ฉากทัศน์อนาคตประเทศไทย พุทธศักราช 2585

ช่วงเวลานี้นับว่าเป็นช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทยทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ดูเหมือนจะคลี่คลายลงไปแล้ว แต่ก็มาถูกซ้ำเติมด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนการผลิตของประเทศสูงขึ้น และโอกาสที่จะเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวก็ลดลง โดยเฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวรัสเซีย ยูเครน และยุโรป อย่างไรก็ดี เราต่างก็หวังว่า สงครามคงจะไม่ยืดเยื้อ แต่ถึงเวลาที่เราจะต้องมองดูว่าจะตั้งหลักใหม่แล้วเดินไปข้างหน้าอย่างไร

แผนงานคนไทย 4.0 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดทำฉากทัศน์ประเทศไทย พุทธศักราช 2585 ไว้ 4 ฉากทัศน์ด้วยกัน แต่ก่อนอื่นจะต้องมาพิจารณาการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองเพื่อปูพื้นผู้อ่านก่อนที่จะไปถึงเรื่องฉากทัศน์ทั้ง 4

ในทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความถดถอยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นลำดับ ดูได้จากขนาดของเศรษฐกิจ อัตราความเจริญเติบโต และลำดับที่ของไทยในโลก ในด้านการศึกษา ความสุข และคอร์รัปชั่น ซึ่งมีลำดับที่ถดถอยตามลำดับ และมีหน่วยงานต่างประเทศคาดคะเนว่าภายใน 30 ปีข้างหน้า ขนาดเศรษฐกิจของไทยจะเล็กกว่าฟิลิปปินส์และเวียดนาม ทั้งนี้ ก็เพราะว่าโครงสร้างประชากรของเราค่อนข้างเสียเปรียบประเทศอื่นเพราะมีผู้สูงวัยมาก

ที่มา – มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด อภิวัฒน์ รัตนวราหะ และจักรี เตจ๊ะวารี. 2565. อนาคตประเทศไทย พุทธศักราช2585 เชียงใหม่ : มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

ภาคเกษตรของไทยซึ่งเคยเป็นเสาหลักของประเทศเริ่มอ่อนแอลง ไทยสูญเสียตำแหน่งแชมป์โลกในการแข่งขันในสินค้าหลักเช่น ข้าวและกุ้ง ความได้เปรียบในการแข่งขันในสินค้าเกษตรลดลง ชนบทต้องอาศัยเงินโอนจากภาคเมือง ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทยถึงแม้จะโชติช่วง แต่ก็ไม่ชัชวาลพอที่จะเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้เติบโตไปด้วย ธุรกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ประสบความสำเร็จเป็นอุตสาหกรรมที่มีอำนาจเหนือตลาดสูง หรือเป็นอุตสาหกรรมที่ได้สัมปทานจากรัฐ ในขณะที่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมเติบโตอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ส่วนภาคท่องเที่ยวที่เคยเติบโตอย่างรวดเร็วหลังวิกฤตต้มยำกุ้งและกลายมาเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจใหม่ก็เป็นภาคที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 2 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้นอุตสาหกรรมไทยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของนวัตกรรมและความรู้เช่นเดียวกับภาคการผลิตในประเทศพัฒนาแล้ว

Advertisement

ปัจจัยขับเคลื่อนภายในประเทศที่สำคัญมีหลายประการด้วยกัน เช่น สังคมสูงวัย หนี้สิน การออมต่ำ ความเหลื่อมล้ำสูงทั้งในด้านรายได้และทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดิน การเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การเข้าถึงสวัสดิการและทรัพยากรของรัฐ การเข้าถึงระบบการศึกษาและระบบดิจิทัล และในอนาคตความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งสูงขึ้นจากความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลและความเหลื่อมล้ำจากการคลายตัวของเครือข่ายของครอบครัว ชุมชน และชาติพันธุ์ เนื่องจากการย้ายถิ่นและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งแนวโน้มการกระจายอำนาจของประเทศไทยเป็นการกระจายอำนาจแบบยูเทิร์นและมีการควบรวมเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้น จะทำให้ความเสี่ยงของระบบมีมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นระบบประชาธิปไตยของไทยก็เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบขึ้นเขาวงกต เป็นหนทางที่คดเคี้ยวและยากลำบากซ้ำเติมด้วยความไม่ลงรอยกันระหว่างรุ่น โดยที่ผู้มีอำนาจมักเป็นคนรุ่นเก่าและยึดถือเอาคุณธรรมและจารีตแบบดั้งเดิม ในขณะที่คนรุ่นใหม่สมาทานคุณธรรมสากล เช่น เสรีภาพ ความเสมอภาค

สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีพลิกผันซึ่งทำให้เกิดการบรรจบกันของอุตสาหกรรมที่อาจทำให้อุตสาหกรรมบางชนิดสูญหายไป หรือเกิดการหลอมรวมกันระหว่างอุตสาหกรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมประเภทใหม่ๆ ซึ่งต้องการทักษะที่เปลี่ยนไปและประเทศไทยยังไม่มีและการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะทำให้ทุนใหญ่มีโอกาสได้เปรียบทุนเล็ก เทคโนโลยียุคใหม่จะทำให้ความมั่งคั่งในโลกของความเป็นจริงย้ายไปอยู่ที่โลกเสมือนส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งทำให้โลกแบ่งออกเป็นสองขั้ว โดยมีจีนและสหรัฐเป็นผู้นำ ทำให้ประเทศขนาดกลางอย่างประเทศไทยต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติและยังต้องรักษามิตรภาพของทั้งสองประเทศ ในขณะเดียวกันก็ต้องตระหนักว่าการแบ่งขั้วครั้งนี้ไม่ใช่เป็นขั้วการค้า การลงทุน และความมั่นคงอย่างเดิมๆ เท่านั้น แต่ในอนาคตอาจจะมีผลไปถึงการแบ่งขั้วด้านเทคโนโลยีและมาตรฐานด้านเทคโนโลยีอีกด้วย และที่คาดว่าจะมีผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้ระดับความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของนานาประเทศทั้งโลกแปรเปลี่ยนไปและมีความไม่แน่นอนมากขึ้น

สำหรับฉากทัศน์ในอนาคตของประเทศไทยมีอยู่ 4 ฉากทัศน์คือ (1) กิ้งกือในเขาวงกต คือภาพอนาคตของประเทศไทยที่ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและหมุนเวียนได้ ในขณะที่โครงสร้างอำนาจเหนือทรัพยากรก็ยังคงกระจุกตัวเช่นเดิม (2) ปลาไหลพ้นโคลนตม คือภาพอนาคตที่ประเทศไทยมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างเต็มที่ แต่ยังไม่ไปถึงการสร้างเครือข่ายที่นำไปสู่การปรับผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวและหมุนเวียน (3) ไก่ออร์แกนิคในเล้าไฮเทค คือภาพอนาคตที่ประเทศไทยสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและการบริโภคให้มีความยั่งยืนมากขึ้นได้ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชน แต่โครงสร้างอำนาจเหนือทรัพยากรยังคงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มทุนและชนชั้นนำ และ (4) พิราบไร้พรมแดน คือภาพอนาคตที่พึงประสงค์สำหรับประเทศไทย เมื่อระบบการบริโภคและการผลิตสามารถปรับเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวและหมุนเวียนได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งอำนาจเหนือทรัพยากรก็กระจายสู่ชุมชนและประชาชนอย่างแท้จริง ครั้งต่อไปจะลองมาพิจารณาเส้นทางสู่อนาคตนะคะ

Advertisement

สำหรับท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ “อนาคตประเทศไทย พุทธศักราช 2585”
ได้ที่ : https://www.khonthai4-0.net/content_detail.php?id=310

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image