นัยยะของการอาจไม่มีนัยยะ จากผลการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.

หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามีการอธิบายเรื่องนัยยะของการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.อยู่หลายสำนัก และเนื่องจากคอลัมน์ของผมในสัปดาห์ที่แล้วต้องส่งก่อนที่จะรู้ผล ก็เลยไม่ได้มีโอกาสอภิปรายผลในรายละเอียด

ในสัปดาห์นี้จึงขออนุญาตสรุปผลสั้นๆ ให้กับท่านผู้อ่านทราบ

ผมขอเริ่มง่ายๆ ตามแนวทางที่พยายามอธิบายในหลายพื้นที่มาแล้ว นั่นก็คือ ถ้าจะพิจารณาการเมืองในพื้นที่เมืองอาจจะต้องพิจารณาออกเป็นสองมิติใหญ่ๆ

หนึ่ง คือเรื่องการเมืองในพื้นที่เมืองในมิติของการเลือกตั้ง (electoral politics) หมายถึงการเมืองที่พวกนักข่าวชอบไล่ตามไล่ถามไล่งับประเด็นกัน หมายถึงการคาดเดาผลคะแนน ค้นหาฐานเสียง การตั้งถามถึงกลยุทธ์การหาเสียง และตัวแบบการตัดสินใจลงคะแนน (อาทิ การตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ หรือการเลือกด้วยนโยบาย ด้วยบุคลิกภาพ หรือด้วยอารมณ์)

Advertisement

สอง คือเรื่องของการเมืองในพื้นที่เมืองในมิติของการพัฒนาเมือง (politics of urban development) หมายถึงการเมืองในมิติที่แฝงฝังไปอยู่ในการปรับเปลี่ยน หรือไม่ปรับเปลี่ยนพื้นที่เมืองผ่านการผลักดันให้เกิดนโยบาย หรือไม่เกิดนโยบาย รวมทั้งความสัมพันธ์ทางอำนาจ ในการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมที่มีผลต่อตัวผู้กระทำการและการเปลี่ยนแปลงที่ดิน

มาว่าในเรื่องแรกคือผลการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.ที่ผู้คนสนใจก่อน คำถามที่สำคัญก็คือเรื่องที่ว่าอะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งระดับชาติและการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นใน กทม. ซึ่งคำตอบก็ไม่ง่าย ท่ามกลางข้อสงสัยว่าตกลงมันจะตอบคำถามอะไรได้บ้าง

ดังที่ผมได้เสนอไปนานแล้วว่า ประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการเลือกตั้งท้องถิ่นรอบที่ผ่านมานี้ใน กทม.ก็คือการจัดเตรียมกำลังพล และองคาพยพต่างๆ เพื่อการแข่งขันในสนามการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ตั้งแต่ไม่กี่เดือนข้างหน้านี้จนถึงกลางปีหน้า

Advertisement

แต่กระนั้นก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.ในรอบนี้กับสนามใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกันไปเสียทั้งหมด เพราะการเลือกตั้งใน กทม.นั้นมีอยู่สามระดับที่ต้องพิจารณา

1.การเลือกตั้งทั่วไปใน กทม.

2.การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

3.การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. (2) และ ส.ก. (3) เมื่อ 22 พ.ค.65 ที่ผ่านมาอาจไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกับการคาดการณ์การเลือกตั้งทั่วไปในพื้นที่ กทม. ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าทั้งหมด และเราคงต้องค้นหาต่อไปว่าความสัมพันธ์ของผลการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.กับผลการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม. มันเชื่อมโยงกันในรูปแบบไหน

ผมขอนำเสนอแผนภาพสรุปผลการเลือกตั้งทั่วไปใน กทม. เมื่อปี 2562 เสียก่อน

แม้ว่าอนาคตใหม่จะได้คะแนนนิยมมากที่สุด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เพื่อไทยไม่ได้ส่งทุกเขต (แค่ 22 จาก 30 เขต) และไทยรักษาชาติซึ่งมีแนวทางของพรรคคล้ายเพื่อไทยนั้นหายไปสิบเขต ดังนั้น เราไม่สามารถอธิบายได้ว่าอนาคตใหม่มีเสียงที่แท้จริงเท่าไหร่ แต่อย่างน้อยก็พออธิบายภาพรวมได้ว่า เมื่อรวมเสียงที่อยู่กับฝ่ายรัฐบาลจะมีเสียงทั้งหมด 1,406,680 คะแนน และฝ่ายค้านอยู่ทั้งหมด 1,684,394 คะแนน

แต่ถ้าจะให้ดูง่ายๆ เสียงของ ส.ส.อยู่กับฝ่ายรัฐบาลมีแค่ 12 เขต (พลังประชารัฐ) เสียงฝ่ายค้าน 18 เขต (เพื่อไทย 9 อนาคตใหม่ 9) ก่อนที่จะพลิกผันจนถึงทุกวันนี้ คือ รัฐบาล 13 (พลังประชารัฐ 11 ภูมิใจไทย 2) และฝ่ายค้าน (อนาคตใหม่ 7 และอาจไปเพื่อไทย 10)

ย้ำเสมอว่าประชาธิปัตย์ แม้ไม่ได้เก้าอี้ แต่มีเสียงประมาณ สี่แสนเจ็ด คิดเป็นร้อยละ 15.31

แน่นอนว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองของฝ่ายไม่เอารัฐบาลมาตั้งแต่เมื่อปี 62 และนั่นก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจที่จะเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพฯทีหลังสุดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด เว้นแต่พัทยา แต่ก็มีเลือกตั้ง อบจ.ชลบุรีไปแล้ว

เรื่องนี้สำคัญไม่น้อยกว่าการที่จะบอกว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เพิ่งผ่านไปนั้นคะแนนประชาธิปไตยชนะ เพราะหนึ่งคือชนะมาแล้วตั้งแต่รอบที่แล้ว และสอง ก็ยังจะชนะในทิศทางที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่ควรแน่ใจนักในเรื่องนั้น เพราะการเมืองในท้องถิ่น กทม.นั้นไม่ได้มีมิติในแง่พรรคการเมืองไปทุกเรื่อง ดังที่จะอภิปรายต่อไป

ส่วนมิติที่สองคือการเลือกตั้งในระดับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอให้ดูคะแนนก่อนทั้งคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ และคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครในรอบนี้

ผมยังไม่แน่ใจว่าคะแนนที่ทำให้ชัชชาติชนะเป็นคะแนนที่เป็นคะแนนฝั่งประชาธิปไตยจริงไหม และประชาธิปไตยชนะแล้วจริงไหม

พูดง่ายๆ คะแนนที่ไม่ใช่ฝั่งประชาธิปไตยต่างหากที่ทำให้ชัชชาติชนะด้วยคะแนนเท่านี้ เพราะก้าวไกลที่พัฒนามาจากอนาคตใหม่ก็ลงแข่งด้วย

คำถามสำคัญจึงไม่ใช่ว่าประชาธิปไตยชนะเลือกตั้ง แต่แน่นอนว่าประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้ง “ด้วย” การได้คะแนนของฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย (ถ้าวัดด้วยเงื่อนไขเมื่อปี 62) เข้าร่วมต่างหาก

วัดง่ายๆ คือ ถ้าชัชชาติคือนอมินีของเพื่อไทย ชัชชาติอาจจะชนะด้วยคะแนน ส.ก.เพื่อไทย ซึ่งก็เพิ่มมาจากตอนเลือกตั้ง ส.ส.ไม่มากนัก คือหลักหมื่น และจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ลดลงนิดหน่อยด้วย

แต่ถ้าคิดง่ายๆ ว่าการที่ชัชชาติประกาศตัวลงแข่งนานขนาดนั้น ถ้าเอาพลังอนุรักษนิยมหรือไม่เป็นประชาธิปไตยตามเงื่อนไข 62 หรือพลังต้านทักษิณมารวมกันสามพรรค คือ รักษ์กรุงเทพประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ มาร่วมแล้วก็ชนะชัชชาติแน่นอน

นี่เป็นเงื่อนไขว่าฝั่งนั้นตอนเปิดตัวพี่เอ้คนเดียวนั้นโอกาสในการแข่งขันจึงสูสีมาก

คำอธิบายง่ายๆ จึงหมายถึงว่าชัชชาติชนะด้วยคะแนนจากสองฝาย

เราสันนิษฐานว่าคนที่เลือกชัชชาติคือ คะแนน ส.ก.ก้าวไกลหักที่เลือกวิโรจน์ 231,676 คะแนน ส.ก.ไทยสร้างไทยหักที่เลือกศิธาคือ 168,255 รวมกับคะแนน ส.ก.เพื่อไทย 620,009

ซึ่งถ้าเอาคะแนนของชัชชาติ 1,386,215 มาลบพวกนี้จะเป็นคะแนนอนุรักษนิยม 365,973

ทั้งนี้ เมื่อหักส่วนต่างระหว่าง ส.ก.ประชาธิปัตย์กับส่วนที่เลือกพี่เอ้ อีก 94,205 ก็ยังถือว่าเป็นคะแนนรวมอนุรักษนิยมอยู่ดี และเป็นคะแนนอนุรักษนิยมที่มากกว่าผู้สมัครฝั่งอนุรักษนิยมแต่ละคนที่ได้

แต่คำว่าชัชชาติลงสมัครในนามอิสระนั้นจึงเป็นเรื่องที่มานั่งคิดว่า คำว่า “อิสระ” คืออะไรกันแน่ และเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจว่าการลงสมัครและการทำงานจะต้องเป็นอิสระ

แต่การเป็นอิสระหมายถึงการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ลอยตัวเหนือปัญหา และลอยตัวเหนือความขัดแย้ง

และความเป็นอิสระจะหมายถึงจะเข้าพัวพัน (engage) กับความขัดแย้งที่มีให้เปลี่ยนเป็นพลังที่สร้างสรรค์ได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าชัชชาติมีคุณสมบัติเป็นนายกรัฐมนตรี

ผมคิดว่าไม่ใช่ และยังไม่ใช่เวลาที่จะคิดเช่นนั้น เอาเป็นว่าในตอนนี้ควรชี้แค่ว่า ชัชชาติมีคุณสมบัติที่นายกรัฐมนตรีคนนี้ไม่มีจะดีกว่า และเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนนี้ควรศึกษา

สิ่งที่ชัชชาติมีคือสิ่งที่เป็นคุณสมบัติของผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเมืองที่ดีเขามีกันในทางการเมืองนคร ก็คือ คุณสมบัติของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ หรือการสร้างพันธมิตรในการพัฒนาเมือง (city alliance หรือ coalition)

เมืองบางเมืองเป็นเมืองคนผิวขาว ก็มีนายกเทศมนตรีที่เป็นคนผิวดำได้ หรือเมืองที่เป็นเมืองคนผิวดำก็มีคนผิวขาวเป็นผู้นำเมืองได้ หรือการเมืองแบบก้าวหน้าในเมืองก็อาจไม่ได้ทิ้งฝ่ายทุนและฝ่ายอนุรักษนิยมไว้ข้างหลัง

การพัฒนาเมืองรวมกันเริ่มจากการยอมรับปัญหาร่วมกันก่อน แล้วพยายามหาทางออกไปด้วยกัน เจรจาพูดคุยกันไปเรื่อยๆ เรื่องแบบนี้ต้องการคนที่พอพูดกันได้ ต้องการคนนำความฝันและความหวังและได้รับความไว้ใจในระดับหนึ่ง

การเมืองแบบนี้ไม่ได้เกิดในกรุงเทพฯมานาน คิดว่าหลังพลตรีจำลองยุคแรกก็ไม่มีแล้ว เพราะเป็นการเมืองที่แทบจะไม่ต่างกันกับตอนนั้น คือตอนพลตรีจำลองลงผู้ว่าฯก็เป็นการเลือกตั้งที่เว้นวรรคมาสิบปี ของชัชชาติก็เก้าปี อย่างน้อยทุกกลุ่มฝ่ายระบุปัญหา กทม.ได้ไม่ต่างกันมาก ในรอบนี้เอาจริงเป็นเรื่องวิธีการและท่าทีในการแก้ปัญหามากกว่าตัวปัญหาเองเสียเป็นส่วนใหญ่

การเมืองระดับนครโดยรวม (city-wide) ไม่ได้อยู่ในโหมดของพรรคเสมอไป โหมดอิสระอาจหมายถึงการประสานงานกับทุกฝ่าย และอาจหมายถึงเป้าหมายของการสร้างเมืองให้พลเมือง ไม่ได้ให้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง

หมายถึงว่าการสร้างเมืองให้เป็นพลเมืองทำให้การร่วมมือข้ามสีและอุดมการณ์ได้ อย่างน้อยในปัญหาในชีวิตประพระจำวันที่เกิดขึ้นและทุกสีทุกฝ่ายได้รับผลกระทบ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และ มีพลวัตเสมอ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากมิติของการเมืองในการพัฒนาเมือง เพราะถ้าไม่สร้างสมดุลของการเติบโตของเมืองหรือการพัฒนาเศรษฐกิจกับความเป็นธรรมในเมือง ก็จะสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้ยาก

เวลาสี่ปีนี้จะพิสูจน์ครับว่า “การสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับความเป็นธรรมในเมืองเพื่อให้เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน และอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรี” คืออะไร ไม่ใช่แค่เก้าด้านหรือ สองร้อยนโยบายบวกกับแผนพัฒนา กทม.และแผนชาติ

ส่วนนี้เป็นส่วนที่พ้นจากมิติของการเมืองนครในมิติของการเลือกตั้งมาสู่การเมืองในมิติของการพัฒนาเมืองครับ

ในส่วนสุดท้าย อยากให้ลองพิจารณาการเมืองนครในระดับของชุมชน คือเมื่อลงไปดูเรื่องของผลการเลือกตั้ง ส.ก. ผมคิดว่าชัยชนะของเพื่อไทยและก้าวไกลนั้นเป็นชัยชนะที่ต้องจารึกเอาไว้ แต่ต้องไม่ลืมการรักษาเก้าอี้ของประชาธิปัตย์เองไว้ถึงเก้าเก้าอี้ และคะแนนรวมที่น้อยลงกว่าการเลือกตั้งทั่วไปไม่มาก

และต้องไม่ลืมว่าหลายพรรคที่มีการย้ายพรรคนั้นก็เป็นของประชาธิปัตย์มาเดิมด้วย

มาลองดูข้อมูลคร่าวๆ ของ ส.ก.ในรอบนี้ครับใน ส.ก. 50 คน 50 เขต แบ่งเป็น

1.ส.ก.รักษาที่นั่ง 17 คน (คลองสาน คันนายาว จอมทอง ดอนเมือง ดินแดง ดุสิต บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ บางขุนเทียน บางบอน ประเวศ พญาไท มีนบุรี ราษฎร์บูรณะ สัมพันธวงศ์ สายไหม และหนองแขม)

2.ส.ก.กลับมาทวงที่นั่ง 1 คน (ปทุมวัน (2549))

3.ส.ก.เลื่อนขั้นจาก ส.ข.รอบที่แล้ว 4 คน (ธนบุรี (เลื่อนจาก ส.ข.จอมทอง) วัฒนา (เลื่อนจาก ส.ข.พญาไท) บางแค และห้วยขวาง)

4.ส.ก.เลื่อนขั้นจาก ส.ข.รอบเก่า 2 คน (หนองจอก (2545) และทวีวัฒนา (เลื่อนจาก ส.ข.คลองสาน 2549))

5.ส.ก.หน้าใหม่ 26 คน (คลองเตย คลองสามวา จตุจักร ตลิ่งชัน ทุ่งครุ บางกะปิ บางเขน บางคอแหลม บางซื่อ บางนา บางพลัด บางรัก บึงกุ่ม ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระโขนง พระนคร ภาษีเจริญ ยานนาวา ราชเทวี ลาดกระบัง ลาดพร้าว วังทองหลาง สวนหลวง สะพานสูง สาทร และหลักสี่) โดยเป็นเครือญาติอดีต ส.ก. 2 คน (บางซื่อ (เก่า) และป้อมปราบศัตรูพ่าย (รอบที่แล้ว)) และเครือญาติ ส.ส.ปัจจุบัน2 คน (คลองสามวา และภาษีเจริญ)

ส่วนการย้ายพรรค มีทั้งหมด 12 กรณี เป็นการย้ายพรรคแล้วชนะซ้ำ 9 คน และเคยย้ายพรรคแล้วแพ้มาก่อนในรอบที่แล้ว และย้ายอีกครั้งในรอบนี้มาชนะอีก 3 ตน

1.จอมทอง (ส.ก.ประชาธิปัตย์ 2553 มาเป็น ส.ก.เพื่อไทย 2565)

2.ดอนเมือง (ส.ก. ประชาธิปัตย์ 2555 ลง ส.ส.พลังประชารัฐ 2562 แพ้ มาเป็น ส.ก.เพื่อไทย 2565)

3.ดินแดง (ส.ก.เพื่อไทย 2553 มาเป็น ส.ก.พลังประชารัฐ 2565)

4.ธนบุรี (ส.ข.จอมทอง ประชาธิปัตย์ 2553 มาเป็น ส.ก.ธนบุรี เพื่อไทย 2565)

5.บางแค (ส.ข.ประชาธิปัตย์ 2553 มาเป็น ส.ก.ก้าวไกล 2565)

6.พญาไท (ส.ก.ประชาธิปัตย์ 2553 มาเป็น ส.ก.ก้าวไกล 2565)

7.ราษฎร์บูรณะ (ส.ก.ประชาธิปัตย์ 2553 มาเป็น ส.ก. ไทยสร้างไทย 2565)

8.วัฒนา (ส.ข.พญาไท ประชาธิปัตย์ 2553 มาเป็น ส.ก.วัฒนา ก้าวไกล 2565)

9.สายไหม (ส.ก.ประชาธิปัตย์ 2553 มาเป็น ส.ก.ไทยสร้างไทย 2565)

ส่วนที่เคยย้ายแล้วแพ้ แล้วมาชนะในรอบนี้ มี 3 คน

1.ทวีวัฒนา (ส.ข.คลองสาน ประชาธิปัตย์ 2549 ลง ส.ข.คลองสาน เพื่อไทย 2553 แพ้ มาเป็น ส.ก.ทวีวัฒนา ก้าวไกล 2565)

2.ปทุมวัน (ส.ก.ประชาธิปัตย์ 2549 ลง ส.ก.อิสระ 2553 แพ้ มาเป็น ส.ก.รักษ์กรุงเทพ 2565)

3.หนองจอก (ส.ข.ไทยรักไทย 2545 มาเป็น ส.ก.พลังประชารัฐ 2565)

สิ่งที่ต้องการบอกคือความเปลี่ยนแปลงในระดับเขตหรือชุมชนนั้นซับซ้อนและงานวิจัยน้อย ถ้าพิจารณาจากล่างขึ้นบนคือ สมาชิกสภาเขตถูกยุบ ส.ก.เองก็ย้ายไปมา ดังนั้น การจะมามองว่าเรื่องสังกัดพรรคเป็นเรื่องหลักนี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในระดับเขตแม้ว่าจะสังกัดพรรคกัน ก็ย้ายขั้วกันได้ง่ายๆ

มิพักต้องกล่าวว่า ระบบการเมืองแบบครอบครัวในแต่ละเขตก็มีตั้งแต่เขตชั้นนอกและชั้นใน และตัวประชากรรุ่นใหม่ๆ ก็ก้าวเข้ามาในแต่ละพื้นที่ด้วย ดังกระแสของก้าวไกลที่ “การทำพื้นที่ยังน้อย” แต่เข้าถึงผ่านสื่อ และจากการพุ่งชนแบบวิโรจน์

ยังมีรายละเอียดอีกมากในแง่การเมืองของ กทม. ที่มีสามระดับคือ การเชื่อมโยงกับชาติ การเมืองทั้งเมือง และ การเมืองในระดับชุมชน ทั้งในเรื่องของการเมืองในมิติการเลือกตั้ง และการเมืองในมิติการพัฒนาเมือง เราไม่สามารถฟันธงอะไรได้เป็นตัวเลขง่ายๆ อยากให้ลองคิดพิจารณากันให้ดีว่าเงื่อนไขบริบทต่างๆ ของความวูบไหวในคะแนนเสียงและทิศทางของการเมืองใน กทม.เป็นอย่างไรร่วมกันครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image