คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘Let her grow’ กับ ‘เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง และไม้เรียว’

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘Let her grow’ กับ ‘เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง และไม้เรียว’

สองเหตุการณ์ที่อาจจะเรียกว่าเป็น “เรื่องเดียวกัน” ขึ้นมาเป็นกระแสโดยไม่ได้นัดหมาย แรกคือ หนังสือเล่มใหม่ “เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง และไม้เรียว : ประวัติศาสตร์วินัยและการลงทัณฑ์ในโรงเรียน” ของ รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ขายดิบขายดีขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของบูธสำนักพิมพ์มติชนต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน ในงานเทศกาลหนังสือฤดูร้อน Summer Book fest 2022

กับเรื่องที่สอง แคมเปญโฆษณา “Let her grow” ของผลิตภัณฑ์ Dove ที่นอกจากเล่นใหญ่ถึงขนาดซื้อโฆษณาเต็มหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐแล้ว ยังเผยแพร่สารคดีสั้นที่ถ่ายทอดความรู้สึกของเด็กนักเรียนหญิงที่ถูกลงโทษบังคับตัดผม นักเรียนที่ผู้ปกครองสนับสนุนการเลือกทรงผมตัวเอง ศิลปินและนักเขียนที่ออกมาให้ความเห็นในเรื่องความสำคัญของการเคารพในสิทธิบนศีรษะของเด็กผู้หญิง พร้อมบทสรุปที่ชวนให้สังคมหยุดการบังคับการลงโทษบังคับตัดผมนักเรียน

แม้จะมองว่าเป็นการตลาดธรรมดา เพราะ Dove เองก็มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดูแลเส้นผมตรงจุดกับโฆษณาที่ทำออกมาก็ตามเถิด หากที่น่าสนใจยิ่งของแคมเปญนี้ก็คือ การที่บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่อย่าง Unilever ที่ดูแลผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกมาเล่นกับประเด็นที่ถือว่าท้าทายสังคมอยู่พอสมควร นั่นเพราะการเรียกร้องให้เคารพสิทธิในเส้นผมของนักเรียนนี้ เป็นหนึ่งในประเด็นการต่อสู้ของกลุ่มเด็กนักเรียนรุ่นใหม่หลายยุคหลายสมัย รวมถึงกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่เป็นเหมือนหนึ่งในกลุ่มต่อสู้ทางการเมืองที่ยอกตำอำนาจรัฐและฝ่ายจารีตในปัจจุบัน

แต่จะบอกว่าธุรกิจเบอร์ใหญ่ให้ท้ายเด็กหรือก็ไม่เชิง เพราะปัญหาเรื่องสิทธิในทรงผม และระเบียบเกี่ยวกับเรื่องนี้นั้น ในโฆษณาก็กล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการของไทยได้ผ่อนคลายระเบียบเรื่องนี้มาแล้วสองปีก่อน หากเรื่องนี้เป็นเหมือนความเข้าใจในสังคมยังคงค้างอยู่ (จากการสำรวจนี้ คือ 7 ใน 10 คน) เข้าใจว่านักเรียนหญิงจะต้องถูกบังคับตัดผมสั้น

Advertisement

สอดคล้องกับข้อสังเกตของอาจารย์ภิญญพันธุ์ที่เห็นว่าระเบียบเรื่องการตัดผมนี้เป็นเหมือน “ระเบียบวินัยเชิงวัฒนธรรม” ที่มีสภาพบังคับอยู่ ซึ่งเป็นภาพย่อลงมาจาก “รัฐธรรมนูญเชิงวัฒนธรรม” ตามแนวคิดของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เอาไว้อธิบายถึงกฎหมายที่ไม่ได้อยู่ในรูปของบทบัญญัติ แต่ผู้คนเชื่อและปฏิบัติตามเช่นว่ามีกฎหมายนั้นจริง

ในภาพยนตร์สารคดีของ Dove นำเสนอคำอธิบายของ วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัย ที่นอกจากเป็นผู้เขียนมากฝีมือแล้ว “พี่แหม่ม” ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจเด็ก วัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ ไว้ว่า “…ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ (จะไว้ผม) ทรงอะไร แต่มันอยู่ที่ ‘ทำไมต้อง’ เพราะชีวิตคือการทดลอง เพราะโดยธรรมชาติ คนเราต้องการที่จะทดลองว่าฉันคือใคร มันคือขั้นตอนหนึ่งของการเติบโต ถ้าคุณยังบังคับให้เขาเป็นเหมือนๆ กัน คุณบังคับได้แต่เปลือกนอก เพราะข้างในของเขาก็ยังมีความหลงใหลใฝ่ฝันของเขา มีชีวิตของเขา มีสิ่งที่เขาอยากเห็นว่าเขาอยากเป็น มันเลยเวลาที่คุณจะทำให้คนเป็นเหมือนกัน คิดเหมือนกัน มีชีวิตแบบเดียวกัน การเข้าใจว่าชีวิตคือการลองถูกลองผิด มันคือการเติบโตของมนุษย์…”

เช่นนี้เรื่องของ “ทรงผม” มันจึงไม่ใช่เพียงการเลือกว่าจะให้เส้นผมบนหัวอยู่ในรูปแบบใด แต่มันคือการแสวงหาและสำแดงอัตลักษณ์แห่งตน … แต่เรื่องนี้กลับเป็นสิ่งที่ระบบการศึกษานั้นไม่ได้คาดหวัง

Advertisement

สอดคล้องกับที่อาจารย์ภิญญพันธุ์แสดงผ่านผลงานของเขาที่ชี้ว่า การบังคับเอาเป็นเอาตายเรื่องเครื่องแบบและทรงผมนี้เป็นการแสดงอำนาจของครูอาจารย์ที่เข้ามาครอบงำริบตัวตนของเด็กนักเรียนเข้าไว้ในโรงงาน เพื่อที่เมื่อผ่านสายพานการผลิตของโรงเรียนไปแล้ว จะได้ “ผลิตภัณฑ์” เป็นพลเมือง
พึงประสงค์ของรัฐผู้เชื่องเชื่อออกมาเหมือนๆ กัน
ดังเช่นการ์ตูนภาพปกของหนังสือเล่มดังกล่าว

มันเป็นการลบอัตลักษณ์ของบุคคลด้วยแบบพิมพ์ของเครื่องแบบ-ทรงผม ให้ความร้อน (ทั้งตรงตามตัวอักษรและการเปรียบเปรย) ด้วยการอบรมหน้าเสาธงละลายให้ละทิ้งตัวตนอ่อนไหลลงในเบ้าหลอม และมีไม้เรียวเพื่อการดัดเก็บผลิตภัณฑ์ที่ยังออกมาบิดเบี้ยวไม่ตรงกับตัวแบบ ซึ่งเป็นมองและจัดการกับนักเรียนโดยไม่เข้าใจถึงหลักการของสิทธิมนุษยชน

การบังคับเรื่องเครื่องแบบ ทรงผม การเข้าแถวหน้าเสาธง และลงโทษด้วยไม้เรียวนั้น อยู่ภายใต้ข้ออ้างของการรักษา “วินัย” ทั้งที่คำว่า “วินัย” ในทางสากลนั้น หมายถึงความสามารถในการควบคุมตัวเองให้ทำ หรือไม่ทำในสิ่งที่ถูกที่ควรหรือที่ตั้งใจ คนที่มีวินัยในความเข้าใจของชาวโลกไม่ใช่เพียงคนที่แต่งเครื่องแบบถูกต้องตามระเบียบมาทำงาน แต่หมายถึงคนที่ออกไปวิ่งวันละ 5 กิโลทุกเช้าไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก หรือคนที่ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ของสำนักงานในการทำงานส่วนตัวไม่ว่าจะมีใครเห็นหรือไม่ก็ตาม

แน่นอนว่าในที่สุดผู้มีวินัยก็จะเคารพในกฎเกณฑ์ของสังคมและหมู่คณะลงไปด้วยในตัว เพราะนิสัยฝึกตนและรักษาความตั้งใจนั้น หากคำว่า “วินัย” ในบริบทแบบไทย กลับกลายเหลือเพียงเฉพาะการบังคับตัวเองให้อยู่จำนนอยู่ภายใต้กฎของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า แถมเป็นการบังคับตัวเองเฉพาะ “ต่อหน้า” ผู้มีอำนาจ หรือเมื่อเชื่อว่าจะไม่ถูกลงโทษด้วย ซึ่งแตกต่างจากวินัยที่มาจากการบังคับตัวเองจากภายใน จึงกลายเป็นเช่นที่อาจารย์ภิญญพันธุ์ชี้ว่า อาชีพที่ถูกควบคุมทั้ง “เครื่องแบบ” และ “เส้นผม” อย่างเข้มงวดที่สุด คือ พระ ตำรวจ และทหาร กลับกลายเป็นอาชีพที่ปรากฏข่าวว่าทำอะไรไม่ถูกไม่ควรมากที่สุด

สำหรับแคมเปญ Let her grow นี้ เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ที่มีการลงทุนสูงทั้งการผลิตและเผยแพร่ จึงพอเล็งเห็นเจตนาได้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องคงพิจารณาแล้วว่า คนส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มลูกค้าและสังคมไทยโดยรวมที่จะเป็นผู้ตัดสินภาพลักษณ์ขององค์กรนั้นมีความคิดความเชื่อและมุมมองเกี่ยวกับทรงผมและเสรีภาพนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ประกอบกับการรณรงค์ในเรื่องนี้ก็ไม่ได้เรียกร้องต่อรัฐให้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกอะไรไปมากกว่าการกระตุ้นเตือนให้มีการบังคับใช้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างถูกต้องจริงจัง

โดยกฎเกณฑ์ที่ว่านี้ได้แก่ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 103 ง วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ลงนามโดย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เอาเข้าจริงแล้ว ระเบียบข้างต้นที่ผ่อนคลายลงก็ไม่ได้มอบอิสระหรือเปิดกว้างอะไรให้แก่นักเรียนมากมายขนาดนั้น เพราะทรงผมแบบใหม่ที่ทางกระทรวงอนุญาต ก็เป็นทรงผมที่โรงเรียนเอกชน หรือโรงเรียนสาธิตต่างๆ รวมถึงโรงเรียนรัฐบางแห่งก็กำหนดไว้สำหรับนักเรียนมาหลายสิบปีก่อนแล้ว คือนักเรียนชายไว้ผมยาวก็ยาวได้ไม่เกินตีนผม หรือเหมือนผมทรงรองทรงต่ำ นักเรียนหญิงก็ไว้ผมยาวได้แต่ก็ต้องรวบผมให้เรียบร้อย และก็ยังคงมีข้อห้ามเรื่องการดัดผมหรือย้อมสีผม

ทั้งที่การผ่อนคลายระเบียบเรื่องทรงผมเพียงเท่านั้นก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน แต่กระนั้นก็ทำให้ครูอาจารย์บางคนรู้สึกยอมไม่ได้และถอยไม่ไปแม้แต่ก้าวเดียว อาจเพราะความรู้สึกว่า “แพ้เด็ก” หรืออำนาจในการควบคุมของพวกเขาเรื่องหนึ่งกำลังสั่นคลอน จึงมีความพยายามตะแบงออกระเบียบเรื่องทรงผมของแต่ละโรงเรียนขึ้นมา โดยไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย

โดยหลักการข้อ 4 แห่งระเบียบดังกล่าว กำหนดไว้ตาม (1) ว่า นักเรียนชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวด้านข้าง ด้านหลังต้องยาวไม่เลยตีนผม ด้านหน้าและกลางศีรษะให้เป็นไปตามความเหมาะสมและมีความเรียบร้อย และ (2) นักเรียนหญิงจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ กรณีไว้ผมยาวให้เป็นไปตามความเหมาะสมและรวบให้เรียบร้อย

แต่โรงเรียนที่ “หัวหมอ” ก็จะอ้างว่ายังมีข้อ 7 แห่งระเบียบเดียวกันที่เขียนให้อำนาจไว้ว่า “ภายใต้บังคับข้อ 4 ให้สถานศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาหรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนวางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้” แล้วตีความไปว่า ระเบียบข้อนี้ให้อำนาจโรงเรียนออกระเบียบทรงผมของโรงเรียนขึ้นมาเองแตกต่างจากระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการก็ได้

การตีความแบบนี้เป็นการใช้กฎหมายที่บิดเบือนเจตนารมณ์และขัดต่อหลักการใช้และตีความกฎหมาย เพราะระเบียบข้อ 7 ดังกล่าวเขียนไว้ตั้งแต่ต้นว่า “ภายใต้บังคับข้อ 4” และปิดท้ายว่า “เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้” นั่นคือ ไม่ว่าโรงเรียนจะไปออกกฎอะไรก็ตาม กฎที่ออกมาก็ต้องไม่ขัดกับหลักเกณฑ์เบื้องต้นในข้อ 4 ที่อนุญาตให้นักเรียนหญิงและชายจะไว้ผมสั้นหรือผมยาวก็ได้ เพราะถ้าระเบียบที่เป็นกฎลำดับรองกำหนดไว้เฉพาะผมสั้นหรือผมยาวอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ก็เท่ากับเป็นการขัดต่อระเบียบแม่บทของกระทรวง ข้อ 4 จึงใช้บังคับไม่ได้

นอกจากนี้ ข้อ 7 วรรคสอง ยังกำหนด “เงื่อนไข” ในการออกระเบียบของโรงเรียนในลักษณะดังกล่าวออกมาด้วยว่า “การดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้ยึดถือหลักความเหมาะสมในการพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีของนักเรียน และการมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น” ดังนั้น ถ้าในการออกกฎดังกล่าว อาจารย์ใหญ่หรือผู้อำนวยการ หรือผู้บริหารโรงเรียนออกระเบียบมาโดยไม่ได้มีการให้นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ก็เท่ากับว่าระเบียบของโรงเรียนออกมาโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

สำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ และประชาสังคม ที่ยังเห็นควรให้ “เสรีภาพ” ในการค้นหาตัวตนและแสดงอัตลักษณ์ของเด็กๆ ของเรา การต่อสู้สำหรับเรื่องสิทธิเสรีเหนือหนังศีรษะเด็กๆ ของเรา จึงต้องยืนยันเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาออกมาประกาศให้ชัดเจนว่า ระเบียบโรงเรียนใดๆ ที่กำหนดเรื่องของทรงผมนักเรียนโดยมีมาตรฐานต่ำกว่าระเบียบกระทรวงข้อ 4 ถือว่าใช้บังคับไม่ได้ และการจงใจออกระเบียบและฝ่าฝืนบังคับตามระเบียบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ให้ถือว่าผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้กระทำการนั้นกระทำผิดวินัย ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ ฯลฯ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน มาตรา 82 (2)

นอกจากนี้ การบังคับตัดผมนักเรียนโดยพลการ โดยเฉพาะมีเจตนาให้อับอายหรือเป็นการประจาน ผู้กระทำจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งทางอาญา ปกครอง และในทางวินัยอย่างถึงที่สุด

สำหรับผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการเอง หากไม่รู้จะทำอะไรให้เป็นการเรียกคะแนนนิยมของตัวเองขึ้นมา จะลองยกเรื่องนี้ขึ้นมาทำให้ชัดเจนจริงจัง ก็น่าจะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีและได้รับการยอมรับ และมันก็ไม่ใช่การทำอะไรผิดแผกหรือล้ำเส้นเลย เพราะมันก็คือการ “บังคับใช้กฎหมาย” ที่ตัวเองเป็นผู้ออกมาเองนั่นแหละ

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image