พฤษภาพาฝัน! : สุรชาติ บำรุงสุข

ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลสืบทอดอำนาจของพลเอกสุจินดา คราประยูร ขยายตัวไม่หยุด ประมาณการว่าการชุมนุมครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากกว่าแสนคน ในคืนวันนั้นเอง การปะทะได้เริ่มต้นขึ้น และตามมาด้วยการเผาสถานีตำรวจนางเลิ้ง เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นโอกาสให้รัฐบาลใช้เป็นเงื่อนไขในการประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในตอนเที่ยงคืน

ในที่สุด การใช้กำลังทหาร-ตำรวจของฝ่ายรัฐบาลที่ตัดสินใจล้อมปราบผู้เห็นต่างที่เปิดเวทีการเรียกร้องทางการเมืองที่ถนนราชดำเนินได้เกิดขึ้นจริงในตอนกลางวันของวันที่ 18 พฤษภาคม เนื่องจากมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมของฝ่ายค้านเป็นจำนวนมาก จนรัฐบาลมองว่า หากไม่สามารถควบคุมการชุมนุมได้แล้ว อาจจะนำไปสู่จุดจบของพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำทหารที่เพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การชุมนุมที่ขยายตัวไม่หยุดบนนถนนราชดำเนิน คือ คำยืนยันถึงสถานะของรัฐบาลว่า “ได้อำนาจ-แต่ไม่ได้ใจ” อันส่งผลให้รัฐบาลในสายตาของสังคมสูญเสียความชอบธรรมไปแล้ว และหมดสภาพความเป็นรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้อาศัยอำนาจของการประกาศภาวะฉุกเฉินสั่งให้ผู้ชุมนุมสลายตัว และเดินทางกลับบ้าน ในขณะเดียวกันกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มกุมและดำเนินการสลายฝูงชนในช่วงเวลาบ่ายของวันดังกล่าว พร้อมกันนี้ สารวัตรทหารได้ใช้กำลังเข้าจับกุมพลตรีจำลอง ศรีเมือง ขณะกำลังปราศรัยบนเวทีที่ถนนราชดำเนิน แม้จะมีการจับกุมแกนนำและผู้ร่วมชุมนุมบางส่วน แต่ยังเหลือมวลชนบนถนนอีกเป็นหลักหมื่น และมีอาการโกรธแค้นอย่างมาก

Advertisement

สถานการณ์เดินมาถึงจุดผลิกผันที่สำคัญ เมื่อการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐนำไปสู่สถานการณ์นองเลือดในคืนวันที่ 18 อันเป็นการใช้กำลังทหารตำรวจเข้าล้อมปราบประชาชนอีกครั้งหลังเหตุการณ์ในปี 2519

แม้สถานการณ์ความรุนแรงดำเนินสืบเนื่องต่อมาในวันที่ 19 พฤษภาคม แต่กองกำลังของรัฐบาลก็ไม่สามารถเข้าควบคุมฝูงชนได้จริง และการต่อต้านรัฐบาลขยายตัวออกไปในหลายจังหวัด

ส่วนการชุมนุมในกรุงเทพฯ ในวันที่ 20 ได้เคลื่อนย้ายเวทีการประท้วงจากถนนราชดำเนินไปปักหลักที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และแน่นอนว่า ความรุนแรงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้น… ทั่วโลกเริ่มจับตามมองการเมืองไทย

แต่แล้วในเวลาประมาณ 5 ทุ่มเศษ ของคืนวันที่ 20 โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจได้เผยแพร่ภาพการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของสองผู้นำคือ พลเอกสุดจินดา และพลตรีจำลอง แล้วการต่อสู้บนถนนจึงเริ่มคลายความรุนแรงลง และทุกอย่างจบลงในวันที่ 21 แม้การประท้วงบนถนนจะยุติ แต่ “การประท้วงเงียบ” ยังไม่หยุด และขยายตัวไปทั่ว จนกลายเป็นแรงกดดันสำคัญให้พลเอกสุจินดา ต้องประกาศลาออกในวันที่ 24 … เป็น 8 วันแห่งชัยชนะของประชาชน

ฉะนั้น คงต้องถือว่า “8 วันแห่งการลุกขึ้นสู้” ของนักศึกษาประชาชน ส่งผลให้ระบอบสืบทอดอำนาจ หรือระบอบพันทางของผู้นำรัฐประหาร 2534 ต้องยุติลง และเป็นการปิดฉากอำนาจของ “ผู้นำทหารรุ่น 5 สายเก่า” และเปิดทางให้ “ผู้นำทหารรุ่น 5 สายใหม่” ก้าวเข้าสู่อำนาจแทน

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ฝ่ายประชาธิปไตยดีใจและตื่นเต้นอย่างมากกับชัยชนะของนักศึกษาประชาชนในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2535 และเป็นดังเหตุการณ์ “14 ตุลาฯ ครั้งที่ 2” สำหรับสังคมการเมืองไทย

แต่ชัยชนะของขบวนประชาธิปไตยไทยทั้งในปี 2516 หรือในปี 2535 ล้วนต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญไม่แตกต่างกัน คือ ความพ่ายแพ้ของกองทัพจากการประท้วงใหญ่นั้น จะนำไปสู่การปรับบทบาทใหม่ทางการเมืองของทหารในการเมืองไทย ตลอดรวมถึงการปฎิรูปกองทัพให้เป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่ … คำถามเช่นนี้เป็นประเด็นหลักของทุกประเทศที่เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจากระบอบ “เสนาอำนาจนิยม” ไปสู่ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” เพราะหากระบอบใหม่ไม่สามารถจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับกองทัพได้แล้ว การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เกิดขึ้นอาจจะมีความเปราะบางในตัวเองอย่างมาก

นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยในขณะนั้น มิได้ละเลยประเด็นนี้ และพยายามที่จะแสวงหาคำตอบที่จะช่วยให้การต่อสู้ที่ต้องเสียสละของนักศึกษาประชาชนไม่สูญเปล่า ดังนั้น หลังจากสถานการณ์นองเลือดเพิ่งยุติลง ผู้นำการชุมนุม นักเคลื่อนไหว ปัญญาชน และสื่อมวลชนฝ่ายประชาธิปไตย ได้เปิดเวทีถกแถลงที่ห้องประชุมของอาคารเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประเด็นหลักที่เป็นหัวใจของการถกในครั้งนี้หนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นเรื่องของ “การปฏิรูปกองทัพ” โดยตรง

ในเวทีการประชุมมีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง และผู้เข้าร่วมการประชุมทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า เพื่อที่จะรักษามรดกของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จะต้องผลักดันให้เกิดการปฎิรูปกองทัพ และถกลึกลงไปถึงข้อเสนอให้มีปรับหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนนายร้อยทุกเหล่า และทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า การปฎิรูปกองทัพเป็นภารกิจทางการเมืองที่จะต้องทำให้สำเร็จ

การประชุมในวันนั้นจบลงด้วยความฝันของนักประชาธิปไตยไทยคือ ต้องผลักดันให้เกิด “การปฏิรูปกองทัพ” ให้ได้ อย่างน้อยการปฎิรูปทหารจะเป็นหลักประกันว่า ชัยชนะของประชาชนในปี 2535 จะสร้างความยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยไทยในอนาคต

แต่ความฝันดังกล่าวดูจะไปไม่ได้ไกลมากนัก เมื่อผู้นำทหารรุ่น 5 สายใหม่ที่ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำกองทัพ ไม่มีท่าทีตอบรับกับประเด็นการปฎิรูปกองทัพเท่าที่ควร รัฐบาลใหม่เองเป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวที่เข้ามาเพื่อเตรียมการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนกันยายน 2535 และเห็นได้ชัดเจนในเวลาต่อมาว่า กระแสการปฎิรูปกองทัพค่อยๆ จางไป… หายไป และไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ผลการสอบสวนของรัฐบาลต่อการใช้กำลังทหารในการสลายฝูงชนก็ไม่ได้ถูกเปิดเผยในที่สาธารณะ (ไม่ว่าจะเป็นฉบับเต็ม หรือฉบับย่อก็ตาม) ทุกอย่างจบลงเพียงการย้ายผู้นำทหารรุ่น 5 ออกจากตำแหน่งหลักในระดับสูงเพียง 3 นายเท่านั้น แต่กระนั้น หลายคนยังฝันว่า บทเรียนจากการนองเลือดครั้งนี้น่าจะทำให้รัฐประหาร 2534 เป็นการยึดอำนาจครั้งสุดท้ายของทหารไทย

หลายคนฝันเช่นนั้น แต่ก็เป็นความฝันที่เราไม่ได้ทำอะไรเพื่อให้ความฝันของเราเป็นจริง… การปฎิรูปกองทัพเป็นประเด็นใน “โลกแห่งความฝัน” และเราก็อยู่ในโลกฝันๆ จนรัฐประหารปี 2549 และ 2557 มาปลุกให้เราตื่นขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image