เสียงเตือน จุฬาฯ อวสานโลกสวย เสียงเตือน รธน.

เมื่อมีกระบวนการรณรงค์สนับสนุนอย่างเข้มข้น

ก็มีผู้แสดงความเห็นติติง-คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญใหม่

อย่างเช่นในการเสวนา “อวสานโลกสวย” ที่จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

หลังเสวนานี้ หวังว่าจะไม่มีใครถูกกฎหมายเล่นงาน

Advertisement

หรือต้องถูกเรียกไปปรับทัศนคติ

 

ศุภชัย ยาวะประภาษ

Advertisement

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

“หลักการร่างรัฐธรรมนูญ

1.ตั้งใจเขียนเฉพาะหลักการให้อยู่ได้นาน

2.อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่วางกรอบกติกาแล้วปฏิบัติได้จริง

3.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกง

แนวคิดที่ 2 ที่ว่าอยากให้สิ่งที่เขียนปฏิบัติได้จริง เช่น เรื่องสิทธิทางข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนไปขอจากราชการได้ แต่ความเป็นจริงทำได้ยาก รัฐธรรมนูญจึงเขียนว่าถ้าหน่วยงานรัฐมีหน้าที่แล้วไม่ทำตาม ประชาชนสามารถร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้

เรื่องที่ 3 พยายามให้ได้นักการเมืองที่ไม่มีประวัติทุจริตเข้ามา จึงเพิ่มอำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เช่น กกต.แต่ละคนเดินไปเห็นการนับคะแนนที่ไม่เที่ยงตรง

สามารถสั่งยกเลิกการเลือกตั้งตรงนั้นได้เลย

 

สิริพรรณ นกสวน-สวัสดี

รัฐธรรมนูญนี้ถอดสิทธิประชาชนหลายอย่าง เช่น สิทธิการถอดถอน สิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิการทำประชามติ ทำให้รัฐสภาอ่อนแอจนแทบไม่เป็นสถาบันทางการเมือง นักการเมืองจะเลวร้ายยังไงแต่ขาดไม่ได้ แต่เราต้องตรวจสอบได้

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดอิทธิพลพรรคใหญ่ ซึ่งเห็นด้วย แต่การลดอิทธิพลพรรคใหญ่ต้องไม่ทำให้เกิดการจัดสรรคะแนนไม่เป็นธรรมอย่างนี้

ระบบเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้การซื้อเสียงมากขึ้น พรรคจะกว้านซื้อคนเด่น และมีแรงจูงใจเสนอนโยบายน้อยลง

การให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯพรรคละ 3 ชื่อเป็นชื่อใครก็ได้ เมื่อไม่มีพรรคใดกุมเสียงข้างมาก พรรคอันดับ 3 จะเป็นตัวแปร พรรคขนาดกลางจึงมีอำนาจต่อรองเยอะ

ประเด็น ส.ว. น่ากังวลที่ 200 คนเลือกกันเองจาก 20 กลุ่ม อย่างน้อย 6 กลุ่มเป็นอดีตข้าราชการเก่าจะกลับเข้ามา แล้วกลุ่มอื่นที่มาเลือกจะรู้จักกันได้อย่างไร คนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วจะได้รับเลือก แทนที่จะเป็นคนที่ทำประโยชน์จริงๆ

รัฐธรรมนูญทำให้ดุลยภาพการเมืองเอียงจนคว่ำ การตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 207 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามประเพณีระบอบประชาธิปไตย

ถามว่าประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยคืออะไร ฐานความชอบธรรมมาจากไหน

วิกฤตรอบใหม่อาจมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้

 

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาไม่ได้ดุลยภาพทางการเมือง อำนาจเทให้องค์กรตุลาการมาก โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็นแรกเรื่องการออก พ.ร.ก.ศาลจะทราบได้อย่างไรว่าตอนนั้นเป็นช่วงจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้าไปใช้อำนาจแทนฝ่ายนิติบัญญัติได้ เป็นหลักการใหม่

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปลี่ยนอำนาจการถอดถอน ขัดแย้งกับหลักการตรวจสอบและรับผิดชอบ คือระบบใครตั้งใครถอดถอน

ศาลถูกดึงมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองเต็มตัว แล้วประเทศใดที่อำนาจตุลาการถูกตั้งคำถาม

ประเทศนั้นจะเสี่ยงต่อการล่มสลาย

 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง

ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือความถดถอยทางการเมืองภาคประชาชน หลักการสิทธิชุมชนหายไป

การเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ สิทธิการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิทธิในการจัดการทรัพยากรสาธารณะ บทบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องรัฐต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม การปฏิรูปที่ดิน พวกนี้หายไป

การเลือกผู้นำท้องถิ่นเขียนว่าอาจมาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือการยินยอมพร้อมใจของสภาท้องถิ่นก็ได้ จึงอาจมาจากคนนอกได้

ตัวอย่างโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท พอระบบการเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย

จึงอาจนำเงินไปให้พวกพ้องได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image