คลองระพีพัฒน์ ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือ? : โดย ศ.เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์

คลองระพีพัฒน์เป็นคลองส่งน้ำสายใหญ่ของโครงการชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ซึ่งมีขอบเขตตั้งแต่แม่น้ำป่าสักไปจนจรดชายฝั่งทะเลในเขตจังหวัดสมุทรปราการ เป็นคลองส่งน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ (Gravity) โดยปากคลองอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำป่าสัก (หันหน้าตามน้ำ) เหนือเขื่อนพระรามหก ในเขตอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ความจุปากคลองที่ออกแบบไว้เท่ากับ 150 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยใช้เขื่อนพระรามหกผันน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์

ต่อมาเมื่อเขื่อนเจ้าพระยาก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถผันน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสักแล้วระบายน้ำผ่านประตูระบายเริงรางลงสู่แม่น้ำป่าสักเหนือเขื่อนพระรามหก แล้วจึงใช้เขื่อนพระรามหกผันน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ โดยเฉพาะเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้ง ในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างได้ตามแนวคลองระพีพัฒน์ เมื่อเลยหินกองไปเล็กน้อย (ความยาวประมาณ กม.32) คลองระพีพัฒน์ได้แยกออกเป็น 2 สาย คือคลองระพีพัฒน์แยกตก และคลองระพีพัฒน์แยกใต้ โดยมีความจุปากคลองที่ออกแบบไว้เท่ากับ 70 ลบ.ม.ต่อวินาทีทั้ง 2 สาย

แนวคลองระพีพัฒน์แยกตกผ่านมาทางประตูระบายน้ำพระอินทราชาซึ่งประตูระบายน้ำนี้ก็เป็นอาคารควบคุมน้ำในคลองระพีพัฒน์แยกตก และมีคลองซอยซึ่งขุดเกือบตั้งฉากกับคลองระพีพัฒน์แยกตกหลายสายเพื่อส่งน้ำที่รับมาจากคลองระพีพัฒน์แยกตกให้พื้นที่เพาะปลูกลงมาจนจรดคลองรังสิต

ส่วนคลองระพีพัฒน์แยกใต้ก่อนถึงคลองรังสิตบนฝั่งซ้าย (หันหน้าตามน้ำ) มีคลอง 2อ ซึ่งระบายน้ำลงคลองรังสิต (ผ่านคลอง 14) ได้ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที และเมื่อคลองระพีพัฒน์แยกใต้ตัดกับคลองรังสิตได้ออกแบบเป็นไซฟอนลอดใต้คลองรังสิตความจุประมาณ 45 ลบ.ม.ต่อวินาที

Advertisement

ตั้งแต่คลองรังสิตเป็นต้นไป คลองระพีพัฒน์แยกใต้เปลี่ยนชื่อเป็นคลอง 13 ซึ่งส่งน้ำให้คลองหกวาสายล่างและคลองแสนแสบ ระยะทางจากคลองรังสิตถึงคลองหกวาสายล่างคลอง 13 มีความยาวประมาณ 13 กม. เมื่อคลอง 13 ตัดคลองหกวาสายล่างได้ออกแบบเป็นไซฟอนลอดใต้คลองหกวาสายล่าง และที่จุดตัดนี้สามารถระบายน้ำลงคลองหกวาสายล่างได้ด้วย จากคลองหกวาสายล่างจนถึงคลองแสนแสบ คลอง 13 มีความยาวประมาณ 12.50 กม. และปริมาณน้ำที่สามารถระบายลงคลองแสนแสบสูงสุดประมาณ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที ปริมาณน้ำส่วนนี้สามารถระบายลงสู่คลองพระองค์ไชยานุชิต ซึ่งสามารถระบายออกสู่ทะเลในเขต จ.สมุทรปราการได้

กล่าวโดยสรุป คลองระพีพัฒน์ตั้งแต่ปากคลองจนถึงปลายคลองที่คลองแสนแสบมีความยาวประมาณ 80 กม.เศษ ความจุที่ปากคลอง 150 ลบ.ม.ต่อวินาที ปริมาณน้ำที่สามารถระบายออกที่ปลายคลองลงสู่คลองแสนแสบ ซึ่งสามารถระบายน้ำต่อไปยังคลองพระองค์ไชยานุชิต ซึ่งสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้มีเพียง 20 ลบ.ม.ต่อวินาทีเท่านั้น

จึงสามารถสรุปได้ว่าคลองระพีพัฒน์เป็นคลองส่งน้ำซึ่งต้นคลองมีขนาดใหญ่และปลายคลองมีขนาดเล็ก จึงไม่สามารถใช้ระบายน้ำเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมได้ (ส่วนคลองระบายน้ำในระบบชลประทานที่ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ (Gravity) ต้นคลองมีขนาดเล็กและปลายคลองมีขนาดใหญ่)

Advertisement

ข้อมูลที่ใช้เขียนบทความนี้มาจากรายงานการปรับปรุงคลองระพีพัฒน์แยกใต้ (ตอนล่าง) และคลอง 13 ในเดือนธันวาคม 2524 ของผู้เขียน ซึ่งศึกษาเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้งบนพื้นที่สองฝั่งของคลองพระองค์ไชยานุชิต ซึ่งในการเพาะปลูกฤดูแล้งปี พ.ศ.2522 มีพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายประมาณ 50,000 ไร่ ในปัจจุบันถ้าสภาพคลองระพีพัฒน์ยังเป็นเช่นปี พ.ศ.2524

เสนอแนะให้ระบายน้ำอุทกภัยเข้าคลองระพีพัฒน์ประมาณ 50 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อระบายน้ำลงสู่คลองแสนแสบให้ได้มากที่สุด ส่วนที่เหลือให้ระบายน้ำลงคลองหกวาสายล่าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image