โคทม อารียา : มุมมองของเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์เรื่องความสุข

ก่อนอื่นขอแนะนำเบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (2415-2513) ให้รู้จักในเบื้องต้น เขาเป็นชาวอังกฤษและเป็นนักคิดคนสำคัญคนหนึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นลูกของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้มีแนวคิดเสรีนิยมชื่อ ลอร์ดจอห์น รัสเซลล์ ทั้งบิดาและมารดาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็ก จึงถูกเลี้ยงดูโดยปู่และย่าผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบเคร่งครัด เขาจึงมีชีวิตวัยเด็กที่เต็มไปด้วยความทุกข์ใจ และมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายหลายครั้ง เขาบอกว่าสิ่งที่ยับยั้งเขาไว้คือความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องคณิตศาสตร์ เมื่อจบการศึกษาในสาขาคณิตศาสตร์และปรัชญา เขาเข้าเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และในปี 2446 ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Principles of Mathematics ต่อมาเขาเชิญชวนนักคณิตศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งคือ อัลเฟร็ด นอร์ท ไวต์เฮด มาร่วมเขียนหนังสือเล่มใหม่ที่จะขยายความเนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าว แต่เอาเข้าจริง ๆ พวกเขาทำได้มากกว่านั้น ผลจากความร่วมมือกันคืองานอันยิ่งใหญ่ว่าด้วยหลักการด้านตรรกศาสตร์ของคณิตศาสตร์จำนวนสามเล่ม มีชื่อเป็นภาษาลาตินว่า Principia Mathematica (เล่มหนึ่ง, เล่มสอง, และเล่มสามตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2453, 2455, และ 2455 ตามลำดับ) แม้จะมีผลงานอันทรงคุณค่า แต่ไม่วายที่เขาจะถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเพราะเขียนบทความสนับสนุนสันติภาพในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (2457-2461) เขาถือโอกาสในฐานะนักคิดอิสระผลิตงานเขียนจำนวนมากเกี่ยวกับปรัชญาและปัญหาสังคม เช่น จริยธรรมทางเพศ การศึกษา และสันติภาพ ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้ไปสอนหนังสือที่สหรัฐอเมริกา และได้กลับมารับตำแหน่งที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์อีกครั้งในปี 2487 เขาได้รับรางวัลโนเบิลสาขาวรรณกรรมในปี 2493

ไม่เพียงแต่เขียนอย่างเดียว เขายังเป็นนักกิจกรรมด้านสันติภาพด้วย เขาถูกจับติดคุกสองครั้ง ครั้งแรกเป็นเวลา 6 เดือน โทษฐานเขียนบทความเรียกร้องสันติภาพในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และติดคุกครั้งที่สองเป็นเวลา 7 วัน โทษฐานประท้วงอาวุธนิวเคลียร์ด้วยวัย 89 ปี

ในช่วงสงครามเย็นปี 2498 รัสเซลล์ได้เชิญชวนนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ 12 คน (ในจำนวนนี้มีเพียงคนเดียวที่ไม่ได้รับรางวัลโนเบิล) ให้ร่วมลงนามในแถลงการณ์ซึ่งรู้จักกันในชื่อ รัสเซลล์-ไอน์สไตน์ เรียกร้องผู้นำชาติต่าง ๆ ให้ร่วมมือกันโดยไม่คำนึงว่าอยู่ฝ่ายตะวันตกหรือฝ่ายสหภาพโซเวียต เพื่อหาทางป้องกันมิให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ สืบเนื่องจากแถลงการณ์ดังกล่าว ในปี 2500 มีการจัดประชุมนักวิทยาศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายที่เมืองพักวอช มลรัฐโนวาสโกเชีย ประเทศคานาดา ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของ “การประชุมพักวอชว่าด้วยวิทยาศาสตร์และกิจการโลก” ที่ต่อมาในปี 2538 การประชุมพักวอชฯ และประธานการประชุมฯ (โจเซฟ รอตบลัต) ได้รับรางวัลโนเบิลสันติภาพร่วมกัน จากการที่ได้ส่งเสริมการลดอาวุธนิวเคลียร์มายาวนาน

เนตร รามแก้ว ได้ส่งหนังสือของรัสเซลล์ชื่อ “The Conquest of Happiness” (“เส้นทางสู่ความสุข” ที่วิภาดา กิตติโกวิท แปลเป็นภาษาไทย) มาให้ผมอ่าน หนังสือมีสองตอน ตอนแรกว่าด้วยเหตุแห่งความไร้สุข ตอนสองว่าด้วยเหตุแห่งความสุข ผมอ่านคร่าว ๆ แล้ว จึงอยากเก็บความมาเล่าสู่กันฟังบ้าง (แต่ไม่สามารถเก็บอารมณ์ขันอันละเมียดละไมของรัสเซลล์มาถ่ายทอดได้ ขอให้อ่านฉบับแปลของวิภาดาก็แล้วกัน) เผื่อจะช่วยให้คนไทยที่กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้ มีข้อคิดที่จะนำไปสู่ความสุขเพิ่มขึ้นบ้าง

Advertisement

ครูวิคตอเรีย สุบีรานา สอนผมว่า พื้นที่สำคัญของชีวิตเราคือ ตัวตน ครอบครัว และสังคม เลยอยากลองทำความเข้าใจมุมมองเรื่องความสุขของรัสเซลล์ตามพื้นที่สำคัญทั้งสามนี้

ตัวตน

ภาวะไร้สุขส่วนหนึ่งมาจากตัวเราเอง โดยเฉพาะจากการเลี้ยงดูในยามเด็ก รัสเซลล์ได้รับการศึกษาเลี้ยงดูแบบพิวริตัน พอโตขึ้น เขาครุ่นคิดแต่ในเรื่องบาป ความพิลึกพิลั่นและข้อบกพร่องต่าง ๆ ของเขา จนหาความสุขมิได้ แต่แล้วเขาค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะเฉยเมยกับตัวเอง หันไปสนใจโลกภายนอก สนใจศาสตร์ต่าง ๆ ตลอดจนคนที่เขารักและผูกพัน จึงพอมีความสุขขึ้นมาบ้าง

Advertisement

การหมกมุ่นกับตัวเองมีหลายแบบ แบบที่พบบ่อยคือ แบบคนหลงตัวเอง แบบ “คนบาป” และแบบคนหลงเพ้อความยิ่งใหญ่ สำหรับคนหลงตัวเองโลกทั้งโลกหมุนอยู่รอบตัวเขา ส่วนคำว่า “คนบาป” ในที่นี้มีความหมายพิเศษว่าหมายถึ

คนที่หมกมุ่นว่าตนทำผิด แม้ปัจจุบัน เขามีเหตุผลที่จะเลิกเชื่อคติเคร่งครัดต่าง ๆ ที่แม่สอนไว้ในยามเด็ก แต่คติเหล่านั้นยังฝังอยู่ลึก ๆ ในจิตใต้สำนึก ที่มาของความรู้สึกผิดคือจิตใต้สำนึกที่บอกว่าสิ่งที่เขาทำไปเพราะเห็นเป็นเรื่องธรรมดานั้น เป็นบาปนั่นเอง

บางครั้งที่เรารู้สึกผิดมาก ๆ จงอย่าถือว่ามันเป็นการเตือนให้เราหันไปวิงวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาช่วยไถ่บาป หากควรถือว่าเป็นความอ่อนแอที่ทำให้เราหลงอยู่กับความรู้สึกผิดมากกว่า ยกเว้นว่าเราทำผิดจริง เช่น ทำผิดจรรยาบรรณทางธุรกิจชนิดที่ผิดกฎหมาย ทารุณคนงาน โหดร้ายกับลูกและเมีย หักดิบคู่แข่ง ดุร้ายในความขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ การทำความผิดจริงเช่นนี้ย่อมสร้างความทุกข์ยากแก่คนรอบข้าง อีกทั้งมีส่วนทำร้ายสังคมในวงกว้างด้วย ดังนั้น การถือว่าความรู้สึกผิดเป็นความอ่อนแอ ไม่รวมถึงการทำผิดจริงดังตัวอย่างข้างต้น หากหมายถึงการหลงอยู่อย่างงมงาย หลงอยู่ในความเชื่อทางศีลธรรมตามประเพณีนิยมที่เอาตัวตนของเราเป็นศูนย์กลางมากเกินไป ทั้งนี้เพราะมโนทัศน์เรื่องบาปของเรามักเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการมุ่งสนใจตัวตนอย่างไม่ฉลาดนัก

คนหลงเพ้อความยิ่งใหญ่ต่างจากคนหลงตัวเองตรงที่ต้องการอำนาจมากกว่าการมีเสน่ห์ ต้องการให้คนกลัวมากกว่าให้คนรัก การชอบอำนาจมีอยู่ในธรรมชาติปกติของมนุษย์ แต่จะเป็นเรื่องที่แย่ก็ต่อเมื่อมีมากเกินไปหรือมีจนไม่รู้สึกสัมผัสกับความเป็นจริง คนที่ยกย่องกันว่ายิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์หลายคนจัดได้ว่าเป็นคนแบบนี้ อย่างไรก็ดี ไม่มีใครที่จะมีอำนาจยิ่งใหญ่ตลอดไป ชีวิตที่หลงใหลในอำนาจมักพบอุปสรรคที่ไม่อาจเอาชนะได้ไม่ช้าก็เร็ว คนที่ความคิดและความหวังไปพ้นจากตัวเองได้นั่นแหละ จึงจะสามารถพบความสงบสุขได้แม้จะพบอุปสรรคในชีวิต ต่างจากคนที่มีแต่ความเห็นแก่ตัว

หลายคนกังวลใจกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย จนเหน็ดเหนื่อยและสูญเสียพลังจิตไปเปล่า ๆ ข้อเสนอของรัสเซลล์คือการเปิดใจให้กว้าง ให้ไกล และคิดว่าสิ่งกังวลใจเล็กน้อยไม่มีผลกระทบต่อสายธารชีวิตบนโลกนี้ที่สืบทอดกันมาหลายพันปี และยังจะสืบเนื่องต่อไปอีกหลายพันปี เรื่องใหญ่คือจะต้องไม่ล้างเผ่าพันธุ์กันเอง เราจะมีความสุขหากรู้จักเปิดตัวเองและความสนใจของเราให้กว้างที่สุด และสามารถตอบสนองต่อสรรพสิ่งและคนที่อยู่ในความสนใจของเราได้ด้วยไมตรี มิใช่ด้วยความเป็นปฏิปักษ์

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าใจจิตวิทยาว่าด้วยความกังวลใจ รัสเซลล์เชื่อว่าความกังวลใจส่วนหนึ่งมาจากจิตใต้สำนึก แล้วเราจะเปลี่ยนจิตใต้สำนึกที่ทำให้เรากังวลใจ มาเป็นจิตใต้สำนึกที่เป็นตัวช่วยของเราได้หรือไม่ เขาเชื่อว่าเราสามารถทำได้โดยเอาความคิดที่เป็นคุณที่อยู่ในจิตสำนึกใส่ลงในจิตใต้สำนึก แต่ต้องใส่มันลงไปด้วยพลังจิตที่เข้มข้นพอ อันที่จริง สิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกก็มาจากความคิดที่เคยอยู่ในจิตสำนึกยามเมื่อมีอารมณ์สะเทือนใจสูงนั่นเอง คราวนี้เราอาจจงใจฝังความคิดบางประการลงในจิตใต้สำนึก เช่น ใช้ความคิดให้หนักที่สุดถึงวิธีที่จะจัดการกับโจทย์ที่สร้างความกังวลใจ คิดให้เต็มที่หลายชั่วโมงหรือหลายวัน แล้วเลิกคิด ปล่อยให้จิตใต้สำนึกทำงานใต้ดินของมันไป เมื่อเวลาผ่านไปสักหนึ่งเดือน รัสเซลล์กลับมาใหม่เพื่อคิดโจทย์เก่า และพบว่าจิตใต้สำนึกได้ทำการเฉลยโจทย์ดังกล่าวแล้ว

ในเรื่องสาเหตุแห่งความสุขที่เราอาจแสวงหาด้วยตัวเอง รัสเซลล์มีข้อเสนอง่าย ๆ คือ ทำตัวเองให้เพลิดเพลินเจริญใจกับสิ่งที่ชีวิตมอบให้เรา เช่น เมื่อถึงเวลากินอาหารก็กินอย่างเอร็ดอร่อยกับอาหารที่อยู่ตรงหน้า กินให้พออิ่มแล้วหยุดกิน เราสัมพันธ์กับอาหารด้วยความหิวฉันใด ก็ควรสัมพันธ์กับชีวิตด้วยความเพลิดเพลินฉันนั้น เวลาใดที่จิตของเรามีพลังและสติ ระลึกรู้ถึงสิ่งต่าง ๆ ได้เกือบทั่วพร้อม เวลานั้นคือเวลาแห่งความสุข

ครอบครัวและความรัก

คำว่า puritan (พิวริตัน) คงมาจากคำว่า pure หรือบริสุทธิ์ คำคำนี้มีในภาษาอังกฤษตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 เพื่อใช้เรียกคริสต์ศาสนิกชนที่เชื่อในการทำให้พิธีกรรมทางศาสนาบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น และเชื่อในจริยธรรมส่วนบุคคลที่เคร่งครัดมากขึ้น ต่อมาในยุควิคตอเรียน (ราชินีวิคตอเรียครองราชย์ปี 2380-2444) ชายและหญิงหลายคนถือคติพิวริตันอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องจริยธรรมทางเพศ จริยธรรมนี้กำหนดว่าชายควรมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีที่ภรรยาไม่ชอบมี เขาก็จะไปเที่ยวโสเภณี ซึ่งถือว่าแอบทำผิดจริยธรรมนั่นแหละ แต่ก็มีโสเภณีเรือนหมื่นในกรุงลอนดอนยุคนั้น ส่วนผู้หญิงถูกสอนให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย “สัญชาตญาณความเป็นแม่” เท่านั้น ไม่ใช่ด้วยความสนุกสนานสำราญใจ ปู่และย่าผู้เลี้ยงดูรัสเซลล์มาแต่เยาว์วัย ได้ปลูกฝังความเคร่งครัดทางเพศไว้ในจิตใต้สำนึกของเขา ซึ่งต้องใช้เหตุผลสลัดออกไปทีละน้อย

ในหนังสือเรื่อง “เส้นทางสู่ความสุข” เล่มนี้ เขาเขียนว่า เมื่อมีอายุหกขวบ เด็กจะเอาเรื่องบาปมาผูกโยงกับอวัยวะเพศอย่างแน่นหนาจนยากมาที่จะแก้ปมนี้ได้ตลอดชั่วชีวิต ความรู้สึกนี้ถูกเสริมแรงด้วยปมโอดิปุส (ความดึงดูดทางเพศกับแม่ ซึ่งต้องห้าม – ผู้เขียน) ผลที่ตามมาคือ เมื่อเด็กคนนี้โตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะไม่สามารถเคารพภรรยาของเขาได้ เว้นแต่ว่าเธอจะเกลียดการมีเพศสัมพันธ์ แต่สัญชาตญาณจะนำพาเขาไปหาความพึงพอใจกับหญิงอื่น และแม้จะได้รับความพึงพอใจชั่วขณะ แต่เขาไม่อาจมีความสุขได้กับความสัมพันธ์กับผู้หญิงคนใดไม่ว่าจะในและนอกสมรส ในส่วนของผู้หญิงยุคพิวริตัน เธอถูกสอนให้ธำรงความ “บริสุทธิ์” เธอจะรู้สึกเกร็งในความสัมพันธ์ทางเพศกับสามี กลัวว่าจะสนุกสนานไปกับมัน ค่อยยังชั่วที่ปัจจุบัน จำนวนหญิงที่กลัวการมีเพศสัมพันธ์ได้ลดน้อยลง กลายเป็นว่าความรู้สึกบาปที่จะมีเพศสัมพันธ์หรือการเบี่ยงเบนทางเพศจะพบมากกว่าในหมู่ชายเสียแล้ว

เด็กที่ไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่มักขี้กลัวและสงสารตัวเอง บางคนเก็บตัว เศร้าหมอง แล้วหันไปหาระบบปรัชญาหรือเทววิทยาโดยหวังการปลอบประโลมใจที่ไม่เป็นจริง สำหรับคนที่แม่เคยห่วงใยใกล้ชิดจนเหมือนเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ลูกจะขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ เป็นไปได้ที่เขาอยากให้ภรรยาทำเหมือนกับที่แม่เคยทำตามแต่ใจ แล้วก็ประหลาดใจที่ภรรยาปฏิบัติต่อเขาเหมือนเด็กที่ไม่รู้จักโต พ่อบางคนปลูกฝังคุณธรรมให้ลูกด้วยการลงไม้ลงมือ แล้วพ่อก็พอใจอยู่ฝ่ายเดียว อันที่จริง ในความสัมพันธ์ที่ดีนั้น ทั้งสองฝ่ายควรพึงพอใจ เรื่องนี้สำคัญยิ่งสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก

หากเราต้องการหนีออกจากคุกแห่งอัตตา เราต้องมีความรักอันจริงแท้ การได้รับความรักนั้นไม่เพียงพอ ความรักที่ได้รับจะต้องปลดปล่อยความรักที่จะให้ด้วย ต่อเมื่อมีความสมดุลระหว่างการรับและการให้ความรักเท่านั้น จึงจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ความรักจะให้ความสุขแก่เรา การมีเพศสัมพันธ์คือการให้และการรับ ซึ่งถ้าอยู่บนพื้นฐานแห่งความรัก ก็จะเป็นความสุขที่สุดที่ชีวิตจะให้ได้ ต่างจากการมีเพศสัมพันธ์เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศ ซึ่งจะให้กายที่อ่อนล้าและใจที่ไม่อิ่มเอิบในภายหลัง

เราอาจมีความสุขได้จากการเป็นพ่อหรือเป็นแม่ ความสุขนี้มีที่มาอยู่สองสถาน ด้านหนึ่งมาจากสัญชาตญาณว่าจะได้สืบทอดชีวิตของตนให้ที่ยืนยาวไปกว่าความตาย เหมือนเป็นส่วนขยายของตัวเรา ลูกคือผู้รักษาพันธุกรรมของเราไว้ อีกด้านหนึ่ง คือความรู้สึกผสมกลมกลืนระหว่างอำนาจกับความอ่อนโยน ทารกช่วยตัวเองไม่ได้ เรารู้สึกอ่อนโยนและเปี่ยมด้วยความรักกับลูกน้อยของเรา เรามีแรงดลใจที่จัดหาสิ่งที่ทารกต้องการให้แก่เขา ขณะเดียวกันก็รู้สึกถึงอำนาจเหนือ ที่ก่อนอื่นจะต้องคานดุลด้วยความเคารพต่อบุคลิกภาพของลูก ด้วยความเคารพที่ลึกซึ้งจนทำให้การครอบครองและครอบงำเป็นไปไม่ได้ อันที่จริง ท่าที่เช่นนี้จำเป็นสำหรับมิตรภาพ และยิ่งจำเป็นในการแต่งงาน

สังคม

ความอิจฉาเป็นศัตรูตัวฉกาจของความสุข และบ่อยครั้งก็ทำลายมิตรภาพและชีวิตแต่งงานได้ แต่ในแง่สังคม รัสเซลล์ชี้ให้เห็นว่า ความอิจฉามีบทบาททางสังคมประการหนึ่งคือ การขับเคลื่อนให้เกิดความยุติธรรม เพราะคนเราชอบเปรียบเทียบ โดยเฉพาะในกลุ่มเดียวกัน ถ้าเขามี เราควรมีด้วย ถ้าเขาได้เลื่อนตำแหน่ง เราคิดว่าน่าจะเป็นเรามากกว่า คนจนอิจฉาคนจนที่ได้ลาภ อาจจะมากกว่าอิจฉาคนรวยด้วยซ้ำไป ในแง่นี้ ถ้าไม่อิจฉาจนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือจนจะไปกลั่นแกล้ง/ใส่ร้ายคนที่ข้ามหน้าข้ามตาเรา ก็พอเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องความเท่าเทียมหรือการไม่เลือกปฏิบัติ เช่น ระหว่างเพศ ระหว่างชนชั้น ระหว่างประชาชาติ นับเป็นการขับเคลื่อนสังคมในทางที่ดี ทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้นได้ แต่อย่าลืมว่า ความอิจฉาไม่ควรไปลดความสุขสบายของผู้ที่สบายดีอยู่แล้ว หากควรไปเพิ่มความสุขสบายของผู้ที่ทุกข์ร้อนมากกว่า

ในแง่หนึ่ง การเมืองคือการโฆษณาชวนเชื่อ ถ้าไม่เกินเลยไป ก็อาจถือเป็นการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันเป็นธรรมดา แต่การโฆษณาที่สุดโต่ง ที่เป็นการใส่ร้ายศัตรูทางการเมือง ไปจนถึงการเหยียดหยามชนชาติอื่น การกีดกันชนกลุ่มน้อย การไม่เคารพความเชื่อทางศาสนาของผู้อื่น ฯลฯ เหล่านี้เป็นบ่อเกิดแห่งการเกลียดชัง และได้นำไปสู่การฆ่าฟัน การจลาจล และแม้กระทั่งสงครามมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ยาขนานหนึ่งที่อาจช่วยรักษาเราจากความอิจฉาที่เกินขอบเขตและจากความเกลียดชังได้ คือความชื่นชม ความสุขอาจได้มาจากการบ่มเพาะความชื่นชมในความสามารถและความดีงามของผู้อื่น

เราแต่ละคนกลัวสายตาของผู้อื่น กลัวสังคมติฉินนินทา แม้ปัจจุบันเรากลัวความเห็นของเพื่อนบ้านน้อยลง แต่ก็มีความกลัวแบบใหม่ คือกลัวสื่อสารมวลชนและกลัวสื่อสังคมออนไลน์ แต่รัสเซลล์เห็นว่า เราควรเคารพความเห็นของคนส่วนใหญ่ เพียงเท่าที่จำเป็นแก่การไม่อดตายและไม่ถูกจองจำ ถ้าเกินกว่านี้ การคล้อยตามความเห็นของคนส่วนใหญ่คือการจำนนต่อทรราชย์ของระบบข่าวสาร ที่จะมาแทรกแซงความสุขของเราในสารพัดด้าน

คนที่ทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เช่นโดยขับเคลื่อนการปฏิรูปที่จำเป็น อาจประสบอุปสรรคสำคัญ เช่น สงคราม หรือการรัฐประหาร เขาพบว่าสิ่งที่พยายามทำอยู่อาจไม่บรรลุผลในช่วงวัยของเขา แต่เขาก็ยังมีความสุขได้ หากคิดว่าสิ่งที่เขาสนใจคืออนาคตของมนุษยชาติ มากกว่าการมีส่วนร่วมของเขาเอง

บทลงท้าย

รัสเซลล์เชื่อว่าอะไรที่ดี เช่นการทำงาน การออกกำลังกาย ถ้าทำมากเกินไป ก็กลายเป็นสิ่งไม่ดีได้ สำหรับความสุข เขาแนะนำให้ใช้ “golden mean” ซึ่งขอตีความว่าหมายถึงทางสายกลางนั่นเอง

คนที่มีความสุขคือคนที่มีชีวิตอยู่อย่างวัตถุวิสัย มีความรัก-ความชอบได้อย่างเสรี มีจุดสนใจหลากหลายในชีวิต มีความสุขที่จะให้ความรักและได้รับความรักจากผู้อื่น เขารู้สึกว่าตนเองเป็นพลเมืองของโลก ของจักรวาล ไม่กังวลใจในเรื่องความตาย เพราะรู้สึกถึงสายสัมพันธ์กับคนรุ่นต่อๆ ไปที่จะตามมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image