คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : แด่เราและคุณผู้ธรรมดาอย่างพิเศษ

อันที่จริงมีประเด็นที่ว่าจะชวนคุยถึงเรื่องนี้ ตั้งแต่เรื่อง “ถึงคุณคนธรรมดา” เป็นไวรัลเมื่อต้นเดือนที่แล้ว แต่ก็ด้วยว่าเป็นเดือนแห่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ประกอบกับมีหลายเรื่องน่าสนใจกว่า เรื่องของ “คุณคนธรรมดา” จึงกลายเป็นหนึ่งในไอเดียสำรองที่ไม่ได้นำมาใช้

แต่ก็เพราะหลังเลือกตั้งนี้ได้ไปเห็นสเตตัสรำพึงของมิตรสหายสองท่านโดยไม่ได้นัดหมาย จุดประกายเรื่อง “คุณคนธรรมดา” ผู้เหน็ดเหนื่อยนี้ขึ้นมาใหม่ ประกอบกับคิดว่าแม้เรื่องนี้จะหลุดจากความสนใจไปแล้วก็ตามที แต่การหวนมาทบทวนถึงในตอนที่เรื่อง “เย็นแล้ว” ก็อาจจะเป็นจังหวะที่ดีกว่าชิงพูดเรื่องเดียวกันพร้อมๆ กับคนอื่น ความเห็นอื่นอีกนับร้อย

เรื่องของเรื่องคือ หลังจากชัยชนะอันถล่มทลายในเวทีเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ของ อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้รับคะแนนความไว้วางใจไปกว่าล้านสามแสนเสียง มิตรสหายท่านหนึ่งซึ่งแม้จะยินดีแต่ก็แอบอึดอัดบ้างกับสโลแกนและกระแส “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ที่เป็นสโลแกนหาเสียงของท่านชัชชาติที่ติดตาติด
สมองผู้คน ซึ่งสำหรับเขาแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าการทำงานจะเป็นเรื่องไม่ดี เพียงแต่โลกและสังคมนี้ควรมีพื้นที่สำหรับคนที่ไม่อยากทำงาน หรืออยากทำงานระดับธรรมดา ไม่ต้องยกกำลังสามบ้างได้หรือไม่ กับมิตรสหายอีกท่านที่ถามขึ้นมาลอยๆ ว่า ที่บ้านอื่นเมืองอื่น ถ้าไม่นับนักลงทุน หรือคนที่วางเป้าหมายชีวิตที่ความมั่งคั่งร่ำรวย คนทั่วไปๆ เขาต้องหมกมุ่นจริงจังกับการต้องลงทุนด้วยวิธีต่างๆ ให้ชนะเงินเฟ้อ หรือหาอาชีพที่สองที่สามอะไรเหมือนคนไทยหรือเปล่า

เมื่อถอดความรู้สึกของมิตรสหายทั้งสองท่านออกมาก็อาจจะพอได้จุดร่วมตรงกัน คือการตั้งคำถามว่า
เราจะเป็นคนธรรมดาที่ทำงานด้วยความขยันหมั่นเพียรพอผ่านไปในแต่ละวัน ใช้ความขยันหมั่นเพียรตามสมควร จากนั้นก็พักผ่อนไปตามอัตภาพ ไม่ต้องแสวงหาช่องทางลงทุน ทำอาชีพที่สองที่สาม หรือขวนขวาย Upskill/Reskill แบบนี้ได้อยู่หรือไม่ในโลกปัจจุบัน

Advertisement

ทำให้ผมเชื่อมโยงเข้ากับที่เคยตั้งคำถามถึงเรื่อง “ความลำบากของคนธรรมดา” ในช่วงที่มีไวรัลที่ว่านั้น

คำถามที่น่าจะยังไม่มีใครยกมาในแคมเปญเกี่ยวกับคนธรรมดา คือ ทำไมเราต้องให้กำลังใจคนธรรมดาไม่ให้ท้อแท้ด้วย?

เพราะถ้าคนธรรมดา หมายถึงมนุษย์เงินเดือน หรือเจ้าของกิจการระดับเล็กหรือกลาง ที่ทำงานวันละประมาณ 8-10 ชั่วโมง หรือถ้าพนักงานประจำก็ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นๆ ถ้าต้องทำโอทีอย่างมากก็ทุ่มสองทุ่ม เวลาเลิกงานหรือวันหยุดก็ใช้ไปกับครอบครัว หรืองานอดิเรกความบันเทิงตามอัตภาพ ถ้ามีเงินเหลือก็ลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำพอให้งอกเงยบ้าง มีเงินบำเหน็จบำนาญ หรือกองทุนเลี้ยงชีพในยามแก่เฒ่า

Advertisement

เช่นนี้ คนธรรมดาที่ไม่ได้ไปรบทัพจับศึกหรือเสี่ยงตายขายปลาช่อนที่ไหน ทำไมถึงเหน็ดเหนื่อยท้อถอยถึงขนาดต้องการกำลังใจกันด้วยเล่า

นั่นก็เพราะสิ่งที่หลงเหลือตกค้างมาจากยุค “ทุกคนคือคนพิเศษ” เมื่อราว 8-10 ปีก่อนนั่นเอง

เพื่อจะทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ จำเป็นต้องย้อนกลับไปช่วงราวๆ กลางปี 2556 หลังการฟื้นตัวจากน้ำท่วมใหญ่ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เรื่องนี้อาจเริ่มต้นมาจากการฟื้นตัวของตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงปี 2550-2551 ที่ดัชนีตลาด หลักทรัพย์ไทยมีมูลค่าไม่ถึง 1,000 จุด แต่ในปี 2556-2557 ปรากฏว่าตลาดหุ้นเติบโตขึ้นไปถึงราว 1,600-1,700 จุด ส่งผลให้คนที่ซื้อหุ้นสะสมไว้ตั้งแต่ช่วงวิกฤต หรือแม้เพียงซื้อกองทุน LTF ไว้เพื่อประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี เมื่อถึงเวลาจะขายกองทุนเมื่อครบกำหนดตามกฎหมาย หรือกลับมาดูพอร์ตหุ้นของตัวเองอีกครั้งในช่วงเวลานั้น ก็พบว่าบางคนทำกำไรได้ถึง 300%

การฟื้นตัวของตลาดทุนดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของกระแสการ “ให้เงินทำงานแทน” หรือ Passive Income ได้แก่ เทรนด์การลงทุนในหุ้น กองทุน อสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ เอาเป็นว่าในสมัยนั้นคนทำงานเงินเดือนเกินขั้นต่ำปริญญาตรีในตอนนั้น ไม่ว่าจะระดับ Fist Jobber หรือ Senior ใครไม่ลงทุนอะไรกับเขาบ้าง เรียกว่าเชย หรือถูก “ขู่” โดยสื่อและกระแสของสังคมว่า ระวังถ้าไม่ลงทุนอะไรเลย เก็บเงินฝากธนาคารไว้เฉยๆ ระวังเงินจะมูลค่าลดเพราะแพ้เงินเฟ้อ แก่ตัวมาไม่มีเงินพอใช้ไม่รู้ด้วย

ในยุคนั้นเช่นกันที่วงการหนังสือแนวพัฒนาตัวเองเริ่มเติบโตขึ้น จากที่เคยมีสำนักพิมพ์เจ้าเดียวที่แปลและออกหนังสือแนวนี้เป็นหลักในตลาด ก็ปรากฏว่ามีคู่แข่งเพิ่มขึ้นทั้งสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก และเจ้าใหญ่สำนักพิมพ์ยักษ์ของประเทศนี้ ก็เปิดสำนักพิมพ์สำหรับหนังสือแนว How to นี้ขึ้นมาเลย และเป็นช่วงเริ่มต้นของ Podcast ในประเทศไทย ซึ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงนั้น ก็คือรายการ Podcast ที่บอกเล่าเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย มีแรงบันดาลใจ และการจัดสรรเวลาหรือดึงเอาพลังผลิตภาพที่แฝงเร้นอยู่ของเราออกมาให้เต็มที่

พร้อมกับการมาถึงของบรรดาไลฟ์โค้ชต่างๆ ทั้งของจริงและของปลอม ที่สอนให้ผู้คนพาตัวไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ ซึ่งส่วนใหญ่หมายถึงความร่ำรวยมั่งคั่ง

ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านของสภาพธุรกิจการงานในโลกครั้งใหญ่ที่เราเรียกว่าเป็นยุคแห่งการ Disruption โดยที่เราได้เห็นธุรกิจที่เคยมั่นคงมากๆ เช่น สื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ และธนาคาร ถูกเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสารผ่านเครือข่าย Internet ที่ความเร็วระดับ 4G ถือเป็นมาตรฐาน กลายเป็นธุรกิจที่ล้มหายเข้าสู่อัสดงในเวลาเพียงชั่วหนึ่งถึงสองปี อาชีพที่เคยมั่นคงก็กลายเป็นความไม่มั่นคงไปเสียแล้ว ผลพวงจากการนั้นทำให้คนที่เพิ่งเข้าสู่การทำงานไปจนถึงคนทำงานที่มีอายุงานตั้งแต่ 5-10 ปี ที่ยังต้องแสวงหาความมั่นคงในชีวิตแตกตื่นกับการลงทุน การเพิ่มพูนหรือเปลี่ยนทักษะ (Reskill/Upskill) การค้นหาฉันทะหรือความปรารถนา (Passion) และการเพิ่มผลิตผล (Productive)

เป็นยุคสมัยที่ผู้คนมุ่งมั่นตามหาฉันทะหรือความทะยานอยากอันเป็นแรงขับภายในที่เรียกว่า Passion รีดเค้นศักยภาพให้สร้างผลิตผลยิ่งยวดระดับ Super Productive แต่การใช้ชีวิตก็จะต้องอยู่ภายใต้หลักความได้สัดส่วนแบบ Work life Balance ด้วย

จึงไม่ต้องแปลกใจที่ผู้ใช้ชีวิตโดยหล่อหลอมความเชื่อเข้ากับคุณค่าที่ได้กล่าวไป (สารภาพว่าหมายถึงผมด้วย) ย่อมคิดว่าการใช้ชีวิตตามคุณค่าดังกล่าวจะทำให้เราดึงความเป็น “คนพิเศษ” ของเราออกมาได้ แต่จะไปทางไหนคงสุดแต่ความเชื่อของแต่ละคน บ้างก็เป็นความมั่งคั่ง แต่สำหรับหลายคนคือเพื่อให้ได้สร้างผลงานระดับที่โลกไม่ลืม หรือมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในวงการ

ในตอนนั้น (ปี 2557-2561) แม้ว่าการเมืองอาจจะยังเรียกไม่ได้ว่าดี เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาแห่งการครองอำนาจโดยคณะรัฐประหาร แต่เราก็เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เมื่อมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลที่มีที่มาอย่างถูกต้องตามครรลองของประชาธิปไตย การติดต่อค้าขายหรือทำธุรกิจบางเรื่องกับชาวโลกก็จะคลี่คลายได้เสียที

แต่แล้วหลังจากนั้นทุกคนก็สิ้นหวังเพราะการสืบทอดอำนาจ กลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังเริ่มปรากฏชัด และขยายพองตัวขึ้นยิ่งใหญ่แบบที่คนตัวเล็กตัวน้อยไม่รู้จะเอาแรงกำลังหรือทุนที่ไหนไปแข่ง หรือถึงมีก็จะเจออุปสรรคแห่งกฎหมายหรืออำนาจรัฐ ความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงขึ้นชัดเจนอย่างที่ต้องแกล้งไม่มองจึงจะไม่เห็น คนที่รวยอยู่แล้วก็ยิ่งรวยขึ้นไปอีก และสุดท้ายเรื่องที่มาปิดฝาโลงคือวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19

การพังทลายของยุคสมัยแห่งความหวังกลับกลายเป็นว่าการทำงานหนักของเราไม่ใช่เป็นไปเพื่อ Passion หรือเป้าหมายความมั่งคั่ง ชื่อเสียง หรือการได้ทำตามปรารถนาแห่งตนเองอันใด แต่การทำงานหนักระดับยิ่งยวด Super Productive ราวกับเปี่ยม Passion เช่นนั้นเป็นไปเพียงเพื่อรักษารายได้ให้เท่าเดิมเอาไว้
ไม่ถูกไล่ออกจากงาน หรือเพื่อประคองธุรกิจเดิมให้เดินต่อไปได้ เพื่อหล่อเลี้ยงระดับการใช้ชีวิตเอาไว้ให้ได้ในระดับเดิม หรือเพิ่มเติมคือบางคนเข้าสู่วัยที่มีครอบครัว มีลูกน้อยที่ต้องเลี้ยงดูส่งเสียเล่าเรียนแล้ว

เช่นนี้ ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกแห่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นต้นมา คำฮิตที่เข้ามาแทนที่สำหรับบรรดาคนทำงานทั้งหลายแทนคำจำพวก Passion, Productive, Passive Income, Work life Balance กลับกลายเป็นคำว่า Burnout หรือที่แปลว่า “หมดไฟ”

นั่นก็เพราะเราต้องใช้ “ไฟ” ในการทำงานหนักระดับพิเศษเพียงเพื่อจะยังไว้ซึ่งชีวิตธรรมดา ทั้งที่ก่อนหน้าการที่คนเรายอมทำงานหนักเกินขีดมาตรฐานปกตินั้นก็เพื่อเชื่อว่าเราจะได้รางวัลที่เป็นพิเศษสำหรับการทำงานเช่นนั้น อาจจะเป็นความมั่งคั่ง ชื่อเสียง หรือแค่ได้ทำตามฝันแรงปรารถนา การทำงานหนักที่มีสิ่งเหล่านี้หล่อเลี้ยงอยู่มันจึงเป็นทัณฑ์ทรมานที่เลือกแล้วโดยสมัครใจ จึงไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ความเครียด เพราะมันเป็นกติกาอันแสนธรรมดาเช่นภาษิต “อันของสูงแม้ปองต้องจิต ถ้าไม่คิดปีนป่ายจะได้หรือ” เช่นนี้ถ้าใครอยากใช้ชีวิตแบบ “คนธรรมดา” ก็ทำงานไป 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น เลิกงานแล้วก็วางทุกอย่างไว้ ส่วนใครที่อยากไปไกลกว่านั้น เช่น ประสบความสำเร็จหรือร่ำรวย ก็ชอบที่จะทำงานหนักเป็นพิเศษเพื่อให้ชีวิตก้าวไปสู่จุดนั้น อาจจะต้องหางานที่สองที่สาม ต้อง Upskill/Reskill หรือลงทุนอย่างชาญฉลาด

มันเป็นความยุติธรรมตามธรรมชาติอยู่แล้ว ใครอยากธรรมดา ก็ทำงานธรรมดา ใครอยากพิเศษ ก็ต้องทำงานให้มันพิเศษ เท่านั้นเอง

แต่เมื่อเราต้องใช้แรงพลังระดับ “ปีนป่าย” เพียงเพื่อเลี้ยงชีพไปวันๆ เพียงเพื่อรักษา “ชีวิตปกติ”
เอาไว้ ระยะยาวกว่าสองปี มันจึงทำให้หมดไฟกันไปจนต้องให้กำลังใจกัน ด้วยเหตุนี้ แม้เพียงคนธรรมดา
ก็ต้องการกำลังใจ และกำลังใจอย่างยิ่งด้วยที่ต้องทำงานเต็มกำลังเพื่อรักษาชีวิตปกติเอาไว้

เราทั้งหลายส่วนใหญ่นี้ จึงตกอยู่ในสถานะของผู้คนธรรมดาที่มีภาระอย่างพิเศษที่รอการปลอบประโลมใจซึ่งกันและกันในทุกวันนี้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image