คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘ว่าที่ผู้ว่าฯกทม.’ บนเวทีหนังสือฤดู‘ร้อน’

ในงานเทศกาลหนังสือฤดูร้อน ครั้งที่ 2 Summer Book Fest 2022 ที่ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันเสาร์ผ่านมา มี “เวที” การเมืองเล็กๆ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และอาจจะมีนัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะเกิดขึ้นในอีกราว 2 สัปดาห์กว่าๆ จากนี้

คือเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในหัวข้อ “(ว่าที่) ผู้ว่าฯกทม.อ่านอะไร: วิสัยทัศน์เรื่องการอ่านและนโยบายเกี่ยวกับวงการหนังสือ” ที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. 4 ท่าน ได้แก่
อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายสกลธี ภัททิยกุล คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ น.ต.ศิธา ทิวารี มาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับมุมมองการอ่าน และนโยบายส่งเสริมการอ่านและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องหากท่านใดท่านหนึ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

โดยเวทีนี้เปิดโอกาสให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละท่านได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์ยาวๆ ไปเลยคนละประมาณ 15 นาที ก่อนจะขึ้นเวทีร่วมกันเพื่อตอบคำถามที่ผู้จัดงานตั้งขึ้น เพื่อหยั่งทราบถึงทัศนคติของแต่ละท่านที่เกี่ยวข้องกับการอ่านและการสร้างวัฒนธรรมการอ่าน

สรุปคือ สำหรับคนแรก นายสกลธี ภัททิยกุล นั้นอาจจะต้องยอมรับว่าประทับใจกว่าที่คิด จากการแสดงออกที่สุภาพและเป็นมิตรโดยเผยตัวตนออกมาอย่างเป็นตัวจริงว่าตัวเขาเป็นใคร มีพื้นเพอย่างไร ได้แก่การยอมรับว่าเขาคือคนกรุงเทพฯ ที่ออกจะมีความได้เปรียบทางด้านการศึกษาและฐานะ แต่ก็มีความจริงใจที่จะทำงานการเมืองให้คนกรุงเทพฯกลุ่มที่ยังได้รับโอกาสไม่ทั่วถึง ลงไปสัมผัสนครหลวงกรุงเทพฯมาในระดับหนึ่ง เคยไปใช้และเห็นปัญหาของห้องสมุดสาธารณะ เคยเดินในย่านถนนคนเดิน และรู้จักร้านหนังสือเล็กๆ และเศรษฐกิจโดยรอบ การกล่าวถึงหนังสือของเขาอาจจะไม่ได้หรูหราน่าทึ่ง แต่ก็ฟังรู้ว่าเป็นคน “อ่านหนังสือ” ตัวจริง

Advertisement

ส่วนคุณวิโรจน์นั้น มาในแนวอุดมการณ์ที่เป็นนามธรรมและคุณค่า คือการนำเสนอในแง่มุมที่ว่า การสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้แข็งแรงนั้น จะต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศที่ผู้คนมีเสรีภาพ ทั้งเสรีภาพในการเลือกหาเลือกอ่าน เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ได้อ่านไป ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ถูกต้องทีเดียว ในการพูดรอบนี้ คุณวิโรจน์ได้เอ่ยชื่อหนังสือหลายเล่มที่เป็นหนังสือขายดีและเป็นที่นิยมของคนรุ่นหนุ่มสาวฝั่งฝ่ายประชาธิปไตย เช่น “ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี” ของ อาจารย์ณัฐพล ใจจริง “รักเอย” ของ คุณรสมาลิน ตั้งนพกุล (ภรรยาอากงผู้ต้องคดีตามมาตรา 112 จนเสียชีวิตในเรือนจำ) หากข้อที่อาจจะต้องตั้งข้อสังเกตอยู่บ้าง ว่าการสร้างพื้นที่ซึ่งจะมี “เสรีภาพ” ในการอ่าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น มันยังอยู่ในกรอบขอบอำนาจของผู้ว่าฯกทม. หรือจะต้องผ่านการขับเคลื่อนผ่านอำนาจรัฐในระดับที่ใหญ่ไปกว่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม โครงการ “คูปองตาสว่าง” ที่จะเป็นบัตรแทนเงินสดที่ กทม.จะแจกให้เด็กๆ นำไปใช้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเพื่อส่งเสริมประสบการณ์ชีวิตเชิงวัฒนธรรม เช่น ไปเข้าพิพิธภัณฑ์ ซื้อหนังสือที่ชอบ หรือลงเรียนกีฬา ดนตรี ศิลปะ และกิจกรรมอื่นๆ ที่ตนเองสนใจได้ตามใจชอบนั้นก็น่าสนใจมาก

สำหรับอาจารย์ชัชชาติ นั้น ความนิยมในตัวเขาในฐานะตัวบุคคลนั้นยังมีสูงอยู่ ปรากฏจากการที่ในงานนี้ ตอนแรกนั้นคุณชัชชาติเกือบจะมาถึงไม่ทัน และพิธีกรบนเวทีทำท่าเหมือนจะ “ไม่รอ” และจะเข้าสู่ช่วง
ต่อไปเลย กลายเป็นว่ามีเสียงพึมพำจากผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากในเชิงเสียดายว่าจะมาเสียเที่ยวหรือเปล่า อุตส่าห์เดินทางมาตั้งไกลเพื่อจะมาเจอและมาฟังชัชชาติ แต่ในที่สุดเรื่องก็คลี่คลายลงเมื่อบุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีปรากฏตัวออกมาทันในที่สุด

สิ่งที่ผู้สมัครทั้งสามท่าน คือ คุณชัชชาติ คุณวิโรจน์ และนายสกลธีนั้น เห็นปัญหาอย่างหนึ่งตรงกันว่า ห้องสมุดภายใต้ความรับผิดชอบของ กทม.นั้นยังมีปัญหาที่การบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความหลากหลายและทันสมัยของหนังสือในห้องสมุด ที่ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่ได้มาจากการบริจาคมากกว่าการตั้งงบซื้อเอง ทำให้อาจจะได้หนังสือที่ไม่ได้มีใครอยากอ่าน หรือเป็นหนังสือที่ล้าสมัยถูกทิ้งมา และไม่มีใครอ่านกันแล้ว

Advertisement

สำหรับอีกท่านหนึ่ง คือ น.ต.ศิธา ทิวารี นั้น อาจจะต้องขออภัยว่าด้วยความรู้สึกจากการฟังท่านพูดนั้นยังรู้สึกว่า “ยังไม่ได้” หรือ “ไม่ใช่” เช่นนี้ ทางที่ดีจึงขออนุญาตละไว้เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายกำลังใจกัน

โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว จากการ “ฟัง” วิสัยทัศน์ และการนำเสนอของผู้สมัครที่อ้างถึงทั้งสาม
ท่านนั้น ชวนให้รู้สึกว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในรอบนี้น่าจะพลิกผันได้อีก ด้วยเวลาที่เหลืออยู่นี้

แม้ว่าผลการสำรวจของโพลแทบทุกโพลที่เชื่อถือได้และพอจะเชื่อถือได้นั้น คะแนนความนิยมของคุณชัชชาติยังนำลิ่วแบบค่อนข้างทิ้งห่าง แต่จากที่ติดตามทั้งในการแสดงวิสัยทัศน์และในการขึ้นเวทีในครั้งนี้
ก็พอจะสัมผัสได้ว่า คุณชัชชาตินั้นเป็นนักวิชาการและนักบริหารที่เน้นความเป็นไปได้เชิงรูปธรรม ดังนั้น ทุกสิ่งที่คุณชัชชาติพูดหรือเสนอมันจะผ่านการประเมินแล้วว่ามีความเป็นไปได้ หรือมีวิธีการที่ทำให้เป็นไปได้ที่เป็นขั้นตอนแผนงานอันเป็นรูปธรรมได้ หรือรู้ว่าถ้าจะให้เป็นเช่นนั้นจะต้องทำอย่างไร

แต่อาจจะต้องยอมรับตรงๆ ว่า สำหรับผมและผู้ฟังอีกหลายท่าน หรือแม้แต่กองเชียร์ของท่านแล้ว
ก็ยอมรับว่า ในเวทีถกแถลงแบบนี้ ด้วยการนำเสนอของท่านยังขาดพลังที่ทำให้ผู้ฟังนึกฮึกเหิมจนเปลี่ยนใจหรือตัดสินใจจะลงคะแนนให้

คุณชัชชาติอาจจะโชคดีที่มีต้นทุนชื่อเสียงความนิยมนำมาก่อนตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเมื่อ 8 ปีก่อน ด้วยฉายาว่า “รัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” แต่นั่นก็เป็นดาบสองคม เพราะผู้คนทั่วไปที่ติดตามเชียร์ชัชชาตินั้น รู้จัก “ชัชชาติ” จากมีมต่างๆ ที่แพร่หลายในโซเชียล แต่การสร้างภาพของชัชชาติผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีนั้นมันอาจจะห่างไกลไปจากตัวจริงที่ท่านเป็น ที่นอกจากความกำยำล่ำสันทางกายแล้ว ตัวจริงของท่านอาจจะไม่ได้เป็นคนที่มีคาแร็กเตอร์ที่ “สนุก” หวือหวาอะไรขนาดนั้น สิ่งนี้แสดงออกมาจากการไปขึ้นเวทีดีเบต หรือแสดงความคิดเห็นในแต่ละครั้งนี่เอง

และแม้ว่าเริ่มต้นนั้น ผู้เข้าร่วมไปชมไปฟังที่หน้างานส่วนใหญ่มารอเพื่อพบท่านชัชชาติตัวจริง แต่เมื่อคุณวิโรจน์ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ และกล่าวปราศรัยที่ปลุกเร้าน่าประทับใจ ก็เป็นคนกลุ่มเดียวกันนั้นเองที่ปรบมืออย่างกึกก้องให้กับเขาด้วยเช่นกัน

หากเราจะอยากเชื่อว่า คนที่ตัดสินจะเลือกใครแล้ว ก็ไม่มีทางเปลี่ยนใจ จะให้ดีเบตหรือแสดงวิสัยทัศน์อย่างไรก็เปลี่ยนแปลงการตัดสินใจที่ได้หมายมั่นไว้แล้วก็ตามเถิด แต่ก็ขอให้ยอมรับด้วยเช่นกันว่ากลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจก็มีจำนวนสัดส่วนเพียงพอที่จะเป็นตัวแปร

จากการสำรวจของโพลต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ก็ปรากฏว่า ยังมีกลุ่มคนที่ “ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกใคร” อยู่เป็นจำนวนที่เป็นนัยสำคัญ เช่น ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” รอบล่าสุด ก็ปรากฏว่า แม้ว่าคุณชัชชาติจะยังนำโด่งอยู่เป็นอันดับหนึ่งที่ 44.58% แต่คะแนนที่ตามมาอันดับสองคือผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจซึ่งมีจำนวนสูงถึง 11.42% ที่ถ้าคิดแบบเร็วๆ ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนี้มีประมาณ 4.48 ล้านคน ก็เท่ากับจะมีคะแนนที่ “รอ” ว่าจะเลือกผู้สมัครเบอร์ไหนอยู่ที่ประมาณ ห้าแสนหนึ่งหมื่นกว่าเสียง ซึ่งเป็นจำนวนที่อาจจะพลิกผลการเลือกตั้งก็ได้

เหตุที่โพลต่างๆ ที่สำรวจมายังมีสัดส่วนของผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจอยู่มากระดับเป็นสาระสำคัญนี้ ในหมู่คนเหล่านั้นก็มีทั้งส่วนที่เป็นคนที่อาจจะเทเสียงมาใน “ฝั่งประชาธิปไตย” และ “ฝั่งกลุ่มอำนาจเดิม” ได้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ถ้าเรานำเอาสัดส่วนคะแนนความนิยมตามโพลของคุณชัชชาติและของคุณวิโรจน์มารวมกัน ก็จะได้ประมาณร้อยละ 52 ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแนวโน้มคะแนนเสียงที่น่าจะมาจากกลุ่มคนที่มีความคิดทางการเมือง “ฝั่งเดียวกัน” ก็เท่ากับว่าในประมาณห้าแสนกว่าเสียงที่ยังไม่ตัดสินใจนี้ ก็เป็นไปได้ว่าจะมีคะแนนเสียงราวๆ สองแสนหกหมื่นเสียง ที่มีแนวโน้มสูงว่าอาจจะเลือกคุณชัชชาติหรือคุณวิโรจน์ก็เป็นได้

ถ้าคุณชัชชาติจะเก็บบทเรียนจากการไปขึ้นเวทีเสวนาหรือแสดงวิสัยทัศน์ต่างๆ นี้มาเป็นบทเรียน ก็อาจจะต้องพยายามอุดช่องว่างที่มีอยู่นี้ ด้วยการพยายามสร้าง “สีสัน” ในการกระตุ้นนำความรู้สึกฮึกเหิมให้คนรู้สึกมีความหวังความฝันที่จะได้อยู่ในกรุงเทพฯ ที่คุณชัชชาติวางแผนไว้ให้น่าตื่นเต้นทรงพลังขึ้นกว่านี้

สำหรับคุณวิโรจน์นั้นอาจจะเรียกได้ว่ามาถูกทางแล้วที่สามารถเรียกคะแนนได้เป็นกอบเป็นกำด้วยความสามารถเฉพาะตัวในการปราศรัยที่เรียกพลัง ความหวัง ความฝัน และปลุกพลังความฮึกเหิมให้ผู้คนได้ ต่อจากนี้ไปเชื่อว่าคะแนนนิยมของเขาจะตีตื้นขึ้นมาเบียดเป็นกลุ่มนำแบบตามติดรดต้นคอมากขึ้น

ทั้งนี้ เราต้องยอมรับว่า ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือตัดสินใจเข้าสู่กิจกรรมทางการเมืองนั้น มันเริ่มต้นที่ “ความหวัง” และ “ความฝัน” ที่ผลักขับออกมาด้วยความฮึกเหิม ความหวังและความฝันที่เชื่อว่าประเทศชาติหรือแม้แต่บ้านเมืองท้องถิ่นนั้นจะดีมีอนาคตขึ้น ภายใต้ผู้นำที่เราเห็นชอบและไว้วางใจ ความหวัง ความฝัน ความฮึกเหิม ที่เกิดจากการปลุกขึ้นด้วยถ้อยคำและท่าทางอันทรงพลังของผู้สมัครรับเลือกตั้งนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญในการออกเสียงลงคะแนน มิใช่เรื่องผิดแผกแปลกประหลาดอย่างใดเลย

ส่วนสกลธีนั้นก็น่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ ถ้ายิ่งได้ขึ้นเวทีหรือแสดงออกต่อสาธารณะ เขายิ่งมีภาพลักษณ์โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยังนิยมชมชอบในกลุ่มอำนาจฝั่งเก่า แต่ไม่อยากได้ตัวตน “คนเก่า” ที่สมควรไปพักได้แล้ว ผู้สมัครคนนี้น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

อย่าลืมว่ากลุ่มคะแนนในฝั่งฝ่ายนี้เขาเป็นเอกภาพกันมากกว่าที่คิด และต้องย้ำเตือนว่า ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก่อนหน้านี้ ผู้ชนะการเลือกตั้ง คือ มรว.สุขุมพันธุ์ นั้น “พลิกโพล” กลับเอามาชนะได้จาก
การปราศรัยในคืนสุดท้ายที่ปลุกให้ผู้ที่ยังลังเลที่มีความคิดทางการเมืองฝั่งฝ่ายเดียวกับเขาตัดสินใจเลือกเขาได้ในวันรุ่งขึ้นเช่นกัน

เช่นนี้ หากจะเกิดกรณีที่ผู้สมัครเบอร์ 1 กับเบอร์ 8 เกิดแบ่งคะแนนกันได้สูสีมากจนเกลี่ยลงมาจนเกิดช่องว่างให้ผู้ที่สามารถรวบรวมเสียงของฝั่งฝ่ายตัวเองให้เป็นกลุ่มก้อนเอกภาพกว่าแทรกเบียดขึ้นมาเป็นผู้ชนะ ก็อาจจะเป็น “บทเรียน” สำคัญที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะได้เรียนรู้ก่อนไปชี้ชะตากันในการเลือกตั้งครั้งใหญ่

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image