ลลิตา หาญวงษ์ : อนาคตของพม่าและขบวนการประชาชน

อนาคตของพม่าและขบวนการประชาชน

เมื่อเราติดตามข่าวที่เกี่ยวกับกลุ่มต่อต้านรัฐประหารในพม่า เรามักจะได้ยินว่าขบวนการนี้เข้มแข็งและมีประชาชนเข้าร่วมมากมาย ขบวนการ CDM (Civil Disobedience Movement) หรือขบวนการอารยะขัดขืน ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง และก่อให้เกิด “ดิสรัปชัน” ได้พอสมควรเลยทีเดียว รัฐบาล NUG ยังได้รับการยอมรับจากรัฐบาลบางประเทศในยุโรป และเริ่มเป็นที่พูดถึงในวงผู้นำประเทศในอาเซียนบ้างแล้ว กองกำลังฝ่ายประชาชน ในนามPDF (People’s Defence Force) ก็มีปฏิบัติการทางทหารอย่างต่อเนื่อง และสามารถลอบสังหารผู้สนับสนุนและให้ข่าวกองทัพพม่าไปได้จำนวนหนึ่ง และยังยึดครองพื้นที่หลายส่วนได้ โดยเฉพาะหลายหมู่บ้านในเขตสะกาย (Sagaing)

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกประการ คือการเกิดขึ้นของรัฐบาลท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนจาก NUG/PDF ในนาม People’s Administration Teams (PATs) ที่ส่งคนของตนเอง เครือข่ายแอคทิวิสต์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และข้าราชการจากหน่วยงานท้องถิ่นที่เข้าร่วมขบวนการ CDM และนัดหยุดงานต่อเนื่องมาได้ปีเศษแล้ว เป้าหมายของแผนการดังกล่าวคือการตั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นขนานไปกับรัฐบาลท้องถิ่นที่ถูกควบคุมโดยกองทัพและคณะรัฐประหาร ในแต่ละเมืองและหมู่บ้าน จะมีคณะทำงาน 11 คน ที่ NUG ส่งเข้าไป แต่แผนการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จมากนักเพราะกองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง จนทำให้ PATs ถูกปราบปรามจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้จริง

อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ในพื้นที่ที่ควบคุมโดยกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ PATs เติบโตได้รวดเร็วกว่า เพราะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนอย่างดีจากกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ ในพม่าตอนเหนือ ในเขตสะกายและมักกเว (Magwe) กองกำลัง PDF และ PATs จึงเข้มแข็งมากกว่าพื้นที่อื่นๆ จนอาจเรียกว่าเป็นฐานที่มั่นของ PDF ไปแล้วก็คงไม่ผิดนัก

ในเขตสะกาย ซึ่งประกอบด้วย 33 เมือง PATs เข้าไปควบคุมการบริหารงานส่วนท้องถิ่นได้แล้ว 29 และอีก 7 เมือง จาก 25 เมืองในเขตมักกเว หน้าที่ของ PATs คือส่งมอบบริการที่เคยเป็นของภาครัฐให้กับประชาชนในเขตที่ตนควบคุมอยู่ มีทั้งการให้บริการด้านสาธารณสุข การศึกษา หรือแม้แต่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตัดสินคดีความในเขตนั้นๆ

Advertisement

ในเขตที่ PATs ควบคุมได้ พวกเขานำกฎหมายหลายฉบับที่ NUG และหน่วยงานลูกอีกหน่วยงานหนึ่งที่เรียกว่า “กรมการบริหารของประชาชน” (People’s Administration Department) ได้ร่างขึ้นมาใหม่ ในบรรดากฎหมายหลายฉบับ มีกฎหมายกรมตำรวจชั่วคราว (Interim Police Force Law) ที่เข้าไป “รีเซต” โครงสร้างและระบบการศาลในท้องถิ่นใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ NUG ยังร่างระบบการจัดเก็บภาษีขึ้นมาใหม่ ที่กำหนดให้รายได้ร้อยละ 30 ที่เก็บได้ในแต่ละเมืองต้องนำไปบริหาร PATs ในส่วนนี้ NUG ยังไม่ได้ฟันธงออกมาว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีมีความแตกต่างอย่างไรจากรายได้ที่มาจากการบริจาค เพราะรายได้หลักของ NUG และ PDF ในปัจจุบันล้วนมาจากการบริจาคโดยประชาชนทั่วไปที่อยู่ทั้งในและนอกพม่า อีกทั้งยังมีโครงการระดมทุนจากการปล่อยลอตเตอรี่ ในนาม Spring Lottery และการขายพันธบัตรอีกด้วย

ในหลายๆ เมืองที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ PDF เนื่องจาก PATs ไม่มีบุคลากรมากพอที่จะควบคุมหมู่บ้าน ตำบล หรือแต่ละเมืองอย่างทั่วถึง หลักปฏิบัติทั่วไปที่ทำกันในปัจจุบันคือ NUG มีข้อกำหนดกว้างๆ และปล่อยให้ผู้นำชุมชนบริหารจัดการกันเอง ในทุกพื้นที่มีข้าราชการที่เข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืนขึ้นมาร่วมบริหารงาน นโยบายของ PATs ในทุกพื้นที่ยังมีการประกาศห้ามขายสินค้าทุกชนิดที่มาจากบริษัทของกองทัพ

การบริหารงานในลักษณะนี้ย่อมมีจุดอ่อน ด้วยในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล ไปจนถึงระดับเมือง ไม่มีลำดับการบังคับบัญชาที่แน่นอน และ NUG ยังไม่สามารถควบคุมดูแลทุกๆ หมู่บ้านได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งยังประสบปัญหาสำคัญคือกองทัพพม่ามีคำสั่งให้ตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตและสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ที่ PDF เข้าไปยึดครองได้ จึงทำให้การสื่อสารระหว่าง PATs และการสื่อสารโดยทั่วไปเป็นไปอย่างยากลำบาก

Advertisement

นอกจากเงินที่ PATs ได้รับมาจาก NUG แล้ว PATs ในแต่ละพื้นที่ยังเปิดรับบริจาคจากประชาชน และธุรกิจในพื้นที่ หรือจากชาวพม่าจากพื้นที่อื่นๆ และเงินในส่วนนี้กลายเป็นรายได้หลักของ PATs ผู้เขียนมองว่าความพยายามบริหาร “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ในระดับนี้จะประสบกับปัญหาในระยะยาว เมื่อเวลาผ่านไป PATs จะได้รับเงินบริจาคน้อยลง แม้ว่าผู้เขียนจะเชื่อมั่นว่าคนพม่าที่รักประชาธิปไตยจะทำทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้ PATs และขบวนการต่อต้านคณะรัฐประหารดำเนินต่อไปได้อย่างดีที่สุด เรากำลังพูดถึงความยั่งยืนของการประท้วงและการต่อต้านอำนาจรัฐของคณะรัฐประหาร

หากย้อนกลับไปดูบทเรียนจากสงครามกลางเมืองในพม่า ที่กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่อสู้กับกองทัพและรัฐบาลพม่ามาตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชในปี 1948 แหล่งรายได้หลักของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำให้เกิดรายได้มหาศาลและสามารถยืนระยะต่อสู้กับกองทัพพม่ามาได้หลายสิบปี คือการทำธุรกิจ ตั้งแต่การผลิตและขายยาเสพติด อาวุธ และการควบคุมตลาดมืด รวมทั้งการเก็บค่าคุ้มครองหรือส่วยจากประชาชนในพื้นที่

หากมองจากความเป็นจริง เรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ NUG และ PDF รับผิดชอบคือการควบคุมพื้นที่ที่ตนยึดมาได้จากฝั่งกองทัพพม่า โฟกัสจึงอยู่ที่ PDF ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธ มากกว่าการบริหารภายในภายใต้ PATs เพราะหาก PDF อ่อนแอและไม่สามารถควบคุมพื้นที่ของตนเองได้การบริหารงานของ PATs ย่อมไร้ความหมาย

และที่ลืมไม่ได้คือยิ่ง PDF เติบโตมากเท่าไหร่ กองทัพพม่าก็จะยิ่งตอบโต้รุนแรงมากขึ้น นั่นหมายความว่าจะมีการบุกเข้ายึดตามหมู่บ้านต่างๆ มากขึ้น และการไล่ล่า PDF ก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้น ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะไม่จบลงง่ายๆ แต่จะกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ฝ่ายประชาชนเสียเปรียบ

หลายคนให้ความสนใจเรื่องการเจรจา อาจเคยได้ยินมาว่ากองทัพเริ่มกระบวนการเจรจากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม แต่ผู้เขียนไม่อยากให้ผู้อ่านไปฝากความหวังไว้กับกองทัพพม่ามากนัก เพราะอย่างไรเสีย กองทัพพม่าจะไม่มีวันเข้าร่วมโต๊ะเจรจากับ NUG/PDF และยอมรับข้อเสนอที่พวกเขาเสียเปรียบอย่างแน่นอน แล้วการต่อสู้ของประชาชนในครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป บอกตามตรงค่ะว่าคาดเดาได้ยากเหลือเกิน แต่ที่แน่ๆ คือสงครามครั้งนี้ยังอีกยาวไกล ไม่มีวันจะจบลงง่ายๆ อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image