ไทบพบพม่า : เสียงประณามจากประชาชน เสียงอึงอลจากลานประหาร

“ม็อกกิ้งเบิร์ดไม่เคยทำอะไรเลยนอกจากขับกล่อมเสียงเพลงให้เราฟัง พวกมันไม่ได้ทำลายสวนของผู้คน

ไม่ได้ทำรังในเปลญวน พวกมันไม่เคยทำอะไรเลยนอกจากขับขันเสียงอันไพเราะให้เราฟัง

เพราะอย่างนั้นจึงเป็นบาปหากจะฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด”

ประโยคข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของวรรณ กรรมชั้นเอกเรื่อง “ผู้บริสุทธิ์” หรือ “ฆ่าม็อกกิ้งเบิร์ด” (To Kill A Mockingbirdผลงานการประพันธ์ของฮาร์เปอร์ ลี ที่ออกมาตั้งแต่ปี 1960 หรือเกือบ 70 ปีมาแล้ว เหตุการณ์ในหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในยุคที่มีการแบ่งแยกทางสีผิวรุนแรงมากในสหรัฐอเมริกา ตัวเอกของเรื่องคือแอตติคัส ฟินช์ ทนายผิวขาว ที่กลายเป็น “ฮีโร่” ของทนายความผู้ยึดมั่นในความถูกต้องและต่อต้านอคติด้านสีผิว เมื่อเข้าไปว่าความให้ ทอม โรบินสัน ชายผิวดำที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนผู้หญิงผิวขาว และถูกตัดสินประหารชีวิต

Advertisement

หากโรบินสันไม่ใช่คนผิวดำ และเนื้อเรื่องไม่ได้เกิดในยุคเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (ระหว่างปี 1933-1935) ที่ความเกลียดชังคนผิวดำโหมกระพืออย่างรุนแรง โทษประหารชีวิตก็คงไม่ถูกงัดออกมาใช้เพื่อลงโทษผู้ที่แท้จริงแล้วไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมร้ายแรงนี้

เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนย้อนกลับมานึกถึงประเด็นหนึ่งที่กลับมาหลอกหลอนสังคมพม่าในช่วงหลายวันที่ผ่านมา หากจำกันได้ เมื่อปลายปี 2021 มีข่าวว่าคณะรัฐประหารได้จับกุม เปียว เซยา ตอ (Phyo Zeya Thaw) อดีต ส.ส.คนสำคัญของพรรค NLD และที่สำคัญเป็นอดีตศิลปินรุ่นบุกเบิกคนสำคัญที่สุดของวงการดนตรีฮิพฮอพพม่า ในรูปที่เผยแพร่ในสื่อทุกสำนัก เซยา ตอ ถูกจับกุมพร้อมอาวุธครบมือ มีอาวุธปืนหลายกระบอก คณะรัฐประหารกล่าวหาเซยา ตอ และฝ่ายต่อต้านรัฐประหารอีกหลายคนที่จับได้ในครั้งนั้นว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดและการลอบสังหารเจ้าหน้าที่ฝั่งคณะรัฐประหารที่เกิดขึ้นติดๆ กันมาตั้งแต่เกิดรัฐประหารในต้นปี 2021

นอกจาก เปียว เซยา ตอ แล้ว ยังมีแกนนำขบวนการกองทัพพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF ที่ถูกจับกุมอีกคนหนึ่ง ได้แก่ จ่อ มิน ยู (Kyaw Min Yu) หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนาม “โก จิมมี่” (Ko Jimmy) หนึ่งในผู้นำขบวนการนักศึกษาในยุค 8888 แม้กองทัพ/คณะรัฐประหารจะไม่ได้แถลงการณ์จับกุม เปียว เซยา ตอ และคนอื่นๆ อย่างเป็นทางการ แต่ที่กลายเป็นข่าวใหญ่เพราะกองทัพอ้างว่า โก จิมมี่ เป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการแสงจันทร์ (Moonlight Operation) หรือแผนก่อวินาศกรรมในย่างกุ้งและพื้นที่ใกล้เคียง และนับเป็นครั้งแรกที่กองทัพจับกุมแกนนำของ PDF และใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย (Counter-Terrorism Law) และกฎหมายปกป้องทรัพย์สินสาธารณะ (Public Property Protection Act) โดยโทษสูงสุดคือการประหารชีวิต จากข้อมูลของ Human Rights Watch นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 คณะรัฐประหารสั่งประหารชีวิตฝ่ายต่อต้านไปแล้ว 65 คน

Advertisement
โก จิมมี่ (ซ้าย) และ เปียว เซยา ตอ (ขวา) ภาพจากสำนักข่าว Mizzima

เมื่อมีข่าวว่าคณะรัฐประหารจะงัดโทษประหารชีวิตมาใช้กับฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับตน ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นแค่คำขู่ให้ PDF และฝ่ายที่กำลังต่อต้านคณะรัฐประหารอยู่ในขณะนี้กลัว แม้พม่าจะยังมีโทษประหารชีวิต (Capital Punishment) แต่ก็ไม่เคยประหารชีวิตนักโทษการเมืองคนใดมาตั้งแต่ปี 1990 นักโทษการเมืองจำนวนมากถูกส่งไปเรือนจำทั่วประเทศ หลายคนที่เป็นแกนนำขบวนการนักศึกษาและแกนนำพรรค NLD ถูกซ้อมทรมานอย่างโหดเหี้ยม แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลทหารทั้งในยุค SLORC ต่อมาถึง SPDC ก็ยังไม่เคยนำโทษประหารมาใช้กับนักโทษการเมืองแม้แต่คนเดียว

ดังนั้น เมื่อซอ มิน ทุน (Zaw Min Tun) โฆษกคณะรัฐประหารออกมาแถลงว่าจะประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 คน รวมทั้ง เปียว เซยาตอ และโก จิมมี่ จึงไม่แปลกที่จะเห็นผู้คนในพม่าอุทานออกมาด้วยความประหลาดและความโกรธแค้น รัฐบาลหลายชาติและองค์การระหว่างประเทศหลายแห่งพร้อมใจกันประณามการกระทำของคณะรัฐประหารพม่า แต่คณะรัฐประหารก็ออกแถลงการณ์ตอบโต้ออกมา ในหนังสือพิมพ์ New Light of Myanmar คณะรัฐประหารตอบโต้แถลงการณ์ประณามของสถานทูตฝรั่งเศสประจำพม่า กระทรวงยุโรปและการต่างประเทศของฝรั่งเศส กระทรวงการต่งประเทศของสหรัฐอเมริกา และเลขาธิการสหประชาชาติ โดยใช้คำว่า “กระทรวงการต่างประเทศประท้วงและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแถลงการณ์และความเห็นที่ไร้ความรับผิดชอบและไม่ยั้งคิด” และยังเรียกผู้ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตทั้ง 4 คนว่า “ผู้ก่อการร้าย” แถลงการณ์คณะรัฐประหารออกไปในโทนแข็งกร้าว: “กระทรวงการต่างประเทศขอย้ำว่าในพม่า ในฐานะรัฐที่เป็นอิสระและมีอธิปไตย รัฐบาลรักษาการมีสิทธิเต็มที่จะใช้อำนาจและหน้าที่ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2008 ประชาชนทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย และได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และได้รับการปกป้องสิทธิความเป็นมนุษย์เท่ากัน…”

แถลงการณ์ยัดเยียดข้อกล่าวหาว่า เปียว เซยา ตอ และโก จิมมี่ คือผู้ก่อการร้ายที่เป็นแกนนำวางแผนก่อการร้าย จนทำให้มีประชาชนบาดเจ็บและล้มตาย นอกจากนี้ยังกล่าวถึงรัฐบาล NUG และกองกำลัง PDF ว่าเป็นขบวนการก่อการร้าย ที่สร้างความเสียหายให้ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ คณะรัฐประหารพุ่งเป้าการโจมตีไปที่ฝรั่งเศสเป็นพิเศษ เพราะแทนที่จะสนับสนุนให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน และมีความเคารพการตัดสินใจของคณะรัฐประหารพม่า กลับออกแถลงการณ์สบประมาทพม่า แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศพม่ายังอ้างต่อว่าแถลงการณ์และท่าทีของหลายชาติ คือความพยายามเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของพม่า ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดอนุสัญญากรุงเวียนนา (Vienna Convention) ที่มีมาตั้งแต่ปี 1969

ในแถลงการณ์ไม่ได้กล่าวถึงวันที่คณะรัฐประหารวางแผนจะประหารชีวิตทั้ง 4 คน แต่เมื่อมีประกาศออกมาแล้ว และยังมีแถลงการณ์เพื่อตอบโต้ฝ่ายที่คัดค้านการประหารชีวิต ก็พอจะเดาได้ว่าการประหารชีวิตคงจะดำเนินต่อไปในเร็ววันนี้ ในบทความนี้ ผู้เขียนไม่ได้ต้องการถกเถียงเพียงว่าการประหารชีวิต เปียว เซยา ตอ โก จิมมี่ และอีก 2 คนนั้นไม่ควรเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องการชี้ให้เห็นว่าในหลายครั้งโทษประหารชีวิตก็มีขึ้นเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง หรือเป็นเครื่องมือเพื่อแก้แค้นฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น และเมื่อคณะรัฐประหารหงายไพ่ออกมาว่าไม่พร้อมจะเจรจาใดๆ กับรัฐบาล NUG และ PDF โอกาสที่ความขัดแย้งในพม่าจะรุนแรงขึ้นย่อมมีมากขึ้นแบบไม่ต้องสงสัย

และหลังจากนี้ โอกาสที่คณะรัฐประหารจะใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามประชาชนที่ออกมาเดินขบวนประท้วง และยัดข้อหาการก่อการร้ายก็คงจะมีให้เห็นถี่ขึ้น เราจะได้เห็นกระบวนการยุติธรรมในพม่าที่กลับไปสู่ยุคเน วิน หรือยุคก่อนปี 1988 ที่รัฐบาลคณะรัฐประหาร (BSPP ในยุคของเนวิน) ใช้กฎหมู่ของตัวเองเพื่อทำลายล้างคู่ต่อสู้ และยังมีกระบวนการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้สูญหาย การลอบสังหาร ฯลฯ ที่ก็น่าจะกลับมาเป็นแทคติคของคณะรัฐประหารที่ใช้ปราบปรามศัตรูทางการเมืองต่อไปในอนาคตอันใกล้

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image