กระดาษแล้วไปไหนหรือวงการหนังสือพิมพ์ทั้งวงการจะ‘ผิด’? : คอลัมน์ FUTURE perfect โดยทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ในฐานะคอลัมนิสต์เรื่องเทคโนโลยี ผมมักได้รับคำถามเกี่ยวกับสูญสิ้นของวงการหนังสือเล่มและนิตยสารบ่อยครั้ง คำถามเหล่านี้มักมาจากผู้ทำงานในวงการ พวกเขากลัวว่าจะปรับตัวไม่ทัน หนังสือที่จับต้องได้ และหนังสือพิมพ์ จะถูกแทนที่ด้วยอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจนไม่มีที่ยืนหรือไม่ พวกเขามักเอ่ยถามผมด้วยสีหน้ากังวล

ส่วนผมเองก็มักจะไม่มีคำตอบอื่นนอกจากคิดว่าทั้งสองระบบจะยืนหยัดอยู่ด้วยกัน

เมื่อพูดถึงวงการกระดาษ หลายคนมักเปรียบเทียบมันกับวงการเพลง “ดูสิว่าเทปและซีดียังหายไปเลย มันถูกแทนที่ด้วย iTunes และ Spotify จนสิ้น” เขามักเชื่อกันอย่างนั้น เมื่อคิดในทีแรกก็ดูจะเป็นเหตุเป็นผลกันดีอยู่ ทั้งหนังสือและดนตรีต่างเป็นสื่อที่ผู้รับสารเสพเข้าไป ดังนั้นการเทียบกันแบบนี้ก็คล้ายกับว่าจะเป็นมวยถูกคู่

แต่เมื่อคิดอีกทีก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ – ผมคิดว่ากับเพลงนั้น เราเสพด้วยการฟัง ในการฟังเราไม่ได้ใช้ประสาทสัมผัสอื่นนอกจากหู หูนั้นฟังโดยไม่คำนึงถึงที่มา มันจะมาจากเทป – มาจากซีดี – หรือมาจาก iTunes ก็ต่างเดินทางมากระทบโสตประสาทเราได้ทั้งนั้น

Advertisement

แต่กับการอ่าน ดูเหมือนจะแตกต่างออกไป เราไม่ได้อ่านเพียงแค่ด้วยตา แต่เราอ่านด้วยสัมผัสด้วย การสัมผัสนี้เองที่เป็นสิ่งที่เทคโนโลยีให้ได้ยาก ผิวสัมผัสของกระดาษและกิริยาในการเปิดหน้า ยังไม่รวมไปถึง “ขนาด” ของหนังสือหรือนิตยสาร ยังเป็นแต้มต่อสำหรับนิตยสารและหนังสือเล่มอยู่เสมอ

ไม่มีอะไรจะแสดงเหตุผลนี้ให้เป็นรูปธรรมได้ดีกว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา

หลังเหตุการณ์สวรรคต เราได้เห็นวงการหนังสือพิมพ์และนิตยสารกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เพราะประชาชนนิยมที่จะซื้อหนังสือพิมพ์และนิตยสารเก็บไว้เป็น “หลักฐานประวัติศาสตร์” หลายเล่มใช้เทคนิคแพรวพราวเพื่อแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ให้เจิดจรัส ควรค่าแก่การสะสมที่สุด เป็นประทีปดวงนี้เองที่จุดความหวังของคนวงการหนังสือให้สุกสว่างขึ้น ผมเห็นเพื่อนๆ ที่ทำงานนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์อัพสเตตัสกันอย่างเนืองแน่นว่า สุดท้าย เมื่อคนเราต้องการอะไรที่มีคุณค่าทางจิตใจ เราก็ต้องหวนกลับมาหาสิ่งที่จับต้องได้อยู่ดี พวกเขาดูมีความหวังกว่าที่แล้วๆ มา

Advertisement

และผมก็เห็นด้วย

ไม่นานมานี้ Hsiang Iris Chui และ Ori Tenenboim จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสได้ออกผลงานวิจัยชื่อ Reality Check: Multiplatform Newspaper Readership in the United States, 2007-2015 (ดูความจริงกันหน่อย: การอ่านหนังสือพิมพ์หลายแพลตฟอร์มในช่วงปี 2007-2015) โดยพวกเขาตั้งใจศึกษาว่าการเปลี่ยนแพลตฟอร์มมาเน้นออนไลน์ของวงการหนังสือพิมพ์นั้นเป็นการกระทำที่ฉลาดในเชิงธุรกิจหรือไม่ อย่างไร

พวกเขาคิดว่าทางเลือก “Digital First” หรือ “ดิจิทัลมาก่อน” (อย่างอื่นค่อยตามมาทีหลัง) นั้นผิด และทำให้หนังสือพิมพ์ปรับตัวผิดทิศผิดทางอย่างมาก

พวกเขาคิดว่าหน้าที่ของหนังสือพิมพ์กระดาษนั้นยังไม่ถูกแทนที่ด้วยหนังสือพิมพ์แบบดิจิทัลได้เต็มรูปแบบ และชิ้นเค้กที่สื่อหนังสือพิมพ์แบบเดิมเชื่อมั่นหนักหนาว่าจะสามารถคว้ามาได้เมื่อปรับตัวเป็นดิจิทัลนั้น จริงๆ แล้วเป็นเพียงภาพลวงตา จากการศึกษามีหนังสือพิมพ์ออนไลน์ส่วนน้อยมากๆ ที่สามารถเติบโตได้หลังจากปี 2007 เป็นต้นมา ยิ่งไปกว่านั้นคือหากนับตั้งแต่ปี 2011 หนังสือพิมพ์ออนไลน์มีจำนวนผู้อ่านลดลงเสียด้วยซ้ำ โดยหากนับจากหนังสือพิมพ์ที่ทั้งคู่ศึกษามา 51 ฉบับ ก็พบว่าคนอ่านออนไลน์เพียง 1 ใน 3 ของคนอ่านฉบับตีพิมพ์

ความจริงที่พวกเขาพบก็คือ ความเชื่อที่ว่าฐานคนอ่านจะย้ายจากสิ่งตีพิมพ์มาออนไลน์นั้นผิด – อย่างน้อยก็ไม่ได้มาที่ “หนังสือพิมพ์ออนไลน์” อย่างที่คิด – ตัวอย่างความเชื่อเดิม เช่น ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์อย่าง New York Times อาจเชื่อว่าผู้อ่าน New York Times ฉบับตีพิมพ์จะค่อยๆ ถูกโอนถ่ายมาที่ New York Times ฉบับออนไลน์ได้เกือบทั้งหมด พวกเขาน่าจะสูญเสียจำนวนผู้อ่านไปไม่มากระหว่างกระบวนการเคลื่อนย้าย (ที่อาจต้องใช้เวลาหลายปี)

แต่ความเป็นจริงก็คือ ถึงแม้จำนวนผู้อ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเล่มจะลดลง แต่จำนวนที่ลดลงนั้นก็ไม่ได้ถูกโอนถ่ายมาที่เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ แต่มันกลับถูกโอนถ่ายไปที่ “เว็บไซต์รวมข่าว” หรือ News Aggregator อย่าง Yahoo! Google News, CNN หรือ MSN ต่างหาก โดยจากผลการศึกษาของ Pew พบว่ามีเพียง 5% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่อ้างว่าเข้าเว็บไซต์ New York Times เป็นอันดับต้นๆ เพื่อตรวจสอบข่าว

ในแง่ของรายได้จากโฆษณา หนังสือพิมพ์ออนไลน์ยังทำได้น่าผิดหวัง โดยจากปี 2010-2014 ทำรายได้เพียง 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ในขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับเล่มยังทำรายได้ 16.4 พันล้านเหรียญอยู่ (ซึ่งตกจาก 22.8 พันล้านเหรียญในช่วงเวลาก่อนหน้า แต่ส่วนที่หายไปก็
“โอนถ่าย” มาที่ฉบับออนไลน์ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย)

Chyi ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างหนึ่งว่า หรือว่าหนังสือพิมพ์ออนไลน์จะดู “ด้อยค่า” กว่าหนังสือพิมพ์ฉบับกระดาษ ด้วยความที่เนื้อหาส่วนใหญ่ (ที่ไม่ติด Paywall) นั้นสามารถเข้าถึงได้ฟรี และเว็บไซต์ก็ยังเต็มไปด้วยโฆษณาที่คอยขัดขวางการอ่านอย่างมีสุนทรียะอีกด้วย นั่นทำให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ออนไลน์ทนอยู่กับเว็บไซต์ได้เพียงไม่เกิน 2-3 นาทีเท่านั้น เมื่อเทียบกับการอยู่กับหนังสือพิมพ์เล่ม แล้วเรียกได้ว่าแพ้กันไม่เห็นฝุ่น

ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งคู่ไม่ได้บอกว่าถ้าอย่างนั้นหนังสือพิมพ์ก็ควรอยู่กับกระดาษไปเถอะ ไม่ต้องมาออนไลน์ กลับกัน ทั้งคู่ต่างบอกว่า จริงๆ แล้วสื่อทั้งสองอย่างอาจอยู่ควบคู่กันได้ โดยที่ไม่กินส่วนแบ่งอีกฝ่ายให้หายไปจากโลก หากหนังสือพิมพ์จะทำฉบับออนไลน์ก็ควรทำคอนเทนต์เฉพาะสำหรับออนไลน์ขึ้นมา และทำให้ความออนไลน์ต่างจากสิ่งที่เราเห็นบนหน้ากระดาษ เพราะทั้งสองสื่อก็มีธรรมชาติที่แตกต่างกัน จนหากนำคอนเทนต์ที่เหมือนกันไปลงในทุกๆ ที่ ก็อาจเป็นการสูญเสียความสามารถเฉพาะตัวของสื่อไป

ผู้วิจัยเปรียบเทียบสื่อกระดาษกับสื่อออนไลน์ว่า สื่อกระดาษนั้นเหมือนกับร้านสเต๊กแบบพรีเมียม ซึ่งไม่ควรปรับตัวเองเพื่อไปแข่งขันกับร้านแมคโดนัลด์(สื่อออนไลน์) เพราะจะทำให้สูญเสียความเป็นตัวเองไป ในทางกลับกัน ร้านสเต๊กพรีเมียมควรจะพัฒนาคุณภาพและความพรีเมียมของตัวเองยิ่งๆ ขึ้นไป ด้วยความเชื่อที่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะกินแมคโดนัลด์ในทุกมื้อ

โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อในการเปรียบเทียบว่าสื่อออนไลน์เป็นแมคโดนัลด์เท่าไร เพราะมันคล้ายกับการเปรียบเทียบว่าสื่อออนไลน์มีคุณภาพต่ำกว่าสื่อกระดาษ แต่ผมก็เข้าใจการเปรียบเทียบนี้ในเซนส์ที่ว่าสื่อทั้งสองมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน และการพยายามปรับเข้าหากันจนบิดเบี้ยธรรมชาติเดิมของตนอาจจะส่งแต่ผลทางด้านลบ

ทางที่ดีอาจจะเป็นทางที่ผู้วิจัยเสนอมา คือการประดิษฐ์วิธีใหม่ เพื่อสื่อสารในสื่อใหม่ ที่จะต้องคงวิญญาณเดิม (หรือสปิริตเดิม) ของตนอยู่ให้ได้

ข้อควรระวังอีกอย่างคือ – อย่าเพิ่งตั้งความหวังว่าโยกย้ายถิ่นฐานมาที่ “เมืองใหม่” แล้วตัวเองจะยังคงเป็นยักษ์อยู่ได้เหมือนเดิม จะสามารถทำรายได้ได้มากๆ ดังเดิม – เพราะถึงแม้คุณจะขนสมบัติพัสถานมาจากที่เก่าได้บ้าง แต่เมืองใหม่แห่งนี้ก็มีอะไรให้เรียนรู้อีกมากนัก

ไม่อย่างนั้นหันไปดูทีวีดิจิทัลของเมืองไทยก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image