พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : เมืองกับการคอร์รัปชั่น

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจในการรณรงค์เลือกตั้งท้องถิ่นของ กทม.ในรอบนี้ คือเรื่องของการคอร์รัปชั่น ซึ่งมีการพูดกันและจัดกันหลายเวที ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีการยอมรับและพูดกันโดยเปิดเผย แม้ว่าโดยข้อมูลในระดับโลกประเทศไทยอาจจะไม่ได้ถูกกล่าวถึงนัก

ซึ่งอาจไม่ได้หมายความว่าไม่มี แต่อาจจะหมายความว่าไม่เจอ หรือไม่ได้พูดกันเท่านั้นเอง

คำว่าการคอร์รัปชั่นนั้นแม้จะใช้ทับศัพท์ แต่ก็เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป ว่ามีความหมายเกี่ยวข้องกับเรื่องราวหลายเรื่อง

ไล่ตั้งแต่ความเข้าใจทางสังคม ตามที่ระบุไว้ในความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่หมายถึง “การประพฤติชั่ว คดโกง ไม่ซื่อตรง”

Advertisement

มาถึงในมิติของกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ชี้ว่า คำว่า “โดยทุจริต” หมายถึง “เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง หรือผู้อื่น”

และในความหมายของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ให้ความหมายของคำว่า “ทุจริตต่อหน้าที่” ว่าการปฏิบัติหรือยกเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งเหนือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น

ลองมาดูชนิดของการคอร์รัปชั่นในองค์กรปกครองท้องถิ่นในภาพรวม ตามที่ wikipedia ได้กำหนดไว้ (Corruption in Local Government) โดยแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ห้าประเด็น

1.การติดสินบน (bribery) อาจเป็นเรื่องเงิน สินค้า หรือบริการ เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งในแง่ความเห็น การตัดสินใจ การจ่ายค่าธรรมเนียมที่น้อยลง การได้รับประโยชน์จากรัฐบาลมากขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงผลของกระบวนการทางกฎหมาย

2.การรีดไถ (extortion) หมายถึง การข่มขู่ว่าจะทำอันตรายแก่ผู้อื่น ทั้งในแง่ตัวคน ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ รวมไปถึงการแบล๊กเมล์

3.การยักยอก ฉ้อโกง (embezzlement) คือการเอาทรัพย์สินของคนอื่นมาเป็นของตน รวมไปถึงเรื่องของการใช้เงินของส่วนรวมเพื่อเป้าประสงค์ของตัวเอง

4.การเล่นพรรคเล่นพวก (nepotism) แลยังรวมถึงการช่วยเหลือให้ความเคารพกับคนบางกลุ่มทั้งที่พวกเขาไม่มีความสามารถเพียงพอในตำแหน่งเหล่านั้นด้วย

5.ระบบอุปถัมภ์ (patronage system) มักจะไปถึงระดับของการได้ผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นการแลกเปลี่ยน

ในเรื่องแนวโน้มของการคอร์รัปชั่นในเมือง มีการกล่าวถึงไว้ในเอกสารขององค์กรส่งเสริมการพัฒนาของเยอรมนี (GIZ. Trends in Urban Corruption….and how they shape urban spaces.) โดยแบ่งออกเป็นสองเรื่องใหญ่ คือ คอร์รัปชั่นในเรื่องการพัฒนาเมือง (corruption in urban planning and construction) และการฟอกเงิน (money laundering)

ในส่วนของการคอร์รัปชั่นในการพัฒนาเมืองนั้น เราพบว่า การเติบโตของเมืองทำให้เกิดความต้องการการให้บริการสาธารณะของเมืองที่เพียงพอและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขนส่งสาธารณะ การจัดการของเสีย พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน บริการต่างๆ ที่เข้าถึงได้ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สวนสาธารณะ และพื้นที่โล่ง ดังนั้น นักวางแผนและวางผังเมืองก็จะต้องเจอกับปัญหาทางเทคนิคและปัญหาทางการเมือง ในการกำหนดทิศทางในเรื่องของการพัฒนาเมืองในเรื่องราวเหล่านั้น

ตัวอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในการพัฒนาเมือง ก็คือโครงการเมืองแห่งความซื่อตรง (cities of integrity) ซึ่งทำวิจัยและรณรงค์การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในการพัฒนาเมืองในแอฟริกา แต่โครงการนี้ไม่ได้เน้นการใช้ตัวชี้วัดคอร์รัปชั่น แต่สนใจการส่งเสริมความซื่อตรงของสาขาอาชีพ ในที่นี้คือ อาชีพการวางผังและแผนพัฒนาเมือง โดยจัดการอบรม และศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการทุจริตในการพัฒนาเมือง และส่งเสริมความเป็นมืออาชีพในการเผชิญกับปัญหาดังกล่าวของนักวางผังและแผนพัฒนาเมือง

ในอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญของการทุจริต คอร์รัปชั่นในเมืองก็คือเรื่องของการฟอกเงินโดยเฉพาะกับโครงการใหญ่ๆ ที่มีการซื้อขายที่ดิน เพราะเรื่องพวกนี้จะไม่ค่อยมีการจัดเก็บอย่างเป็นการฟอกเงินเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาที่ดินและบ้านราคาแพงขึ้น และทำให้การเข้าถึงการถือครองบ้าน หรือแม้กระทั่งการอยู่อาศัยทำได้ยากขึ้น และทำให้เมืองศูนย์เสียรายได้เพราะจัดเก็บภาษีไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ตัวอย่างที่สำคัญคือโครงการ Berlin: Who owns the city? ซึ่งเป็นการรณรงค์ด้วยระบบมัลติมีเดียที่ส่งเสริมให้เกิดการพยายามสร้างระบบการพักอาศัยแบบใหม่ ที่ค่อยๆ ซื้อที่ดินมาเป็นพื้นที่ส่วนรวมในการพักอาศัยและทำให้คนที่เสี่ยงจากการไร้บ้าน หรือถูกเบียดขับจากตลาดบ้านนั้นมีโอกาสมีที่พักในเมือง และเป็นการทำให้ระบบที่พักอาศัยนั้นเข้าถึงได้และเป็นธรรม

อีกแนวโน้มที่เกิดขึ้นในเมืองก็คือการที่ชนชั้นนำในระบบการบริหารเมืองและการเมืองเข้ามีบทบาทในการบริหารเมือง และใช้อำนาจในการปกครองเมืองไล่รื้อพื้นที่ของคนยากคนจน และทำให้การไล่รื้อที่พักอาศัยคนจนนั้นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยการยึดที่ดิน หรือเวนคืนที่ดิน

สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นก็คือว่า การคอร์รัปชั่นในเมืองนั้นไม่ได้มีแต่เรื่องของกิจกรรม แต่ยังหมายถึงผลที่การทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นกระทำต่อผู้คนในเมืองนั้นด้วย ในเอกสารของ Anti-Corruption Resource Centre (Corruption an the City) ชี้ให้เห็นผลกระทบสี่ประการที่สำคัญของการคอร์รัปชั่นในเมือง ได้แก่

1.ทำให้ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเพิ่มมากขึ้น ความไม่เป็นธรรมเพิ่มมากขึ้น การผนึกรวมเอาผู้คนมาร่วมมือกันทางการเมืองเป็นไปได้น้อยลง ตัวอย่างที่รับทราบกันทั่วโลกคือการที่เมืองไคโร ประเทศอียิปต์นั้น ขายที่ดินผืนใหญ่ที่รกร้าง และเป็นการขายที่ผู้คนสงสัยในกระบวนการและความโปร่งใส นอกจากนี้ สาธารณูปโภคต่างๆ ที่รัฐจัดหานั้นก็ดันทุ่มลงไปในพื้นที่ดังกล่าวแทนที่จะไปจัดหาให้ผู้คนที่ต้องการและยังขาดแคลนอยู่

นอกจากนี้แล้วในบางที่ การร่วมมือกันระหว่างรัฐ ระบบกฎหมาย และการดำรงอยู่ของผู้มีอิทธิพลในเมืองยังอาจจะนำไปสู่การเกิดการพัฒนาที่ดินราคาแพงในเมืองนั้น เช่น กรณีของมุมไบในอินเดีย เป็นต้น

2.ทำให้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอ่อนแอ ตัวอย่างในเม็กซิโกซิตี้ ชี้ว่าการไปตรวจสภาพรถและปรับระบบท่อไอเสียนั้นแพงกว่าการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ในเมือง กัมปาลา ของยูกันดา การทุจริตขนาดใหญ่ทำให้ระบบการจัดการขยะมีปัญหาอย่างมาก ขณะที่ในมุมไบ ชุมชนของคนรายได้น้อยประสบปัญหากับระบบการใช้น้ำ ทำให้พวกเขาต้องเกี่ยวพันกับระบบการถูกรุกรานรีดไถ การคอร์รัปชั่น และการเข้าเป็นเครือข่ายของระบบอุปถัมภ์

3.ทำให้เมืองนั้นเปราะบางต่อภัยพิบัติมากขึ้น ตัวอย่างที่สำคัญคือกรณีของศรีลังกาที่การคอร์รัปชั่นเชื่อมโยงกับการวางผังเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพ การออกกฎเกณฑ์ที่อ่อนแอ และการบริหารงานของเทศบาลที่ไม่ดีพอเมื่อเมืองประสบภัยพิบัติ แถมยังมีงานวิจัยว่าในเมืองที่มีแผ่นดินไหวบ่อยๆ จะพบว่าเมืองที่อาคารพังทลายเป็นส่วนมากมักจะเชื่อมโยงกับระดับของการคอร์รัปชั่นในเมืองนั้น

4.บ่อนทำลายการต่อต้านอาชญากรรมในระดับองค์กรในพื้นที่เมือง การคอร์รัปชั่นในระดับเทศบาล โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เทศกิจส่งผลทำให้การพยายามต่อต้านอาชญากรรมที่เป็นระบบ เป็นองค์กรทำได้ยาก ในหลายเมืองพบว่าประชาชนไม่ได้เจอแค่อาชญากรรม แต่เจอการรีดไถของตำรวจไปด้วย รวมทั้งพบว่าตำรวจไม่มีความสามารถในการจัดการกับอาชญากรรมได้

สำหรับการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในเมือง เท่าที่ผมลองสำรวจดูนั้น จะพบว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพูดเอาเท่ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่มีจริง หรือการเพิ่มกฎระเบียบ แต่การพยายามแก้ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดจากการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบบนคราภิบาลของเมือง โดยการทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล และมีส่วนร่วมในการเพิ่มข้อมูลเข้าไปในระบบการติดตามตรวจสอบคอร์รัปชั่นของเมือง

การเรียนรู้ตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศทำให้พลเมืองและผู้บริหารเมืองเกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ

และการทำวิจัยที่ลึกซึ้งขึ้นก็มีส่วนเปิดโปงระบบการคอร์รัปชั่นที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างของเมือง โดยเฉพาะการทำความเข้าใจความเชื่อมโยงของอำนาจรัฐกับการสร้างความมั่งคั่งในหมู่ชนชั้นนำที่ส่งผลให้เกิดการเบียดขับคนยากคนจนออกจากเมืองด้วย ในสหรัฐอเมริกาเองก็มีการจัดอันดับมลรัฐและเมืองที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุด และจนถึงวันนี้ เมืองชิคาโก ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของมลรัฐอิลินอยก็ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่คอร์รัปชั่นมากที่สุด จากการศึกษา และคดีต่างๆ ที่จับได้ว่าด้วยการรับสินบนของเจ้าหน้าที่ในเมืองนั้น (Three-Peat: Chicago ranks No.1 in Corruption, Report Finds. Wttwo.com. 11 May 22)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image