เด็กออกจากสถานศึกษาเร็วเกินไป : คอลัมน์ดุลยภาพดุลยพินิจ โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

1.

เป็นที่ทราบกันดีว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือของการพัฒนาทุนมนุษย์ที่สำคัญ ส่งเสริมให้บุคคลมีประสิทธิภาพการทำงาน โอกาสการมีงานทำและได้รับตำแหน่งหน้าที่เหมาะสม รายได้สูง ผู้ปกครองที่มีความรู้และมีเงินจึงทุ่มเทงบประมาณและเวลาให้ลูกหลานศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่เด็กถึงเยาวชน บางครอบครัวให้เรียนพิเศษเพื่อความได้เปรียบในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่เป็นน่าเสียดายว่าเด็กไทยจำนวนหนึ่งขาดโอกาสเช่นนั้นเนื่องจาก “ออกจากสถานศึกษาเร็วเกินไป” หมายถึงเด็กอายุ 13-15 ปี ควรจะได้เรียนต่อระดับมัธยมต้น อายุ 16-18 ปี ระดับมัธยมปลาย และ 19-24 ปี ระดับปริญญาตรี

แต่ความจริงคนกลุ่มนี้ไม่ได้อยู่ในสถานศึกษาแล้ว เขาหายไปไหน?

2.
เด็กออกจากสถานศึกษาเร็วเกินไป ถือเป็นปัญหาสังคม สะท้อนถึงการขาดโอกาส ความเสี่ยงที่จะเป็นคนยากจนในอนาคต เสี่ยงต่อการติดยาเสพติด ไม่มีงานทำ ตั้งครรภ์วัยรุ่น ฯลฯ เป็นปัญหาของปัจเจกและส่วนรวม หลายประเทศจึงได้หามาตรการจูงใจโดยลักษณะการจัดสรร “ทุนให้เปล่า” ให้ครอบครัวยากจนโดยกำหนดเงื่อนไขบางประการ เช่น เด็กของท่านต้องได้เข้าเรียนเต็มเวลา (อย่างน้อย 85% ในห้องเรียน) ภายใต้ชื่อว่า CCT = conditional cash transfer โครงการทำนองนี้เริ่มในทวีปอเมริกาใต้เมื่อราว 30 ปีเศษ และแพร่หลายทั่วโลกในเวลาต่อมา

Advertisement

ฝ่ายนักวิชาการได้ทำงานติดตามประเมินผลโครงการบันทึกเป็นความรู้รูปแบบหนังสือหรือบทความวิจัย ธนาคารโลกให้การสนับสนุนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า conditional cash transfers : reducing present and future poverty ซึ่งน่าสนใจมากทีเดียว ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2009 โดยผู้เขียนสองท่าน (Fiszbein and Schady, 2009) เล่าประสบการณ์จากหลายประเทศและวิเคราะห์ผลลัพธ์ต่อการลดความยากจน

ผลงานอีกชิ้นหนึ่ง (De Witte, Van Klaverena, and Smets 2015) เล่าว่ารัฐบาลท้องถิ่นในประเทศเนเธอร์แลนด์มีบทบาทในนโยบายลดอัตราการออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควร

3.
ในเมืองไทยของเรานักการศึกษาและประชาคมกลุ่มหนึ่งกำลังติดตามปัญหา “เด็กออกจากโรงเรียนเร็วเกินไป” พร้อมกับส่งสัญญาณให้รัฐบาลออกแบบนโยบายสาธารณะและมาตรการ เช่น ให้มีกองทุนหรือหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบ สร้างแรงจูงใจครัวเรือนยากจนเป็นทุนให้เปล่าหรือความช่วยเหลือแบบอื่น ไม่ต้องการให้บุตรหลานหยุดเรียนแค่ระดับ ป.6 เท่านั้น อย่างน้อยควรจะเพิ่มวุฒิเป็นมัธยมต้น-มัธยมปลาย-อาชีวศึกษาหรือมหาวิทยาลัยยิ่งดี แต่ก่อนอื่นใดเราควรจะพิจารณาสถานการณ์เสียก่อนว่า “เด็กนอกโรงเรียน” มีจำนวนมากน้อยเพียงใด แตกต่างระหว่างชนชั้นหรือภูมิภาคหรือไม่

Advertisement

ในโอกาสนี้ขอนำงานวิจัยบางส่วนเล่าสู่กันฟัง ใช้ฐานข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สำรวจครัวเรือนปี 2556 ฐานข้อมูลประกอบด้วยตัวอย่างกว่า 4 หมื่นครัวเรือนจากทุกจังหวัด มีสมาชิกครัวเรือนในตัวอย่างมากกว่า 1 แสนคน)

คำถามที่นำมาวิเคราะห์คือ “ขณะนี้เด็กในครอบครัวของท่านเรียนหรือไม่ได้เรียน” ได้ผลสรุปสำคัญดังต่อไปนี้

เด็กไทยในวัย 13-15 ปี ยังคงอยู่ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน 94% หมายถึง 6% ออกจากสถานศึกษาตั้งแต่เยาว์วัย

เด็กไทยในวัย 16-18 ปี ยังคงเรียนอยู่ในสถานศึกษา 76% แปลว่า 24% หลุดออกจากโรงเรียนระดับมัธยมปลาย

เยาวชนไทยอายุ 19-24 ปี ซึ่งตามเกณฑ์ทั่วไปกำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่ในสภาพเป็นจริงค่าเฉลี่ยเข้าเรียนเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น อีกนัยหนึ่งร้อยละ 77 ไม่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษา

อนุมานเป็นจำนวนเด็กที่สมควรอยู่ในโรงเรียนแต่ขณะนี้ไม่ได้อยู่ (โดยวิธีการถ่วงน้ำหนักตามหลักสถิติ) สรุปใจความว่า เด็กวัย 13-15 ปีที่ทิ้งการเล่าเรียนจำนวน 1 แสนคนโดยประมาณ และวัย 16-18 ปีอีกจำนวน 4 แสนคนโดยประมาณ สรุปรวมคือเด็กไทยมากกว่า 5 แสนคนที่ควรจะอยู่ในสถานศึกษา-แต่ขณะนี้ออกจากสถานศึกษา (not in school) ถ้าเราสร้างแรงจูงใจให้บุคคลเหล่านี้เข้าเรียน พัฒนาทุนมนุษย์ความรู้และทักษะเพื่อการทำงานและหารายได้ตลอดช่วงชีวิต ก็จะดี ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งในแง่การใช้ทรัพยากรคือเรามีสถานศึกษา 2-3 หมื่นแห่งที่ยังใช้งานไม่เต็มที่ “มีที่เรียนเหลือเฟือ” สามารถจะรับนักเรียนเพิ่มขึ้นหลักแสนหรือหลักล้านคน สรุปว่า “โนพร้อมเบลม”

งานวิจัยของเราสามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างชนชั้นได้ (จำแนกชนชั้นเป็น 5 กลุ่ม คือเกษตรกร เกษตรกรผู้เช่า ผู้ประกอบการ นักวิชาชีพ และแรงงานทั่วไป) พบความแตกต่างประการสำคัญคือ ในกลุ่มแรงงานทั่วไปและเกษตรกรผู้เช่า-อัตราการออกจากโรงเรียน (ของบุตรหลาน) สูงที่สุดโดยสันนิษฐานว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจและรายได้เป็นสาเหตุประการหนึ่ง ในทางตรงกันข้ามบุตรหลานของชนชั้น “นักวิชาชีพ” ได้รับโอกาสการศึกษาสูงที่สุด

ความแตกต่างระหว่างภูมิภาค อัตราการเรียนต่อในกรุงเทพฯสูงที่สุด (90% อายุ 13-18 ปี) และภาคใต้ต่ำที่สุด (80% กลุ่มอายุเดียวกัน)

4.
สาเหตุที่เด็กออกนอกโรงเรียนนั้น เข้าใจว่าเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจค่านิยมและวัฒนธรรม-ถ้าหากท่านเป็นผู้บริหารประเทศหรือเป็นที่ปรึกษาจะคิดอ่านอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้ สมมุติว่ารัฐบาลไทยมีความหวังดีต่อเด็กและครอบครัวยากจนประสงค์จะให้การช่วยเหลือโดยจัดสรร “ทุนให้เปล่า” อย่างมีเงื่อนไขว่า “เด็กของท่านต้องได้เรียนเต็มที่ เข้าเรียน 85% เป็นอย่างน้อยเท่าเทียมกับเด็กคนอื่นๆ” นักวิชาการมีความชอบและถนัดในการใช้จินตนาการและครุ่นคิดพินิจนึกว่าจะแปลงงานวิจัยให้เป็นข้อเสนอนโยบายสาธารณะได้อย่างไร

มีคำถามท้าทายตามมาคือ ประการแรก มีวิธีการอย่างไรในการคัดกรองครัวเรือนยากจน บุตรหลานในวัยเรียน เพื่อป้องกันการออกจากสถานศึกษาเร็วเกินไป ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่าท้องถิ่นและประชาคมควรจะเข้ามามีบทบาท ร่วมกับสถานศึกษา พูดง่ายแต่ทำไม่ง่ายแน่นอน และอาจจะผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้ แต่ความจริงมีบทเรียนจากหลายประเทศที่ผ่านประสบการณ์ก่อนหน้า

ประการที่สอง จะคำนวณตัวเลขภาระทางการคลังของรัฐบาลหรือรัฐบาลท้องถิ่นอย่างไร (ไม่มากเกินไปหรือน้อยจนเกินไป) เผื่อว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องสอบถามว่า มาตรการนี้ต้องเตรียมงบประมาณเพียงใด ในขณะนี้ยังจนปัญญา ไม่ชัดเจนในตัวเลขงบประมาณ เท่าที่นึกออก ผู้เขียนมีเพื่อนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร (ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณนารุโนทัยและคณะ) เคยลงพื้นที่ 4 จังหวัดเพื่อเข้าใจสถานการณ์ของเด็กที่อยู่ห่างไกล การเดินทางไปโรงเรียนและค่าใช้จ่าย บนพื้นที่สูง ระยะทางจากบ้านถึงโรงเรียนหลายกิโลเมตร โดยไม่มีรถเมล์หรือรถไฟฟ้า แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายการเดินทางย่อมสูงกว่าในคนเมือง อาจนำมาเป็นข้อมูลได้

งานวิจัยเพื่อไปให้ถึงนโยบายสาธารณะในหัวข้อนี้อยู่ในขั้นเริ่มต้น เราจะต้องเดินทางอีกหลายร้อยหลายพันก้าวกว่าจะถึงหลักชัย อย่างไรก็ตาม เมื่อ “ก้าวแรก” เกิดขึ้นย่อมก็จะมีก้าวอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image