ทรัมป์กับโลกปัจจุบัน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองใดๆ ก็ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าฮิลลารี คลินตัน จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนหน้า ตัวเลขผู้นิยมจากโพลระหว่างผู้สมัครสองฝ่ายคือ คลินตันได้ 51% และทรัมป์ได้ 41% นับว่าห่างกันจนยากที่จะพลาด

แม้ว่าทรัมป์คงจะเป็นฝ่ายปราชัย แต่การ “ขึ้น” มาของทรัมป์นับเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ใหม่มาก เพราะไม่เคยปรากฏในการเมืองอเมริกันมาก่อน หากผู้สมัครชิงประธานาธิบดีคนใดเดินเกมการเมือง “พลาด” หมดรูปอย่างที่ทรัมป์ประสบอยู่ เขาจะไม่มีทางยืนอยู่ในการแข่งขันอย่างที่ทรัมป์สามารถยืนอยู่ได้ นับตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจผิดพลาดอย่างที่ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์สำนักไหนเห็นด้วย เสนอแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างไร้เดียงสา ข้อกล่าวหาพร้อมหลักฐานเกี่ยวกับความคิดเห็น และพฤติกรรมทางเพศวิถี เพศภาวะ และเพศรส ที่คนอเมริกันไม่เห็นด้วยไปจนขยะแขยง

ท่ามกลางการถูกกระหน่ำโจมตีจากทุกฝ่าย ทรัมป์ก็ยังมีผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสนับสนุนถึง 41% ทรัมป์ทำและพูดอะไรหลายอย่างที่ถือว่าต้องห้ามอย่างเด็ดขาดสำหรับนักการเมืองอเมริกัน The Economist โจมตีเขาว่า เขาละเมิดกฎเกณฑ์หรือมารยาททางการเมืองที่มีความสำคัญ เช่น ในการโต้วาทีกับคลินตัน เขาบอกว่าหากเขาชนะการเลือกตั้ง เขาจะโยนคลินตันเข้าคุก นักการเมืองจะไม่พูดอย่างนี้ เพราะเท่ากับจะใช้ตำแหน่งข่มขู่ศัตรูทางการเมืองของตน (แม้ว่าอาจทำจริง) เท่ากับเชื้อเชิญให้สังคมใช้ความรุนแรงต่อศัตรูทางการเมืองของตนด้วย

The Economist สรุปว่า แม้ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้พูดอย่างนี้ แต่ “ประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งล้วนขึ้นอยู่กับระเบียบที่ไม่เป็นกฎหมายทั้งนั้น” คนอเมริกันก็เข้าใจเรื่องนี้ดี แต่ก็มีคนรับ
การกระทำของทรัมป์ได้จำนวนมาก จะเรียกเขาว่าจอมกะล่อน หรือยอดนักฉวยโอกาส ก็ไม่อาจอธิบายปรากฏการณ์ทรัมป์ได้

Advertisement

คำอธิบายของนักวิชาการและปัญญาชนหลายคน รวมทั้งโนม ชอมสกี้ด้วย ก็คือทรัมป์เป็นผู้สมัครของคนโกรธ มีคนอเมริกันที่กำลังโกรธอยู่มาก โดนัลด์ทรัมป์ เป็นช่องทางระบายความโกรธที่ชัดอย่างที่ไม่มีใครเทียบได้ในยามนี้ การปฏิเสธแบบปฏิบัติตามประเพณีของนักการเมืองในการหาเสียง บอกคนอเมริกันที่กำลังโกรธว่า เขาไม่ยึดติดอยู่กับกฎเกณฑ์ทางการเมืองซึ่งคือต้นเหตุของการเมืองที่ล้มเหลว การสร้างความสะใจด้วยการพูดตรงอย่างที่ทรัมป์ทำ คือโทสวาท (hate speech) อย่างหนึ่ง แต่โทสวาทคือสิ่งที่คนอเมริกันที่โกรธอยู่ในเวลานี้มองว่าเป็นสิ่งเหมาะสมที่สุด ในการใช้กระหน่ำสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าทำให้เขาเดือดร้อนอย่างสาหัสเช่นนี้ เป็นต้นว่าการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศของเหล่านายทุนหัตถอุตสาหกรรม การปล่อยให้สินค้าจีนตีตลาดสินค้าอเมริกันทั้งในและต่างประเทศจนย่อยยับ การเปิดให้แรงงานเม็กซิโกข้ามแดนมาหางานทำด้วยค่าจ้างราคาต่ำ ฯลฯ

ไม่ใช่คนโกรธทุกคนเชื่อว่าทรัมป์จะแก้ปัญหาให้ได้ด้วยมาตรการห่ามๆ ที่เขาเสนอบนเวทีหาเสียง คนไม่เชื่อก็มีอยู่ไม่น้อย แต่เขาจะระบายความโกรธของเขาให้ก้องกังวานในโลกได้อย่างไร ดีไปกว่าเลือกคนอย่างทรัมป์ขึ้นไปเป็นประธานาธิบดี ผู้สนับสนุนที่เชื่อนโยบายหาเสียงของทรัมป์กับผู้สนับสนุนที่ไม่เชื่อ ฝ่ายใดจะมีมากกว่ากันไม่ทราบได้ แต่ทั้งสองฝ่ายล้วนเป็นคนกำลังโกรธทั้งสิ้น

โกรธให้แก่ชีวิตของตนเองที่ยากลำบากขึ้น แน่ใจว่าเส้นทางที่เคยประกันความสำเร็จในชีวิตอย่างที่อเมริกันคุ้นเคย จะไม่นำตนเองและครอบครัวรอดไปไหนได้ แต่จะหาเส้นทางใหม่ก็หาไม่พบ ไม่จำเป็นว่าชีวิตที่ยากลำบากจะนำมาซึ่งความโกรธ แต่ชีวิตที่ไม่มีหวัง มองหาหนทางข้างหน้าก็มีแต่มืดมน หรือมืดมนมากขึ้น นี่ต่างหากที่นำมาซึ่งความโกรธ–อย่างรุนแรง โดยไม่รู้โกรธใคร หรือโกรธทุกคน

Advertisement

ในความเป็นจริง ความโกรธนี้ไม่ใช่ไม่มีมูลเหตุอันสมควรเสียเลย Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล กล่าวว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนอเมริกันส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง (เมื่อหักเงินเฟ้อแล้ว) ซ้ำยังมีทีท่าว่าจะลดลงไปทุกปี จึงทำให้ยากที่คนอเมริกันจะมีชีวิตตาม “ความฝันอเมริกัน” อย่างที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายเคยฝันมา แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจอเมริกันเลวลง ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เศรษฐกิจอเมริกันโดยรวมดีขึ้นอย่างมาก ในรอบ 42 ปีที่ผ่านมา จีดีพีอเมริกันเพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว แต่รัฐบาลอเมริกันจัดการไม่ดี ด้วยอิทธิพลของลัทธิเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจ จึงปล่อยให้เงินส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในมือคนจำนวนน้อย และยิ่งนับวันก็ยิ่งกระจุกมากขึ้น

นายทุนอเมริกันมุ่งทำกำไรสูงสุดด้วยการหาทางทำกำไร โดยไม่เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่สร้างระบบการค้าระหว่างประเทศที่ทำให้นายทุนสามารถทำกำไรกับการไม่ต้องผลิตอะไร (เช่น การค้าเงิน) ได้อย่างปลอดภัย รายได้ที่กระจุกอยู่จึงไม่มีทางหยดกลับลงมาที่สังคมอเมริกันอย่างทั่วถึงเหมือนเคย

คนอเมริกันรู้สึกสิ้นหวัง เพราะควบคุมอะไรไม่ได้ ทั้งในทางการเมืองและสังคม ไม่เข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ตนได้รับความยากลำบาก ไปยกเหตุให้แก่สิ่งฉาบฉวยต่างๆ เช่น เห็นผู้อพยพเป็นศัตรู เพราะมาแย่งงานตัวเองทำ เห็นสินค้านำเข้าว่าคือสาเหตุของการปิดโรงงาน หรือหันไปเป็นคนล้าหลังคลั่งชาติ คลั่งศาสนา หรือคลั่งสีผิว เพราะเป็นช่องทางให้ระบายความโกรธได้ง่ายดี

ที่ทำให้ยิ่งโกรธมากขึ้นก็เพราะ เมื่อหันไปหาฮิลลารี คลินตัน ทั้งประวัติการทำงานที่ผ่านมาของเธอและของพรรคที่เธอสังกัด คนอเมริกันที่รู้คิดก็เห็นว่า คลินตันก็ไม่ต่างจากทรัมป์ คือหาได้เข้าใจสาเหตุของความทุกข์ยากที่เกิดแก่คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ จะเลือกใครขึ้นเป็นประธานาธิบดี เงินก็ยังกระจุกอยู่ในมือคนไม่กี่คน ในขณะที่คนส่วนใหญ่ทำงานจ๊อบเดียวไม่พอ ต้องวิ่งรอกรับงานเกินหนึ่งเสมอ นี่คือเหตุผลที่คนจำนวนไม่น้อยหันไปหาแซนเดอร์ส ซึ่งในทรรศนะของเขาเห็นว่าเป็นผู้ชิงตำแหน่งคนเดียวที่รู้เหตุรู้ผล (sensible) ที่สุด

ผู้สื่อข่าวของ The Economist เข้าไปทำข่าวที่อำเภอ McDowell อันเป็นอำเภอที่ยากจนที่สุดของรัฐที่ยากจนที่สุดคือ West Virginia อันเป็นอำเภอที่เลือกทรัมป์ในการแข่งขันหาผู้สมัครของพรรคเป็นสัดส่วนสูงสุดทั่วประเทศ

คนใน McDowell ไม่เคยยากจนเท่านี้มาก่อน แต่เดิมอำเภอนี้เป็นแหล่งถ่านหินใหญ่ ฉะนั้นเหมืองถ่านหินจึงจ้างงานของคนส่วนใหญ่ที่นี่ และให้รายได้ดีด้วย ในช่วงราวทศวรรษ 1960 ถ่านหินเริ่มเป็นพลังงานที่ถูกรังเกียจ เพราะเห็นว่าสร้างความสกปรกอย่างมาก ทั้งสังคมและกฎหมายบีบให้โรงงานเลิกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ในทางเศรษฐกิจถ่านหินก็อยู่ได้ยากด้วย เพราะการขุดสำรวจน้ำมันทำให้ราคาแก๊สธรรมชาติถูกกว่าถ่านหิน

ผู้คนใน McDowell เริ่มตกงาน หรือจำนวนมากย้ายออก ห้างสรรพสินค้าวอลล์มาร์ทของ McDowell ปิดตัวลง ในทุกวันนี้ผู้คนจับจ่ายสรรพสินค้าที่แผงริมถนน ใน McDowell วันนี้ แทบจะหาคนมีงานทำไม่พบ แม้แต่ลุงที่ยังเปิดปั๊มน้ำมันอยู่ก็บอกว่า สี่ห้าวันอาจมีคนขับรถผ่านมาเติมน้ำมันสักคันหนึ่ง

ลุงใช้เวลาหมดไปด้วยการนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ แล้วบอกตัวเองว่ายังมีงานทำอยู่

ผู้สื่อข่าวเวียนไปถามผู้สนับสนุนทรัมป์หลายคน ต่างให้ความเห็นว่า ทรัมป์จะสามารถเปิดเหมืองถ่านหินกลับขึ้นมาใหม่ได้อย่างที่เขาสัญญาไว้ในการหาเสียง (ในขณะที่คลินตันบอกว่าต้องปิดอุตสาหกรรมพลังงานสกปรกทั้งหลาย แต่ต้องฝึกและช่วยให้ผู้คนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ สามารถมีอาชีพใหม่ได้)

จะว่าไป โลกาภิวัตน์หรือการที่ตลาดของทั้งโลกกลายเป็นตลาดอันเดียวกัน หรือสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมระบาดจากชุมชนหนึ่งไปยังอีกชุมชนหนึ่ง ในที่สุดก็ทั่วโลก และบังคับให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายหรือออกกฎหมายหรือเข้าร่วมในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่เป็นผลให้การผลิตต้องคำนึงถึงความสะอาดมากขึ้น นี่ก็โลกาภิวัตน์ในอีกลักษณะหนึ่งอาจจะจริงที่ไม่มีรัฐบาลใดสามารถหลีกหนีผล
กระทบจากความเปลี่ยนแปลงระดับโลกเช่นนี้ได้ และความพยายามจะหลบหนีอาจสร้างความหายนะมากจนเกินกว่าจะรับได้ แต่ก็ไม่มีผู้นำคนใดที่สามารถจัดการกับปรากฏการณ์ที่หลีกหนีไม่ได้เช่นโลกาภิวัตน์
อย่างชาญฉลาดเลย แต่กลับปกป้องผลกระทบที่จะเกิดแก่คนส่วนน้อยที่เป็นคนรวย แล้วปล่อยให้ผลกระทบในทางร้ายต่างๆ กระจายไปยังประชาชนทั่วไป อย่างประชาชนที่ McDowell ต้องรับในรูปหนึ่ง ในขณะที่คนอเมริกันอีกมากต้องรับในรูปอื่นๆ

คงไม่ใช่เฉพาะคนอเมริกันเท่านั้นที่โกรธ แต่ดูเหมือนในเกือบทุกประเทศทั่วโลก มีแต่ประชากรที่กำลังโกรธ ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ หรือการเมือง หรืออนาคตของบุตรหลานและครอบครัวล้วนกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่จนไม่มีใครสามารถจัดการอะไรได้ เราทุกคนต่างรู้สึกอ่อนแอสิ้นหวัง ไม่อาจกำหนดส่วนใดในชีวิตของตนเองได้เลย

เราเคารพกฎ เคารพแบบแผนประเพณี เคารพสิ่งซึ่งเป็นที่คาดหวังของคนอื่นในสังคมของเรา ก็เพราะเราเชื่อว่าเคารพสิ่งเหล่านั้นแล้ว เราจะสามารถกำหนดชีวิตของเราเองได้ระดับหนึ่ง แต่บัดนี้ในหลายต่อหลายสังคม ทุกคนรู้ว่าเคารพต่ออะไรก็ไม่นำไปสู่ความสามารถในการกำหนดชีวิตอีกแล้ว ทุกอย่างไร้เหตุผล ไร้การบังคับบัญชา ทุกอย่างไหลเลื่อนไปตามกระแส อะไรก็ไม่มีใครรู้ แต่มันไหลไปอย่างเชี่ยวกรากต่อหน้าเรา ไหลทำไม ไหลไปไหน และจะไหลไปอีกนานเท่าไร ก็ไม่มีใครรู้

พวกเราในสังคมต่างๆ จึงพร้อมจะบ้า เลือกผู้สมัครที่เลอะเทอะที่สุด เลือกทางเลือกที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึกแต่ไร้เหตุผล ลงประชามติที่จะอยู่กับระบอบเผด็จการ เพราะมันตรงไปตรงมาว่าอำนาจเป็นของใคร ฯลฯ

โลกปัจจุบันอาจจะใหญ่เกินกว่าที่เราจะจัดการกับมันอย่างมีเหตุมีผลได้เสียแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image