คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : อวสาน ‘พลเมืองดี’ เพราะ PDPA?

มีดราม่าในโลกโซเชียลที่หนุ่มสาวคู่หนึ่ง (ภายหลังปรากฏว่าฝ่ายชายเป็นผู้มี “ชื่อเสียง” ในวงการพอสมควร) โดยฝ่ายชายได้ลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกายฝ่ายหญิง ระหว่างการทำร้ายมีพลเมืองดีเข้ามาห้ามปราม และก็เลยกลายเป็นศึกทะเลาะกันระหว่างฝ่ายชายกับพลเมืองดีเข้าให้แทน

เรื่องจบลงแบบไม่จบด้วยการที่ท้ากันไปท้ากันมา ฝ่ายพลเมืองดีนำคลิปเหตุการณ์ตั้งแต่ที่ฝ่ายชายทำร้ายร่างกายฝ่ายหญิง ไปจนช่วงที่วิวาทกับตนไปลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวของตน พร้อมด้วยแคปชั่นบรรยาย
แบบใส่อารมณ์ที่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายชาย… ชนิดที่ถ้าไม่เอาอ้อมค้อมก็คือเอาไปโพสต์ด่านั่นแหละ

เมื่อทุกอย่างเย็นลงแล้วเรื่องก็พลิกมาตามสูตร ฝ่ายหญิงชายกลับมาคุยกันรู้เรื่องด้วยวิถีแบบของพวกเขา กลายเป็นพลเมืองดี “อาจ” ถูกดำเนินคดีฐานละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ท่ามกลางความรู้สึก “อิหยังวะ” ของชาวโซเชียล พร้อมคำถามว่า อย่างนี้เท่ากับว่ากฎหมายนี้จะทำให้พลเมืองดีอยู่ยากขึ้นหรือไม่ แล้วเราจะถ่ายภาพ หรือคลิปอาชญากรรม หรือการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานได้อยู่หรือเปล่า

กฎหมาย PDPA หรือชื่อเต็มๆ อย่างเป็นทางการว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562” เพิ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนนั้น ประสบการณ์แรกพบของกฎหมายนี้กับสังคมไทยถือว่าเริ่มต้นกันไม่สวยเท่าใดนัก เพราะเปิดมาด้วยการโหมประโคมความเข้าใจผิดจากการตีความกฎหมายกันไปเองเสียใหญ่โตเกี่ยวกับการถ่ายภาพ การโพสต์ภาพ แล้วยังมาซ้ำด้วยเรื่องดราม่าพลเมืองดีแต่อาจจะโดนกฎหมาย PDPA เล่นงานเข้าให้อีก ก็ทำให้ผู้คนมองว่ากฎหมายนี้อาจจะกลายเป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพฉบับใหม่ “พ.ร.บ.คอม Plus” ท็อปอัพเข้าไปแบบนั้นหรือเปล่า

Advertisement

จริงๆ แล้วกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิตามชื่อ เพราะควรเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วมิใช่หรือที่เราน่าจะมีสิทธิได้ทราบว่าเรานั้นถูกใคร “มองดู” หรือจดชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด อายุ ข้อมูลทางสุขภาพ ยี่ห้อรถที่เราใช้ ประวัติการชนการซ่อมของรถยนต์เรา และเก็บข้อมูลเหล่านั้นไว้ที่ใคร และใครอาจนำข้อมูลนี้ไปใช้ได้บ้าง

เช่น ก่อนหน้านี้หลายคนคงมีปัญหาหรือข้อสงสัยว่าทำไมเราจึงถูกพนักงานขายทางโทรศัพท์ หรือ
เทเลเซลส์ โทรมาแนะนำบริการประกันต่างๆ ชวนทำสินเชื่อบุคคล ขายบัตรเครดิตได้ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยเป็นลูกค้ากิจการเหล่านี้ แม้พอเดาได้ว่าเคยใช้บริการกิจการข้างเคียง เช่น ธนาคารที่เป็นเหมือนบริษัทแม่ แต่บางบริการก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าไปเอาข้อมูลชื่อและหมายเลขโทรศัพท์เรามาจากไหน

เพราะก่อนที่จะมีกฎหมายนี้ถ้าไม่นับกรณีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ได้ข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น ก็มีกรณีที่มีบริษัทเหล่านี้ได้ข้อมูลส่วนบุคคลไปโดยการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลโดยที่เจ้าของข้อมูลไม่รู้ หรือมิได้ยินยอมอยู่เหมือนกัน ซึ่งเป็นวิธีที่จะเรียกว่าผิดก็คงไม่ได้เพราะยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง

Advertisement

แต่หลังจากนี้บริษัท หรือบริการในลักษณะนี้จะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้งจากเราผู้เป็นเจ้าของข้อมูล โดยไม่สามารถซื้อข้อมูลต่อมาจากผู้ประกอบการรายอื่น หรือเก็บข้อมูลโดยทางอ้อมวิธีอื่นได้ อีกทั้งกฎหมายก็ระบุไว้ว่าการยินยอมให้ใช้หรือไม่ให้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องไม่ส่งผลต่อการได้รับบริการนั้น ดังนั้น ขอให้สบายใจที่จะปฏิเสธถ้าไม่สะดวกใจ ซึ่งกิจการใดที่ถือเอาการอนุญาต หรือไม่อนุญาตในการให้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลมาเป็นเงื่อนไขในการให้บริการถือว่าไม่ปฏิบัติตามมาตรา 19 ของกฎหมายนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นไปได้ว่าในฝ่ายผู้ประกอบการก็คงจะใช้การอนุญาตให้ หรือไม่ให้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลนี้ประกอบกับการให้บริการพิเศษนอกเหนือจากบริการหลักประเภทโปรโมชั่นก็เป็นไปได้ เพราะน่าจะไม่อยู่ในขอบเขตที่กฎหมายห้ามไว้

อย่างเรื่อง “ข้อมูลส่วนบุคคล” ในภาพถ่าย หรือภาพวิดีโอก็เคยมีเรื่องที่ชายคนหนึ่งขับรถไปในเส้นทางท้องที่ที่ปกติในการเดินทางปกติไม่ควรต้องผ่าน แล้วถูกทางบ้านมองเห็นได้เพราะภาพของรถไปปรากฏในข่าวเที่ยงวันอยู่เหมือนกัน ให้เป็นเรื่องตลกสำหรับคนอื่น แต่เจ้าตัวท่าจะขำไม่ออกสักเท่าไร แต่เรื่องนี้ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายนี้อยู่แล้ว

หรือบางครั้งโดยความเคยชินก็อาจจะมีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นในลักษณะวิสาสะด้วยความหวังดีโดยไม่มีเจตนาร้าย แต่ก็อาจจะทำให้เจ้าของข้อมูลนั้นไม่พอใจก็ได้ เช่น การเผลอเอาเบอร์โทรศัพท์ ไอดี LINE หรือข้อมูลการติดต่อของเพื่อนเราไปให้เพื่อนอีกกลุ่ม หรือผู้คนในวงของเราโดยไม่ได้บอกได้ขออนุญาตเขาก่อน หรือพ่อแม่ที่เอาวันเดือนปีเกิดเวลาตกฟากไปให้หมอดูทำนายว่าเมื่อไรลูกจะมีคู่ หรือได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเงินเดือนเพื่อจะได้ไปขิงกับป้าข้างบ้าน แม้เอาเข้าจริงปัญหาพวกนี้จะเป็นเหมือนเป็นปัญหาทางมารยาท แต่ไหนๆ กฎหมายออกมาแล้วก็ควรละเลิกเสียเพื่อให้สอดคล้องต่อกฎหมายด้วย

แล้วข้อมูลส่วนบุคคลนี้สำคัญอย่างไร เรื่องมันไม่ใช่แค่การป้องกันไม่ให้ใครที่ไม่รู้จักโทรมาหา หรือเอาภาพถ่าย หรือคลิปวิดีโอของเราไปโพสต์โดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แต่ในโลกของ Big Data ข้อมูลทุกอย่างที่เก็บไปได้จากบุคคลสามารถที่จะนำไปรวบรวมประมวลผลจนทำให้รู้จักตัวบุคคลผู้นั้นได้ดียิ่งกว่าตัวผู้นั้นเองเสียอีก ถึงขนาดที่ถ้าระบบที่บูรณาการได้สมบูรณ์แบบ อาจประเมินได้ถึงขนาดว่าบุคคลนั้นจะมีอายุขัยเหลือได้อีกถึงกี่ปีกี่วัน เช่น นายคนหนึ่งมีค่าน้ำตาลสูงกว่า 160 จากฐานข้อมูลโรงพยาบาล แต่มีข้อมูลที่ผูกกับระบบสมาชิกร้านสะดวกซื้อว่าซื้อไอศกรีมวันละ 2 ควอต และมีประวัติการใช้แคลอรีที่สมาร์ทวอตช์ไม่เกินวันละ 300 Kcal ข้อมูลเหล่านี้รวมกันอาจจะพอประมาณเวลาที่เหลือในชีวิตของเขาได้เลยด้วยปัญญาประดิษฐ์

ดังนั้น การที่มีคนรู้เรื่องที่แม้แต่เราก็ไม่อาจรู้อย่างน้อยเราก็ควรจะรู้ว่าใครที่จะมีสิทธิรู้และประมวลข้อมูลเหล่านี้ รวมถึงควรมีสิทธิตัดสินใจด้วยว่าจะให้เขารู้หรือประมวลข้อมูลนี้หรือไม่

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจึงเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่จำเป็นจะต้องมี เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในโลกยุคก่อนดิจิทัลจนถึงก่อนสมาร์ทโฟนอาจจะไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายนี้ เพราะข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลใดๆ ก็ตามนั้นอยู่ในรูปแบบกระดาษ หรือถึงในยุคที่มีคอมพิวเตอร์แล้วก็อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ออฟไลน์หน่วยงานใครหน่วยงานมัน หรือเมื่อโลกเริ่มมีออนไลน์การเชื่อมต่อข้อมูลก็ยังอยู่ในวงอันจำกัด ในยุคสมัยดังกล่าว ผู้คนจะรู้ว่าเคยให้ข้อมูลอะไรที่ไหนไว้ และข้อมูลนั้นก็จะอยู่ที่นั่น หรืออย่างมากก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกัน และนอกจากครอบครัวคนใกล้ชิดแล้วก็มีหน่วยงานที่มีภาพถ่ายของเราแบบนับที่ได้ และส่วนใหญ่ก็ไม่อัพเดตเสียด้วย ส่วนภาพเคลื่อนไหวนั้นถ้าไม่ใช่ดาราหรือผู้มีชื่อเสียงนี่แทบไม่ต้องพูดถึง อีกทั้งการบูรณาการข้อมูลเหล่านั้นก็ทำได้จำกัด

แต่สำหรับในโลกปัจจุบันที่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าข้อมูลของเรานั้นจะไปเก็บไว้ที่ใดได้ มีกล้องกี่ตัวที่จับจ้องเราอยู่ หรือข้อมูลที่กรอกไปแล้วจะมีระบบใดเข้ามาใช้ได้บ้าง เอาเฉพาะที่ใช้โดยชอบด้วย ไม่นับกรณีที่ถูกแฮกหรืออื่นๆ

เช่นนี้ หากเรารู้ได้ชัดเจนว่าเราถูกบันทึกข้อมูลอะไรไว้ที่ไหนบ้าง ใครจะเอาข้อมูลของเราไปใช้ทำอะไร
ได้ที่ไหนบ้างนั้นน่าจะเป็นโลกที่เรามีอิสรภาพในการควบคุมอะไรๆ ได้ดังใจกว่า อย่างน้อยถ้าเรารู้ว่าเมื่อเดินมาถึงจุดนี้จะมีกล้องวงจรปิดที่จะบันทึกกิริยาดังว่าของเราเก็บไว้ไม่ต่ำกว่า 3 เดือน เราก็ไม่ควรเอามือไปล้วงแคะแกะเกาหรือทำกิริยาที่ไม่อยากให้ใครมองเห็น เป็นต้น

สำหรับผู้คนโดยทั่วไปกฎหมายนี้คงจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตามครรลองปกติมากนัก การถ่ายภาพ หรือการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับกรณีปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันก็ไม่ได้เคร่งครัดเสียจนทำไม่ได้เอาเสียเลย เพราะกฎหมายก็มีข้อยกเว้นเรื่องการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวอยู่แล้ว รวมถึงการติดกล้องวงจรปิดภายในบ้านของเราเพื่อปกป้องทรัพย์สินของเราเองก็เช่นกัน อีกทั้งกฎหมาย PDPA ก็ยังคงอยู่บนหลักที่ถือความจงใจหรือเจตนาเป็นสำคัญ และถือพฤติการณ์แห่งการกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนาหรือความจงใจนั้น

กรณีการเอาข้อมูลส่วนตัว รูปภาพ คลิป ไปเผยแพร่ในระบบออนไลน์หรือในโซเชียลเน็ตเวิร์กโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการละเมิดรบกวนเชิงสังคมที่เกิดขึ้นมาได้ราวสิบกว่าปีนี้เองนับแต่การแพร่หลายของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน แต่ก็ไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกละเมิดที่เป็นรูปธรรมนัก ก่อนนี้อาจจะมีกฎหมายความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท และที่ร้ายแรงขึ้นคือหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แต่สำหรับกรณีการเผยแพร่หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่กระทบต่อความเป็นส่วนตัวนี้ยังไม่มีกฎหมายแตะไปถึง

จริงอยู่ที่การที่ใครๆ ก็มีกล้องอยู่ในมือเป็นข้อดีเพราะเท่ากับจะทำให้เรามีกล้องวงจรปิดที่ระแวดระวังความปลอดภัยให้แก่สังคมได้แทบทุกที่ที่มีผู้คน แต่กล้องโทรศัพท์ในมือคนต่างจากกล้องวงจรปิดบนเสา ตรงที่กล้องเคลื่อนที่ได้ในมือคนนั้นมีอารมณ์ ความรู้สึก และสามารถแสดงความคิดเห็น สามารถสั่งฟ้อง ตัดสิน หรือเรียกทัวร์ไปลงผู้คนได้ วิ่งไต่ไปมาบนเส้นบางๆ ระหว่างความปรารถนาดีที่จะเป็นพลเมืองดีในการป้องกันอันตรายสังคมกับการประจาน หรือการเรียกยอดไลค์ หรือความคิดว่าโชคดีมีคอนเทนต์หล่นให้เป็นไวรัลอยู่ตรงหน้า

การถ่ายคลิปเพื่อป้องกันอันตรายให้สังคม หรือเป็นพยานหลักฐานในกระบวนการยุติธรรม หรือเรียกร้องความเป็นธรรม ก็ไม่จำเป็นต้องใส่อารมณ์หรือชี้ผิดถูก ไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดรุนแรง และเอาเข้าจริง
ก็ไม่ต้องโพสต์อะไรด้วยซ้ำ ถ้าเราเป็นผู้เสียหายหรือเรื่องนั้นเป็นความผิดต่อรัฐเราก็ชอบที่จะนำคลิปหรือภาพนั้นไปใช้ในการดำเนินคดีได้เลย ถ้าส่งไปแล้วเกิดเงียบ ก็มีสื่อมวลชนที่เขาจะรับทำหน้าที่นี้ต่อให้โดยรับความเสี่ยงทางกฎหมายต่อไปให้ ซึ่งถ้าเป็นกรณีของ “มืออาชีพ” แล้ว เขาก็จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายมากกว่าบุคคลทั่วไปอยู่แล้ว

กรณีที่ล้ำเส้นนี้ “พลเมืองดี” หลายคนต้องหน้าแห้งหิ้วกระเช้าไปถ่ายรูปโพสต์ขอขมาติดต่อกันเป็นครึ่งปีก็มีมาแล้ว โดยไม่ต้องรอถึงกฎหมาย PDPA เลยสักมาตรา

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image