ค่าจ้าง-การเมือง โดย จำลอง ดอกปิก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

แกนนำแรงงาน พร้อมองค์กรสมาชิก ยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่”-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องทบทวน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

การออกโรงเคลื่อนไหว ต่อสู้เพื่อปากท้อง รักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงาน ดูจะออกไปในทางพิธีกรรมมากกว่า มุ่งหวังผลสำเร็จ รัฐบาลเห็นใจ ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง

ข้อเสนอ 3 ประการ ฝ่ายแรงงาน มีดังนี้ 1.ค่าจ้างต้องเท่ากันทั่วประเทศ 2.ให้รัฐบาลมีนโยบายโครงสร้างค่าจ้างที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ต้องปรับขึ้นค่าจ้างประจำปีทุกสถานประกอบการ ซึ่งอาจต้องมีการปรับแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน แทนที่การยึดประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลัก และ 3.รัฐบาลต้องมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชน แก้ปัญหาปรับค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรก็ตามไม่ทันค่าครองชีพ

บอร์ดค่าจ้างกลาง มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ปรับขึ้น 10 บาท 7 จังหวัด ขึ้น 8 บาท 13 จังหวัด ขึ้น 5 บาท

Advertisement

49 จังหวัด อีก 8 จังหวัดไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง

ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลักประกันรายได้ผู้ใช้แรงงาน

การปรับค่าจ้างครั้งนี้ ฝ่ายผู้ประกอบการเห็นว่าไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตมากนัก เนื่องจากปรับขึ้นเพียง 1% เท่านั้น

Advertisement

รายได้ที่จะเพิ่มมา 1% นี่เอง ที่น่าจะเป็นมูลเหตุ กลุ่มผู้ใช้แรงงานไม่พอใจ

หากเทียบกับข้อเสนอก่อนหน้านี้ ที่ขอปรับขึ้นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เป็นวันละ 360 บาท หรือขึ้นอีก 60 บาท จังหวัดที่ได้ปรับขึ้นสูงสุดครั้งนี้ ได้แค่ 10 บาทเท่านั้น ห่างไกลข้อเรียกร้องเดิมมากนัก

ปัญหาค่าจ้างแรงงาน ไม่มีความพอเหมาะพอดี สวนทางกันมีมาตลอด

ฝ่ายผู้ใช้แรงงานเรียกร้องอัตราสูง ขณะที่ฝ่ายนายจ้างไม่อยากปรับให้ หรือขึ้นในเพดานต่ำ

แม้นำระบบไตรภาคีมาใช้ ประสานผลประโยชน์ที่แตกต่างกันในฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และฝ่ายรัฐบาลที่เป็นตัวกลาง แก้ปมเงื่อน ความไม่เป็นธรรม

แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นเสมอมา

ระบบไตรภาคีที่นำมาใช้ยุติ ตัดสินเรื่องค่าจ้างนั้น แท้ที่จริงเป็นเวทีเจรจาต่อรองผลประโยชน์ มีการตัดสินใจร่วมกัน ที่ทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ตามหลักการของการมีระบบนี้จริงหรือไม่

ที่เห็นชัดคือ การมุ่งปกป้องผลประโยชน์ฝ่ายตัวมากกว่า การประสานให้ทุกฝ่ายอยู่ได้ อย่างเป็นธรรม

ฝ่ายนายจ้างนั้นแน่นอน ต้องพยายามทุกวิถีทาง กดค่าจ้างไว้

ฝ่ายรัฐบาล ก็มุ่งรักษาหน้าตา มองเรื่องการเติบโต ตัวเลขเศรษฐกิจ

ตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ก็มักถูกแทรกแซง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การเป็นตัวแทนแท้จริงหรือไม่ ก็อีกหนึ่งข้อสงสัย

กลายเป็นว่าทุกอย่างมีวาระ

ค่าจ้างเป็นเรื่องการเมืองทุกระดับ แม้แต่ระบบการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่า จะขึ้นหรือไม่ขึ้น และขึ้นในอัตราใด

ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ มิได้พิจารณาจากพื้นฐานความจริงที่ควรจะเป็น

หากแต่ถูกกำหนดโดยการเมือง

ฝ่ายนายทุน-ฝ่ายนโยบายเสียงดังกว่า ข้ออ้างบ่อยครั้งของการคงอัตราเดิมก็คือ เกรงกระทบเศรษฐกิจ

นักลงทุนย้ายฐานหนีไปปักหลักประเทศอื่น ทั้งที่ต้นทุนค่าจ้างมิได้เป็นเพียงปัจจัยเดียวของขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจ

ในยามที่เศรษฐกิจประเทศมีปัญหา ที่เห็นได้ชัดเจนคือการยื้อยัน กดค่าแรง หรือขึ้นให้อย่างเสียมิได้

แต่ในยามอยู่ดี-กินดี เศรษฐกิจเติบโตเฟื่องฟู ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมต่างๆ มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ อัตราค่าจ้างแรงงานก็ยังต่ำเตี้ยติดดินอยู่อย่างนั้น ไม่ได้เติบโต ปรับขึ้นอย่างสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

ผู้ใช้แรงงานถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ

ทั้งที่เป็นชนชั้น น่าเห็นอกเห็นใจ และต้องให้ความเป็นธรรม

การพิจารณาค่าจ้าง ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการเมือง เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

เป็นอีกกระบวนการสร้างความชอบธรรมในการกดขี่แรงงาน ที่ถึงเวลาต้องพิจารณา ทบทวน ให้ความเป็นธรรมกับชนชั้นที่ไม่มีปากเสียง ไร้สิ้นซึ่งอำนาจต่อรอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image