คดีอลเวง

อลวนอลเวงเป็น 10 ปี กับคดีการประมูลจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ของ อบจ.สงขลา เมื่อครั้งที่ “นิพนธ์ บุญญามณี” เป็นนายก อบจ.สงขลา ก่อนจะมาเป็น รมช.มหาดไทย

จากปี 2555 จนถึง 9 มิถุนายน 2565 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 อนุมัติหมายจับกลุ่มบริษัทและผู้บริหาร รวม 8 หมาย ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลและบริษัทคู่เทียบที่เข้าร่วมการประมูลในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม และฮั้วประมูล เป็นเหตุให้ อบจ.สงขลา เสียหาย

แต่ในวันเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดก็พิพากษาให้ อบจ.สงขลา ชำระหนี้ค่ารถซ่อมบำรุงทาง 2 คัน ให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด รวมดอกเบี้ยเป็นเงินกว่า 80 ล้านบาท

ย้อนไปปฐมเหตุ สมัย “อุทิศ ชูช่วย” เป็นนายก อบจ.สงขลา มีการประมูลจัดซื้อรถดังกล่าว 3 ครั้ง เมื่อกรกฎาคม 2555 จัดซื้อ 1 คัน กันยายน 2555 จัดซื้ออีก 1 คัน และพฤษภาคม 2556 จัดซื้ออีก 2 คัน

Advertisement

ต่อมา “นิพนธ์” เข้ามาเป็นนายก อบจ.สงขลา เมื่อตุลาคม 2556 ช่วงเดียวกับที่มีการส่งมอบรถจากการจัดซื้อครั้งที่ 3 จำนวน 2 คัน แต่มีการร้องเรียนไปยังผู้ว่าฯสงขลาว่าการจัดซื้อน่าจะมีการปลอมเอกสาร และฮั้วประมูล

ทางผู้ว่าฯสงขลา จึงแจ้งให้ อบจ.สงขลา ตรวจสอบ “นิพนธ์” จึงตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และชะลอการจ่ายเงินให้ผู้ชนะการประมูล

แต่ระหว่างนั้น บริษัท พลวิศว์ฯ ยื่นศาลปกครองสงขลา ให้ อบจ.สงขลา ชำระเงินค่ารถ ต่อมาศาลปกครองสงขลาตัดสินให้ อบจ.สงขลา ชำระเงิน แต่ อบจ.สงขลา ยื่นอุทธรณ์ และเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ อบจ.สงขลา ชำระเงิน

Advertisement

ขณะที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของ อบจ.สงขลา พบว่าการจัดซื้อครั้งที่ 3 น่าจะฮั้วกันจริง จึงแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องที่ สภ.เมืองสงขลา และเมื่อ 30 มีนาคม 2564สภ.เมืองสงขลา สรุปสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องบริษัทพลวิศว์ฯ พร้อมผู้บริหาร และบริษัทคู่เทียบประมูล ในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม และฮั้วประมูล

แต่ผู้ต้องหาขอโอนสำนวนจาก สภ.เมืองสงขลา ไปให้กองปราบฯทำแทน และเมื่อ 9 กันยายน 2564 กองปราบฯก็สรุปสำนวนว่าผู้ต้องหากับพวกกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจริง และส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช.ด้วย

ไม่เพียงแค่การประมูลครั้งที่ 3 แต่ยังพบว่าการประมูลครั้งที่ 1 และ 2 ก็ส่อว่าน่าจะฮั้วเช่นกัน เพราะเป็นเอกชนกลุ่มเดียวกัน จึงแจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.เมืองสงขลา

ต่อมา 23 สิงหาคม 2564 สภ.เมืองสงขลา สรุปสำนวนว่าผู้ต้องหาร่วมกันใช้เอกสารปลอมและส่อว่าจะฮั้วเช่นกัน พร้อมส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.อีกครั้ง

กระทั่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 อนุมัติหมายจับกลุ่มบริษัทและผู้บริหาร รวม 8 หมาย เมื่อ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

ส่วนที่ ป.ป.ช. ชี้มูล “นิพนธ์” มีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่กรณีไม่อนุมัติจ่ายเงินให้แก่บริษัท
พลวิศว์ฯ โดยส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา แต่อัยการสูงสุดชี้ข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนถึง 16 ประเด็น จึงตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างผู้แทนอัยการและผู้แทน ป.ป.ช.

แต่ผู้แทน ป.ป.ช.ไม่สามารถชี้แจงข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนคดีได้ อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง และคืนสำนวนคดีให้ ป.ป.ช. ไปเมื่อ 16 มีนาคม 2565

เป็นคดีที่ย้อนแย้ง คดีฮั้วประมูลศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 อนุมัติหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด “นิพนธ์” ทางอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องแล้ว แต่ ป.ป.ช.ยังยืนยันจะฟ้องเอง

ล่าสุด มีหลักฐานใหม่นั่นคือปลัด อบจ.สงขลา ที่เป็นผู้รับมอบรถดังกล่าวซึ่งมูลค่ากว่า 50 ล้านาท เกินอำนาจของ ปลัด อบจ.ที่จะเซ็นรับงานมูลค่าได้ไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น เท่ากับว่าไม่มีอำนาจตรวจรับ จึงถือเป็นการตรวจรับโดยมิชอบ

เป็นคดีที่อลวนอลเวงและยังไม่สะเด็ดน้ำ อาจมีคนถูกย้อนศรได้หากยังดันทุรัง

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image