ความทรงจำอันจับต้องได้ : คอลัมน์คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง โดย กล้า สมุทวณิช

มีผู้กล่าวว่างานมหกรรมหนังสือระดับชาติที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันจันทร์นี้ เป็นงานสัปดาห์หนังสือ “อย่างที่ควรจะเป็น” แม้ว่าจะนับเป็นงานหนังสือครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับคืนวันที่คนไทยทั้งประเทศตกอยู่ในอารมณ์วิปโยคโทมนัส

งานหนังสือครึ่งปีหลังยังคงจัดกันอยู่ต่อไปตามกำหนดการเดิม ภายใต้บรรยากาศการแสดงความอาลัย โดยมีข้อตกลงร่วมกันในการงดการแสดงบนเวทีที่สื่อถึงความสนุกสนานรื่นเริง งดการกระจายเสียงประชาสัมพันธ์ตลอดการจัดงานและภายในบูธ รวมถึงการปรับรูปแบบของการจัดกิจกรรมบนเวทีเป็นการจัดกิจกรรมรำลึกถึงและแสดงความอาลัยแด่พระองค์ท่านแทน

งานหนังสือที่เงียบสงบ ปราศจากเสียงโหวกเหวกอึกทึก และผู้เข้าร่วมงานที่คงต้องถือว่าบางตาเมื่อเทียบกับงานสัปดาห์หนังสือในครั้งก่อนๆ กลับกลายเป็นงานหนังสือที่หลายคนรู้สึกว่า “เงียบแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน” เพราะเป็นงานหนังสืออย่างนักอ่านหลายคนอยากให้เป็น คืองานขายหนังสือที่ให้นักอ่านได้เลือกซื้อหนังสือกันอย่างสงบ คล้ายบรรยากาศที่อาจจะย้อนไปได้ถึงสมัยที่งานสัปดาห์หนังสือจัดที่หอประชุมคุรุสภาใกล้ๆ ลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อร่วมสิบยี่สิบปีก่อน

แน่นอนว่าบรรยากาศอันสงบเงียบและจำนวนผู้คนที่บางตา น่าจะส่งผลโดยตรงต่อความคึกคักของงานและยอดขาย แต่กลับมีเรื่องที่น่าจะต้องบันทึกไว้ว่าเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจที่ได้พบจากงานหนังสือครั้งนี้อยู่สองประการ

Advertisement

ท่ามกลางกระแสการล้มหายของ “นิตยสาร” ฉบับกระดาษ และความถดถอยของวงการหนังสือเล่ม จนหลายคนพยากรณ์ว่ายุคของการเปลี่ยนผ่านจากหนังสือกระดาษไปสู่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์กำลังมาถึงแล้ว แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในงานหนังสือรอบนี้ ก็แสดงให้เห็นการ “โต้กลับ” ของสิ่งพิมพ์กระดาษ ด้วย “จุดแข็ง” ที่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังไม่อาจลบล้างได้หมดจด

ปรากฏการณ์แรก คือ การที่หนังสือและหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้รับการตอบรับและความต้องการอย่างมหาศาลจากมหาชนคนไปร่วมงาน ชนิดที่ว่าพิมพ์เพิ่มยอดออกมากี่รอบกี่ฉบับในช่วงเวลาสั้นๆ ของงานสัปดาห์หนังสือก็ปรากฏว่าหมดเกลี้ยงทุกรอบทุกหัว ทั้งที่เผยแพร่จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์เอง และที่ถูกนำไปขายนอกระบบโดยผู้ค้ารายย่อย (ซึ่งอาจจะมีการเพิ่มราคาค่าเก็บค่าหากันแบบตามสมควรบ้างไม่สมควรบ้าง) และเชื่อว่า เมื่อพ้นจากงานสัปดาห์หนังสือไปอีกสักระยะ ความต้องการสิ่งพิมพ์ที่ระลึกแห่งจงรักภักดีและความอาลัยนี้ ก็น่าจะยังคงมีอยู่ต่อไป รวมถึงหนังสือข้างเคียงอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น หนังสือที่บอกเล่าถึงธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านายซึ่งจะเป็น “ความรู้” ประกอบคู่ไปกับสิ่งที่ราษฎรชาวไทยจะได้พบเห็นกันตลอดปีแห่งความอาลัยนี้

น่าสังเกตว่าแม้ “เนื้อหา” หรือ “รูปภาพ” ที่มีในหนังสือเหล่านั้นอาจจะหาได้จากอินเตอร์เน็ตหรือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ตามเถิด ทั้งที่หนังสือพิมพ์หรือหนังสือเฉพาะกิจนี้บางฉบับทางสำนักพิมพ์ก็มีจัดให้ผู้ประสงค์ได้เข้าถึงและบันทึกเก็บไว้ฟรีๆ อ่านได้ผ่านคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงอยากได้หนังสือที่พิมพ์บนกระดาษเป็นเล่มๆ มาเก็บไว้อยู่ดี

Advertisement

กับอีกปรากฏการณ์เล็กๆ น่ารักที่ผู้นิยมศิลปินเกาหลีมาติดตามหาซื้อหนังสือที่ ปาร์ค จินยอง หนุ่มน้อยหน้าหวานนักร้องชื่อดังคนหนึ่งจากวงดนตรีบอยแบนด์ GOT7 ซึ่งเขาเป็นสมาชิกและนักอ่านตัวยงเคยอ่านหนังสือเล่มนั้น กลายเป็นกิจกรรมน่าสนุกของแฟนคลับตามล่าหนังสือเรื่องที่เขาเคยอ่าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือวรรณกรรมชั้นดีระดับโลก โดยหลายเล่มมีแปลเป็นภาษาไทยด้วย ปรากฏการณ์นี้ทำให้สำนักพิมพ์ที่มีหนังสือแปลในลิสต์หนังสือที่ปาร์ค จินยอง เคยอ่านนั้นสามารถขายหนังสือเหล่านั้นได้มากขึ้นอย่างมีนัย จนเกิดเป็นการนำป้ายเขียนแท็ก “#จินยองอ่าน” ไปติดไว้ตามหนังสือเล่มต่างๆ ที่มีขาย เพื่อให้แฟนคลับของจินยองมาตามซื้อไปอ่าน ได้อย่างสะดวกง่ายดาย

ปรากฏการณ์ทั้งสองเรื่องนี้ช่วยชุบชูแวดวงผู้พิมพ์และผู้ขายหนังสือให้ยังมีความ “คึกคัก” ในแง่บรรยากาศและยอดขายอยู่ได้พอสมควรในบรรยากาศของงานสัปดาห์หนังสือครั้งประวัติศาสตร์นี้
สองปรากฏการณ์อันอาจแสดงถึง “จุดแข็ง” ของ “หนังสือเล่ม” หรือ “สื่อกระดาษ” ในแง่ของตัวแทนความทรงจำอันเป็นวัตถุที่ยึดถือได้นี้ยังเป็นสิ่งที่ผู้คนยังต้องการอยู่ ความรู้สึกของการจับต้องได้อย่างวัตถุนี้เองที่ระบบดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์นั้นยังมาแทนได้ไม่เต็มที่เท่าไร

สื่ออิเล็กทรอนิกส์อาจจะสามารถมาทดแทน “สื่อ” ที่สาระสำคัญอยู่ที่การรับรู้ข้อมูลแล้วจบไปเป็นคราวๆ เช่น ข่าว ความเห็น หรือบทความ เพราะการอ่านข่าวสารหรือบทความนั้น อ่านบนจอกับบนกระดาษก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก ด้วยสาระสำคัญอยู่ที่ “เนื้อหา” มากกว่า “วัตถุ” ที่เมื่อได้รับสารนั้นแล้วตัวสื่อก็ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป นี่คือจุดอ่อนของสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารที่ล้มหายไปให้เห็น

แต่สำหรับหนังสือเล่มแล้ว ไม่ใช่เพียงประกอบด้วย “เนื้อหา” หรือ “สาร” ที่ถือเป็น “วิญญาณ” ของหนังสือที่อาจจะแปรรูปแปลงสื่อไปเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้เท่านั้น แต่ “สื่อ” หรือ “ร่างกาย” ของหนังสือที่ประกอบด้วยกระดาษอันสัมผัสจับต้องได้ก็ยังคงมีเสน่ห์บางอย่างที่ผู้คนยังโหยหาการหยิบจับสัมผัส “วัตถุ” แห่งความทรงจำนั้นอยู่

เราคงอยากจะเลือกนำหนังสือพระราชประวัติหรือพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เก็บรักษาไว้อย่างดีจากชั้นหนังสือมาพลิกอ่านให้ลูกหลานที่เกิดไม่ทันโตไม่ถึงได้ดูได้ฟัง มากกว่าเปิดข้อมูลอย่างเดียวกันนั้นจากหน้าจอแท็บเล็ตให้ชม เช่นที่เรายังอยากจะจับถือหนังสือเรื่องเดียวกับที่ดาราหรือนักร้องยอดนิยมเคยหยิบอ่านให้เห็น เก็บหนังสือนิยายบางเล่มที่ผู้เขียนเซ็นชื่อไว้ให้เป็นที่ระลึก หรือมีหนังสือบางเล่มที่อยากจะเก็บไว้เป็นความทรงจำที่เรียกคืนได้เมื่อนำกลับมาถือไว้ในมือและอ่านอีกครั้ง

สัญญาณเบาๆ ที่แสดงให้เห็นถึงชีวิตของ “หนังสือกระดาษ” นี้ ทำให้เราได้เห็นจุดแข็งที่ยังไม่สามารถหาทดแทนของสิ่งพิมพ์อันสัมผัสได้ ที่อาจจะเป็นช่องทางชนะที่ยังเหลืออยู่สำหรับผู้เกี่ยวข้องที่ยังอยากจะสู้ต่อไปเพื่อรักษารูปแบบสิ่งพิมพ์บนกระดาษเอาไว้ ในพื้นที่ของสนามรบเทคโนโลยีที่เหมือนจะเสียเปรียบอยู่ทุกทาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image