ปุ๋ยแพง-โพแทช

หลังหลบไปคลายร้อนช่วงหยุดยาวสงกรานต์ชั่วคราวก็ต้องกลับมาเผชิญกับปัญหาวิกฤตรุมเร้าอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นโควิดระบาด ที่ผู้ป่วยใหม่และการเสียชีวิตยังอยู่ระดับสูง รัฐบาลยังไม่คลายล็อกเต็มร้อย เศรษฐกิจจึงเดินหน้าไม่ได้เต็มที่ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

อีกทั้งยังมีวิกฤตจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะราคาพลังงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆ สูงขึ้น รวมถึงภาคการเกษตร

ขณะที่ไทยถือว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม มีสินค้าเกษตรต่างๆ หลากหลายที่ส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาท หรือกว่า 15% ของมูลค่ารวมการส่งออกของไทย

Advertisement

ขณะที่ปุ๋ยเคมีถือเป็นต้นทุนสำคัญในการทำการเกษตรของไทย ซึ่งต้องนำเข้าปีละกว่า 5 ล้านตัน มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท

แม้ที่ผ่านมาราคาปุ๋ยจะขึ้นบ้างตามกลไกตลาด ไม่ได้มากมายนัก เกษตรกรยังพอจะทนๆ ได้อยู่

แต่นับจากโควิดระบาดไปทั่วโลก ทำให้ราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้น ยิ่งมาเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ทำให้ราคาปุ๋ยเคมีพุ่งพรวดถึง 100-200% ต้นทุนการทำเกษตรของไทยจึงสูงลิบลิ่ว

Advertisement

มีบริษัทปุ๋ยหลายแห่งทยอยยื่นขอปรับราคากับกระทรวงพาณิชย์แล้ว แต่ยังถูกเบรกไว้อยู่ ซึ่งคงจะดึงเรื่องได้ไม่นานเพราะฝืนข้อเท็จจริง

เมื่อไทยต้องเจอวิกฤตราคาปุ๋ยแพงขึ้น จึงเริ่มมีคำถามว่าในระยะยาว ไทยจะพึ่งพาตัวเองจากการผลิตแม่ปุ๋ยได้หรือไม่ เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ

จากบทความ “กฤชนนท์ จินดาวงศ์” ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เมื่อมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่าที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าปุ๋ยกว่า 90% และเป็นการนำเข้าแม่ปุ๋ยถึง 55.9% ของการนำเข้าปุ๋ยเคมีทั้งหมด

ทั้งนี้ แม่ปุ๋ยไนโตรเจน มีสัดส่วนนำเข้า 43.8% หรือปีละ 2.5 ล้านตัน มูลค่า 20,000 ล้านบาท

ขณะที่แม่ปุ๋ยโพแทสเซียม สัดส่วนนำเข้า 12% หรือปีละ 700,000 ตัน มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท

ส่วนแม่ปุ๋ยฟอสฟอรัส ไทยผลิตใช้ได้บ้าง จึงนำเข้าเพียง 0.1% หรือปีละ 5,000 ตัน มูลค่าแค่กว่า 50 ล้านบาท

ราคาแม่ปุ๋ยไนโตรเจนที่สูงขึ้นนั้นปรับตามราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต แม้ไทยจะขุดเจาะก๊าซธรรมชาติได้เอง แต่ยังไม่คุ้มค่าที่จะนำมาทำเป็นปุ๋ย

ส่วนแม่ปุ๋ยโพแทสเซียม ที่ทำมาจากแร่โพแทช ซึ่งไทยมีแร่โพแทชสำรองมากถึง 407,000 ล้านตัน แต่มีความต้องการใช้แร่โพแทชเพียงปีละ 0.7 ล้านตัน

หากไทยผลิตแร่โพแทชเองจะช่วยลดการนำเข้าแม่ปุ๋ยได้ปีละ 7,000 ล้านบาท ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยให้เกษตรกร 20-30% ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรของไทยถูกลง

แหล่งแร่โพแทชสำคัญของไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคอีสาน อาทิ “แอ่งสกลนคร” ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 17,000 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่สกลนคร นครพนม หนองคาย และอุดรธานี

“แอ่งโคราช” ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 33,000 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ

ก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมให้ประทานบัตรเหมืองโพแทช 2 โครงการ เมื่อปี 2558 กับบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด กำลังการผลิตรวม 1.2 ล้านตันต่อปี มูลค่ากว่า 12,000 ล้านบาท แต่ทั้ง 2 โครงการยังอยู่ระหว่างการระดมทุน

อย่างไรก็ตาม การทำเหมืองโพแทช นอกจากต้องใช้เงินลงทุนสูงแล้ว อาจมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การปนเปื้อนในแหล่งน้ำ รวมทั้งอาจเกิดมลพิษทางอากาศ จึงมีการต่อต้านของชาวบ้าน

ดังนั้น การทำเหมืองโพแทช เพื่อผลิตแม่ปุ๋ย ลดพึ่งพานำเข้า ลดต้นทุนให้เกษตรกรกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จะจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมมากและมีผลกระทบน้อยที่สุด

เป็นอีกคำถามที่ควรนำมาพิจารณาชั่งน้ำหนักได้-เสียในวิกฤตราคาปุ๋ยแพง

วุฒิ สรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image