ไทยพบพม่า : พม่าได้จะได้อะไร จากการประชุมสุดยอดสหรัฐ-อาเซียน

การหารือร่วมกันระหว่างรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส กับผู้นำอาเซียน โดยที่นั่งของพม่าถูกเว้นว่างไว้ เพราะคณะรัฐประหารพม่าไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วม

การประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐอเมริกากับผู้นำอาเซียนจบลงไปตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม แต่ยังมีหลายประเด็นที่น่าพูดถึง ท่าทีของสหรัฐค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการ “สอนมวย” คณะรัฐประหารพม่า และเหมือนที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้คือสหรัฐแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลคณะรัฐประหาร ครั้นจะเชื้อเชิญตัวแทนของรัฐบาล NUG (National Unity Government) หรือรัฐบาลคู่ขนาน ให้เป็นตัวแทนของพม่าในการประชุมสุดเอ็กซ์คลูซีฟนี้ก็ยังทำไม่ได้ซะทีเดียว ส่วนหนึ่งเพราะสหรัฐยังไม่ได้ให้การรับรองรัฐบาล NUG อย่างเป็นทางการ และคงจะรับรองยาก (สำหรับประเด็นนี้ ผู้เขียนจะยกยอดไปกล่าวถึงในตอนต่อๆ ไป) ถึงกระนั้น รัฐบาล NUG ก็ส่งซิน มาร์ อ่อง (Zin Mar Aung) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของตนไปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ในช่วงเดียวกับที่มีการประชุม

ตัวแทน NUG ส่งคนไปหารือกับตัวแทนของรัฐบาลหลายประเทศ ทั้งจากสหรัฐและอีกหลายประเทศในอาเซียน ที่ผ่านมามาเลเซียดูจะแอ๊กทีฟที่สุดที่จะติดต่อและให้การรับรอง NUG แม้รัฐบาลมาเลเซียยังไม่ให้การรับรอง NUG อย่างเป็นทางการ แต่ท่าทีที่เป็นบวกของไซฟุดดิน อับดุลลาห์ (Saifuddin Abdullah) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมาเลเซีย ทำให้เขาเป็นผู้นำอาเซียนคนแรกที่ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของ NUG แบบไม่เป็นทางการ ไซฟุดดินทวีตว่า ยินดีจะทำงานร่วมกับ NUG เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตยในพม่า ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชน และสนับสนุนผู้ลี้ภัยจากพม่า

เรียกว่าการหารือระหว่างไซฟุดดินกับซิน มาร์ อ่อง แม้ไซฟุดดินจะยืนยันว่าเป็นการหารือแบบ “ไม่เป็นทางการ” แต่ก็สร้างแรงกระเพื่อมไปถึงเนปยีดอ จนรัฐบาลคณะรัฐประหารต้องออกแถลงการณ์ตอบโต้ โดยเรียก NUG ว่าเป็น “องค์กรผิดกฎหมาย” (unlawful association) และแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐและอีกหลายชาติในอาเซียนยอมให้ตัวแทนของ NUG เข้าพบ ในแถลงการณ์ยังกล่าวอีกว่ารัฐบาลคณะรัฐประหารได้ร่อนจดหมายไปหารัฐบาลทุกประเทศแล้วว่า NUG เป็นองค์กรที่ทั้งผิดกฎหมายและเป็นขบวนการผู้ก่อการร้ายด้วย

นอกจากประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะไม่เชื่อว่า NUG เป็นองค์กรก่อการร้ายตามที่คณะรัฐประหารกล่าวอ้างแล้ว ยังพยายามสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นแบบเปิดเผยหรือไม่เปิดเผย แน่นอนว่าในบรรดาชาติสมาชิกอาเซียน มีเพียงไม่กี่ชาติที่เรียกว่า “โปร” รัฐบาล NUG อย่างน้อยๆ ก็มีรัฐบาลมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในส่วนของฟิลิปปินส์ที่เพิ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่ ก็คงต้องดูต่อไปว่าท่าทีของบองบองมาร์กอส ที่มีต่อกรณีพม่าจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะให้ทายก็คงไม่ต่างจากท่าทีของอดีตประธานาธิบดีดูแตร์เตมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะฟิลิปปินส์ถือว่าตัวเองอยู่ห่างไกลจากพม่าเกินไป และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะทั้งดูแตร์เตและมาร์กอสไม่ได้เป็นผู้นำที่เชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพและการพัฒนาประชาธิปไตยมากนัก

Advertisement

ในช่วงท้ายการประชุมสุดยอดสหรัฐ-อาเซียน ทุกประเทศออกแถลงการณ์ร่วมกันฉบับหนึ่ง เป็นแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วม (Joint Vision Statement) ที่ยึดโยงกับกฎบัตรสหประชาชาติ กฎบัตรอาเซียน และปฏิญญาว่าด้วยเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และการวางตัวเป็นกลาง (ZOPFAN) และกฎบัตร/ปฏิญญาอีกหลายฉบับที่กล่าวถึงการสร้างสันติภาพและหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมกล่าวถึงพม่าในส่วนของ “การรักษาสันติภาพและการสร้างความเชื่อมั่น” ซึ่งอ้างถึงฉันทามติ 5 ข้อ ที่พม่าเคยลงนามร่วมกับชาติสมาชิกในอาเซียนมาก่อน (แต่ไม่ยอมทำตาม)

แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมยังเรียกร้องให้คณะรัฐประหารปล่อยตัวนักโทษการเมืองและให้ความร่วมมือกับทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำพม่า ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของ ดร.โนเอลีน เฮเซอร์ (Noeleen Heyzer) ก่อนหน้านี้ บางประเทศในอาเซียนเคยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองมาแล้ว แต่แน่นอนเสียงข้างน้อยย่อมกดดันพม่าได้น้อย ดังนั้น เมื่อสหรัฐออกแถลงการณ์ร่วมกับอาเซียน ซึ่งหมายความว่าชาติสมาชิกในอาเซียนทุกชาติร่วมกันเรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง

ความจริงก็คงมีบางประเทศที่ถูกลากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ด้วย ทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้วรัฐบาลของตัวเองไม่ได้ให้ความสำคัญกับพม่านัก อย่างกรณีของลาว เวียดนาม หรือกัมพูชา หรือบางประเทศที่ผู้นำมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคณะรัฐประหารพม่า แต่เมื่อในเวทีการเมืองโลกมีชนักติดหลังในฐานะ “ชาติสมาชิกอาเซียน” และการรักษามารยาท ก็ต้องปล่อยเลยตามเลย ร่วมแถลงการณ์ไปกับสหรัฐและอาเซียนด้วย คงไม่ต้องบอกว่าชาติในกลุ่มหลังนี้คงไม่พ้นประเทศเพื่อนบ้านที่แสนจะใกล้ชิดกับพม่าอย่างไทยนั่นเอง

Advertisement

แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมนี้ยิ่งทำให้พม่าโกรธแค้นอาเซียนและสหรัฐเข้าไปอีกระดับ ถึงขนาดส่งจดหมายร้องขอให้ฝ่ายจัดงานประชุมสุดยอดสหรัฐ-อาเซียนลบย่อหน้าที่กล่าวถึงพม่าออกจากแถลงการณ์ โดยมองว่าทั้งสหรัฐและอาเซียนกำลังเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของพม่า อีกทั้งยังเป็นแถลงการณ์ที่ลำเอียง ที่ออกมาโดยไม่มีความเข้าใจข้อเท็จจริงในพม่า นอกจากนี้ ฝั่งคณะรัฐประหารยังมองว่าข้อเสนอที่สหรัฐและอาเซียนเสนอมายังเป็นข้อเสนอที่พม่ามิอาจรับได้ เพราะอยู่นอกเหนือฉันทามติ 5 ข้อที่อาเซียนเคยออกมาก่อนหน้านี้ (และพม่าปฏิเสธไม่ยอมทำตาม)

แม้ในที่ประชุมจะไม่ได้รวมตัวแทนของคณะรัฐประหารพม่าเข้าไปด้วย แต่ในงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส จัดเลี้ยงผู้นำอาเซียน ก็มีจดหมายเชิญส่งไปให้ผู้นำทุกชาติในอาเซียนรวมทั้งพม่าด้วย แต่ฝั่งรัฐบาลคณะรัฐประหารพม่าไม่ได้ส่งใครไปร่วมด้วย รูปที่ออกมาจึงเหมือนว่ามีผู้นำอาเซียนจากทุกชาติร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้นำสหรัฐอย่างชื่นมื่น ขาดแต่เพียงตัวแทนประเทศเดียวคือพม่า

นอกเหนือจากประเด็นของพม่า สหรัฐยังร่วมหารือกับผู้นำอาเซียนในอีกหลายประเด็น แน่นอนเป้าหมายของสหรัฐคือหารือเรื่องภัยคุกคามจากภายนอก โดยเฉพาะจากจีน ที่สหรัฐมองว่าเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ของทั้งภูมิภาคและของสหรัฐเองด้วย ในที่รับประทานอาหารกลางวัน แฮร์ริสกล่าวกับผู้นำอาเซียนว่า จีนอ้างว่าทะเลจีนใต้เป็นของตนแบบไม่ชอบธรรม ประเด็นนี้ทำให้สหรัฐจำเป็นต้องกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างเร่งด่วน ทั้งแบบทวิภาคีและพหุพาคี รัฐบาลสหรัฐเพิ่งอนุมัติงบประมาณมากกว่า 150 ล้านเหรียญ สำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในอาเซียน และขยายความร่วมมือทางทะเล ด้านสุขภาพ การศึกษา และอีกหลายประเด็นกับอีกหลายชาติในอาเซียน

จริงอยู่เรื่องพม่าอาจไม่ใช่ประเด็นหลักที่สหรัฐให้ความสนใจ แต่เมื่อวาระหลักของสหรัฐที่มีต่ออาเซียนในปัจจุบันคือการเร่งสร้างความชอบธรรม และแสดงให้เห็นว่าสหรัฐยังเป็นผู้นำฝั่งประชาธิปไตย ที่พร้อมจะปกป้องสิทธิมนุษยชน และเป็นพี่ใหญ่ที่คอยปกป้องชาติสมาชิกในอาเซียนจากการคุกคามของจีน เมื่อสหรัฐเลือกจะมาทางนี้ วาระที่เกี่ยวกับการสร้างประชาธิปไตยในพม่าก็ย่อมเป็นอีกหนึ่งวาระย่อย ที่จะช่วยขับบทบาทของสหรัฐในอาเซียนให้โดดเด่นขึ้นต่อไป

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image