ที่เห็นและเป็นไป : ควรจะ ‘โกรธ’ ใคร

ที่เห็นและเป็นไป : ควรจะ “โกรธ” ใคร

 

ที่เห็นและเป็นไป : ควรจะ ‘โกรธ’ ใคร

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ส่ายหน้าไม่อยากตอบผู้สื่อข่าวที่ถามว่า “เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่” เมื่อใช้เงิน 30 ล้านบาท จัดงานเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยดีกว่าเดิม (Better Thailand Open Dialogue)” ก็ตัดประเด็นนี้ตามใจที่ไม่อยากพูดถึง

และตัดประเด็น เก้าอี้ผู้ฟังหน้าเวทีว่างเปล่า แม้จะพยายามเกณฑ์ใครต่อใครเข้าช่วยเป็นหน้าม้านั่งฟังขณะที่ “นายกรัฐมนตรี” ขึ้นกล่าวในฐานะ “ประธานการประชุมเสวนา” ออกไปด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกไม่ดี หรือถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์ตีความต่อว่า “คนฟังโหรงเหรง บรรยากาศวังเวง เพราะไม่มีใครสนใจคำพูดของผู้ที่ทำหน้าที่ผู้นำประเทศมา 8 ปี พูดอะไรต่ออะไรมามากมาย แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างที่พูด” อีกแล้ว

Advertisement

เพื่อไม่ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เกิดความขุ่นข้องหมองใจว่าทั้งๆ จัดงานขึ้นที่ศูนย์การค้าใหญ่ หรูหราที่สุดในประเทศไทย มีผู้ใช้บริการหนาแน่น และผู้พูดคือ “บุคคลสำคัญสูงสุดของคณะผู้บริหารประเทศ” ซึ่งควรจะมีความตื่นตาตื่นใจแห่กันมาช่วงชิงโอกาสที่จะได้รับฟัง แต่กลับตรงกันข้ามผู้คนไม่ให้ความสนใจ ก็ถือว่าไม่เป็นไร เพราะยุคโลกออนไลน์ ใครอยากรู้ว่า “นายกรัฐมนตรี” บอกว่าอย่างไร ทุกคนสามารถไปหาดู หาฟังย้อนหลังได้ ไม่จำเป็นต้องเอาเวลาที่จะเดินเล่นในศูนย์การค้ามารับฟังในทันที

เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นปลีกย่อย ตัดทิ้งไปได้ ไม่ต้องให้นายกรัฐมนตรีต้องหงุดหงิด รำคาญกับคำถามของผู้สื่อข่าว และยกเลิกกำหนดการที่ต้องไปร่วมกับงานนี้อีกในวันรุ่งขึ้น

เพราะเรื่องสำคัญน่าจะอยู่ที่ “สาระที่นายกรัฐมนตรีพูดในวันงานมากกว่า”

Advertisement

การประชุมเสวนาที่ตั้งใจจัดให้ยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นโอกาสสำคัญที่ “ผู้นำประเทศ” จะสื่อสารกับประชาชนด้วยรูปแบบอลังการ ไม่ว่าใครต้องคาดหวังว่าจะมีสาระที่จะเป็นการนำเสนอว่า “ประเทศจะถูกนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในรูปแบบไหน ในทิศทางใด ด้วยแผนงานและวิธีการแบบไหน” เพื่อเกิดความอุ่นใจกับประชาชนที่พอมั่นใจได้ว่าไม่ต้องถูลู่ถูกังอยู่กันต่อไปแบบมองไม่เห็นความหวัง

แต่แม้จะตัดประเด็นงบประมาณในการจัดที่มหาศาล และความสนใจร่วมฟังการพูดซึ่งถือเสียว่าเป็นเรื่องปลีกย่อยตามที่อยากให้มองเช่นนั้นออกไป

ก็ยังกลับกลายเป็นว่ายังต้องตั้งคำถาม “สาระที่คาดหมายที่จะได้จากคำกล่าวของผู้นำมีอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ใช่คำพูดที่ซ้ำไปซ้ำมา ใน 8 ปีที่แล้ว” บ้าง

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกัน รัฐบาลเข้าใจในความขุ่นเคือง ไม่พอใจของประชาชน กับวิกฤตที่ยืดเยื้อติดต่อกันกว่า 2 ปี และมีวิกฤตซ้อนวิกฤตขึ้นอีก รัฐบาลมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง ที่จะนำความสุขกลับมาสู่พี่น้องชาวไทยโดยเร็ว” คำกล่าวของท่านผู้นำ ยังเน้นเป้าหมายในการคืนความสุข

ทว่าคำต่อมา คือ “แต่วิกฤตเหล่านี้เป็นวิกฤตโลก เป็นเรื่องที่เราไม่ได้ก่อ หรือจะทำให้จบด้วยตัวเราเองได้”

เหมือนต้องการสื่อสารว่าไม่เกี่ยวกับรัฐบาล

และเมื่อต่อด้วยสาระที่ว่า “สิ่งที่รัฐบาลให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ คือ ประเทศไทยในวันนี้ ยังมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ดี พร้อมรับมือกับวิกฤตที่ยืดเยื้อได้ มีความพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ และมีอุตสาหกรรมสำหรับรองรับคนรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียนทุกด้าน”

เมื่อฟังแล้วทุกคนคงอดจะถามว่า จริงหรือไม่

และเมื่อนายกรัฐมนตรีบอกว่า “ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น บางครั้งในยามวิกฤต ไม่ว่ารัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลหน้า อาจจะทำงานไม่ทันใจ ก็ขอให้เข้าใจ เห็นความจริงใจ ทุกคนมุ่งมั่นแก้ปัญหา ตั้งใจทำงาน ขอเพียงให้อดทน ร่วมมือร่วมใจกัน ไม่ใช่เวลาแห่งความขัดแย้ง หรือบ่อนทำลายชาติบ้านเมือง เพราะนี่คือ ประเทศไทยของเรา แผ่นดินนี้ ยังมีสิ่งที่งดงาม และอนาคตที่ดีๆ รอพวกเรา และลูกหลานอยู่ครับ”

ทุกคนย่อมเกิดความคิดในใจว่า เป็นความผิดของประชาชนตามเคยใช่ไหม

และเมื่อตามด้วยการเรียกร้อง “สิ่งที่เราต้องการวันนี้คือต้องการความร่วมมือ ความมุ่งมั่น และความเข้าใจ เผื่อแผ่แบ่งปันซึ่งกันและกัน”

พร้อมให้การยืนยันว่า “รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและไม่เคยท้อแท้ พยายามจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทั้งนี้ เพื่ออนาคตของประเทศไทยต่อไปนานเท่านาน เพื่อลูกหลานของเรา”

ประชาชนคนไหนไปทำอะไรให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ และดูจากเรื่องราวทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับชีวิตผู้คนในประเทศ ทำให้ลูกหลานสามารถมีความหวังที่ดีกับอนาคตได้หรือ

ตัดประเด็นปลีกย่อยที่เอื้อต่อดราม่า ทิ้งไป

แค่พยายามจับสาระที่ควรมี ดูเหมือนว่าต้องพยายามแล้วพยายามอีก

พยายามหามา 8 ปี ถึงชั่วโมงนี้ก็ยังต้องพยายามต่อไป

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image