เรารู้สึกอย่างไร,โลกรู้สึกอย่างไร การสำรวจอารมณ์ของคนบนโลกตามเวลาจริงครั้งใหญ่ที่สุด คอลัมน์ FUTURE perfect โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนถึงแอพพลิเคชั่นที่จะคอยตรวจสอบสภาพอารมณ์ของเรา เพื่อให้เรารู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร เมื่อไร และเพราะอะไร เพื่อจุดประสงค์ในการแยกแยะสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีออกจากชีวิตได้ เป็นการช่วยควบคุมสติในอีกทาง

แอพพลิเคชั่นลักษณะนี้ในระดับแอดวานซ์มากๆ สามารถเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างแพทย์กับผู้มีปัญหาได้ด้วย เพื่อที่ว่าเมื่อไรก็ตามที่ผู้ป่วยรู้สึกแย่ แพทย์หรือคนใกล้ตัวจะได้ช่วยได้ทันท่วงที

ในสัปดาห์นี้มีความคืบหน้าสองอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ถ้าไม่เอามาเล่า ก็น่าจะถือว่าพลาดอะไรไปบางอย่างอยู่ครับ

เรื่องแรก หลายคนคงเคยได้ยินข่าวงานวิจัยที่บอกว่าฟิลเตอร์ที่เราเลือกใช้ในแอพพลิเคชั่นแชร์รูปถ่ายอย่าง Instagram สามารถบ่งบอกถึงอารมณ์ของเราได้ และสามารถบ่งบอกได้ด้วยซ้ำ
ว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าอยู่หรือเปล่า ผมได้อ่านรายงานวิจัยดังกล่าวแล้วก็รู้สึกว่าเขาไม่ได้สรุปชัดลงไปว่าจะบอกได้อย่างแน่นอน เพียงแต่บอกว่า ‘มีแนวโน้ม’ ที่สองอย่างนี้จะเกี่ยวข้องกันเท่านั้น

Advertisement

ในยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นเหมือนกับทางออกของการระบายอารมณ์เช่นนี้ ผมก็พอจะนึกตามได้อยู่เหมือนกันนะครับว่าการอ่านฟีดของใครสักคน หรือเห็นภาพถ่ายของใครสักคนติดๆ กันเป็นชุด น่าจะพอบอกเราได้ว่าเขา (ผู้ถ่ายภาพ) อยู่ในอารมณ์แบบไหน

หากภาพถ่ายดูชีวิตดี ลั้ลลา ก็พอจะอนุมานได้ว่าเพื่อนคนนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง แต่หากเมื่อไรก็ตามภาพถ่ายดูหมอง ดูเศร้า และประกอบด้วยข้อความที่ไร้สิ้นความหวัง แบบนั้น ก็อาจจะไม่เกินไปหากเราจะยื่นมือเข้าช่วยเหลือ

นี่คือสิ่งที่ Instagram กำลังพยายามทำ

Advertisement

หลังจากที่ Instagram พบว่าผู้ใช้จำนวนมากที่กำลังจะฆ่าตัวตาย หรือคิดจะทำร้ายตัวเอง มักจะโพสต์รูปบอกเหตุก่อน พวกเขาจึงพัฒนาฟีเจอร์ที่จะเปิดตัวเร็วๆ นี้ โดยการทำงานคือ หากคุณเห็นว่าเพื่อนโพสต์รูปที่ดูน่าเป็นห่วง คุณก็สามารถกดปุ่มรายงานไปยัง Instagram เพื่อขอความช่วยเหลือได้ โดย Instagram จะแนะนำให้คุณโทรหาเพื่อน ติดต่อสายด่วนเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือแนะนำให้อ่านเทคนิคและข้อมูลช่วยเหลือต่างๆ

ขณะนี้ฟีเจอร์ดังกล่าวยังไม่ถูกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการและกำลังทดลองใช้กันอยู่

นอกจาก Instagram แล้ว ผมคิดว่าบริษัทผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีในอนาคตก็น่าจะกำลังเปิดตัวฟีเจอร์คล้ายๆ กันนี้เพื่อช่วยเหลือคนที่ต้องการเช่นกัน

อีกเรื่องเป็นเรื่องการรวบรวมข้อมูลทางอารมณ์ครั้งใหญ่ที่สุดในโลกผ่านทางแอพพลิเคชั่น ในวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) โครงการ Spur Project ซึ่งเป็นโครงการป้องกันการฆ่าตัวตายด้วยนวัตกรรม ออกแอพพลิเคชั่นบนมือถือเพื่อสำรวจอารมณ์ของผู้ใช้งาน จำนวน 10,144 คน จาก 104 ประเทศ ในช่วงระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ (10-16 ตุลาคม) (ขณะที่เขียนนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะจบระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ไปแล้วแต่เขาสำรวจต่อไป)

ผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้จะสามารถเลือกว่าขณะนี้ตนรู้สึกอย่างไรได้ในหกอารมณ์คือ รู้สึกมีความสุข เศร้า โกรธ กระวนกระวาย รู้สึกมีอำนาจ และรู้สึกสงบ หลังจากที่เลือกอารมณ์แล้ว ยังสามารถเลือกระดับความเข้มข้นของอารมณ์ได้ด้วย (เช่น โกรธมากหรือโกรธน้อย) ทั้งยังสามารถเลือกกิริยาที่กำลังทำอยู่ เช่นออกกำลังกาย หรือช้อปปิ้ง และเลือกสถานการณ์ เช่นว่า อยู่คนเดียว หรืออยู่กับเพื่อนได้

แอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะประมวลผลลัพธ์ออกมาเพื่อบอกว่ามีคนกี่คนบนโลกที่กำลังรู้สึกอย่างเดียวกัน หลังจากที่รวบรวมข้อมูลได้แล้ว (ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย) โครงการ Spur ก็ได้เปิดข้อมูลดังกล่าวให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดไปเพื่อวิเคราะห์ต่อได้ (โดยมีการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานเรียบร้อยแล้ว-คือทำให้เป็นนิรนาม) โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับอารมณ์ให้มีข้อมูลพื้นฐานมากยิ่งขึ้น

Lee Rockford ผู้ริเริ่มโครงการให้สัมภาษณ์ว่าถึงแม้ข้อมูลที่รวบรวมได้จะไม่ได้มีการตกผลึกหรือให้อะไร ‘ใหม่ๆ พลิกโฉมวงการ’ มากนัก แต่มันก็เป็นข้อมูลที่สามารถนำไปวิเคราะห์ต่อเพื่อให้ทั้งองค์กรต่างๆ ทั้งเมือง และทั้งประเทศ วางแผนสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมสุขภาวะให้ดีขึ้นได้

สำหรับประเทศไทยเอง ผมได้เข้าไปดูแผนที่อารมณ์แล้วพบว่ามีการรายงานอารมณ์ไม่มากนัก เพียงสองสามจุดหลักเท่านั้น โดยมีการรายงานถึงอารมณ์สงบ/กระวนกระวาย ที่กรุงเทพฯ และมีอารมณ์สงบที่ภาคใต้ (แต่ถ้านับ ‘อารมณ์ร่วม’ ของคนไทย จะเป็นสีม่วง-คือมีอารมณ์กระวนกระวายเป็นหลัก)

ผู้สนใจในเรื่องนี้สามารถดาวน์โหลดข้อมูลอารมณ์เพิ่มเติมได้ที่ http://howistheworldfeeling.spurprojects.org

ทั้งสองเรื่องที่นำมาเล่าในคราวนี้เป็นการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่ผมชอบมากนะครับ-เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่ของแข็งสักเท่าไร กลับกัน มันมีความสัมพันธ์กับมนุษย์แบบแนบชิดสนิทเชื้อ และความสัมพันธ์นี้ก็จะแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะห่างระหว่างสายตาของเรากับหน้าจอ

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบสำหรับโครงการสำรวจอารมณ์ของโลกคือ นอกจากมันจะจัดอารมณ์เป็นประเภทแล้ว มันยังอนุญาตให้เราบอกได้ด้วยว่าเรารู้สึกถึงอารมณ์ดังกล่าว ‘เข้มข้น’ ขนาดไหน ซึ่งถึงจะไม่สมบูรณ์แบบนัก แต่ผมก็คิดว่าเป็นการจัดที่ละเอียดไปกว่าเฟซบุ๊ก (ที่อนุญาตให้เราบอกอารมณ์เฉยๆ)

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนบอกผมว่าไม่อยากจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือเลย เพราะในที่แห่งนั้นมีแต่ความโศกเศร้า มีแต่การระทมทุกข์ และข่าวความขัดแย้ง ในขณะที่หากเงยหน้าขึ้นมา พวกเขาก็ยังพอที่จะพบรอยยิ้มบนใบหน้าของผู้คน มีอากาศ มีลมพัดให้พอหายใจหายคอได้บ้าง

ผมเข้าใจมากๆ และก็เป็นห่วงมากๆ กับการแสดงออกทางอารมณ์ผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพราะหลายครั้งนอกจากเราแสดงให้ตัวเองรู้แล้ว เรายังแสดงอารมณ์ออกมาเพื่อให้ผู้อื่น ‘รู้’ ด้วยว่าเรารู้สึก

เมื่อเราต้องแสดงออกเช่นนี้ อารมณ์ของเราก็เหนี่ยวนำกันและกัน

จนอาจทำให้เราลืมไปว่าแท้จริงแล้วเรารู้สึกอย่างไร และที่สำคัญคือรู้สึกแค่ไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image