คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ท้องถิ่น Old Enough!?

มีรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นรายการหนึ่งที่ NETFLIX เพิ่งได้ลิขสิทธิ์นำมาเผยแพร่ และได้รับการกล่าวขวัญถึงความน่ารักคิมิโนโต๊ะ คือ รายการ Old Enough! (Hajimete no Otsukai) ชื่อภาษาไทยว่า “ผจญภัยวัยอนุบาล”

เป็นรายการสารคดีกึ่งเกมโชว์ของช่อง NIPPON TV ที่ถ่ายทำและออกอากาศในประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว
ในช่วงปี 2009-2011 ที่มีโจทย์หลักคือการให้หนูน้อยวัยเพิ่งเดินแข็งถึงเตรียมอนุบาล อายุตั้งแต่ 2 ถึง 5 ขวบ ไป “ทำธุระ” ให้พ่อแม่

โดยธุระที่ว่านั่นก็ได้แก่ การไปซื้อของ การเอาของไปส่ง โดยภารกิจที่ว่าก็ไม่ได้ง่ายนักสำหรับเด็กวัย
แค่นั้น ทั้งในแง่ที่จะต้องจำรายการสิ่งที่ต้องทำ ความซับซ้อนของเส้นทาง สถานที่ที่ต้องแวะ รวมถึงการ
ต้องถือของที่มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณสองถึงห้ากิโลกรัม เดินไปกลับระยะทางประมาณสองสามกิโลเมตร ขึ้นเขาและข้ามถนนด้วยตัวคนเดียว หรือเด็กบางคนอาจจะไปกับน้องที่อายุน้อยกว่า ซึ่งไม่รู้ว่านั่นเป็นตัวช่วยหรือการเพิ่มระดับให้ภารกิจนั้นยุ่งยากซับซ้อนเข้าไปอีก

หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะระคายปากคันนิ้วแล้วแย้งว่า พวกชาวกรุงคนเมืองจะมาตื่นเต้นอะไรกับเรื่องพวกนี้ เพราะเด็กไทยในชนบทก็ต้องช่วยเหลือ​พ่อแม่กันแบบนี้ไม่ต่างกัน บางคนอาจจะต้องลงนาหาอึ่งกันตั้งแต่สามขวบด้วยซ้ำ เช่นนี้ก็น่าสนใจว่าถ้าจะมีรายการโทรทัศน์หรือ YouTube ของประเทศไทย
สักช่องที่จะทำอะไรคล้ายๆ กับ Old Enough! Thailand นี้ออกมาบ้างก็น่าจะดี

Advertisement

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าทึ่งสำหรับผู้ชื่นชอบรายการนี้ซึ่งอาจจะอนุมานได้ว่าเป็นคนชั้นกลางในเมือง ก็เห็นจะเป็นเพราะเราไม่คุ้นชินกับการที่พ่อแม่ใจกล้า สามารถปล่อยให้ลูกวัยที่ยังเพิ่งเดินเตาะแตะ พูดยังไม่ชัด อ่านหนังสือก็ไม่ออก เดินคนเดียวออกไปซื้อของห่างจากบ้านเป็นกิโลเมตร ต้องข้ามถนนเอง โดยเฉพาะเราซึ่งอยู่ในประเทศที่ผู้ใหญ่มีอายุและความรอบคอบเดินดีๆ ยังสะดุดพื้นทางเท้า หรือข้ามถนนแล้วถูกรถชนตายเอาได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ดี ก็มีเรื่องปฏิเสธไม่ได้อย่างน้อยสามประเด็นคือ ประการที่หนึ่ง คงไม่ใช่พ่อแม่ชาวญี่ปุ่น หรือเด็กญี่ปุ่นทุกคนที่จะทำเช่นนี้ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น คงไม่ต้องเอามาทำให้เป็นรายการโทรทัศน์กัน ประการที่สอง ในรายการนี้มันก็ไม่ใช่การเดินทาง “คนเดียว” จริงๆ อย่างเคร่งครัด เพราะมีทีมงานเดินตามถ่ายทำไปด้วยขโยงหนึ่ง รวมถึงมีระบบการดูแลเรื่องความปลอดภัยให้ แต่กระนั้น สำหรับตัวเด็กเองนั้น ไม่ได้รู้ถึงการมีอยู่ของตัวช่วยเหล่านี้เลย พวกเขาและเธอเข้าใจโดยแท้ว่าพวกเขาเดินไปด้วยตัวคนเดียวจริงๆ

ประการสุดท้าย สถานที่ถ่ายทำหรือดำเนินภารกิจเป็นเมืองในชนบทของญี่ปุ่นซึ่งมีความพลุกพล่านจอแจตลอดจนความซับซ้อนของถนนหนทางและระบบขนส่งมวลชนน้อยกว่านครหลวงโตเกียวหรือเมืองใหญ่ที่เรารู้จักกัน ทำให้โจทย์ของเด็กๆ นั้นอาจจะยาก แต่ก็ไม่ถึงกับโหดร้ายหรืออันตรายจนเกินไป

Advertisement

ผลพวงของการที่ไปถ่ายทำยังเมืองชนบทต่างจังหวัดไกลปืนเที่ยงนี้เอง ทำให้รายการมีโอกาสได้สอดแทรกความงดงามและ “ของดีประจำจังหวัด” ของท้องถิ่นที่ไปถ่ายทำไว้ด้วยอย่างแนบเนียน นอกเหนือจากนั้น เราก็ได้เห็นถึงความเจริญของบ้านเมืองที่แม้จะเป็นท้องถิ่นชนบทที่อาจจะมีบ้านเรือนขนาดเล็กไม่หนาแน่นสลับกับทิวเขาทุ่งหญ้าตามธรรมชาติ​หรือไร่นาพื้นที่เกษตรกรรมไม่ต่างจากในเมืองไทย แต่ที่อาจจะเรียกว่าดียิ่งกว่าจนแม้แต่คนในเมืองหลวงของประเทศเรายังต้องอิจฉา คือบาทวิถีทางเดินที่ถมแน่นเรียบกริบ ไม่เป็นอุปสรรคในก้าวย่างสั้นๆ ของเด็กๆ รวมถึงวินัยจราจรที่เพียงทางม้าลายธรรมดา ไม่ต้องมีระบบไฟจราจรอัจฉริยะอะไร แค่เด็กโบกธงขอทางที่ทำเองง่ายๆ ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่กำลังแล่นมาก็หยุดเป็นแนวหน้าทางม้าลายรอให้น้องๆ ข้ามไปอย่างใจเย็น

ความสนุกสนานน่ารักจึงเหลือลุ้นเพียงการได้เห็นน้องๆ หนูๆ แก้ปัญหาภารกิจของตัวเองตามประสาเด็ก เช่น เด็กชายวัย 5 ขวบ จะจัดการกับปลาสดตัวหนักเป็นเมือกลื่นแถมหน้าตาสยดสยองเหลือเกินที่หล่นออกมาจากถังนั้นได้อย่างไร หรือหนูน้อยวัยกำลังเถลไถลห่วงเล่น จะสามารถทำภารกิจคั้นน้ำส้มไปให้คุณแม่และญาติๆ ที่กำลังทำงานในสวนได้สำเร็จหรือไม่ เด็กวัยสองขวบที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก จะสามารถซื้อก้อนแกงกระหรี่รสหวานกลับมาได้ถูกหรือเปล่า

อีกทั้งเราได้เห็นว่าผู้ใหญ่ทุกคนในภารกิจนี้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ทีมงาน รวมถึงผู้ที่ผ่านไปมาหรือมีส่วนร่วมโดยไม่ตั้งใจ เช่น คนขายของในร้านค้านั้นจะคอยให้กำลังใจอยู่ห่างๆ แต่จะไม่สอดมือเข้าไปช่วยเด็กก่อนจนกว่าจะได้รับการขอร้องที่สมเหตุสมผล และประเมินแล้วว่าเป็นเรื่องเกินกำลังเด็กจริงๆ หรือเห็นว่าอาจจะเป็นกรณีที่เด็กอาจกำลังจะหลงทาง รวมถึงในการจะทำอะไรก็ตาม พวกเขาจะเคารพในตัวเด็ก โดยการถามก่อนว่าเด็กต้องการให้ทำอะไรให้แค่ไหน เช่น แคชเชียร์ในซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ถามเด็กชายวัยสองขวบครึ่งก่อนว่า จะให้เอาเงินทอนใส่ลงในกระเป๋าเงินให้เลย หรือน้องอยากจะใส่ลงไปด้วยตนเอง ซึ่งหนูน้อยเลือกอย่างหลัง

สิ่งที่เป็นเหมือนหัวใจของเรื่องนี้ คือความเชื่อตั้งต้นของพ่อแม่ว่า “เด็กๆ เติบโตพอแล้วที่จะทำได้” ซึ่งนอกจากความเชื่อมั่นในตัวลูกแล้ว ยังอยู่บนความเชื่อมั่นในระบบโครงสร้างพื้นฐานและสังคมในเมืองที่ครอบครัวนั้นอาศัยอยู่ด้วย ว่าเป็นเมืองที่ปลอดภัยเพียงพอที่เด็กตัวเล็กๆ จะสามารถเดินทางไปซื้อของ หรือส่งของได้โดยลำพังโดยไม่เป็นอันตรายในสถานการณ์ปกติ

จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาพอันงดงามน่ารักของรายการนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะการบริหารราชการ
แผ่นดินของญี่ปุ่นที่มีการกระจายอำนาจอย่างสมบูรณ์แบบ โดยการปกครองส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่นนั้นเป็นอิสระจากรัฐบาลกลางเกือบจะสมบูรณ์ โดยไม่มีราชการส่วนภูมิภาค ญี่ปุ่นมีการแบ่งท้องที่การปกครองทั้งระดับจังหวัดและเทศบาลไม่ต่างจากประเทศไทย แต่ผู้ว่าการจังหวัด* และนายกเทศมนตรีก็ล้วนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยแม้ว่าจังหวัดจะมีเขตพื้นที่ครอบคลุมเขตเทศบาลในจังหวัดนั้น แต่ก็ไม่มีอำนาจในการแทรกแซงหรือบังคับบัญชาเทศบาล แต่มีหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจการทางปกครองระดับใหญ่ที่เกินศักยภาพหรืออำนาจที่เทศบาลจะกระทำได้ และปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนของหน่วยราชการของรัฐบาลกลางในระดับจังหวัด

เช่นนี้เราจึงได้เห็นรัฐบาลท้องถิ่นที่รู้และเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างถ่องแท้ เช่น จะมีอยู่ตอนหนึ่งซึ่งดำเนินเรื่องในหมู่บ้านไกลปืนเที่ยงบนภูเขา ซึ่งไม่มีแม้แต่ตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต ทางเทศบาลของที่นั่นก็จะจัดหารถขายของสดขึ้นไปให้สัปดาห์ละสองครั้ง หรือแม้แต่ถนนหนทางที่เห็นว่าเรียบร้อยสวยงามในเมืองชนบทอื่นๆ ก็มาจากการบริหารจัดการของส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้น

ในขณะที่รูปแบบการปกครองนอกกรุงเทพฯของไทยนั้น มีการปกครองส่วนภูมิภาค ที่รัฐบาลกลางโดยกระทรวงมหาดไทย จะตั้งข้าราชการลงไปในแต่ละจังหวัดและอำเภอ ไปทำหน้าที่เป็น “มหาดไทยจังหวัด” โดยเรียกว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัด” มีอำนาจแทนทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่ไม่ได้มีการตั้งสำนักงานไปประจำที่จังหวัด อำเภอ หรือเขตท้องที่นั้น ก็จะถือว่าเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือตามแต่ที่​​​มอบหมายให้นายอำเภอ

แม้เราจะมีการปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะในท้องถิ่น แต่ปัญหาคือกรอบขอบอำนาจที่จัดการได้นั้นก็ไม่ได้มากนัก รวมถึงในบางเรื่องการจะทำบริการสาธารณะในเรื่องนั้นได้ ในบางเรื่องก็มีกฎหมายต้องไป “ขออนุญาต” หน่วยงานส่วนกลางในการจัดทำด้วย หากไม่ได้รับอนุญาตก็ไม่สามารถดำเนินการได้ พร้อมกับกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็เกิดคำถามมากมายจากผู้คนในจังหวัดอื่นว่า แล้วทำไมเราจึงไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าราชการของเราบ้าง

แม้จะต้องยอมรับว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยก็มีปัญหาเรื่องการทุจริตหรือไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ในยุคแรกที่ล้อเลียนว่า “อบต.” ย่อมาจาก “อมทุกบาททุกสตางค์” แม้ในปัจจุบันการเมืองระดับ อบต.
ก็ยังเป็นการเมืองสีเลือดเพราะผลประโยชน์มหาศาลในบางพื้นที่ หรือกรณีของเทศบาลก็มีเรื่องของเสาไฟกินรีให้น้องมิลลิเอาไปแร็พล้อ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่บอกว่าเราจะ “โตไม่พอ” จึงไม่ควรที่จะให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไปหรือขยายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะแม้แต่การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นเองก็ไม่ใช่ว่าราบรื่นมาโดยตลอด เพราะก็เคยเกิดมีกรณีที่บางเทศบาลบริหารงานผิดพลาดจนล้มละลาย หรือมีปัญหาทุจริตอยู่บ้างเช่นกัน

ทั้งหมดนั้นก็ถือเป็นบทเรียนที่ยอมรับและแก้ไขกันได้โดยไม่มีการแทรกแซงด้วยวิธีอื่น โดยยอมรับว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะมีปัญหา และเราต้องหาทางแก้ปัญหาว่าเราจะกำกับดูแล หรือสร้างกลไกตรวจสอบการบริหารส่วนท้องถิ่นโดยประชาชนได้อย่างไรต่างหาก ซึ่งก็เหมือนการยอมรับว่าเด็กอาจจะทำของหกของหล่นหรือซื้อของกลับมาไม่ครบ หรือคั้นน้ำส้มมาได้น้อยบ้างอะไรบ้าง

ในกรณีที่ลูกเริ่มไม่อยากไปหรืออิดออด สิ่งที่พ่อแม่ทำก็เพียงการให้กำลังใจ ย้ำเตือนถึงคำสัญญาและความรับผิดชอบ รวมถึงความหมายของการช่วยเหลือในครั้งนี้ (เช่น แอปเปิลที่หนูซื้อมา จะเป็นอาหารแข็งมื้อแรกของน้องสาวที่รัก) หรือถ้าลูกเถลไถลไปนอกทาง ในกรณีของหนูน้อยคั้นน้ำส้ม คุณแม่ก็เพียงใช้การโทรศัพท์กลับมา “กำกับ” เป็นระยะๆ ย้ำเตือนตรวจสอบความก้าวหน้าของภารกิจเท่านั้น โดยมิได้แทรกแซงในทางอื่นใดมากกว่า

เช่นเดียวกับการที่เราจะต้องการยอมรับว่าท้องถิ่นและผู้คนนั้น โตพอที่จะจัดการธุระของตัวเองได้แล้วนั่นแหละ เราต้องใช้มุมมองที่ว่าประชาชนและท้องถิ่นไทยเรานั้น “Old Enough!” หรือ “โตพอ!” แล้วที่จะปกครองตัวเองได้ ไม่ใช่ฝืนยืนยันระบบ “คุณพ่อรู้ดี” เจ้ากี้เจ้าการปกครองและตัดสินใจไปเสียทุกเรื่อง ทั้งๆ ที่คุณพ่อไม่รู้แม้แต่ว่า PM2.5 กับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นคนละอย่างกัน

สุดท้ายนี้ ถ้าคุณดูรายการที่ว่ามาแล้วยักไหล่ว่า นั่นมันประเทศญี่ปุ่นคนญี่ปุ่น ไม่ใช่คนไทยประเทศไทยก็แล้วไปเถิด

แต่ถ้าคุณดูรายการนี้แล้วเกิดความมุ่งมั่นว่า ในรุ่นลูกหรือรุ่นหลาน เราจะไปอาศัยอยู่ในจังหวัดชาย
ทะเลสักแห่งได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้อาศัยไหว้วานหนูน้อยวัย 4 ขวบของเราให้เอาส้มที่เพื่อนเพิ่งส่งมาให้ผ่านทางรถไฟความเร็วสูงมาจากภาคเหนือ ไปให้คุณยายที่บ้านอยู่ไกลไปอีกสองซอยได้ เราคือเพื่อนกัน

*ผู้เขียนจงใจใช้คำว่า “ผู้ว่าการจังหวัด” ให้แตกต่างจากคำว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัด” แบบไทยซึ่งมาจากการแต่งตั้ง

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image