จากเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพฯถึงเลือกตั้งทั่วไป และการเลือกตั้งผู้ว่าฯในจังหวัดที่พร้อม

ขอแสดงความยินดีกับผู้ว่าราชการกรุงเทพฯคนใหม่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้รับความไว้วางใจจากชาวกรุงเทพฯ ถึง 54.1% ของผู้มาใช้สิทธิ คะแนนนิยมนี้มอบให้แก่ผู้สมัครอิสระที่เคยเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่เขากล่าวว่าขอเป็นผู้ว่าฯของคนกรุงเทพฯทุกคน และพร้อมร่วมมือกับสมาชิกสภาเขตของกรุงเทพฯ (ส.ก.) ทุกคนด้วย ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองที่สมาชิกพรรคได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเขตก็ประกาศว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับผู้ว่าฯคนใหม่เช่นกัน จึงมีความหวังว่า การเมืองที่เล่นกันแบบ “กีฬาสี” น่าจะเสื่อมความนิยมได้เสียที ว่าแต่ว่าหัวหน้าทีมกีฬาสีทั้งหลาย จะเลิกใช้ “สี” เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้ฝ่ายตนได้หรือยัง

ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯครั้งนี้ มีการสำรวจความเห็นของประชาชน (public opinion poll) ว่าจะเลือกผู้สมัครคนไหนดี ผลสำรวจระบุว่าเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบบอกว่าจะเลือกชัชชาติ ผมเองก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จากนั้นเกิดข่าวว่ามีความพยายามที่พลิกคะแนนนิยมให้ได้ในโค้งสุดท้าย มีผู้นำการชุมนุมครั้งใหญ่ในอดีตบางคนออกมาสนับสนุนผู้สมัครที่ตนรู้จัก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา แต่หลายคนนึกถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯในปี 2556 ที่มีการพลิกผลสำรวจความเห็นด้วยวลีเด็ดว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ซึ่งอ้างว่ามีผลทำให้ผู้ที่ผลสำรวจชี้ว่าเป็นรองกลับชนะการเลือกตั้ง แต่คราวนี้ดูเหมือนจะมีปรากฏการณ์ในทางตรงกันข้าม คือเนื่องจากกลัวว่าจะมีการพลิกผลสำรวจ เลยลงคะแนนเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งคล้ายกับการลงคะแนนให้เป็นประโยชน์คือ ถึงแม้จะชอบผู้สมัครคนหนึ่งมากกว่าคนอื่นๆ แต่คิดว่าถึงลงคะแนนให้ก็ไม่มีผลให้เขาหรือเธอชนะ สู้ลงให้ผู้มีโอกาสได้ชัยจะดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น ชอบผู้สมัครพรรคก้าวไกล แต่ลงคะแนนให้ชัชชาติ ซึ่งมีหวังชนะอยู่แล้ว และยิ่งต้องลงให้เพราะไม่อยากให้พลิกผลสำรวจ ข้อมูลประกอบในเรื่องนี้คือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียง 253,851 คะแนน แต่ผู้สมัคร ส.ก.ของพรรคก้าวไกลในเขตต่างๆ ได้คะแนนรวมกันเท่ากับ 485,830 คะแนน มากกว่ากันเกือบสองเท่า หมายความว่าผู้นิยมพรรคก้าวไกลจำนวนหนึ่งเทคะแนนให้ชัชชาติ อาจเป็นว่าเพราะเกรงกลยุทธ์โค้งสุดท้ายที่จะพลิกผลสำรวจก็เป็นได้

ถ้ามองไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปที่จะมีขึ้นไม่ช้าก็เร็ว การเลือกตั้งองค์การบริหารท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (ของกรุงเทพฯและเมืองพัทยา) พอจะชี้ให้เห็นแนวโน้มอะไรได้บ้าง ในเรื่องนี้ ไม่ควรดูที่คะแนนเสียงที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯเป็นเกณฑ์ หากควรดูที่คะแนนเสียงที่ชาวกรุงเทพฯลงให้แก่ผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาเขตของกรุงเทพฯมากกว่า ผลการเลือกตั้ง ส.ก. อย่างไม่เป็นทางการจากสำนักประชาสัมพันธ์กรุงเทพฯแสดงว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ก. 60.5% (น้อยกว่าผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ 60.7% เล็กน้อย) ผลการเลือกตั้งจำแนกเป็นรายพรรคหรือกลุ่มที่ส่งผู้สมัคร พร้อมการเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี 2562 มีดังต่อไปนี้

Advertisement

*ปรับตัวเลขโดยคำนึงถึงการยุบพรรคไทยรักษาชาติ คำนวณโดย สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

**ได้แก่พรรครวมไทยยูไนเต็ด, พรรคภูมิใจไทย, พรรคประชากรไทย, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคอนาคตไทย

สังเกตว่าตารางข้างต้นเรียงลำดับตามคะแนนที่พรรค/กลุ่มได้รับ ไม่ได้เรียงลำดับตามจำนวน ส.ก. ของพรรค/กลุ่ม ซึ่งถ้าเรียงตามลำดับจำนวน ส.ก. กลุ่มรักษ์กรุงเทพที่มี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นหัวหน้าจะอยู่ในลำดับที่สาม

Advertisement

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี เห็นด้วยว่าการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งโดยใช้คะแนนที่ ส.ก. ได้รับรวม 50 เขต จะช่วยให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของความนิยมที่ชาวกรุงเทพฯมีต่อพรรคได้ดีกว่าคะแนนที่ผู้สมัครผู้ว่าฯได้รับ คะแนนที่โดดเด่นของชัชชาติแสดงว่าชาวกรุงเทพฯหลายคนที่เคยลงคะแนนให้พรรคต่างๆ กันพร้อมใจเทคะแนนให้เขา เพราะยอมรับบุคลิกภาพและความสามารถของเขาในลักษณะตัวบุคคล ไม่เกี่ยวกับพรรคใด ๆ

เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบผลการเลือกตั้ง ส.ก.ปี 2565 กับการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 สิริพรรณเห็นว่าควรปรับสัดส่วนคะแนนที่พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ได้รับ โดยปรับเพิ่มคะแนนให้พรรคเพื่อไทย เพราะส่งผู้สมัครไม่ครบทุกเขต ถ้าส่งครบทุกเขต พรรคเพื่อไทยควรจะได้คะแนนเพิ่มจาก 20% เป็น 26% ส่วนพรรคอนาคตใหม่ที่ได้คะแนน 25% ใน 2562 ในจำนวนนี้ มีส่วนหนึ่งเป็นคะแนนที่ได้ด้วยอานิสงส์จากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ สิริพรรณจึงปรับลดคะแนนเหลือ 20% ซึ่งเป็นคะแนนเนื้อแท้ของพรรคอนาคตใหม่ในปี 2562 ซึ่งปัจจุบันอวตารมาเป็นพรรคก้าวไกล สรุปการเปลี่ยนแปลงระหว่าง ปี 2562 กับปี 2565 จากคอลัมน์ขวามือของตารางได้ว่า พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนนิยมเท่าเดิม มีแต่พรรคพลังประชารัฐที่ได้คะแนนลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิม 25% เหลือ 11.8%

ถ้าถือว่าพรรคไทยสร้างไทยอยู่ในฝ่ายค้าน คะแนนรวมที่สามพรรคฝ่ายค้าน (คือพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย) ได้รับคิดเป็นร้อยละ 58% ถ้าใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนหรือแบบบัญชีรายชื่อพรรคล้วนๆ ในการเลือกตั้ง ส.ส.สามพรรคนี้สามารถรวมกันตั้งรัฐบาลได้ด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาด อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งทั่วไปสมัยหน้า คาดว่าระบบที่ใช้คงเหมือนกับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

ปี 2540 ซึ่งเป็นระบบที่มีสมาชิกผสมแบบคู่ขนาน (Mixed Members Parallel System) ที่มีสมาชิกแบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อพรรค 100 คน ซึ่งไม่ใช่ระบบสัดส่วนล้วนๆ ดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งยังเป็นการเลือกตั้งทั่วราชอาณาจักร มิใช่กรุงเทพฯแห่งเดียว ผลจะเป็นอย่างไรก็ยังทำนายไม่ได้อย่างแน่ชัด กระนั้น การที่พรรค พชปร.ได้คะแนนเสียงลดน้อยลงในกรุงเทพฯก็เป็นสัญญาณบอกกล่าวถึงอารมณ์ทางการเมืองของคนไทยได้ ไม่มากก็น้อย

จุดแข็งของชัชชาติในการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ที่การเตรียมตัวมาอย่างดี คือทำการบ้านโดยรับฟังความเห็นของชาวกรุงเทพฯมาร่วมสองปี จึงเขียนเป็นสารพัดนโยบายมานำเสนอ จะทำได้หรือไม่เพียงใดอาจขึ้นอยู่กับหลายเหตุปัจจัย ดังนั้น ถ้าสอดคล้องกับความต้องการจริงของประชาชนและทำได้จริงก็ดี ถ้าทำไม่ได้ก็คงต้องอธิบายเหตุผลให้สาธารณชนทราบเป็นระยะ อย่างน้อยก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้ติดตามและทวงถามความคืบหน้าของการนำนโยบายที่ให้ไว้ไปปฏิบัติ ถ้าทำเช่นนี้ ก็จะเป็นนิมิตหมายของการก้าวออกห่างจากชุดความคิด (mindset) แบบราชการ มาเป็นชุดความคิดที่ผู้ที่อาสามาทำงานเพื่อสาธารณะต้องพร้อมที่จะรายงานและรับผิดรับชอบ (be accountable) ต่อประชาชน

ถ้าชัชชาติและทีมงานสามารถขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติให้เห็นผลในระดับหนึ่งก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป และถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมตัวให้ดีในด้านนโยบายและตัวบุคคล การเลือกตั้งผู้ว่าฯของกรุงเทพฯ ก็จะมีนัยในเชิงการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลดีต่อพรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่าผลการเลือกตั้งสะท้อนเรตติ้งของรัฐบาลหรือไม่ว่า “ไม่สะท้อนอะไรทั้งนั้นแหละ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล … ใครจะนิยมหรือไม่นิยม ผมก็ทำของผมเต็มที่นั่นแหละ” ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐให้ความเห็นว่า “พปชร. ต้องมาทบทวนว่ามีอะไรผิดพลาดในเรื่องการทำงาน ต้องมาแก้ไข ส่วนจะกระทบต่อการเลือกตั้งระดับชาติหรือไม่นั้น ยังไม่ได้ประเมิน ดูเหมือนจะหยอกถามนักข่าวกลับว่า มีความคิดอะไรดีๆ ช่วยบอกบ้าง

ในเรื่องการประเมินผลงานรัฐบาล ขออ้างอิงบทความของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ที่ลงพิมพ์ในมติชนฉบับวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ความโดยย่อว่า ได้มีงานวิจัยที่เป็นวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด เช่นในปี 2560 จากการสอบถามความเห็นประชาชนในจังหวัดที่อยู่ใน 4 ภาค คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น นนทบุรี และนครศรีธรรมราช พบว่ารัฐบาลมีความสามารถในระดับน้อยในการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ การกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ที่มั่นคง เป็นต้น ในปี 2561 จากการเก็บข้อมูลที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่าคนอยุธยาเห็นว่ารัฐบาลได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมน้อยที่สุด ส่วนการเก็บข้อมูลจากเทศบาลนครระยองในปี 2562 พบว่า การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับปานกลาง ต่อมาในปี 2563 ข้อมูลที่เก็บจากเขตเทศบาลเมืองสระบุรีระบุว่า รัฐบาลดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของตนเองในระดับน้อย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการดำรงชีพของประชาชน ปัญหาการทุจริต การจัดสวัสดิการ มาตรการรองรับการผันผวนของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ต่อมาในปี 2564 ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ข้อมูลจากเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาชี้ให้เห็นว่า ผลงานในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมอยู่ในระดับน้อย และการสร้างรายได้ให้ประชาชนอยู่ในระดับน้อยที่สุด ผลงานวิจัยจากเทศบาลเมืองราชบุรี และเทศบาลเมืองพังงา ในปี 2565 ยืนยันว่าความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลอยู่ในระดับน้อยที่สุด ธำรงศักดิ์สรุปว่า ความเชื่อมั่นศรัทธาทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่เคยอยู่เพียงระดับปานกลาง กลับลดลงมาสู่ระดับน้อย และระดับน้อยที่สุดอย่างน่าใจหาย ความศรัทธาของคนต่างจังหวัดลดน้อยถอยลง และของคนกรุงเทพฯก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รัฐบาลคงไม่ใช่เพียงแต่บอกว่า “ทำเต็มที่แล้ว” และหวังให้ประชาชนเชื่อเช่นนั้น เพราะประชาชนรู้สึกว่า “เต็มทีแล้ว” และเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง สัญญาณที่ชัดที่สุดมาจากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯนั่นเอง

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ในบทความลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 รำพึงว่า “ยังไม่เห็นพรรคการเมืองและขบวนการทางการเมืองมากนักที่เสนอการปรับปรุงระบบการปกครองท้องถิ่นทั้ง กทม.และต่างจังหวัดที่เป็นประเด็นจริงๆ จังๆ เลย ทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร จะมีก็แต่เรื่องจังหวัดจัดการตนเอง แต่ตอนนี้ก็เหมือนจะไม่ค่อยมีคนพูดถึงกันมากนัก เพราะย้อนกลับไปเล่นเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกันไปเสียหมด”

หลังจากที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯจบลงแล้ว เราก็น่าจะพูดเรื่องการกระจายอำนาจกันมากขึ้น เผื่อจะเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปได้ ดูเหมือนว่าทางเลือกจะมีอยู่ 3 ทาง ดังนี้

1) ยกเลิกสถานะการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษของกรุงเทพฯ ทำกรุงเทพฯให้มีสถานะเป็นจังหวัดที่บริหารทั้งราชการส่วนท้องถิ่นและบางส่วนของราชการส่วนภูมิภาค และให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพฯ รวมทั้งใช้เป็นกรณีนำร่องสำหรับจังหวัดอื่นที่พร้อม โดยเฉพาะจังหวัดที่มีลักษณะเป็นเมืองมากหน่อยและมีรายได้ที่จัดเก็บได้เองที่สูงถึงระดับหนึ่ง

2) ยกสถานะของการปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดที่พร้อม ให้เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ โดยมีกฎหมายรองรับ ที่เปิดโอกาสให้มีความคล่องตัวในการบริหารราชการ โดยอาจทำเป็นกฎหมายกลางก็ได้ (ส่วนจังหวัดใดจะมีการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษตามกรอบของกฎหมายกลาง ก็ให้ออกพระราชกฤษฎีแก่จังหวัดนั้น) หรือจะมีกฎหมายรายฉบับที่ใช้เฉพาะจังหวัดที่ต้องการยกระดับก็ได้

3) หรือจะออกแบบระบบกันใหม่ เช่น ให้มีมณฑลหรือภูมิภาคย่อย อย่างที่เคยใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษว่า cluster หรือกลุ่มจังหวัด ในกรณีนี้ คงต้องอิงประวัติศาสตร์และความเป็นมา ตลอดจนจุดเด่นทางวัฒนธรรม ภาษา ศักยภาพในการพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็น “อำนาจอ่อน” รวมทั้งศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจที่อาจผสมผสานเกษตรกรรม-อุตสาหกรรม-ภาคบริการ ได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี รูปแบบใหม่นี้ยังไม่ชัดเจนและมีประเด็นต้องขบคิดและถกแถลงกันอีกมาก

ในทั้งสามรูปแบบของการกระจายอำนาจนี้ ประเด็นสำคัญคือการลดการรวมศูนย์ และโอนย้ายงาน คน และเงินจากองค์กรส่วนภูมิภาค ไปให้องค์กรส่วนท้องถิ่นบริหารตามความเหมาะสมของท้องถิ่น

ผมมีความเห็นว่าคำว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัด” มีความสำคัญ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญที่สุดในจังหวัด จึงจำเป็นต้องยื้อยุดจากตัวแทนฝ่ายราชการมาให้ตัวแทนฝ่ายประชาชน ถ้าจะให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งในองค์กรส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญที่สุดในจังหวัด ก็สมควรเปลี่ยนชื่อตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัจจุบัน เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดปัจจุบัน ที่มาจากการแต่งตั้งก็ควรเปลี่ยนหน้าที่จากการบริหารและการพัฒนา มาเป็นหน้าที่การกำกับให้ราชการเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ (เรียกว่าเป็น regulator) และอาจตั้งชื่อตำแหน่งเป็น “ผู้กำกับราชการจังหวัด” กรณีมีความขัดแย้งระหว่าง “ผู้ว่า” กับ “ผู้กำกับ” ก็ยังให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ที่ควรมาจากการเลือกตั้ง) พิจารณา แต่ผู้ว่าสามารถอุทธรณ์ได้ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ถ้าเป็นเรื่องกฎระเบียบ หรือต่อศาลปกครอง ถ้าเป็นเรื่องกฎหมาย

ผมคงฝันไปไกลมากเสียแล้ว เพียงแต่อยากสร้างความหวังในการเปลี่ยนแปลงที่มาจากประชาชน ผ่านการเสนอนโยบายของพรรคให้ประชาชนเลือก และผ่านการออกกฎหมายที่ให้อำนาจการบริหารมากขึ้นแก่ผู้ที่ประชาชนเป็นคนเลือก

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image