้วจะทำอย่างที่บอกไว้ หรือไม่ทำอย่างที่ว่า โอกาสหน้าเรายังตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกได้ตามใจเราได้อีก

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image