ระบอบการปกครองสมัยพุทธกาล

จิตรกรรมฝาผนังพระวิหาร วัดภุมรินทร์ราชปักษี กรุงกุสาวดีแห่งระบอบจักรพรรดิราช อดีตกาลอันยิ่งใหญ่ของกรุงกุสินารา แคว้นมัลละ

นักคิดชาวตะวันตกมักมองปัญหาการปกครองเป็นเรื่องของระบบ ซึ่งอาจเพราะเชื่อว่าปัจเจกชนเหมือนกันในคุณธรรม ล้วนเป็น “สัตว์การเมือง” และต่างก็แสดงความต้องการทางการเมืองได้เท่าๆ กัน
ระบอบที่ศรัทธาจึงอยู่ในแนววัตถุนิยมที่อิงเสียงของคนหมู่มาก ความเชื่อที่ว่าทุกคนเป็นเพียงหน่วยย่อยๆ ที่ไร้อำนาจพิเศษ ทำให้ใครก็ได้สามารถเป็นผู้ปกครอง ถ้าสามารถระดมจำนวนเสียงจากประชาชนได้มากกว่าผู้อื่น

การปกครองในสายตาของชาวตะวันตกมักแบ่งหยาบๆ เป็นระบอบประชาธิปไตยและระบอบเผด็จการ ระบอบที่ใช้ในประเทศตะวันตก
เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” เพราะอาศัยการออกเสียงของคนหมู่มาก ในเชิงเศรษฐกิจการเมืองฝ่ายมาร์กซิสม์ถือว่านี้เป็นระบอบทุนนิยมของชนชั้นกระฎุมพี ซึ่งจะมีพัฒนาการไปสู่การผูกขาดอำนาจโดยผู้ครอบครองปัจจัยทุน

ส่วนในทางพระพุทธศาสนา แม้มีเฉพาะคำสอนในทางธรรมในพระสูตรก็มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่สะท้อนการเมืองการปกครองอยู่ไม่น้อย

ในสมัยพุทธกาล การปกครองของชมพูทวีปมีแว่นแคว้นต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็ก บ้างก็ผ่านพ้นความรุ่งเรืองมาแล้ว บ้างก็เพิ่งเริ่มเติบใหญ่ในอำนาจ การปกครองโดยทั่วไปจัดว่าเป็นระบอบราชาธิปไตย ซึ่งถ้าเป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีเมืองขึ้นหรือเมืองบริวารก็อาจเรียกว่าระบอบจักรพรรดิราช

Advertisement

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเคยสันนิษฐานว่าวิธีการปกครองของกบิลพัสดุ์ เทวทหะและรามคาม เป็นไปโดยสามัคคีธรรม

ต่อมาอาจารย์เสถียร โพธินันทะ กล่าวว่า การปกครองสมัยพุทธกาลมี 2 แบบ ได้แก่ แบบราชาธิปไตยและแบบคณาธิปไตย ซึ่งแบบคณาธิปไตยนี้มักเรียกกันภายหลังว่าระบอบสามัคคีธรรม เพราะอาศัยมติองค์ประชุมของตัวแทนเหล่าวรรณะกษัตริย์ มิใช่การตัดสินพระทัยของพระราชาเพียงพระองค์เดียว มีอาคารที่ประชุมทางการปกครอง ซึ่งเรียกว่าสัณฐาคาร เช่น ศากยสภา สัณฐาคารนี้บางแห่งเรียกว่า ราชาคณะและสังฆสภา

อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ค้นคว้าเกี่ยวกับการปกครองในสมัยพุทธกาลไว้ในหนังสือชื่อ “พุทธโคดม” ระบอบการปกครองแบ่งออกเป็นราชาธิปไตยและสามัคคีธรรม เช่นเดียวกับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงสันนิษฐานไว้

งานชิ้นนี้บอกว่าระบอบการปกครองเดิมมี “ราชา” เป็นหัวหน้า และมี “สมิติ” เป็นที่ประชุมสภาของเหล่าราชา มีขุนนางตามลำดับชั้นและมีปุโรหิตหรือหัวหน้าพระทำหน้าที่ด้านพิธีกรรม สมิตินี้ ต่อมาได้พัฒนาเป็นสภาหรือสัณฐาคารในระบอบสามัคคีธรรม ส่วนระบอบราชาธิปไตยเชื่อว่าเกิดขึ้นภายหลัง และมีสาเหตุมาจากการขยายตัวจากนิคมเป็นนคร หรือมหานคร ซึ่งแข็งแกร่งกว่าเมืองเล็กๆ จากนั้นราชวงศ์ได้กระจุกตัวมากขึ้นและรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กษัตริย์ผู้นำสูงสุด

ในสมัยพุทธกาล แคว้นมหาอำนาจหรือแคว้นใหญ่มักปกครองแบบราชาธิปไตย แคว้นเล็กบางแคว้นอาจมีฐานะเป็นบริวาร แคว้นใหญ่ ได้แก่ วังสะ อวันตี โกศลและมคธ แคว้นวังสะมีพระเจ้าอุเทนเป็นกษัตริย์ แคว้นอวันตีมีพระเจ้าจัณฑปัชโชตเป็นกษัตริย์ แคว้นโกศลมีพระเจ้าปเสนทิโกศลปกครอง และแคว้นมคธมีพระเจ้าพิมพิสารปกครอง ส่วนแคว้นที่เคยมีความยิ่งใหญ่เป็นอาณาจักรมาก่อน ได้แก่ แคว้นกุรุ
แคว้นปัญจาละ และแคว้นวิเทหะ แต่อ่อนกำลังลง

แคว้นที่ปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม ได้แก่ แคว้นวัชชี แคว้นมัลละ และแคว้นสักกะ เป็นต้น แคว้นวัชชีเป็นแคว้นที่น่าสนใจเพราะบางส่วนสืบมาจากแคว้นวิเทหะ บางส่วนไม่ทราบว่ามีมาก่อนการเข้ามาของชาวอารยัน หรือว่าเติบโตในภายหลัง

แคว้นวัชชีบ้างว่าเป็นสมาพันธรัฐ แต่อาจไม่ใช่รูปแบบอย่างในปัจจุบันก็ได้ แคว้นนี้ว่ากันว่ามี 8 ราชวงศ์ เช่น วัชชี ลิจฉวี และวิเทหะ เจ้าลิจฉวีปรากฏมากในพระสูตรเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จแถบกรุงเวสาลี เช่น ในการสร้างกูฏาคารศาลาถวายพระพุทธเจ้า และการได้รับพระบรมสารีริกธาตุครั้งพุทธปรินิพพาน เป็นต้น

เหล่าเจ้าในแคว้นวัชชีมีเป็นจำนวนมากมายและมีหลายตระกูลวงศ์ การปกครองอาศัยเจ้าเหล่านี้ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับแคว้น มีการตัดสินใจเป็นหมู่คณะเรียกว่าราชาคณะ การบริหารราชการมีพระราชาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มีพระอุปราชช่วยงานบริหารของพระราชาและมีคณะเสนาบดีด้วย

ระบอบสามัคคีธรรมนี้จึงมีความเป็นต้นแบบที่น่าสนใจสำหรับการปกครองสมัยใหม่ ราชาคณะคล้ายคลึงกับสภาสูง แต่มิได้แยกอำนาจออกมาแบบรัฐสภาของอังกฤษ พระราชามีอำนาจทางการบริหารและเป็นประมุขในขณะเดียวกัน ทว่าไม่ใช้สิทธิขาดอย่างประธานาธิบดีของชาวตะวันตก

ฝ่ายตุลาการมีกระบวนการ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นกระบวนการทางตุลาการโดยตรง ซึ่งได้แก่ การไต่สวน การตัดสินคดีความ การพิจารณาความถูกต้องในข้อกฎหมาย และการพิจารณาของศาลแคว้น จากนั้นจึงขึ้นสู่ขั้นตอนของเสนาบดี พระอุปราช และพระราชา

อำนาจด้านตุลาการของระบอบสามัคคี ธรรมไม่มีการแยกออกไปเป็นอำนาจที่สาม หากเป็นเพียงเสาหลักเสาหนึ่งภายใต้ระบอบการปกครองที่เป็นหนึ่ง การพิจารณาความยุติธรรมมีความเป็นลำดับชั้น แต่ฝ่ายตุลาการมิได้มีอำนาจเด็ดขาดในกระบวนการยุติธรรม การปกครองโดยรัฐจึงนับว่ามีเอกภาพมากกว่าระบอบของอังกฤษ ซึ่งเน้นการถ่วงดุลกันระหว่างอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย

ถ้าจะกล่าวโดยเทียบเคียงรัฐสภาแบบอังกฤษเป็นเสาหลักที่จำเป็นต้องเข้มแข็งจึงออกไปทางระบอบสามัคคีธรรม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระบอบนี้ล้มเหลวในการรักษาอำนาจที่ได้มาในยุคล่าอาณานิคม
ส่วนระบอบสาธารณรัฐของสหรัฐอเมริกามีฝ่ายบริหารเป็นใหญ่และเป็นประมุขของประเทศในขณะเดียวกัน อำนาจฝ่ายบริหารมีที่มาจากกระบวนการเลือกตัวแทนของพรรคการเมือง ในแง่ของการใช้อำนาจรัฐบาลที่เข้มแข็งของระบอบนี้ก็เป็นเฉกเช่นระบอบจักรพรรดิราช

จิตรกรรมฝาผนังพระวิหาร วัดภุมรินทร์ราชปักษี สังกัสสนคร แคว้นปัญจาละ มหาชนรับเสด็จพระพุทธเจ้าครั้งทรงกลับจากโปรดพระพุทธมารดา

ในสมัยพุทธกาลการปกครองยังได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์พระเวทอย่างมาก พราหมณ์พระเวทถือว่ามีวรรณะสูงสุด แต่ในทางความเป็นจริงก็ไม่ถึงกับมีอำนาจเหนือวรรณะกษัตริย์ การที่พราหมณ์จะเข้าเฝ้าพระราชามิใช่เรื่องง่ายและอาจไม่อนุญาตให้เข้าใกล้พระวิสูตร แพศย์และศูทรถือเป็นวรรณะที่ต่ำกว่า ส่วนสมณะดาบสอยู่นอกระบบวรรณะทั้งสี่และระบอบการปกครอง

พระพุทธศาสนามองระบบวรรณะเป็นเพียงข้ออ้างในยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์การปกครองมี จักรพรรดิราช กำลังพล (พลกายซึ่งมักแปลว่ากองทัพ และกำลังพลแต่ในยุคต้นน่าจะหมายถึงผู้ทรงความสามารถด้วย) กษัตริย์ในพระบรมเดชานุภาพหรือกษัตริย์เมืองบริวาร (ขัตติยะ) ข้าราชการฝ่ายในและฝ่ายปกครอง (อันโตชน) ราชบริพารและข้าราชการชั้นผู้น้อย (อนุยนต์) คหบดี เกษตรกรและครูอาจารย์ (คหปติ) สมณพราหมณ์และประชาราษฎร

การที่พราหมณ์พระเวทเป็นที่เคารพนับถือในความรู้ความสามารถทำให้พราหมณ์พระเวทมีบทบาทเป็นปุโรหิต และในบางแคว้นก็มีฐานะผู้ปกครองเมืองพิเศษ พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศลได้ทรงยกเมืองอุกกัฏฐะซึ่งเป็นเมืองใหญ่ให้โปกขรสาติพราหมณ์ปกครอง โดยมีอำมาตย์ที่ปรึกษาช่วยงานและมีคณะพราหมณ์เป็นจำนวนมาก โปกขรสาติพราหมณ์นี้มีภรรยาและบุตรจึงมิใช่พราหมณ์โบราณอย่างฤๅษีดาบส

พระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธทรงมอบ
นครจัมปาให้โสณทันตพราหมณ์ปกครอง และบ้านขานุมัตต์แก่กูฏทันตพราหมณ์ กูฏทันตพราหมณ์เป็นพราหมณ์พระเวทที่นิยมพิธีบูชายัญอย่างอลังการ

โปกขรสาติพราหมณ์ โทณพราหมณ์ และกูฏทันตพรหมณ์ ได้เข้าเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา ซึ่งก็เป็นไปได้สูงที่ในเวลาต่อมาเมืองหรือชุมชนเหล่านี้จักปกครองอย่างชาวพุทธ

ในแคว้นอื่นไม่ทราบว่ามีเมืองปกครองพิเศษแบบนี้อีกหรือไม่ การปกครองท้องถิ่นโดยพระภิกษุไม่ปรากฏในสมัยพุทธกาล แต่อาจมีบ้างในยุคหลัง เมืองที่ปกครองโดยพระภิกษุอาจเคยมีในอาณาจักรมอญ เมืองนั้นคือเมืองพัน หรือนครพอัง (Hpa-an) ซึ่งในสมัยพญาอายลาวของอาณาจักรเมาะตะมะ และราวต้นสมัยพญาลิไทมีพระอุทุมพรบุปผามหาสวามีเป็นสังฆราช

พระภิกษุในสมัยพุทธกาลมุ่งละปัจจัยแห่งภพจึงแยกออกจากการปกครองของชาวโลก ในพระสูตรพระพุทธองค์ทรงให้เน้นความสำคัญของกุศลธรรมในทางการปกครองและมิได้ตรัสถึงหรือเปรียบเทียบการปกครองแบบใดแบบหนึ่ง

พระพุทธองค์ทรงอธิบายกำเนิดสังคมมนุษย์ว่าเมื่อมนุษย์เกิดและมีการผลิต มีการแบ่งปัน มีการแบ่งเขตแดนและมีสิ่งที่เป็นของส่วนบุคคลทยอยตามกันมาแล้วก็เริ่มมีการขโมยเกิดการลงโทษและกฎของสังคม มีการเลือกคนที่น่าเลื่อมใสเป็นหัวหน้า และมีการขับไล่คนที่กระทำความผิด เมื่อเกิดมหาชนก็เกิดกษัตริย์ขึ้น

วิวัฒนาการทางสังคมทำให้ผู้ประพฤติผิดมีรากฐานมากขึ้น ในขณะที่ผู้ปกครองที่สืบทอดอำนาจต่อกันมาเริ่มมิได้ดูแลกฎของสังคมโดยครบถ้วน

ในจักกวัตติสูตรพระพุทธองค์ตรัสถึงความรุ่งเรืองของการปกครองที่ยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิราชในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ระบอบจักรพรรดิราชเคยสืบทอดด้วยดี แต่ต่อมาต้องประสบกับความเสื่อมในอาญาสิทธิและความไม่ยินดีของราษฎร ทั้งนี้ก็เพราะความอ่อนแอในธรรมหรือขาด “จักกวัตติวัตร”

ในมหาปรินิพพานสูตรวัสสการพราหมณ์ทูลถามพระพุทธองค์เกี่ยวกับการที่พระเจ้าอชาตศัตรูต้องการบุกยึดครองแคว้นวัชชี พระพุทธองค์ตรัสถึง “อปริหานิยธรรม” ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในการปกครองที่ทรงเคยแสดงแก่เหล่าเจ้าลิจฉวี ถ้าแคว้นวัชชียังถือปฏิบัติอยู่ก็จะรอดพ้นจากการยึดครองของแคว้นมคธได้

การปกครองไม่ว่าในระบอบใดจักเจริญและมั่นคงดี ถ้าผู้ปกครองตั้งอยู่ในกุศลธรรมอันเป็นราชธรรมนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image