อิสราเอลเล็ก-อิสราเอลใหญ่ วงเล็กๆ-วงใหญ่ๆ,วัดเล็กๆ-วัดใหญ่ๆ : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

การแสดงคอนเสิร์ตโดย วงอิสราเอลคาแมราตาออเคสตรา (Tha Israel Camerata Orchestra) ภายใต้การอำนวยเพลงโดย เอฟเนอร์ ไบรอน (AvnerBiron) ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในค่ำวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ.2559 มีประเด็นอะไรหลายๆ อย่างที่น่าจะนำมาคิดเปรียบเทียบกันเป็นอย่างยิ่งกับการแสดงของ “อิสราเอลใหญ่” หรืออิสราเอลฟิลฮาร์โมนิก (Israel Philharmonic Orchestra) ภายใต้การอำนวยเพลง โดย สุบิน เมห์ธา (Zubin Mehta) ครั้งล่าสุด ณ เวทีเดียวกันเมื่อ วันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2557

การมาเยือนของ “อิสราเอลใหญ่” ครั้งนั้นเป็นที่กล่าวขวัญถึงก่อนการแสดงจะมาถึงหลายเดือน จนต้องมีการประกาศล่วงหน้าหลายวันว่า “บัตรหมด” (Sold Out) ทำให้ผู้ชมหลายคนต้องพากันเสียดายไปตามๆ กันกับการบรรเลงดุริยางคนิพนธ์อันเลอเลิศอย่าง ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของมาห์เลอร์ (Gustav Mahler) โดยวงแบรนด์เนม “ระดับโลก” ซึ่งเมื่อถึงวันจริงก็กลับกลายเป็นการบรรเลงที่มีคุณภาพราวกับการซ้อมใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างว่ากันไปตามตัวโน้ตที่เขียนไว้ มิได้สร้างมาตรฐานอย่างสูงสมดังกับการรอคอย

ในปีนี้ทางผู้จัดงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติครั้งที่18 จึงได้นำเอา “อิสราเอลเล็ก” ขนาด 20 กว่าคนวงนี้มาบรรเลงแทน วงเล็กๆ ขนาดย่อมๆ แบบนี้ไม่มีวาทยกรระดับ “ดาราใหญ่” (Super Star) มาปรากฏตัว จึงไม่ได้มีการโหมโฆษณา (ชวนเชื่อ) แบบอิสราเอลใหญ่ ผลก็คือยังมีผู้ชมไม่เต็มโรง (แต่ก็ราวๆ 70% ของที่นั่งชั้นล่าง) แต่คุณภาพการบรรเลงนั้นทุ่มเทบรรเลงกันอย่างเต็มความสามมารถ เสียงดนตรีที่ฟังดูเต็มไปด้วยสมาธิและความตั้งใจอย่างสูงตลอดการแสดง บ่งชี้ว่าพวกเขาจะทุ่มเทเพื่อการบรรเลงดนตรีอย่างสูงสุดเท่าที่จะทำได้ไม่ว่าจะไปบรรเลงที่ไหนให้ใครฟังก็ตาม ศิลปินดนตรีบางคนอาจไม่ได้ทุ่มเทอุทิศตนเพื่อดนตรีแบบนี้ทุกคน โดยเฉพาะเมื่อพวกเขา “ติดลมบน” แล้ว

การแสดงของ อิสราเอลคาแมราตาออเคสตรา (ICO) มีประเด็นที่น่าพิจารณาว่า นี่เป็นกลุ่มนักดนตรีขนาดย่อมที่รัก, ศรัทธา อุทิศตัวเพื่อดนตรี มากกว่าที่จะคาดหวังชื่อเสียง, ลาภยศหรือความเป็นดาราใหญ่จากศิลปะดนตรี นับแต่การก่อตั้งวงเมื่อ 33 ปีที่แล้ว (ค.ศ.1983) เอฟเนอร์ ไบรอน (Avner Biron) ยืนหยัดดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการดนตรี (Music Director) ของวงดนตรีเล็กๆ นี้มาโดยตลอด นี่เป็นเสมือนธรรมเนียมปฏิบัติของวงซิมโฟนีออเคสตราในสมัยก่อน ที่ใช้ผู้อำนวยเพลงคนเดียวแบบผูกขาดเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน

Advertisement

ข้อเสียคงต้องมีบ้างแน่นอน แต่ข้อดีที่เห็นเด่นชัดก็คือ ความสามารถในการสร้างอัตลักษณ์บางอย่างที่โดดเด่นของวงขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “เสียงประจำวง” ซึ่งปัจจุบันนั้นแทบจะกล่าวได้ว่าสูญหายไปแล้ว แต่อิสราเอลคาแมราตาพิสูจน์ว่า วงขนาดเล็กๆ ย่อมๆ ของพวกเขานี้มีเสียงเฉพาะตัว และมีอะไรพิเศษๆ ทางดนตรี ในตัวอีกหลายอย่าง

และที่สำคัญที่สุดพวกเขามีเรื่องราวทางดนตรีซึ่งจัดเตรียมไว้บอกเล่า ให้กับบรรดาผู้ชมของเขาให้ทราบ โดยผ่านทางกระแสเสียงดนตรีที่พวกเขาทุ่มเทบรรเลง

ในการชมการบรรเลงดนตรีสดๆ จริงๆ นั้น เราจะสัมผัสได้ว่าแม้จะเป็นวงดนตรีขนาดย่อมๆ แต่เมื่อได้ทุ่มเทใจให้กับการบรรเลงอย่างเต็มศักยภาพแล้ว มันจะฉายแววเปล่งประกายสีสันทางดนตรีที่เจิดจรัสได้เช่นเดียวกัน นับแต่บทเพลง ดิแวร์ติเมนโต สำหรับวงเครื่องสาย (Divertimento for String Orchestra) ผลงานของ เบลา บาร์ท็อค (Bela Bartok) บทเพลงแนวคลาสสิกย้อนยุค (Neo Classic) แห่งศตวรรษที่ 20 ซึ่ง เอฟเนอร์ ไบรอน ได้เตรียมการตีความบทเพลงล่วงหน้า (หรืออาจเรียกว่า “ทำการบ้าน”) มาเป็นอย่างดี

Advertisement

ผลงานชิ้นนี้เป็นดนตรีบริสุทธิ์ (Absolute Music) ที่ไม่มีการบอกเล่าเรื่องราวหรือภาพเหตุการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นดนตรีที่ต้องการแสดงออกด้วยความงดงามขององค์ประกอบทางศิลปะดนตรีล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นท่วงทำนอง, สีสันทางเสียง, ความแตกต่างในเฉดสีทางเสียงต่างๆ และโครงสร้างทางไวยกรณ์ (Form) ของบทเพลง เอฟเนอร์
ไบรอน และวง ICO ได้แสดงออกซึ่งองค์ประกอบทางดนตรีทั้งหมดนี้อย่างกระจ่างชัด

แนวทำนองหลัก ในท่อนแรกสามารถส่งกลิ่นกรุ่นๆ ที่บ่งบอกว่า มันอยู่ “ในลีลาแบบ” (Quasi = in the style of) ดนตรีพื้นบ้านแถบยุโรปตะวันออก

แนวทำนองรอง ที่แผ่วลงอย่างแตกต่าง, การตัดกันอย่างโดดเด่นของความดัง-ค่อย, การยืด-หด (Rubato) ในจังหวะดนตรีอย่างพอเหมาะพองาม

บทบาทการบรรเลงเดี่ยว (Solo) ที่แทรกไว้ตามจุดต่างๆ แบบแนวคิดคอนแชร์โตกรอซโซ (Concerto Grosso) ในแบบยุคบาโรค (Baroque) ที่สร้างมิติเสียงแบบ “วงเล็กที่ซ่อนอยู่ในวงใหญ่” ส่วนพัฒนาแนวทำนองหลัก (Development) ที่ทำให้ดนตรีฟังดูมีสีสันหม่นหมองลงไป

องค์ประกอบทางดนตรีเหล่านี้พวกเขาสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจน มันคือการบรรเลงที่เปรียบเสมือนเส้นกราฟแห่งพลังทางดนตรีที่มีการขึ้น-ลงอย่างน่าตื่นเต้น อีกทั้งยังเห็นถึงความแตกต่างในองค์ประกอบทางดนตรีที่กล่าวมาอย่างชัดเจน นี่คือสุนทรียภาพแห่งดนตรีบริสุทธิ์ที่สกอร์ดนตรีมีความหมายอย่างสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง (Music speak for itself)

วง ICO นี้ไม่ใช่วงที่มีน้ำเสียงงดงามไปจนถึงขั้นที่เราจะเรียกได้ว่า สะอาดบริสุทธิ์แบบไร้ตะเข็บรอยต่อ แม้ว่าความงดงามในด้าน “คุณภาพเสียง” อาจฟังดูยังไปไม่ถึงสุดทาง แต่ทว่าในระดับ “คุณภาพทางดนตรี” นั้นพวกเขาสนองตอบและนำพาผู้ฟังไปได้ไกลในทางดนตรีมากมายกว่าหลายเท่าตัว ในบทเพลงลำดับที่สองคือเชลโลคอนแชร์โตหมายเลข 1 ของ ฟรันซ์ โยเซฟ ไฮเดิน (Franz Joseph Haydn) นั้น พวกเขาแสดงมาตรฐานการบรรเลงที่เรียกได้ว่าชั้นครูอย่างแท้จริง ศิลปินเดี่ยวเชลโลในบทเพลงนี้คือ ซวิ เพลสเซอร์ (Zvi Plesser) ซึ่งเขาน่าจะเป็นหัวหน้ากลุ่มเชลโลของวงดนตรีวงนี้ เขาแสดงออกซึ่งวุฒิภาวะและประสบการณ์ทางดนตรีอันคร่ำหวอด บทบาทการแสดงเดี่ยวของเขาในบทเพลงนี้ไม่หวือหวา, โฉ่งฉ่าง ไม่พยายามตะโกนโหวกเหวก (ด้วยเสียงเชลโล) เพื่อเรียกร้องความน่าสนใจให้กับตัวเอง

ฝีไม้ลายมือของเขากลมกลืนอยู่ในความเป็นดนตรีในองก์รวม ในท่อนช้าเสียงเชลโลของเขางดงาม, ดื่มด่ำราวกับ บุรุษผู้มีบุคลิกภาพอันมั่นคง

ในท่อนสุดท้ายในจังหวะเร็วนั้นมีประโยคดนตรีที่ต้องไล่เสียงอย่างรวดเร็ว (Running Scale) มากมาย การบรรเลงของเขาอาจใช้สอนให้นักเรียนเครื่องสายทั้งหลายได้ดูไว้เป็นตัวอย่างว่า จงอย่าได้เบื่อหน่ายการฝึกหัดไล่บันไดเสียงทั้งหลายเลย เพราะเมื่อวันนั้นมาถึงการสะสมศักยภาพอันยาวนานนั้นจะกลั่นกรองให้มันกลายเป็น “ศิลปะ” ที่แฝงอยู่ในส่วนหนึ่งของบทเพลงในระดับคอนแชร์โต

ถ้าหากไม่มีบทเพลง “คาดิช” (Kadish)ในลำดับที่ 3 ของรายการติดตามมา เราก็คงคิดว่า ซวิ เพลสเซอร์ เป็นนักเชลโลที่มีความสามารถดีตามมาตรฐานในระดับหัวหน้ากลุ่มคนหนึ่งและซอเชลโลคู่ใจของเขาตัวนี้ก็คงไม่มีอะไรพิเศษมากไปกว่านั้น แต่บทเพลงคาดิชนี้เองที่ทำให้เราทราบว่า เราเกือบจะประเมิน ยอดนักดาบและกระบี่คู่ใจของเขาต่ำเกินไปเสียแล้ว

คาดิชเป็นบทเพลงสำหรับบรรเลงเดี่ยวเชลโลร่วมกับวงออเคสตรา ประพันธ์โดยนักประพันธ์ดนตรีรัสเซียสายเลือดยิวแห่งศตวรรษที่ 20 นามว่า “มาร์ค โคปีต์แมน” (Mark Kopytman ค.ศ.1921-2011) ซึ่งประพันธ์บทเพลงนี้ในปี ค.ศ.1981 ในลักษณะแบบดนตรีพรรณนา (Program Music) กำหนดให้แนวเดี่ยวเชลโลทำหน้าที่บรรเลงเสมือนบทบาทของลูกชายคนโตที่ทำหน้าที่ผู้นำสวดส่งวิญญาณให้กับบิดาผู้ล่วงลับ โดยวงออเคสตราทำหน้าที่เสมือนดวงวิญญาณของบิดาในอีกภพภูมิหนึ่ง

มาถึงบทเพลงนี้ ซวิ เพลสเซอร์ สวมแว่นตา, ตั้งโน้ตเพลงไว้ข้างหน้า เพื่อความรัดกุมปลอดภัยในการบรรเลงมากขึ้นบทบาทการแสดงเดี่ยวเชลโลในบทเพลงนี้ของเขาไปไกลเกินกว่าเพียงแค่ความงดงามทางดนตรี หากแต่เขานำพาเราไปสู่มิติแห่งศิลปะเชิงละคร (Drama) อย่างแท้จริง เสียงเชลโลของเขาที่ป่าวประกาศขึ้นมานั้นล้ำลึก, สงบและขลังราวกับการร่ายมนต์อันศักดิ์สิทธิ์เพื่อเริ่มพิธีกรรมทางจิตวิญญาณโดยแท้จริง

มันคือการแสดงออกที่เปี่ยมด้วยวัยวุฒิและปัญญาวุฒิ ซึ่งต้องสั่งสมบ่มเพาะผ่านกาลเวลาอันยาวนานอย่างแน่นอน ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่อยู่เพียงแค่ระดับของเทคนิคทางดนตรีสถานเดียว และแน่นอนที่สุดมันก็คงไม่มี “ทางลัด” ทางดนตรีใดๆ ทั้งสิ้นที่จะนำพาวุฒิภาวะทางดนตรีของเขามาถึงจุดนี้ในระยะเวลาสั้นๆ

เสียงเดี่ยวเชลโลของเขาในบทเพลงนี้แสดงบุคลิกภาพจนแทบจะจินตนาการได้เป็นตัวเป็นตนทีเดียว สำนวนและลีลาทางดนตรีอยู่ในศตวรรษที่ 20 และบางตอนก็ฟังดูว่าย้อนไปในศตวรรษที่ 19 ด้วยซ้ำไป

ช่วงเสียง (Range) ของแนวเดี่ยวเชลโลที่เปิดกว้างสูงสุดจากช่วงล่างอันทุ้มต่ำ-ล้ำลึกไปสู่ช่วงสูงสุดที่ฟังดูประดุจการผิวปากอันหวีดหวิว (Harmonic) นี่เป็นดุริยางคนิพนธ์ร่วมสมัยที่เข้าใจได้ไม่ยาก

แม้เราจะไม่รู้เรื่องราวเบื้องหลังใดๆ ที่แฝงมากับเสียงดนตรี เพียงแค่ได้ฟังเป็นครั้งแรกก็สามารถเรียกร้องความสนใจ, ดึงดูดอารมณ์ความรู้สึกเราให้ดื่มด่ำลึกซึ้งไปกับเสียงดนตรีได้อย่างไม่ยากเย็น

คำว่า “ซิมโฟนีหมายเลข 5” มักจะซ่อนอะไรพิเศษๆ ทางดนตรีเอาไว้เสมอๆ เช่นเดียวกันกับซิมโฟนีหมายเลข 5 ของฟรันซ์ ชูเบอร์ต (Franz Schubert) ผลงานในกระแสรอง ของนักประพันธ์ดนตรีในกลุ่มกระแสหลักแฟนๆ ดนตรีคลาสสิกคงแทบจะไม่มีใครเลยที่จะไม่รู้จักฟรันซ์ ชูเบอร์ต แต่จะรู้จักเขาในฐานะราชาเพลงร้อง และซิมโฟนีที่สร้างชื่อเสียงให้เขาสองบทก็คือ หมายเลข 8 (Unfinished Symphony) และหมายเลข 9 ที่มีฉายาว่า “The Great”

ซิมโฟนีหมายเลข 5 บทนี้ เป็นดนตรีบริสุทธิ์อีกบทเพลงหนึ่ง ไม่ได้เล่าเรื่องราวพิเศษใดๆ สำนวนดนตรีนั้นแสนจะเป็นมิตรกับผู้ฟังและเต็มไปด้วยความรู้สึกของการมองโลกในแง่ดี องค์ประกอบทางดนตรีทุกๆ อย่างดึงดูดความรู้สึกผู้ฟังได้อย่างสูงเป็นที่น่าจดจำได้ดี บทเพลงที่ฟังดูเบาสบายไม่สร้างแรงกดดันทางอารมณ์-ความคิดใดๆ ต่อผู้ฟัง และก็ขอคาดเดาเอาว่า ไม่น่าจะสร้างความยากทางเทคนิคการบรรเลงสำหรับนักดนตรีเท่าใดนัก ยิ่งกับระดับ “มืออาชีพ” ในยุคปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าซิมโฟนีบทนี้เล่นง่ายด้วยซ้ำไป

แต่ก็นั่นแหละดนตรีที่ฟังดูเรียบง่าย, แจ่มใสนี้เองที่มีความยากบางอย่างแฝงตัวเอาไว้อย่างแนบเนียน นั่นก็คือความยากในการค้นหาจุดแห่งความพอเหมาะพอดีในการตีความ เราควรจะบรรเลงมันออกมาอย่างไรให้ฟังดูลื่นไหลเป็นธรรมชาติ และสำคัญที่สุดมันจะต้อง “แฝงรอยยิ้ม” อันบริสุทธิ์แจ่มใสและจริงใจอยู่ในกระแสเสียงนั้น มันจึงไม่ใช่ผลงานดนตรีที่ยากทางเทคนิคการบรรเลงดนตรี แต่ยากในวิธีการตีความให้เกิดความพอเหมาะ-พอดีหรือกล่าวสั้นๆ ว่ายากตรงที่คำว่า “รสนิยม” นั่นเอง

เอฟเนอร์ ไบรอน ฉลาดมากในการผสมผสานนำเสนอบทเพลงในหลากหลายยุคสมัย, หลากหลายรสชาติลีลา และจบรายการด้วยซิมโฟนีเล็กๆ อันแสนจะสมบูรณ์แบบบทนี้ ซิมโฟนีที่สามารถกล่าวได้ว่ามันคือ จุดกึ่งกลางและรอยต่อระหว่างคำว่าคลาสสิกและโรแมนติก หรือกึ่งกลางระหว่างโมซาร์ท
กับเบโธเฟน

เสมือนกับบทเพลงอื่นๆ ทุกเพลงในรายการครั้งนี้กล่าวคือการเตรียมงานศึกษาบทเพลงมาก่อนเป็นอย่างดี ยิ่งถ้าใครศึกษาวิเคราะห์บทเพลงในเชิงโครงสร้างไวยกรณ์ (Form) มาก่อนก็จะยิ่งเห็นความเอาจริงเอาจังในรายละเอียดของเอฟเนอร์ ไบรอน มากขึ้น และต่อให้ไม่ได้ศึกษาเตรียมการมาก่อนก็ยังสามารถจับแนวทางการนำเสนอของเขาและรู้สึกได้ด้วยหูของเราเองว่า มันมีรายละเอียดในแต่ละส่วนของบทเพลงในท่อนเดียวกันที่แตกต่างหลากหลายสีสัน การตีความทางดนตรีของเขาสร้างความประทับใจได้ในทุกระดับ ไม่ว่าเราจะเตรียมตัวก่อนฟังมามาก-น้อยแค่ไหน หรือแม้แต่จะไม่ได้เตรียมตัวใดๆ มาก่อนเลยก็ตาม หลังเสียงปรบมือชื่นชมอย่างยาวนาน เขาเลือกบทเพลงแถม (Encore) อย่างชาญฉลาดอีกเช่นเดียวกัน

เพลงแถมที่ไม่จำเป็นจะต้องสะกดเราด้วยเทคนิคยากๆ จนต้องอ้าปากค้างอย่างตื่นตะลึง แต่เขาเลือกเพลงแถมที่งดงามบริสุทธิ์น่าประทับใจ แม้จะไม่รู้จักมาก่อนเลยก็ตาม ทำเอาผู้ชมหลายคนพากันตั้งข้อสงสัยไปตามๆ กันว่า เพลงแถมอันงดงามสองบทนั้นมันคืออะไรกันแน่ ผมเองต้องวิ่งไปถามกับนักดนตรีหลังการแสดงจบลง จึงได้คำตอบว่า บทเพลงแรกคือท่อนสุดท้ายจากซิมโฟนีหมายเลข 34 ของฟรันซ์ โยเซฟ ไฮเดิน และบทเพลงที่สองก็คือท่อนที่ 3 (Minuet) จากซิมโฟนีหมายเลข 85 ของไฮเดินอีกเช่นเดียวกัน

เพลงแถมเล็กๆ ท้ายรายการที่สร้างได้ทั้งความประทับใจและความกระหายใคร่รู้ให้แก่ผู้ชมอย่างมากทีเดียว

บ่อยครั้งตำแหน่งวาทยกรนั้นเป็นตำแหน่งที่น่าอับอายและชวนให้เกิดการซุบซิบนินทาในหมู่แวดวงคนในอยู่ไม่ใช่น้อย เล่นดนตรีไม่ได้ละสิ ถึงได้มาจับไม้บาตองสั่งการให้คนอื่นเล่น (ตามใจตัวเอง) หรือวาทยกรหลายคนก็อาจไม่รู้ตัวเลยว่าภาษากาย หรือการสั่งการอะไรของเขานั้นนักดนตรีไม่ได้ตอบสนองใดๆ ในการบรรเลงและไม่ใส่ใจนำพาในตัวเขาเลย แต่นั่นคงไม่ใช่สำหรับ เอฟเนอร์ ไบรอนผู้นี้เป็นแน่ ภาษากายในการอำนวยเพลงที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป แต่ส่งผลชัดเจนทุกครั้งในความเปลี่ยนแปลงของเสียงดนตรีที่บรรเลงออกมา การสั่งการวงที่เขาควบคุมบริหารได้ชัดเจน ความสัมพันธ์ในภาษากายของเขากับเสียงของ “วงดนตรีของเขา” เขาจึงไม่ใช่วาทยกรที่จะมายืนเกะกะรกหูรกตาทั้งสำหรับนักดนตรีหรือผู้ชม

33 ปีผ่านมาแล้ว ที่เขาก่อตั้งและปลุกปั้นอยู่กับวงออเคสตราขนาดย่อมวงนี้ของเขามาโดยตลอด บ่อยครั้งที่ดนตรีก็เปรียบได้กับศาสนา เพราะมันตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำว่า ความเชื่อ และศรัทธาเหมือนๆ กัน ความรู้กระจ่างแจ้งทางดนตรีในตนของเขา (เอฟเนอร์ ไบรอน) ที่เปี่ยมไปด้วยความเชื่อและศรัทธาในพลังทางดนตรีอันหลากหลายรูปแบบที่เขาต้องการจะเผยแพร่และนำเสนอสิ่งที่ค้นพบอยู่ในใจของเขานี้ต่อประชาชน (ผู้ชม) ไม่จำเป็นจะต้องไปแก่งแย่งตะเกียกตะกายชิงตำแหน่งวาทยกรระดับซุปเปอร์สตาร์กับวงแบรนด์เนมระดับโลกที่เมื่อขึ้นไปถึงตำแหน่งนั้นแล้ว ระบบทางธุรกิจต่างๆ อันซับซ้อนก็อาจจะยื่นมือเข้ามาสร้างพันธนาการไม่ให้เขาสามารถทำตามความเชื่อและศรัทธาทางดนตรีที่มีอยู่ในใจได้ทั้งหมด เขาอาจจะต้องกระทำการบางอย่างด้วยเหตุผลทางธุรกิจโดยมันไม่ใช่เหตุผลทางดนตรี

การแยกตัวออกมาปลีกวิเวก ตั้งสำนักเล็กๆ แบบอิสราเอลคาแมราตาขนาด 20 คนนี่แหละที่เขาสามารถจะใช้มันในการเป็น “สื่อ” เผยแพร่ดนตรีอันบริสุทธิ์งดงามให้กับมหาชนได้ ตามแนวทาง, อุดมการณ์, ความเชื่อและศรัทธาทางดนตรีที่เต็มเปี่ยมอยู่ในตัวเขา วงขนาด 20 คนที่อาจเรียกว่า “กึ่งเชมเบอร์มิวสิก” นี่แหละ ที่แฟนๆ ดนตรีคลาสสิก
ระดับวงในๆ ต่างประจักษ์ดีถึงศักยภาพและความจริงแท้ในแก่นแห่งความเป็นดนตรี ที่ไม่ต้องมีเปลือกหนาๆ อันโฉ่งฉ่างใดๆ ที่จะมาห่อหุ้มหรือสร้างภาพตบตาให้กับคนรักดนตรีด้วยจิตบริสุทธิ์

วงดนตรีขนาดย่อมๆ แบบนี้เองที่เต็มไปด้วยความคล่องตัว เสมือนองค์กรหรือบริษัทขนาดย่อม แต่สูงด้วยคุณภาพของบุคลากรจำนวนน้อยนิดที่ทำงานเก่งๆ เป็นเลิศกันทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทมหาชนซึ่งมีพนักงานนับพันๆ คน ที่ท้ายที่สุดก็อาจนำไปสู่การเมืองภายในอันยุ่งยากซับซ้อนน่าเบื่อในที่สุด

ดนตรีดีๆ อาจเปรียบได้กับศาสนาผู้ฟังดนตรีก็อาจเปรียบได้กับศาสนิก ความสงบ, ความรู้แจ้งตื่นตัวในทางธรรม ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปค้นพบในวัดใหญ่ๆ ไม่จำเป็นต้องไปนั่งบรรลุธรรมกันในโบสถ์ราคานับร้อยนับพันล้าน ไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย

ความสงบรู้แจ้งในทางธรรมอาจเกิดได้ในศาลาเล็กๆ ผุๆ พังๆ ริมแม่น้ำอันเงียบสงบ (หรือแม้แต่การบรรลุธรรมใต้ต้นไม้!) จากการฟังธรรมะคำสอน, การชี้นำทางจิตโดยหลวงพ่อ-หลวงปู่ที่บรรลุธรรมภายในตัวของท่านเองแล้วโดยที่ท่านเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องมีสมณศักดิ์-พัดยศอันยิ่งใหญ่ใดๆ พ่วงท้าย

ใครอาจจะว่าผมเปรียบเทียบไปจนไกลจนเลยเถิดก็ช่างเถิด เพราะผมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ในขณะที่กำลังเขียนบทความชิ้นนี้อยู่ และต้องการเปรียบเทียบในเรื่องนี้ด้วยจิตคารวะและด้วยใจจริง ท่านจะเชื่อหรือไม่, จะชอบหรือไม่นั่นเป็นวิจารณญาณส่วนบุคคลที่ไม่มีใครสามารถก้าวล่วงเข้าไปในความคิดจิตใจของท่านได้

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image