การเมืองเรื่องเมืองเขียว : เรื่องที่มากกว่าเรื่องการปลูกต้นไม้

ในวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธแนวคิดที่ว่าด้วยเมืองน่าอยู่ การพัฒนา (เมือง) เพื่อความยั่งยืน และการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมของเมืองให้ดีขึ้น อย่างน้อยรูปธรรมในเรื่องของการปลูกต้นไม้ในเมืองก็ดูจะเป็นโครงการที่ผู้คนสนใจเข้าร่วม และการพูดถึงพื้นที่สีเขียวก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครตั้งข้อสงสัยกันอีก

คำถามก็คือ ที่มาที่ไปของการที่เมืองสีเขียวจะครองโลกนั้นมันมาได้อย่างไร และมันท้าทายความเข้าใจการเมืองในเมือง (urban politics) อย่างไร

เพราะหนึ่งในคำอธิบายก็คือการพูดถึงเรื่องเมืองสีเขียวในบางมิติกลายเป็นการยกเว้นไม่พูดถึงเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในเมือง โดยเฉพาะมิติของการเมืองในเมือง และอาจจะละเลยไปถึงเรื่องของประชาธิปไตยในระดับเมืองกันเลยทีเดียว

มาลองไล่ประเด็นกันก่อน เพราะในวงการนักศึกษาเรื่องเมืองเชิงวิพากษ์ (critical urban studies) หนึ่งในคำถาม/ข้อสงสัยที่สำคัญก็คือ ตกลงคำว่า “ความยั่งยืน” (sustainability) มีความหมายอย่างไรกันแน่ และแต่ละฝ่ายเข้าใจความหมายนี้ตรงกันหรือไม่ ทั้งที่ทุกคนเหมือนจะเชื่อว่าคำคำ นี้เป็นคำที่ทุกคนเข้าใจร่วมกัน เข้าใจตรงกัน แถมยังเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฉันทามติทางนโยบายเสียด้วย หมายความว่า
นโยบายต่างๆ ในการพัฒนาก็ล้วนแต่อ้างว่าเป็นนโยบายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ้น ไม่นับถึงเรื่องของการใช้ตัวชี้วัดแบบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ที่ใครๆ ก็พูดถึง

Advertisement

สิ่งที่นักวิพากษ์เมืองตั้งคำถามก็คือ การพูดเรื่องความยั่งยืน และการรักษาสิ่งแวดล้อมของเมืองในวันนี้ แม้ว่าจะมีการเข้าร่วมและความสนใจจากผู้คนรวมทั้งรัฐและธุรกิจมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับรากฐานนั้นลดบทบาทลง

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเรื่องของการที่แต่ละฝ่ายอาจเป็นด้วยในหลักการกว้างๆ ว่าโลกนี้ เมืองนี้ต้องเขียวขึ้น แต่คำถามคือจะทำอย่างไร อาจไม่ใช่เรื่องที่ตกลงกันได้ง่ายๆ

จากเดิมที่เราสนใจและเข้าใจว่า การสร้างความยั่งยืนนั้นทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นในแง่ของมิติด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งความเข้าใจพื้นฐานว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนคือการพัฒนาที่ไม่ลดทอนศักยภาพของการใช้ชีวิตของผู้คนรุ่นต่อไป สิ่งที่เริ่มจะเป็นที่เข้าใจสมัยนี้อาจไม่ได้ซับซ้อนและลึกซึ้งขนาดนั้น แต่อาจจะกลายเป็นทั้งแฟชั่นที่ทุนใหญ่ก็พูดถึง หรือการมองว่าความยั่งยืนของเมืองนั้นสามารถรองรับทุนนิยมที่มีการแข่งขันกันมากขึ้นในระดับโลก จากเดิมที่อาจมองว่าการรักษาสิ่งแวดล้อม กับการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นไปด้วยกันไม่ได้ เมื่อสี่สิบปีก่อน ขณะที่สมัยนี้เริ่มเชื่อกันว่าเศรษฐกิจสีเขียวนั้นเป็นภาคเศรษฐกิจที่สร้างกำไรได้สูงและอาจจะมาทดแทนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแบบเดิม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็มีส่วนช่วยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ ความเขียวจึงนำมาซึ่งความมั่งคั่ง (ไม่นับโครงการทำให้เมืองเขียวซึ่งมักจะถูกจัดทำขึ้นด้วยงบประมาณมหาศาล) และการแข่งขันให้เมืองเขียวนั้นก็ดูจะเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ในการแข่งขันกันในการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของเมืองแต่ละแห่งในการจัดลำดับของความเขียวในระดับโลก (ลองค้นอันดับที่ กทม.ไม่เคยติดใน travel.earth หรือ theculturetrip.com)

Advertisement

ถ้าลองพิจารณาอีกมุมหนึ่งแล้วจะพบว่าการพยายามส่งเสริมให้เกิดเมืองที่เต็มไปด้วยสีเขียวนั้นเกี่ยวพันกับสามเรื่องใหญ่

หนึ่ง การสร้างและส่งเสริมพื้นที่สีเขียวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจใหม่ที่มาพร้อมกับการแพร่กระจายของชุดเครื่องมือในการบริหารสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยเรื่องการควบคุม อาทิ มาตรฐาน ตัวชี้วัด ระบบการให้คะแนน จัดอันดับ และการให้รางวัล โดยทำให้แต่ละที่แข่งขันกันว่าที่ไหนมีการปฏิบัติได้ดีกว่ากัน

สอง นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมในเมืองกลายเป็นเรื่องของการพัฒนาขึ้น เพื่อส่งออกเป็นตัวแบบของพื้นที่อื่นๆ

สาม เมืองต่างๆ กำลังก้าวสู่ยุค “หลังการเมือง” (post-politics) ในความหมายที่ว่า การบริหารเมืองนั้นเน้นการเห็นพ้องต้องกัน เน้นผู้เชี่ยวชาญ ไม่สนใจเรื่องความขัดแย้งแต่เน้นการสร้างความร่วมมือและฉันทามติในการอยู่ร่วมกันซึ่งดูแล้วก็น่าจะดี แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจไม่ตั้งข้อสงสัยถึงฐานรากของความขัดแย้งในเมืองนั้น หรืออาจจะไม่ได้ “นับ” คนบางกลุ่มในเมืองเหล่านั้น และอาจทำให้คนที่ไม่ถูกนับ ไม่ถูกพบเห็นในเมืองนั้นไม่สามารถอยู่ในเมืองนั้นได้

ข้อสังเกตทั้งสามประการนี้นำไปสู่ความพยายามเข้าใจ “ระบอบสิ่งแวดล้อมเมือง” แบบใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น (urban environmental regime) ที่เราอาจจะยังไม่ค่อยสนใจมากนัก แต่มันมีที่มาที่ไป และส่งผลต่อการใช้ชีวิตร่วมกันในเมืองที่เราอาจคาดไม่ถึง

กล่าวอีกอย่างก็คือ ระบอบสิ่งแวดล้อมเมืองสมัยใหม่นี้ถูกครอบงำโดยเรื่องของการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบตลาด และการแข่งขันกันในเชิงเทคโนโลยี หรืออาจจะกล่าวได้ว่าอยู่ในมือของบริษัทใหญ่ที่แจ้งให้เราทราบว่าการประกอบการของเขานั้นรักษาสิ่งแวดล้อม หรืออยู่ในมือนักบริหารและนักวิชาการที่เน้นเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งนี้แตกต่างจากกำเนิดแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมในเมืองในสมัยทศวรรษที่ 1970 และ 1980 ในยุโรป ซึ่งเป็นเรื่องของการต่อสู้จากรากหญ้า หรือขบวนการจากประชาชนที่ทุกข์ยาก ในยุโรปที่เรียกร้องประชาธิปไตย และการปรับปรุงคุณภาพชีวิตในเมือง ผ่านการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานในมิติทางสังคมและนิเวศวิทยา อาทิ การพยายามหาทางเลือกจากการพัฒนาเมืองในระดับใหญ่ที่นำโดยรัฐ ซึ่งมักไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และไม่เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

นอกจากนี้ การต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในยุคแรกยังเกี่ยวพันกับวิกฤตของระบบการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบเดิมด้วย ซึ่งแม้ว่าในทางหนึ่งจะผลิตของได้มาก แต่อาจจะผลิตของที่ล้นตลาด และอาจเกิดปัญหาเรื่องสวัสดิการที่ระบบทุนนิยมแบบอุตสาหกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่สองต้องแบกรับเอาไว้ ดังนั้น ในทางหนึ่งการพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ หรือสร้างเรื่องราวต่างๆ ให้กับเมืองโดยรัฐบาลท้องถิ่นในยุคแรกๆ ก็ยังไม่ได้ใส่ใจเรื่องสวัสดิการของผู้คนมากนัก มาสู่การเริ่มให้ความสำคัญกับมิติเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น อย่างน้อยเพื่อให้เมืองน่าเที่ยว และมีคนเข้ามาท่องเที่ยว หรือเข้ามาทำงานมากขึ้นในเมืองเหล่านั้น เช่น การส่งเสริมการออกแบบตึกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งโครงการส่งเสริมพื้นที่สีเขียวบางโครงการไปประกวด ก็ทำให้เมืองมีชื่อเสียงในด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และต่อมาก็เริ่มมีโครงการขนาดใหญ่ด้านการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่อาจจะเน้นไปที่เรื่องของการออกแบบมากหน่อยในช่วงแรก ก่อนที่จะกระจายไปในเรื่องเทคโนโลยี ก็เริ่มกลายเป็นตัวแบบว่าการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในเมืองให้ดีขึ้นไม่ใช่เรื่องที่แค่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น แต่ยังส่งเสริมเรื่องของการทำให้เมืองนั้นสามารถแข่งขันกับเมืองอื่น สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเมือง และทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ใช่แนวคิดแบบเดิมที่จำกัดการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่หมายถึงการมองเห็นสิ่งแวดล้อมในฐานะโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ

จากที่ได้กล่าวมานี้จะเห็นว่าในช่วงสิบกว่าปีนี้เองการผนึกประสานประเด็นในเรื่องสิ่งแวดล้อมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองที่เน้นด้านการประกอบการ และการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ต้องทำ แม้ว่ากระแส และการเคลื่อนไหวต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจะยังมีอยู่ก็ตาม เราจะพบยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ของรัฐในระบอบสิ่งแวดล้อมใหม่หลายประการได้แก่

1.การเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในแนวทางใหม่ โดยมีมิติเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่ในนั้นด้วย คือทำให้ภาษาเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่ในทิศทางของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ขัดแย้งกัน และเรื่องเหล่านี้ถูกบรรจุลงไปในอาชีพต่างๆ เช่น สถาปนิก วิศวกร การก่อสร้าง และการให้คำปรึกษา

2.การบริหารในรูปแบบใหม่ ท่ามกลางการแข่งขันกันเขียว และโตแบบเขียวๆ และการส่งเสริมความรู้และเทคนิคในการบริหารเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันในแต่ละพื้นที่ ก็จะมีเรื่องเทคนิคการบริหารและตัวชี้วัดใหม่ๆ การให้รางวัล การจัดลำดับ รวมไปถึงนวัตกรรมใหม่ๆ และกองทุนในการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมแต่จะเป็นกองทุนที่ส่งเสริมให้เกิดโครงการย่อยมากกว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งเมือง

3.การส่งเสริมระบบตัวอย่างโครงการที่ดี (best practices) หรือโครงการต้นแบบ ซึ่งบางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าอาจนำไปสู่อคติว่า โครงการต้นแบบนั้นสามารถถ่ายทอดไปสู่พื้นที่อื่นได้โดยอัตโนมัติ แทนที่จะสนใจว่าโครงการดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในเงื่อนไขอะไร และอาจมีคนเพียงบางกลุ่มบางที่เท่านั้นเองที่จะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว รวมไปถึงความเป็นไปได้ว่าจะสามารถนำไปปรับใช้พื้นที่อื่นๆ ได้มากน้อยแค่ไหน

4.การเลือกหยิบจากสังคมและพื้นที่บางพื้นที่ กล่าวคือในบางโครงการนั้น โครงการส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกคัดสรรขึ้นมา และอาจเผชิญคำถามเรื่องความเป็นธรรมในพื้นที่ว่า ทำไมถึงเลือกเอาพื้นที่นี้ขึ้นมาก่อนพื้นที่อื่น เช่น พื้นที่ที่มีการจัดทำโครงการสิ่งแวดล้อมมักจะเป็นพื้นที่ที่คนพอมีพอกินอาศัยอยู่ อันนี้ไม่นับว่าการเลือกเอาพื้นที่บางพื้นที่มาทำโครงการสิ่งแวดล้อมอาจเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนยากคนจนนั้นถูกผลักออกด้วยข้ออ้างการจัดการปรับภูมิทัศน์เมือง

5.อคติของโครงการในพื้นที่เมือง ทั้งที่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจจะต้องทำในระดับที่ใหญ่กว่าเมือง แต่เนื่องด้วยลักษณะการบริหารที่มีเมืองเป็นขอบเขต การจัดการสิ่งแวดล้อมที่พ้นเขตเมืองและสร้างความร่วมมือระหว่างเมืองจึงไม่ค่อยเกิดขึ้นภายใต้ระบอบสิ่งแวดล้อมใหม่นี้

6.พ้นไปจากประชาธิปไตย (post-democratic) การเมืองเรื่องสิ่งแวล้อมในยุคใหม่ โดยเฉพาะในระดับเมืองนั้นไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับการเผชิญหน้าของความขัดแย้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม มาสู่เรื่องของการลดทอนประชาธิปไตยไปสู่การเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งเสร็จก็เป็นเรื่องการกำหนดนโยบายโดยผู้เชี่ยวชาญ และยังรวมไปถึงการใช้ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดมาขับเคลื่อนการดำเนินงานและตัดสินใจของรัฐบาลในแง่นี้การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อมในเมืองจึงดูไม่ใช่เรื่องทางการเมืองอีกต่อไป และไม่มีการถกเถียงในเรื่องดังกล่าว เพราะทุกคนมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องที่เห็นพ้องต้องกัน และมีองค์ความรู้ที่ทุกคนยอมรับร่วมกันไปแล้ว ทั้งที่คนบางกลุ่มบางพวกอาจเข้าไม่ถึงการให้บริการด้านสิ่งแวดล้อม หรืออาจถูกผลักออกไปก็ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทุกคนจะยอมรับเรื่องของเมืองสีเขียวไปแล้ว แต่ยังมีหลายเรื่องที่ควรจะต้องใส่ใจพิจารณาว่าการเมืองในเมืองเรื่องเมืองสีเขียวนี้เป็นเรื่องที่พ้นไปจากการเมืองแล้วจริงหรือไม่ ทุกคนมีข้อตกลงเรื่องเมืองสีเขียวตรงกันไหม เรายังต้องตั้งข้อระวังกับทุนขนาดใหญ่ และการเอาความเขียวและสิ่งแวดล้อมมารองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ๆ อีกไหม เขียวไหนแท้หรือปลอม การตัดสินใจสร้างเมืองเขียวโปร่งใสไหม เป็นไปในแนวทางที่ดีพอไหม ตัวอย่างที่ผมคิดว่าสำคัญในบ้านเราก็คือ ในการก่อสร้างต่างๆ แล้วเกิดปัญหาฝุ่นนั้น ใครจะแบกรับและชดใช้ เรื่องเมืองร้อนจะมีการเก็บภาษีเครื่องปรับอากาศไหม การมีรถเมล์ร้อนนั้นควรจะยกเลิกไปได้ไหม การทำความเข้าใจความเหลื่อมล้ำเรื่องอุณหภูมิ เช่น ทำไมคนจนต้องร้อน มันร้อนเพราะอากาศ หรือร้อนเพราะเครื่องจักรในเมือง แอร์ และการก่อสร้างอาคารสูงที่บดบังทางลม สิทธิเข้าถึงอากาศที่สะอาด และการเข้าถึงลม และความเย็นมีมากน้อยแค่ไหน เรื่องเหล่านี้ยังต้องคิดกัน รวมไปถึงเรื่องของสิทธิและการชดเชยของคนที่อยู่ใกล้กองขยะและมลพิษ

ยังคงมีเรื่องราวมากมายในเรื่องของเมืองเขียวที่ต้องมาคิดกันท่ามกลางความหวังของการพัฒนาเมืองอย่างน้อยในกรณีกรุงเทพฯหลังจากมีการเลือกตั้งไปเมื่อไม่กี่วันก่อนนี้ครับ

หมายเหตุบางส่วนพัฒนามาจาก M.Rosol, V.Beal, and S.Mossner. 2017. Greenest Cities?: The (post-)politics of new urban environmental regimes. Environment and Planning A. 49(8): 1710-1718

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image