ฟื้นฟู‘ฮิโรชิมา’…แบบปาฏิหาริย์

ชาวญี่ปุ่น…มีพลังสมอง-สองมือ สร้างเมือง ฮิโรชิมา ที่โดนระเบิดปรมาณูเมื่อ 6 สิงหาคม 2488 ขึ้นมาใหม่ จากกองขี้เถ้า…

ดร.ฮาโรลด์ จาคอบเซ่น นักวิทยาศาสตร์จากโครงการแมนฮัตตัน (ที่ร่วมคิดประดิษฐ์ระเบิดปรมาณูในอเมริกา) กล่าวไว้ ก่อนทิ้งระเบิดปรมาณูว่า…

“…ฮิโรชิมา…จะเป็นดินแดนรกร้างที่ถูกเผาไหม้ จะไม่มีอะไรเติบโต หรือมีชีวิตอยู่ในเมืองนี้เป็นเวลา 70 ปี…”

นักวิทยาศาสตร์คนนี้…คะเนพลาดไปซะแล้ว…

Advertisement

6 สิงหาคม 2488 …อเมริกานำระเบิดปรมาณู “ลูกแรกของโลก” ไปทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมา…อเมริการอฟังญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้…

เงียบ คือ คำตอบ

9 สิงหาคม 2488 อเมริกา นำระเบิดปรมาณูลูกที่ 2 ไปทิ้งใส่เมืองนางาซากิ (จะไม่ขอกล่าวถึงในบทนี้)

Advertisement

15 สิงหาคม 2488 พระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงยืนยันการยอมจำนนของกองทัพญี่ปุ่น…ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง

วันนั้น ก็มีหน่วยทหารญี่ปุ่นอยู่ในประเทศไทยมหาศาล

ญี่ปุ่น คือ ประเทศเดียวในโลกที่โดนปรมาณูถล่ม หลังจากนั้นมา ประเทศมหาอำนาจแก่งแย่งชิงกันค้นคิด “ระเบิดปรมาณูล้างโลก” เพื่อป้องกันตนเอง
และเพื่อข่มขู่ชาวโลก

ปัจจุบันคาดว่า ประเทศที่ครอบครองแบบเปิดเผย คือ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีเหนือ

ส่วนที่ไม่เปิดเผย คาดว่า คือ อิสราเอล หลายชาติกำลังหาทางผลิต ทดลองแบบซุ่มซ่อน

เกิดอะไรขึ้นในเมืองฮิโรชิมา (ข้อมูลบางส่วนจาก The Guardian 18 เม.ย. 2559)

เมื่อเวลา 08.15 น. วันที่ 6 สิงหาคม 2488 เครื่องบินทิ้งระเบิดกองทัพอากาศสหรัฐ B-29 superfortress ผลิตโดยบริษัทโบอิ้ง (Boeing) ตั้งชื่อเครื่องบินลำนี้ว่า Enola Gay บินไปปล่อยลูกปรมาณูชื่อ Little Boy ขนาด 16 กิโลตัน แหวกอากาศลงสู่พื้นเมืองฮิโรชิมา แล้วรีบเร่งเครื่องยนต์ทะยานบินหนีออกไป

ฝูงบินมฤตยูทำหน้าที่ “เพชฌฆาต” จำนวน 4 เครื่อง คือ เครื่องบิน “อีโนลา เกย์” ทิ้งระเบิดปรมาณู ตามด้วย เครื่องสำรอง เครื่องตามถ่ายภาพ และเครื่องบินที่ติดตั้งเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจากพลังทำลายล้างของระเบิดปรมาณู

การทิ้งระเบิดเช้าวันนั้น จะต้องกระทำด้วยสายตาของนักบิน ไม่ใช่ด้วยเรดาร์ ฮิโรชิมา คือเป้าหมายที่ประชุมตกลงกันไว้แล้ว

ราว 15 วินาทีต่อมา ปรมาณูลูกแรกของโลก ระเบิดขึ้นในท้องฟ้า เหนือโรงพยาบาลชิมะ ระยะสูงจากพื้นราว 600 เมตร เสียงดังกัมปนาทก้องฟ้าราวฟ้าผ่าทลายโลกแตก เกิดคลื่นความร้อนที่ระดับ 3,000-4,000 องศาเซลเซียส ลมร้อนจากนรกที่มีแรงกระชากฉีกถึง 440 เมตร/วินาที สาดออกไปทั่วเมือง

(ระเบิดปรมาณูลิตเติ้ลบอย ถูกตั้งชนวนให้ระเบิดที่ความสูงประมาณ 600 เมตร เหนือพื้นดิน)

อาคารเกือบทุกหลังภายในรัศมี 2 กิโลเมตร หายวับ ถูกไฟไหม้ ประมาณ 90% ของอาคาร บ้านเรือนราว 76,000 หน่วยในเมืองถูกเผาบางส่วนหรือทั้งหมด กลายเป็นซากปรักหักพัง

เหล็กที่ใช้ทำคานสะพานข้ามแม่น้ำ ถึงกับ “ละลาย”

เมืองที่หนาแน่น กลายเป็นพื้นที่โล่ง แม่น้ำในเมืองเต็มไปด้วยซากศพของผู้คนที่แสวงหาน้ำแช่ตัวก่อนที่พวกเขาจะตายจากความร้อน

ลูกระเบิดลิตเติ้ลบอย มีความยาว 12 ฟุต มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 28 นิ้ว หนักถึง 4,400 กิโลกรัม ใหญ่กว่าระเบิดทุกลูกที่ลูกเรือและกัปตันเคยเห็นมาในสงคราม แรงระเบิดเท่ากับ TNT 20,000 ตัน

การระเบิดครั้งนั้น ทำให้ชาวฮิโรชิมาเสียชีวิตทันทีราว 80,000 คนจาก 420,000 คน ทยอยเสียชีวิตยาวไปถึงสิ้นปี ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 141,000 ราย เนื่องจากการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการได้รับกัมมันตรังสีในเวลาต่อมา

พระเจ้าที่ไหนก็ไม่กล้ามาช่วย ชาวญี่ปุ่นต้องดูแลกันเอง

เวลานั้น…กองทัพญี่ปุ่นไปก่อสงครามกับอเมริกา และประเทศต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก

ชาวญี่ปุ่น คือ นักสู้ผู้พิชิตมานับพันปี

ความเห็นอกเห็นใจ ระเบียบวินัย ไม่เอาเปรียบ แบ่งปันและอดทน คือพลังในการอยู่รอด

ชาวญี่ปุ่นจัดลำดับการทำงานแบบเท่าที่ทำได้ เริ่มจัดหาน้ำ สร้างที่เก็บกักน้ำ ค้นหาผู้รอดชีวิต

คิดเอง ทำเอง คนที่รอดชีวิต และคนต่างเมืองทยอยเข้ามาช่วย ซากศพถูกนำไปจัดการ มีการสร้างที่พักให้เด็กๆ ท่ามกลางสภาพอากาศที่ขมุกขมัว ฝนตกเป็นระยะๆ

นี่ คือ นรกบนดิน ชื่อ ฮิโรชิมา

ปกติ…ชาวญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติอย่างรุนแรงมาเกือบตลอดชีวิต แผ่นดินไหว พายุ ฯลฯ

อาสาสมัครจำนวนมากทยอยกันเข้ามา ชาวเมืองฮิโรชิมาได้รับความช่วยเหลือมากมายจากผู้คนในเมืองใกล้เคียง เช่น ฟุชู คุเระ และแม้แต่จากเมืองยามากูจิ
ชาวญี่ปุ่น ช่วยเหลือเจือจุนกันเอง เป็นหลัก

(เจ้าหน้าที่ของรัฐ ลืมไปได้เลย เครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ แทบมลายหายไปสิ้น และอีก 3 วันต่อมา คือ 9 สิงหาคม 2488 ระเบิดปรมาณูเชื้อเพลิงพลูโตเนียม-239 ไปถล่มที่เมืองนางาซากิ ตายไปอีกราว 8 หมื่นคน)

17 กันยายน 2488 ภัยธรรมชาติ…ได้เพิ่มความทุกข์ยากในเมืองมาคุราซากิ เกิด “พายุไต้ฝุ่น” กระหน่ำลงมา น้ำท่วมพื้นที่ขนาดใหญ่ และทำลายโรงพยาบาลชั่วคราวหลายแห่งที่ตั้งขึ้น

แต่ก็พอจะมี “ข้อดี” บ้าง คือ ไต้ฝุ่นชำระล้างกัมมันตรังสีที่ตกค้างจำนวนมากลงทะเลไป ระดับกัมมันตรังสีลดลงอย่างมาก

สภาพนรกภูมิในฮิโรชิมาเมื่อโดนระเบิด…โรงพยาบาล 14 แห่งจากโรงพยาบาลใหญ่ 16 แห่งของฮิโรชิมากลายเป็นซาก แพทย์ในโรงพยาบาล 270 คน จาก 298 คน เสียชีวิต พร้อมด้วยพยาบาล 1,654 คน จาก 1,780 คน

กองทัพของสหรัฐ…ไม่มีใครกล้าเข้าไปในพื้นที่ฮิโรชิมา เพราะกลัวกัมมันตภาพรังสีจากนิวเคลียร์

ซากเถ้าถ่าน เริ่มกลายเป็น “สลัม” นับ 10,000 หลัง มีการใช้ห้องสุขาร่วมกันระหว่างหลายครัวเรือน

กล่าวได้ว่า…การฟื้นฟูในช่วงแรกๆ ในฮิโรชิมาส่วนใหญ่กระทำโดยประชาชน เอกชนที่ดำเนินการตามความคิดริเริ่มของตนเอง

กำลังทหารสหรัฐมาถึงเมืองฮิโรชิมาในปี 2489 ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมือง “ทาคุเระ” ที่อยู่ใกล้เคียง

กองกำลังยึดครอง ที่นำโดยสหรัฐเริ่มอำนวยความสะดวกในการฟื้นฟูในเรื่องของอาหาร และการบริการสาธารณะ

สหรัฐขยับเข้ามาตั้งฐานทัพใกล้ปราสาทฮิโรชิมา

ชาวเมืองหารือกัน หาทางสร้างเมืองขึ้นมาใหม่

รัฐบาลกลางในโตเกียว ยอมรับสถานะการปกครองพิเศษของเมืองฮิโรชิมา (ปกครองตนเอง) โดยผ่าน “กฎหมายการก่อสร้างเมืองแห่งความทรงจำสันติภาพ”

6 สิงหาคม 2492 คือ ขั้นตอนสำคัญในการฟื้นฟูเมืองเกิดขึ้น โดยการตรากฎหมายการก่อสร้างเมือง อนุสรณ์สถานสันติภาพฮิโรชิมา กฎหมายฉบับนี้เป็นผลจากความพยายามอย่างไม่ลดละของชาวท้องถิ่น โดยเฉพาะนายกเทศมนตรีชินโซ ฮามาอิ

ในเทศกาลสันติภาพครั้งแรกของฮิโรชิมาในปี 2490 เขาประกาศว่า “ให้เราร่วมมือกันกวาดล้างความสยดสยองของสงครามจากโลกนี้ และสร้างสันติภาพที่แท้จริง”

กฎหมายการก่อสร้างปี 2492 ไม่ได้คิดเพียงแค่การสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ ฮิโรชิมา จะเป็นเมืองในจินตนาการใหม่

จะเป็นเมืองแห่งสันติภาพ “เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแสวงหาสันติภาพที่แท้จริงและยั่งยืนอย่างจริงใจ”

ชาวเมือง โดยนักการเมืองท้องถิ่น ระดมเงิน หาแหล่งเงินทุน “ทรัพย์สินที่ดิน” ที่ถูกครอบครองโดยรัฐ ถูกนำมาพัฒนา สภาเมือง ฮิโรชิมาอนุมัติให้ออกแบบเมืองใหม่โดยสถาปนิก

รัฐบาลกลางในโตเกียว ยินยอมมอบที่ดินของรัฐและของหน่วยทหารให้เมืองฮิโรชิมานำมาใช้ประโยชน์

กฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูบูรณะเมือง ถูกบัญญัติขึ้นใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินและขจัดอุปสรรคทางการเงินที่ชะลอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

เมืองฮิโรชิมา “จากกองขี้เถ้า” …เริ่มผงกหัวขึ้นมาจากมันสมองและน้ำพักน้ำแรงของชาวเมืองอย่าง “สวย-สง่างาม” โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวของสวนสาธารณะและผังเมือง

ราว 10 ปีต่อมา เศรษฐกิจ สาธารณูปโภคของเมืองพลิกฟื้น
มีความขัดแย้งทางความคิดเกิดขึ้นนิดหน่อย …ชาวเมืองที่ “รอดตาย” ต้องการจะเก็บอาคารบางส่วนที่พังทลาย “ไว้เป็นอนุสรณ์” ความทรงจำ ที่แสนเจ็บปวด

แต่ทว่า…ชาวเมืองอีกส่วน 1 ต้องการ “สร้างเมืองขึ้นมาใหม่” ทำลายซากเมืองทิ้งให้หมด ต้องการเมืองแบบทันสมัย ไม่ต้องการเห็นหายนะของความชั่วร้าย

หากแต่กฎหมายของเมืองมาตรา 1 กำหนดว่า “ฮิโรชิมาเป็นเมืองแห่งสันติภาพ ที่แสดงถึงความคิดของมนุษย์เกี่ยวกับการแสวงหาความจริงและความจริงใจอย่างจริงใจ สันติสุขถาวร”

แปลว่า…ต้องผสมผสานแบบเมืองทั้ง “เก่าและใหม่”

การประชุมของสภาเมืองนี้ เห็นว่าควรรักษาซากอาคารส่งเสริมอุตสาหกรรมประจำจังหวัดฮิโรชิมา ซึ่งรู้จักกันดีในสมัยนี้ในชื่อ “โดมปรมาณู” (ตามภาพ)

“อาคารรูปโดม” ในเวลานั้น คือหอส่งเสริมอุตสาหกรรมประจำจังหวัดฮิโรชิมา ที่สร้างขึ้นในปี 2458 (ตรงกับต้นรัชสมัยในหลวง ร.6) ซึ่งใช้สำหรับการวิจัย และให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ เป็นหนึ่งในอาคารไม่กี่หลังที่เหลืออยู่หลังเหตุระเบิด

“นักวางผังเมือง” ต้องเผชิญกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

คิดหาวิธีการออกแบบ รวมเนื้อหาประวัติศาสตร์อันน่าเศร้าของฮิโรชิมาผสมไปกับ “การเกิดเมืองใหม่” หลังสงคราม

เคนจิ ชิงะ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานฮิโรชิมากล่าวว่า … “เจ้าหน้าที่บางคนชอบที่จะลบทุกร่องรอยที่เหลืออยู่ของโศกนาฏกรรม ในขณะที่คนอื่นๆ ยืนกรานที่จะรักษาหลักฐานของพลังทำลายล้างของระเบิดปรมาณู…”

เมืองนี้ลุกขึ้นจากเถ้าถ่านเพื่อสร้างยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของตัวเอง

มีการออกแบบถนน สวนสาธารณะ และแนวถนนริมฝั่งแม่น้ำ

เริ่มต้นด้วยการบังคับรื้อถอนอาคารที่ผิดกฎหมาย

เน้นการสร้างพื้นที่สำหรับสวนสาธารณะ ผู้อยู่อาศัยถูกบังคับให้ย้ายไปอยู่ที่อื่น เมืองถูกออกแบบใหม่ สวยงาม เป็นระเบียบ น่าอยู่

ในปี 2539 ฮิโรชิมากลายเป็นเมืองมรดกโลกของยูเนสโก

ฮิโรชิมาได้ฟื้นคืนสู่ศูนย์กลางการผลิตที่พลุกพล่านด้วยจำนวนประชากร 1.1 ล้านคน และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในปี 2559 นายบารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่เดินทางไปฮิโรชิมา วางพวงหรีดระหว่างพิธีที่สวนอนุสรณ์สันติภาพกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ และทักทายผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูเมื่อปี 2488

ในวันที่ 6 สิงหาคมของทุกปี ฮิโรชิมาจะจัดพิธีในสวนอนุสรณ์สันติภาพ นายกเทศมนตรีจะกล่าวยืนยันประกาศสันติภาพ

ระเบิดปรมาณูล้างโลก ยังมีอานุภาพน้อยกว่า “พลัง” ของชาวญี่ปุ่น ที่สร้างสังคม สร้างเมืองขึ้นมาใหม่ สวยงาม สะอาด เป็นระเบียบ

เมืองฮิโรชิมา ก้าวหน้า ทันสมัย น่าอยู่ ไม่น้อยหน้าใครในโลก

นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาด้วยความรู้สึกหลากหลาย แต่ที่แน่ๆ คือ เมืองสวยงาม สะอาด ตามมาตรฐานชาวญี่ปุ่น

จากกองขี้เถ้า ยังเนรมิตขึ้นมาเป็นเมืองใหม่ได้…

เก่งจริงๆ …

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image