ไทยพบพม่า : การเจรจาที่ห่างไกลสันติภาพ

ตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำคณะรัฐประหาร ออกมาประกาศศักราชใหม่ว่าพม่าจะเข้าสู่ “ปีแห่งสันติภาพ” (year of peace) แม้ว่ากองทัพยังมีปฏิบัติการโจมตีกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์และฝ่ายต่อต้านในพื้นที่มากกว่า 13 รัฐและมณฑล เรียกว่าแทบไม่มีพื้นที่ไหนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบที่รุนแรงขึ้นมาตั้งแต่เกิดรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021

การอ้างถึง “ปีแห่งสันติภาพ” ก็พอจะมีที่มาอยู่ เพราะในปีนี้ต่อปีหน้า (2022-2023) พม่าจะเฉลิมฉลองปีที่ 75 หลังได้รับเอกราช (diamond jubilee) เรามักเห็นกองทัพพม่าอ้างถึงเอกราช เสรีภาพ และสันติภาพ เรื่อยๆ แต่ด้วยวิธีคิดของผู้นำระดับสูงในกองทัพพม่า ทั้ง 3 คำนี้ห่างไกลจากมาตรฐานสากลนักคนเหล่านี้มักจะย้อนกลับไปดูอดีตอันแสนไกลโพ้น และหมกมุ่นกับประวัติศาสตร์บาดแผลในยุคอาณานิคม และจะอ้างว่าการได้รับเอกราชจากอังกฤษในวันที่ 4 มกราคม 1948 คือที่สุดแห่งเอกราชและเสรีภาพของชาติ แต่สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เอกราชที่พม่าได้จากอังกฤษคือจุดเริ่มต้นของหายนะทั้งปวง รวมทั้งการขึ้นมาครองอำนาจนำของคนพม่าและกองทัพพม่า

หากลองสังเกตดู การสร้างสันติภาพเป็นเพียงวาทกรรมลมปาก ที่ผู้นำคณะรัฐ ประหารพูดขึ้นมาเพื่อสร้างภาพว่าพม่าจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติในเร็ววัน แต่ถามต่อว่าในสถานการณ์ที่มีประชาชนเสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 1,700 คน จากการสู้รบในช่วงปีเศษที่ผ่านมา กองทัพและคณะรัฐประหารจะถามหาความสงบจากไหน? ที่แย่ไปกว่านั้นคือเมื่อความรุนแรงมากขึ้นและถี่ขึ้น กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และกองกำลัง PDF ต่างปวารณาว่าจะต่อสู้กับกองทัพพม่ารุนแรงขึ้นด้วย

การตีความคำว่า “สันติภาพ” ของกองทัพคือการจัดการเจรจาสันติภาพ หรือ peace talk เป็นงานที่เราเห็นกันจนเจนตา เพราะชนชั้นนำในพม่า (ไม่ได้หมายถึงคนในกองทัพเพียงฝ่ายเดียว แต่ทุกฝ่าย รวมทั้งผู้นำพรรค NLD เดิมด้วย) ยังยึดติดกับประวัติศาสตร์ของการประชุมปางหลวง (Panglong Conference) ในปี 1947 อันเป็นการประชุมที่มีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ ฉาน กะฉิ่น และฉิ่น ร่วมหารือกับนายพล ออง ซาน ซึ่งเป็นตัวแทน “รัฐ” พม่า โดยไม่ได้มองว่าแท้จริงแล้วการประชุมที่ปางหลวงนี้เป็นเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่ยิ่งสร้างความเกลียดชังให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกีดกันออกไปจากการประชุมนี้ โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังพม่าได้รับเอกราชไปแล้ว กองกำลังติดอาวุธของกะเหรี่ยงจะเข้มแข็งขึ้น และต่อสู้กับกองทัพของพม่าอย่างเข้มข้นที่สุด

Advertisement

หลังนายพล เน วิน หมดบทบาทลงไปในปี 1988 ยุคของเผด็จการทหารภายใต้ SLORC (เปลี่ยนชื่อเป็น SPDC ในปี 1997) ก็เริ่มต้นขึ้น เรายังคงเห็นความพยายามจากกองทัพพม่าเพื่อริเริ่มการเจรจาสันติภาพ ยกตัวอย่างในปี 1993 ที่ SPDC เปิดการเจรจากับ KIO กองกำลังขนาดใหญ่ของกะฉิ่น และหาทางยุติสงครามที่ดำเนินมากว่า 30 ปีได้สำเร็จ หรือหลังจากนั้นไม่นาน นายพล ขิ่น ยุ้น เป็นผู้นำการเจรจาสันติภาพกับ KNU กองกำลังขนาดใหญ่ของกะเหรี่ยง แต่ในท้ายที่สุด ข้อตกลงเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนก็ไม่เป็นผล และพม่าก็กลับมาสู้รบกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อีกครั้ง

ในยุครัฐบาล NLD ภายใต้การนำของด่อ ออง ซาน ซูจี รัฐบาลพลเรือนพม่าก็พยายามนำกรอบการเจรจาสันติภาพมาใช้ และตั้งชื่อการประชุมสันติภาพว่า “การประชุมปางหลวงแห่งศตวรรษที่ 21” ว่ากันว่าเพื่อไปล้อกับ “จิตวิญญาณปางหลวง” ที่มีมาแต่เดิม แต่ดังที่ผู้เขียนกล่าวไปข้างต้น ชื่อปางหลวงนี้ถูกนำมาใช้แบบพร่ำเพรื่อ โดยไม่ได้นึกถึงกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกกีดกันออกไป ทำให้การเจรจาสันติภาพในแบบพม่าไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมามักเป็นการเจรจากับกลุ่มที่พร้อมเจรจา และดูจะโอนอ่อนกับพม่ามากเป็นพิเศษ ในขณะที่กองทัพและรัฐบาลพม่าไม่ต้องการเจรจากับกลุ่มที่แอ๊กทีฟและมีท่าทีต่อต้านรัฐบาลพม่าอย่างต่อเนื่อง

“จิตวิญญาณปางหลวง” และคำจำกัดความสันติภาพแบบชนชั้นนำพม่ายังถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่องในความพยายามเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์รอบล่าสุด หลังสงกรานต์ มิน อ่อง ลายเชิญผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเข้าพบที่กรุงเนปยีดอ แต่ก็เป็นการเชิญกองกำลังที่มีมาแล้วตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร กองทัพพม่าจงใจกีดกันกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF และรัฐบาล NUG หรือรัฐบาลคู่ขนาน ออกไปจากสมการสันติภาพนี้ ทั้งยังประกาศก้องฟ้าว่าทั้งสองกลุ่มเป็นกลุ่มนอกกฎหมาย โดยเรียกว่า “ขบวนการก่อการร้าย” กันเลยทีเดียว ดังนั้น แม้เราจะเห็นภาพที่ชื่นมื่นการจับมือกันไปมาระหว่างผู้นำคณะรัฐประหารพม่า กับแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ระดับไฮโปรไฟล์สุดๆ เช่น เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉานภาคใต้ และประธานสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน หรือตัวแทนจาก UWSA/UWSP หรือกองกำลังของว้า อันเป็นกองกำลังที่เข้มแข็งที่สุด และมีกำลังพลมากที่สุดในบรรดากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า แต่เมื่อขาดตัวแสดงหลักอย่าง PDF และ NUG หรือกองกำลังเช่น KNU และ CHF (Chin National Front) ของชาวฉิ่น ที่การเจรจาก็ยากจะเป็นการเจรจาเพื่อสันติภาพ และยากที่จะออกดอกออกผลที่ยั่งยืน

Advertisement

ไม่มีการเปิดเผยข้อตกลงระหว่างคณะรัฐประหารกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ว่ามีรายละเอียดอย่างไร แต่ก็พอมีข้อมูลบางอย่างที่หลุดออกมา เช่น ความพยายามสร้างข้อตกลงสันติภาพ 7 ประการ (seven-point agreement) สำหรับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ แม้จะไม่มีรายละเอียดว่าข้อตกลง 7 ข้อประกอบไปด้วยประเด็นใดบ้าง แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าคงไม่แตกต่างจากข้อตกลงสันติภาพเดิมๆ ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทหาร การหารือกับว้ามีความน่าสนใจที่สุด เพราะคณะของว้าเรียกร้องกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลายโดยตรงว่าต้องการให้พม่าแยกเขตของว้าออกไปเป็นรัฐ แยกออกมาจากรัฐฉาน และต้องการสิทธิการปกครองตนเองบางส่วนด้วย

ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร มิน อ่อง ลายพยายามหาเสียงกับกลุ่มชาติพันธุ์ว่าเขาต้องการสร้าง “สหพันธรัฐ” ไปพร้อมๆ กับการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย แต่ใครๆ ก็ทราบดีว่าประชาธิปไตยในแบบที่ผู้นำคณะรัฐประหารพูดถึงหมายถึงประชาธิปไตยแบบชี้นำ ที่ประกอบด้วยการเลือกตั้งปลอมๆ เป็นประชาธิปไตยแบบชี้นำ ที่กองทัพจะเป็นศูนย์กลางของการบริหาร แม้จะมีรัฐบาลพลเรือนเข้ามา เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคประธานาธิบดี เต็ง เส่ง แต่การเมืองและสังคมพม่าทุกส่วนก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบจากกองทัพ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนพม่าจะไม่แตกแถว และเหตุการณ์ที่กองทัพไม่ปรารถนาจะไม่เกิดขึ้น

นับจากนี้ การเจรจาสันติภาพก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ดังที่ผู้เขียนได้กล่าวไปว่าการเจรจาในลักษณะนี้ยังจะเป็นการพูดคุยระหว่างคณะรัฐประหารกับคนที่พวกเขาอยากคุยด้วย ดังนั้นถ้าจะให้พูดเต็มปากว่าการเจรจาสันติภาพในพม่าประสบความสำเร็จอย่างดีก็คงจะดูฝืนธรรมชาติเกินไป ตราบใดที่กองทัพไม่ยอมเจรจากับกองกำลังทุกฝ่าย โอกาสที่จะเกิดสันติภาพขึ้นจริงๆ ในพม่าก็ย่อมเป็นไปได้ยากส์

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image