สะพานแห่งกาลเวลา : คำเตือนของอนามัยโลก โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-AP)

2 ปีเศษหลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ของโลก เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2020 ก็เริ่มมีเสียงพูดถึง “โรคประจำถิ่น” ขึ้นมาในหลายประเทศ

มีทั้งที่พยายามสื่อสารเพื่อเปลี่ยนสถานะของโควิดให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น แล้วก็มีทั้งที่ปรับเปลี่ยนวิธีการรับมือการแพร่ระบาดของโควิดให้เหมือนกับการรับมือกับโรคประจำถิ่นทั้งหลาย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ มีรัฐต่างๆ อย่างน้อย 5 รัฐในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย แคลิฟอร์เนีย, ยูทาห์, มิสซูรี, นิวเจอร์ซีย์, และอริโซนา ที่ประกาศเปลี่ยนแปลงการรับมือโควิดให้เป็นไปในลักษณะของการรับมือโรคประจำถิ่นไปตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ผลก็คือ ยอดผู้ป่วยและยอดเสียชีวิตจากโควิดกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่งอย่างน่าวิตก

Advertisement

“โรคประจำถิ่น” คืออย่างไร? ต่างกับโรคระบาดใหญ่อย่างไรกัน?

นายแพทย์ สตีเฟน โธมัส ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพโลกของสหรัฐอเมริกา บอกว่า โรคประจำถิ่นคือโรคระบาดที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรจำเพาะ ในพื้นที่จำเพาะ และในปริมาณการแพร่ระบาดที่คาดการณ์ได้

เหมือนเช่นที่เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดมากน้อยของโรคไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปีนั่นเอง

ภายใต้นิยามนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมทั้งนักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์อย่าง ซินเธีย ลีเฟอร์ ยืนยันว่าเรายังไม่ได้บรรลุถึงจุดที่ว่านั้น

เธอยืนยันว่า โควิดยังคงคาดการณ์ไม่ได้ ไม่รู้ว่าใคร ประชากรกลุ่มไหนจะป่วย และจะป่วยกันในปริมาณมากน้อยเพียงใด

แต่ความเข้าใจผิดที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเข้าใจผิดที่ว่า เมื่อเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว โควิดจะรุนแรงน้อยลง และเข้าใกล้จุดจบมากขึ้นทุกที

ไมเคิล ไรอัน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชาวอเมริกันที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก ต้องออกมาเตือนไว้เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา

ไรอันเตือนว่า โควิด-19 ยังอยู่ห่างไกลจากการเป็นโรคประจำถิ่นอยู่มากมายนัก มันยังคงมีขีดความสามารถในการก่อการระบาดขนาดใหญ่ขึ้นได้ทั่วโลกในเวลานี้

เขาย้ำไว้ในการตอบคำถามต่อผู้สื่อข่าวว่า โควิดยังไม่ได้เข้าใกล้กับการเป็นโรคประจำถิ่นเลยด้วยซ้ำไป

ในประเด็นถัดมา ไรอันเตือนเอาไว้ด้วยว่า อย่าไปเชื่อว่าการเป็นโรคประจำถิ่นมีค่าเท่ากับว่าโรคระบาดร้ายแรงนี้จะสิ้นสุดลง หรือลดความร้ายแรงลง หรือไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

การเป็นโรคระบาดใหญ่ กับการเป็นโรคประจำถิ่น ไม่ได้มีนัยแสดงถึงความแตกต่างในระดับความรุนแรงของโรคใดๆ ทั้งสิ้น

ความแตกต่างของมันอยู่ตรงที่ความเร็วและความกว้างขวางของขอบเขตการแพร่ระบาดเท่านั้น

นัยของคำเตือนในประเด็นนี้ก็คือ ถึงแม้ว่าจะถูกประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า โควิดจะทำให้เรา “ตาย” ไม่ได้

เรายังคงตายจากโควิดได้ เพราะโควิดยังคงมีระดับความร้ายแรงเหมือนเดิม เหมือนที่คร่าชีวิตคนเป็นเรือนล้านมาแล้ว

ไรอันอธิบายว่า หากโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นไป มันก็จะจำกัดวง กลายเป็นโรคของเด็กเกิดใหม่ ทำนองเดียวกับที่โรคหัดหรือโรคคอตีบเป็น และต้องได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด

เนื่องเพราะคนที่เติบใหญ่เต็มวัยล้วนมีภูมิคุ้มกันโรคกันหมดแล้ว

มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคขององค์การอนามัยโลก เป็นอีกคนที่ออกมาเตือนในเรื่องนี้ เธอยืนยันว่า โควิดยังคงแพร่ระบาดเป็นวัฏจักรอยู่ในระดับสูง และยังคง “ก่อให้เกิดการเสียชีวิตและการทำลายล้างขนานใหญ่” อยู่ในเวลานี้

เธอยืนยันว่า เรายังคงอยู่ใน “ขั้นกลาง” ของการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนี้ แม้ว่าเราอยากจะให้มันเป็นโรคประจำถิ่นมากแค่ไหนก็ตาม

อันตรายร้ายแรงที่สุดของการด่วนกำหนดสถานะของโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่นเร็วเกินไปก็คือว่า ยังมีประชากรโลกจำนวนมหาศาลที่มีโอกาสรับเชื้อเข้าร่างกาย ไม่ว่าจะเนื่องจากไม่ได้ฉีดวัคซีน ไม่มีวัคซีนจะฉีด หรือภูมิคุ้มกันที่เคยมีจากการติดเชื้อไม่สามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ๆ ได้

คนเหล่านี้จะยังสามารถถูกเชื้อโควิดยึดครองร่างกาย แล้วกลายเป็นแหล่งระบาดได้ต่อเนื่อง

เปิดโอกาสวิเศษสุดให้ไวรัสโควิดมีโอกาสได้กลายพันธุ์ใหม่ได้อีกนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image