ที่เห็นและเป็นไป : เข้าสู่ ‘END ZONE’ โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

ว่ากันว่าการเมืองนับจากนี้ กะพริบตาไม่ได้อีกแล้ว เพราะละสายตาไปนิดเดียวหันกลับมาอีกทีทุกอย่างอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว

ที่แน่ๆ คือ ความเป็นไปของรัฐบาลจะเข้าสู่ “END ZONE-เกมก่อนจบ” หรือ “ยกสุดท้าย”

ถ้านับกันตามวาระของ “สภาผู้แทนราษฎร” เวลาของ “END ZONE” จะยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม 2565

แต่หากนับเอาความตั้งใจของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่เชื่อกันว่าต้องการที่จะให้ผ่านการประชุมใหญ่ของเอเปคที่จะมีผู้นำประเทศทั่วโลกมาเยือน โดยจะเชิดหน้าชูตานายกรัฐมนตรีไทยในฐานะผู้นำประเทศเจ้าภาพ เวลาของ “END ZONE” จะร่นมาที่เดือนธันวาคม

Advertisement

แต่ความเชื่อของประชาชนที่ติดตามการเมืองใกล้ชิด กระชับ “END ZONE” มาเร็วกว่านั้น การตัดสินวาระ 8 ปีของ “พล.อ.ประยุทธ์” ตามรัฐธรรมนูญที่ว่าจะจบลงในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้หรือไม่ ในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในวาระของสภาในสมัยหน้าที่จะเริ่มในอีกไม่กี่วัน เสียง ส.ส.ที่จะยกมือให้ คณะรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายมีจำนวนเพียงพอที่จะผ่านหรือไม่

เหล่านี้ล้วนเป็น “END ZONE” ที่มีกรอบเวลาชัดเจน

แต่ยังมี “END ZONE” ในอีกมิติหนึ่ง นั่นคือ “ยกสุดท้าย” ที่เกิดจากแรงกดดันที่ไม่ใช่วาระชัดเจน

Advertisement

ที่จะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ “ปัญหาปากท้องของประชาชน”

ราคาสินค้าเริ่มแพงขึ้นล่วงหน้าไปแล้ว ทุกอย่างขึ้นราคา ต้นเดือนพฤษภาคม รัฐบาลจำต้องปลดล็อกราคาน้ำมัน ซึ่งขึ้นไปจนเป็นภาระหนักหน่วงต่อประชาชน และนั่นหมายถึงจะทำให้ข้าวของเครื่องใช้ทุกสิ่งอย่าง
สูงขึ้น

ขณะที่การเพิ่มรายได้แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นการเพิ่มรายจ่ายให้กิจการ บริษัท ห้างร้าน โรงงาน ซึ่งทุกวันนี้หนักหนาสาหัสที่จะทำให้อยู่รอดลำบากกันอยู่แล้ว

ความเดือดร้อนของประชาชนที่หนีไม่พ้นจะโทษ และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา

ขณะที่การบริหารจัดการโควิด-19 ซึ่งแม้จะพยายามสร้างความเชื่อว่าความรุนแรงน้อยลง จนสามารถเปิดประเทศให้การทำมาหากินคล่องตัวขึ้น แต่ในความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การระบาดยังมีอย่างกว้างขวาง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรักษา ไว้การซื้อชุดตรวจ และยาต่างๆ รัฐบาลจำกัดความรับผิดชอบลง บังคับให้ประชาชนแต่ละคนต้องจ่ายเอง อันส่งผลในการเพิ่มภาระรายจ่ายขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถานการณ์ทั้งด้านรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น และรายได้ที่คงเดิม หรือลดลง จะเป็นแรงกดดันให้ “พรรคร่วมรัฐบาล” ต้องแสดงความรับผิดชอบ

และนั่นจะเป็น “END ZONE” ที่กรอบเวลากำหนดขึ้นตามสำนึกรับผิดชอบของ “ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล” ที่จะต้องตอบคำถามกับประชาชนในพื้นที่ และ ส.ส.ฝ่ายค้านที่จะต้องโหมการแสดงออกเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า

ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะนายกรัฐมนตรี บอกว่า “ให้เพลาๆ การเมืองลงบ้าง” เป็นการวิงวอน เพื่อขอขยาย “เกมจบ” ออกไป

แต่ “เกมจบ” ย่อมไม่สามารถยืดออกได้ด้วยเสียงวิงวอน

การแก้ไขเพื่อขยายช่วงเวลาของเกมจบ จะต้องเกิดด้วย “ความสามารถในการจัดการเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน”

การขอโอกาสอยู่ต่อ โดยไม่สร้างความเชื่อมั่นว่า จะทำให้ประชาชนพอประคองชีวิตต่อไปได้ โดยมีความหวังในอนาคตที่ดีกว่า ย่อมเป็นการขอที่สร้างความลำบากใจกับคนที่จะให้ เพราะทุกคนมีภาระต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

“นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” จะเข้าใจเรื่องแบบนี้มากกว่า “พวกเสวยวาสนามาจากการยึดอำนาจ”

อาจจะมีบางในช่วงเวลาที่ “นักการเมืองจากการเลือกตั้ง” เกิดความหลงเหลิงในอำนาจวาสนาจน “ลืมที่มาของตัวเอง”

แต่ในที่สุดแล้ว ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง จะส่งเสียงเตือนต่อพวกเขา ว่า “การระเริงต่ออำนาจวาสนาจนหลงลืมว่ามาจากประชาชน” นั้น

ชะตากรรมจะเป็นอย่างไรในเมื่อมาถึง “END ZONE”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image