สุจิตต์ วงษ์เทศ : ปี่ไฉนกลองชนะ วงประโคมแห่แหนทวยเทพจากอินเดีย

ปี่ไฉนกลองชนะ เป็นวงประโคมแห่แหนทวยเทพในพระราชพิธีต่างๆ ตั้งแต่ขนาดเล็ก จนถึงขนาดใหญ่มหึมา (ภาษาปากเรียกวงเปิงพรวด ตามเสียงกลอง)

มีต้นแบบจากอินเดีย เรียก ปัญจวาทย, ปัญจตุริย แล้วแผลงเป็น เบญจดุริยางค์ ประกอบด้วย เครื่องดนตรี 5 อย่าง ได้แก่ ปี่ 1 เลา กับ กลอง 4 ใบ มีปี่, กลอง, และอย่างอื่น แต่ไทยมักเรียกภาษารวมอย่างคล้องจองว่า “กลองสี่ ปี่หนึ่ง”

ลังกาเรียกวงอย่างนี้ว่า มังคลเภรี ประโคมประจำในหอพระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี กับรับพระเดินไปบ้านหรือสถานที่นอกวัดเพื่อสวดมนต์ทำบุญ เป็นต้นแบบให้ไทยเรียกวงมังคละ (ทางพิษณุโลก, สุโขทัย), วงกาหลอ (ภาคใต้)

ปี่ไฉนกลองชนะ มีรากเหง้าจากปี่กับกลอง ใช้บรรเลงประโคมในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์    ปี่ เป็นหลักเป่าเดินทำนองไม่ให้ขาดเสียง มีเลาเดียว กลอง ตีประกอบจังหวะ ไม่จำกัดตายตัวจะมีแค่ 4 ก็ได้ ลดก็ได้ เพิ่มก็ได้

Advertisement

สุนทรภู่บรรยายไว้เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกว่าราชการ มีประโคมปี่ไฉนกลองชนะในเรื่องพระอภัยมณีตอนหนึ่งว่า

 

ปี่ไฉนได้ทำนองกลองชนะ                                 เสียงเปิงปะเปิงครึ้มกระหึ่มเสียง

อำมาตย์หมอบนอบน้อมอยู่พร้อมเพียง            บังคมเคียงคอยสดับรับโองการ

ยุคอยุธยากรมกลองชนะเกี่ยวข้องกับการรบในสงคราม ดังนั้นปี่กลองชนะจึงมีบทบาทและหน้าที่ประโคมฝึกอาวุธรำกระบี่กระบอง (เป็นเหตุให้เกิดคำคล้องจองว่า รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง) และการต่อสู่อื่นๆ เช่น มวย เป็นต้น ทำให้ในสนามมวยในไทยทุกวันนี้จึงต้องมีเป่าปี่ตีกลองประกอบชกมวยไทย

 

ประโคมแห่

ในพิธีกรรมประโคมแห่จะมีจำนวนกลองไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับแบบแผ่นของประเพณีและฐานันดรของงานนั้นๆ

ยิ่งเป็นการพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหาร ความมั่งคั่ง และความมั่นคงของรัฐ มีเสด็จพระราชดำเนินเป็นกองหลวง จำนวนกลองจะยิ่งมากมายมหาศาล

เช่น ภาพสลักหินที่ศาสนาสถานบุโรพุทโธบนเกาะชวา (อินโดนีเซีย), ภาพสลักหินบนระเบียงปราสาทนครวัด (กัมพูชา), และบรรดาภาพสลักหินที่ปราสาทพิมาย                         (จ. นครราชสีมา) ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นจำนวนกลองที่ไม่อาจคำนวณนับได้ โดยใช้เชือกหรือผ้าผูกกลองแล้วแขวนคล้องคอคนตี เพื่อสะดวกในการเคลื่อนที่เป็นขบวน

(ในหนังสือไตรภูมิ บรรยายขบวนแห่ของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไว้อย่างละเอียดโดยมีกลองชนิดต่างๆ กัน แต่ละชนิดมีจำนวนหลายหมื่นลูก หากรวมกันทั้งหมดแล้วจะมีกลองนับล้านลูก)

ส่วนผู้มีฐานันดรขั้นต่ำๆ มีเค้ามูลจำนวนกลองอยู่ในประเพณีปี่พาทย์ไทยประโคมงานศพ (เรียกปี่พาทย์นางหงส์) ทำ “บัวลอย” โดยเป่าปี่ต้นนำวงและตีกลอง 4 ใบ จึงมักเรียกกันเป็นสามัญว่า “กลองสี่ ปี่หนึ่ง”

 

ปี่ไฉน

ไฉน กลายจากคำอินโด-เปอร์เชีย (อินเดีย-อิหร่าน) ว่า สรไน เป็นเครื่องเป่าปากบานเป็นลำโพง มีรากเหง้าอยู่เปอร์เซีย แล้วแพร่กระจายผ่านอินเดียสู่ลังกาและอุษาคเนย์

[ยุคอยุธยามีตำแหน่งขุนไฉนไพเราะ ศักดินา 200 เป็นพนักงานปี่พาทย์ มีหน้าที่เป่าปี่ทุกชนิด (ไม่เฉพาะปี่ไฉน) ในวงปี่พาทย์ประกอบหนังใหญ่และละคร แต่คนละงานกับวงปี่ไฉนกลองชนะ มีจ่าปี่ทำหน้าที่เป่าปี่ไฉน หรือปี่ชวา]

ตระกูลปี่สรไนในไทย เรียกต่างๆ กัน ได้แก่ ปี่ชวา มาจากเกาะชวา ในอินโดนีเซีย,           ปี่มอญ มาจากรัฐมอญ ในพม่า, ปี่แน อยู่ในล้านนา เรียกตามลังกาว่า หะระแนวะ

 

กลองชนะ

อยู่ในตระกูลกลองแขกมาจากอินเดีย มี 2 หน้า ทำโดยขึงหนัง ซึ่งเป็นเทคโนโลยี              อินโด-เปอร์เซีย (ถ้าพื้นเมืองอุษาคเนย์ขึ้นหนังโดยวิธีเรียกว่าตอกหมุด)

กลองอย่างนี้เรียกหลายชื่อตามขนาดและแหล่งที่รับมา เช่น กลองแขก, กลองชวา, กลองมลายู, เรียกตามมอญว่าเปิงมาง, กับเรียกตามลักษณะว่าสองหน้า ฯลฯ

ยุคอยุธยามีกรมกลองชนะ (ในตำแหน่งนาทหารหัวเมือง) หลวงราชมนู เป็นเจ้ากรม ศักดินา 1000

 

มโหระทึก

มโหระทึก (ตามความเข้าใจของนักประวัติศาสตร์โบราณคดีทุกวันนี้) หมายถึงกลองสำริด มีเอวคอด คล้ายลูกน้ำเต้า มีหูระวิงไว้ผูกเชือกแขวนตีประโคม เป็นต้นแบบฆ้องกับระฆัง

[ในการประโคมย่ำยามพระราชพิธีพระบรมศพ เพิ่มมโหระทึกเข้ามาเป็นพิเศษ แล้วให้ตั้งตีแบบสากล เหมือนในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ]

เสียงกังวานของมโหระทึก เชื่อกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่าเชื่อมโยงฟ้ากับดินถึงกัน เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหาร มีน้ำท่าตามฤดูกาล กับเป็นเครื่องหมายของผู้มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจเท่านั้นได้ครอบครองมโหระทึก

มโหระทึกอยู่ในวัฒนธรรมฆ้อง ราว 3,000 ปีมาแล้ว ของอุษาคเนย์ (ไม่มีในจีนและอินเดีย) มีแหล่งกำเนิดในยูนนานและกวางสี ทางภาตใต้ของจีน (ยุคนั้นยังไม่เป็นจีน)

มีหลายชื่อตามประเพณีของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กลองทอง (มีเรียกในพระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้ง), กลองกบ, ฆ้องบั้ง ฯลฯ

[ข้อมูลได้จากหนังสือ 2 เล่ม ได้แก่ (1) เครื่องดนตรีไทย ของ ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2500 (2) ดนตรีอุษาคเนย์ โดย เจนจิรา เบญจพงศ์ วิทยาลัย ดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก 2555]

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image