ผู้ว่าฯกทม.กับปัญหาขยะ

บรรยากาศการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ครั้งนี้คึกคักเป็นพิเศษ ทั้งจำนวนผู้สมัครและการนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหาของ กทม. ปัญหาขยะจึงเป็นปัญหาหนึ่งที่ผู้สมัครทุกคนให้ความสำคัญและนำเสนอแนวทาง วิธีการแก้ปัญหา การนำเสนอของผู้สมัครแต่ละคนน่าสนใจ มีทั้งที่คล้ายกันและแตกต่างกัน สะท้อนถึงมุมมอง ความเข้าใจและพื้นฐานของผู้สมัครที่แตกต่างกัน บ้างเน้นการนำเทคโนโลยีมากำจัดขยะ บ้างให้ความสำคัญในการลดและคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด บ้างต้องการลดงบค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ บ้างถึงขั้นพลิกขยะให้เป็นทรัพย์ไปเลยทีเดียว

George Tchobanoglous ศาสตราจารย์วิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัย California ปรมาจารย์ด้านการจัดการขยะอธิบายว่า “การจัดการขยะเป็นการผสมผสานของศาสตร์สาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ การผังเมือง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ สาธารณสุข สังคมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การสื่อสาร วิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์” นั่นหมายความว่าการแก้ปัญหาขยะไม่อาจใช้ทักษะหรือความรู้ด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการลำดับความสำคัญของการจัดการขยะ (Solid Waste Management Hierarchy) ที่ถือเป็นคัมภีร์ในการจัดการขยะของเมืองต่างๆ ทั่วโลก

หลักการลำดับความสำคัญของการจัดการขยะ เป็นการจัดลำดับความสำคัญของขั้นตอนในการจัดการขยะ โดยขั้นตอนที่ควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกคือการลดปริมาณขยะ (Reduce) ทำให้เกิดขยะน้อยที่สุด ตามด้วยขั้นตอนของการใช้ซ้ำ (Reuse) เป็นการยืดอายุการใช้งานของเครื่องใช้หรือวัสดุโดยไม่ปล่อยให้กลายเป็นขยะทันที ต่อมาจึงเป็นขั้นตอนของการนำกลับไปแปรรูป (Recycle) และการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานจากขยะ (Energy Recovery) จนถึงขั้นตอนสุดท้ายเป็นการกำจัดด้วยการฝังกลบ (Sanitary Landfill) เมื่อปริมาณขยะเหลือน้อยที่สุดหรือเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จะเห็นได้ว่า 3 ขั้นตอนแรกก็คือ กระบวนการ 3R นั่นเองและเมื่อดำเนินการใน 3 ขั้นตอนแรกอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ประโยชน์ด้านพลังงานและการฝังกลบก็ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ยังสามารถลดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะได้อีกด้วย ดังนั้น ผู้สมัครคนใดที่ต้องการลดงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของ กทม.ก็ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการ 3R ที่ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนและส่งเสริมการบริหารจัดการของ กทม.ด้วยหลักธรรมาภิบาล

เราอาจคุ้นชินกับกิจกรรมพื้นฐานของกระบวนการ 3R ที่ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมรณรงค์ให้ชาวบ้านคัดแยกขยะ นำเอาวัสดุที่ยังใช้ได้หรือขายได้ ไปใช้ซ้ำหรือขายเพื่อนำกลับไปแปรรูป แท้จริงแล้วขั้นตอนการลดปริมาณขยะต้องเริ่มจากการผลิต ผู้ผลิตต้องออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้เกิดขยะน้อยที่สุด โดยผู้บริโภคสามารถใช้ซ้ำหรือนำกลับไปแปรรูปใหม่ได้ กระบวนการ 3R ที่ครอบคลุมไปถึงความรับผิดชอบของผู้ผลิตนี้เราเรียกว่า Extended producer responsibility (EPR) ซึ่งควรเป็นมาตรการทางกฎหมายไม่ใช่เป็นเพียงมาตรการสมัครใจแบบ CSR เพื่อให้การผลิตและการบริโภคสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

Advertisement

การลดและแยกขยะจะเกิดขึ้นได้จึงไม่ใช่แค่การทำกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึกแต่จะต้องมีมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น มาตรการทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายหรือเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ดังนั้น กทม.ในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบพิเศษต้องมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลได้ลงมือทำงานตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจังและเร่งรัดการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขยายความรับผิดชอบในการจัดการขยะไปถึงผู้ผลิตเพื่อให้การแก้ปัญหาขยะของ กทม.และท้องถิ่นอื่นๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

สำหรับปริมาณขยะในพื้นที่ของ กทม.ในฐานะเมืองหลวงและเมืองสำคัญของประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าไม่ได้มากจนเป็นปัญหา จากรายงานของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ในปี 2563 ปริมาณขยะในพื้นที่ กทม.ลดลงจากวันละ 10,564 ตันต่อวัน ในปี 2562 เหลือ 9,519 ตันต่อวัน เป็นผลจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิดที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงและกิจกรรมด้านเศรษฐกิจซบเซา เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ อัตราการผลิตขยะต่อประชากรของ กทม.ในปี 2563 เท่ากับ 1.68 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ลดลงจาก 1.86 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ของปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 1.05 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน (กรมควบคุมมลพิษ, 2563)

เมื่อพิจารณาอัตราการผลิตขยะต่อประชากรรายเขตของ กทม. พบความแตกต่างค่อนข้างมากของเขตรอบนอกกับเขตที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยเขตหนองจอกมีอัตราการผลิตขยะต่อประชากรเพียง 0.77 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และเขตที่มีอัตราการผลิตขยะต่อประชากรประมาณ 1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ได้แก่ คลองสามวา สายไหม ดอนเมือง และบางกอกใหญ่ ส่วนเขตปทุมวันมีอัตราการผลิตขยะต่อประชากรสูงสุดที่ 5.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และเขตพระนคร บางรัก วัฒนา มีอัตรามากกว่า 3 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ความแตกต่างนี้เกิดจากบริบทและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละเขตรวมถึงความแตกต่างของรายได้ต่อประชากรของแต่ละเขตด้วย ดังนั้น การที่ กทม.มีข้อบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมขยะรายเดือนเท่ากันทุกเขตจึงสร้างความยากลำบากในการจัดเก็บค่าธรรมเนียม ประเด็นนี้ มีผู้สมัครบางคนเสนอให้เก็บค่าธรรมเนียมขยะจากแหล่งกำเนิดขยะขนาดใหญ่ในอัตราที่สูงกว่า ข้อเสนอดังกล่าวก็คือการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดย กทม.อาจต้องจัดทำข้อบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมขยะของแต่ละเขตในอัตราที่แตกต่างกัน และให้สำนักงานเขตสามารถกำหนดเป้าหมาย แผนงานการจัดการขยะในพื้นที่ของตนได้เอง ซึ่งแนวทางการจัดการเช่นนี้ก็คือการกระจายอำนาจการจัดการขยะให้กับสำนักงานเขต โดยไม่รวมศูนย์อยู่ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเพียงอย่างเดียว

การนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหาขยะได้สะท้อนให้เห็นสิ่งที่ขาดหายในการนำเสนอนโยบายของผู้สมัครทุกคน ไม่มีแนวคิดที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง สำนักงานเขตยังคงทำหน้าที่เสมือนที่ว่าการอำเภอ ขาดความชัดเจนเรื่องการกระจายอำนาจ แม้แต่ผู้สมัครบางคนที่อ้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image