ABCD: ไมตรี-ความสมดุล-ประนีประนอม-ถกแถลง

คำที่ใช้เป็นชื่อบทความนี้ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Amity-Balance-Compromise-Deliberation

ที่เลือกคำเหล่านี้เพื่อจะได้ใช้ชื่อย่อว่า ABCD ให้จำกันง่าย ๆ และอยากเสนอว่าเป็นคำสำคัญสำหรับการพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย ตามตำราท่านว่า ระบอบประชาธิปไตยอาศัยปัจจัยบวกสองปัจจัย เพื่อที่จะสถาปนาขึ้นและตั้งอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ ได้แก่ 1) การมีสถาบันประชาธิปไตยที่มั่นคงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 2) การมีวัฒนธรรมประชาธิปไตย สถาบันประชาธิปไตยรวมถึงการมีรัฐธรรมนูญที่เห็นพ้องต้องกัน มีความเป็นนิติรัฐ มีศาลที่อิสระและไม่เกรงใจนักรัฐประหาร มีพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง มีวุฒิสภาที่มีวุฒิภาวะ มีองค์กรอิสระที่คณะกรรมการถือภารกิจของตนเป็นหลักและอาสามาทำงานด้วยใจรัก มีสื่อสารมวลชนและสื่อออนไลน์ที่มีความรับผิดชอบ และมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งมั่นทำงานที่ตนสนใจอย่างเสียสละ เป็นต้น เหตุที่ปัจจัยแรกยังทำงานได้ไม่ดี อาจเป็นเพราะปัจจัยที่สองยังไม่ค่อยจะพร้อม อีกประการหนึ่ง พอปัจจัยแรกทำท่าจะไปได้ดี ก็มีการรัฐประหาร ทำให้สถาบันการเมืองหลายแห่งต้องมาตั้งต้นกันใหม่ แต่ในบทความนี้ จะไม่ขอวิจารณ์สถาบันการเมือง เพียงแต่อยากเขียนเรื่องที่เป็นนามธรรม ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมประชาธิปไตย โดยมีข้อเสนอคือ เราต้องเพียรสร้างค่านิยม ABCD ขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นฐานแห่งประชาธิปไตย

แรงจูงใจให้เขียนบทความนี้มาจากการถามตัวเองว่า เวลาผ่านไป 90 ปี นับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทำไมระบอบประชาธิปไตยไทยจึงยังล้าหลังอยู่เช่นนี้ แต่คราวนี้ไม่อยากพูดถึงสิ่งที่ถ่วงความก้าวหน้า แต่จะชวนให้เห็นความสำคัญของปัจจัยเชิงบวก ที่เชื่อว่าจะสอดคล้องกับประโยชน์ร่วมกันของสังคมในระยะยาว แม้จะมีแนวเรื่องอยู่ 4 เรื่องคือ ABC และ D แต่แนวเรื่องหลักคงเป็นเรื่อง C (การประนีประนอม) ที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตยนั่นเอง

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยเพียงลมปากมักอ้างว่าคนไทยไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมประชาธิปไตย (คุ้นเคยกับวัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายมากกว่า) แต่นั่นแหละ วัฒนธรรมผู้ใหญ่ผู้น้อยไม่ได้มีเฉพาะสังคมไทย (เพียงแต่ที่นี่มีมากหน่อย) วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายขัดแย้งกับวัฒนธรรมแบบสบาย ๆ ของชาวบ้านมาโดยตลอด แต่เราควรถือว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา และความพยายามแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งก็เป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน ถ้ากล่าวโดยเฉพาะถึงความพยายามแปลงเปลี่ยนความสัมพันธ์แนวตั้งมาเป็นแนวนอนให้มากขึ้น ชนชั้นบนย่อมขัดขืน แต่ไม่ถึงกับรุนแรงแบบสุดโต่

ADVERTISMENT

หรือแตกหัก ผมจึงมีสมมุติฐานว่า “คนไทยมีไมตรี” จึงมีโอกาสจะสร้างเสริมความมีไมตรีให้เป็นพื้นฐานขอ

ประชาธิปไตยไทยต่อไป

ADVERTISMENT

คำคำนี้ตรงกับคำภาษาบาลีว่าเมตตา ผมเลือกคำภาษาอังกฤษที่ตรงกับคำคำนี้ว่า Amity ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่า animosity (ความเป็นปรปักษ์หรือความเกลียดชัง) คงจำกันได้ว่าสนธิสัญญาที่ให้กำเนิดสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN นั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1976 โดยสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ The Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia จึงทำให้คิดว่าคำว่า amity ตรงกับความมีไมตรีจิตต่อกันในทางการเมืองได้อย่างดี

บทความแรกที่ขอนำมาอ้างถึงคือบทความ “ไม่ถึงด้วยการเถียง” ของจันทร์รอน (ดูหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2565) ที่กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างสองฝ่าย คือฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรเจริญกุศลให้มากขึ้น ควรละแต่อกุศล การเจริญกุศลหมายถึงการเจริญไมตรี โดยถือว่าสรรพสัตว์เป็นชีวิตเดียวกัน หน้าที่ของเราคือการทำให้ไมตรีหรือเมตตาแสดงพลังต่อกันและกัน อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า แม้แต่กุศลก็ต้องละ เพราะการมุ่งแต่จะสร้างกุศล โดยหวังว่าผลของกุศลจะสร้างบารมีให้ตนเอง ที่สุดแล้วเป็นการสร้างภาวะกิเลสอย่างหนึ่งขึ้นมา ความเห็นต่างของทั้งสองฝ่ายฟังดูแล้วคล้ายกับความเชื่อที่ต่างกันของฝ่ายมหายานกับฝ่ายเถรวาท และไม่สามารถบอกได้ว่าฝ่ายใดถูก ฝ่ายใดผิด จันทร์รอนจึงสรุปว่า ให้วางความคิด ความเชื่อไว้ชั่วคราว เมื่อจิตสงบก็จะพบความจริง และกระแสความเชื่อทั้งสองคงไปบรรจบกันหรือไม่ต่างกันในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรม ผมมีความเห็นว่า พุทธศาสนิกชนในภูมิภาคนี้นิยมฝึกภาวนาแบบเถรวาทที่เน้นการฝึกใจให้สงบ แต่ก็เคยยอมรับพุทธศาสนามหายานมาก่อน ที่เน้นเรื่องโพธิจิต ความกรุณาและไมตรี แม้ต่อมาพุทธศาสนาเถรวาทจะแพร่หลายเข้ามาโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง แต่ชาวบ้านยังถือเรื่องไมตรีต่อกันอย่างแพร่หลาย กล่าวคือ มีการฝึกอบรมให้รู้จักคนอื่น ฟังคนอื่น สัมพันธ์กับคนอื่น ยอมรับคนอื่นอย่างที่เขาเป็น อันเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ความขัดแย้งมักเกิดขึ้นระหว่างผู้มีอำนาจมากกับผู้มีอำนาจน้อย ระหว่างชนกลุ่มใหญ่กับชนกลุ่มน้อย และมักจะแก้ไขยากเพราะฝ่ายที่มีอำนาจเหนือนิยมใช้วิธี “ผู้ชนะได้หมด” (winners take all) เช่น ฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกำลังใช้อำนาจทางกฎหมายจับกุมและตั้งข้อหาผู้ชุมนุมประท้วง หรือสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง ซึ่งบางครั้งก็เกินกว่าเหตุอย่างในกรณีที่ผู้ชุมนุมเตรียมจะสลายตัวอยู่แล้ว ในกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายที่มีอำนาจเหนือใช้ความได้เปรียบเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง ซึ่งเลือกใช้การสู้รบแบบหลบซ่อนหรือแบบสงครามกองโจรเพราะไม่มีกำลังที่จะเผชิญหน้าแบบสงครามปกติ ทั้งนี้เป็นเวลากว่า 18 ปีแล้ว

Adam Curle เป็นผู้บุกเบิกด้านสันติศึกษาคนหนึ่ง เขาถือศาสนาคริสต์นิกายเควเกอร์ที่ปฏิเสธการใช้ความรุนแรง เมื่อนิกายนี้ถูกเบียดเบียนในยุโรป พวกเขาจำนวนหนึ่งจึงอพยพไปอยู่อเมริกาในยุคบุกเบิก อดัมเป็นทั้งนักวิชาการและนักกิจกรรม เขาได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องความขัดแย้งแฝงว่า การที่ความขัดแย้งเช่นนี้ยังไม่ปรากฏออกมาก็ด้วยเหตุผลว่า ฝ่ายที่มีอำนาจเหนือมักกดทับไว้ แต่ฝ่ายที่มีอำนาจน้อยกว่าจะค่อย ๆ สร้างจิตสำนึกของฝ่ายตนและชี้ความไม่ยุติธรรมของสถานการณ์ การสร้างจิตสำนึกเป็นส่วนหนึ่งของการลดช่องว่างทางอำนาจ ทางเลือกของฝ่ายที่มีอำนาจเหนือคือกดทับให้มากขึ้นเพื่อให้อยู่หมัด ฝ่ายที่มีอำนาจน้อยอาจเห็นว่าลำพังการสร้างจิตสำนึกนั้นไม่เพียงพอ จึงอาจหันมาเลือกวิธีการที่รุนแรงขึ้น คล้ายกับจะบอกว่าใช้คำพูดดี ๆ แล้วไม่มีการรับฟัง การใช้กำลังหรือการประท้วงที่รุนแรงจึงเป็นความพยายามปรับความสมดุลทางอำนาจให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น อันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเจรจาหาทางออก

อันที่จริงฝ่ายที่มีอำนาจเหนือมีทางเลือกอื่น ๆ เสมอ ถ้าเงื่อนไขของการเข้าสู่การเจรจาที่จริงใจคือความสมดุลของอำนาจที่ใกล้เคียงกัน ฝ่ายที่มีอำนาจเหนือควรเปิดพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น ให้มีพื้นที่ในรัฐสภา (มิใช่ไปยุบพรรคการเมืองของเขา หรือแต่งตั้งคนของตนฝ่ายเดียวไปเต็มวุฒิสภาแล้วอ้างว่าวุฒิสมาชิกคือตัวแทนของชนชาวไทยอย่า

หน้าตาเฉย) เปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองให้แก่ผู้เห็นต่างในชายแดนใต้ โดยเฉพาะเรื่องการโอนย้ายอำนาจให้แก่คนในพื้นที่ ยกเว้นในเรื่องความมั่นคง การคลัง การต่างประเทศ การศาล เป็นต้น

ความสมดุลของอำนาจ (Balance of Power) เป็นคำสำคัญคำที่สองของการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยหมายถึงการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ ถ้าทำสำเร็จ อำนาจอาจเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ อย่างเช่นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯคนใหม่ ซึ่งแม้แต่ผู้เสียประโยชน์ยังยอมรับได้ เพราะยังมีโอกาสเปลี่ยนดุลอำนาจได้ใหม่ภายใต้กติกาประชาธิปไตย ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับอำนาจอาจแบ่งออกเป็น

1) อำนาจนิยม ใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตนเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงการเสียประโยชน์ของฝ่ายอื่น ๆ พร้อมทั้งปิดกั้นความเห็นต่าง

2) สร้างความเห็นพ้องต้องกันในวงกว้าง โดยเฉพาะในเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่การสร้างความเห็นพ้องย่อมใช้เวลานาน ถ้าเป็นความเห็นพ้องจริง ต้องช่วยกันปกปักษ์รักษาอย่าให้ใครมาทำลาย แม้ความเห็นพ้องจะเปลี่ยนได้แต่ก็ควรใช้วิธีที่สันติในการเปลี่ยน

3) การตัดสินใจโดยเสียงข้างมาก โดยไม่ให้ความสำคัญต่อเสียงข้างน้อย แต่เมื่อใดที่การเมืองพลิกผัน ก็จะเห็นความไม่จีรังของผลการตัดสินใจโดยเสียงข้างมากแบบไม่ฟังใคร

4) การประนีประนอม หมายรวมถึงกระบวนการเจรจาเพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับว่า เป็นไปไม่ได้หรือไม่ใช่วิธีที่ฉลาดเลยที่ทุกฝ่ายหวังที่จะได้รับเต็มที่ตามคุณค่าและผลประโยชน์ของฝ่ายตน ทุกฝ่ายจึงควรยอมลดข้อเรียกร้องลงเท่าที่พอทนได้ (tolerable) โดยเชื่อว่าในระยะยาวนั้น เป็นไปได้ที่ส่วนสำคัญของคุณค่าและผลประโยชน์ของตนจะได้รับการยอมรับในที่สุด

โธมัส เมเยอร์ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดอร์มุนด์ ประเทศเยอรมนี เขาเรียกการประนีประนอมว่า “หนทางอุดมคติสู่ประชาธิปไตย” และแสดงความเห็นโดยสรุปว่า “การประนีประนอมที่ดีและเที่ยงธรรมเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมการเมืองของประชาธิปไตย การประนีประนอมแสดงให้เห็นความฉลาดเฉลียวทางการเมือง เพราะในระยะยาว มักจะทำให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของผู้ประนีประนอมได้ดีกว่าและยั่งยืนกว่าการแสดงออกของอำนาจเหนือในระยะสั้น การประนีประนอมทำให้เกิดความไว้วางใจกันในสังคม ทำให้ประชาธิปไตยมีเสถียรภาพเพราะทำให้ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าของตนได้ในทางปฏิบัติ ประชาธิปไตยต้องการและทำให้เกิดขึ้นได้ซึ่งวัฒนธรรมของการประนีประนอมที่ดี”

ผมเคยอ่านบทความว่าค่านิยมหลักประการหนึ่งของคนไทยคือการประนีประนอม พอดีเจอบทความของปรมินท์ จารุวร เรื่อง “ความขัดแย้งและการประนีประนอมในตำนานปรัมปราไทย” มีประเด็นน่าสนใจหลายประเด็น โดยเฉพาะวิธีการวิเคราะห์ตำนานของโคลด เลวี สตราส์ โดยแยกส่วนย่อยมาเปรียบเทียบว่าทำไมตำนานแต่ละเรื่องจึงเล่าออกมาด้วยเนื้อหาที่แตกต่างกัน แล้ววิเคราะห์ตัวละครได้แก่ คู่ตรงกันข้าม (คล้ายพระเอก-ผู้ร้ายกระมัง) และตัวเชื่อม ปรมินท์พบว่าสามารถจัดตำนานไทยได้เป็น 4 กระบวนทัศน์ ดังนี้

1) ตำนานสร้างโลก ตัวละครได้แก่ แถน ปู่ย่า ขวัญข้าว กบ ผี ฯลฯ ซึ่งแสดงพฤติกรรมทั้งเกื้อกูลและลงโทษมนุษย์

2) ตำนานกลุ่มชน เช่น ลัวะ ละว้า ขอมดำดิน มอญ มีการรบกัน แต่งงานกัน สุดท้ายจะเข้าไปเกี่ยวพันกับพระพุทธเจ้า แสดงว่าดินแดนไทยเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม มีทั้งไมตรีและความขัดแย้งกัน แต่ก็หันมานับถือพระพุทธศาสนาร่วมกัน

3) ตำนานพระพุทธเจ้า ซึ่งในตำนานจะเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ให้น้ำ ให้แสงสว่างแก่มนุษย์ แสดงว่าพระพุทธศาสนาช่วยเหลือคนไทยได้ในด้านต่าง ๆ

4) ตำนานตัวเชื่อม ทำหน้าที่เชื่อมโยงคู่ขัดแย้งไว้ด้วยกัน หลัก ๆ มีฤาษี พระยานาค ยักษ์ เทวดา และกวาง บทบาทของตัวเชื่อมแสดงความพยายามที่จะประนอมความขัดแย้งระหว่างพุทธกับผี

ตามตำนานปรัมปราของไทย แสดงว่าเรามีทุนทางสังคมอยู่พอสมควรในเรื่องการประนีประนอม กล่าวคือ ความเชื่อดั้งเดิมถือว่าสามารถประนอมผู้สร้างกับมนุษย์ได้ กลุ่มชาติพันธุ์ประนอมกันได้ โดยมีจุดเชื่อมโยงทางจิตใจอยู่ที่ศาสนาพุทธ และสามารถประนอมได้แม้กระทั่งพุทธกับการนับถือผี จึงน่าเชื่อว่า เราจะก้าวข้ามความแตกแยกและความขัดแย้งต่าง ๆ และพัฒนาประชาธิปไตยไปด้วยกัน โดยถือหลักการประนอมเป็นสำคัญ แต่น่าเสียดายที่เรามีคู่ขัดแย้งเต็มไปหมด เพียงแต่ยังหาจุดเชื่อมโยง ที่จะเล่นบทเป็นฤาษี พระยานาค ฯลฯ ยังไม่ค่อยได้

เหลือตัวอักษรสุดท้ายคือตัว D ที่ย่อมาจาก deliberation และระยะหลังนี้มีการนำคำคุณศัพท์ deliberative มาขยายคำว่าประชาธิปไตยได้เป็น deliberative democracy เราอาจแบ่งประชาธิปไตยอย่างคร่าว ๆ ได้เป็นสามแบบคือ

1) ประชาธิปไตยตัวแทนที่เราคุ้นเคย แบบวิธีการสื่อสารเน้นการโต้เถียง (debate) แบบวิธีการตัดสินใจเน้นการสร้างกลุ่มก้อน (aggregation) ของความเห็นเพื่อให้ได้เป็นเสียงข้างมาก

2) ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่เห็นว่าประชาชนต้องร่วมคิดร่วมตัดสินใจ ร่วมแก้ปัญหาได้ตลอดเวลา แต่การมีส่วนร่วมก็อาจมีปัญหา ถ้าเกินเลยไป รัฐจะอ่อนแอ และอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน เช่น ประชาชนอาจบอกปัดให้รัฐไปจัดทำโครงการที่อื่น (never on my backyard – NIMBY) หรืออาจเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกันเองได้บ่อยครั้ง แบบวิธีการสื่อสารเน้นการโต้เถียง การสร้างวาทกรรม การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และการปฏิบัติการทางตรง แบบวิธีการตัดสินใจเน้นการสร้างความเห็นพ้องในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อร่วมกันสร้างและขับเคลื่อนนโยบาย

3) ประชาธิปไตยแบบถกแถลง คำว่าการถกแถลงน่าจะตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า deliberation ถ้าแยกคำถกแถลงเป็น ถก+แถลง คำว่าถก พจนานุกรมแปลว่า “ยกเอามาพิจารณากันด้วยเหตุผล” และแถลงแปลว่า “กล่าวอธิบาย” รวมกันแล้วน่าจะเป็น “อธิบายให้ทราบกันด้วยเหตุผล” ซึ่งตรงกับคำว่า deliberation มากกว่าคำว่า “ปรึกษาหารือ” หรือ “สานเสวนาหาทางออก”

ประชาธิปไตยแบบถกแถลงมุ่งเสริมความเข้มแข็งและลดจุดอ่อนให้แก่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนและแบบมีส่วนร่วม (ซึ่งอันที่จริงควรใช้การผสมผสานระหว่างประชาธิปไตยทั้งสามแบบนั่นแหละ) โดยที่การถกแถลงเน้นการพูดคุย การสื่อสารความเห็น และการก่อรูปเจตจำนงทางการเมือง โดยเฉพาะก่อนการลงคะแนนหรือการตัดสินใจ แบบวิธีการสื่อสารไม่ใช้การโต้เถียง หากใช้การนำเสนอด้วยเหตุผลและการพินิจพิเคราะห์ ส่วนการตัดสินใจจะใช้วิธีถ้อยทีถ้อยปฏิบัติในการหาทางออก ถ้าไม่สำเร็จจึงจะใช้วิธีออกเสียงลงคะแนน

เราอาจมองว่าการถกแถลงไม่เชิงเป็นเรื่องคุณค่า หากเป็นเรื่องการเปลี่ยนวิธีการตัดสินใจมากกว่า อันที่จริง สิ่งที่ต้องการเปลี่ยนคือการเปลี่ยนท่าทีที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ฉลาด ที่เป็นการประนอมเพื่อประโยชน์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งต้องการเปลี่ยนวิธีการสื่อสารจากการโต้เถียงมาเป็นการตั้งใจฟังเหตุผลของผู้อื่น

ขอสรุปว่า เราควรพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตย โดยเริ่มจากจิตใจที่มีเมตตา มีความพอประมาณ(ไม่หวังชนะแต่ถ่ายเดียว) ยอมที่จะแก้ไขความขัดแย้งแบบประนอมประโยชน์ และมีวิธีการตัดสินใจที่อิงทั้งเหตุผลและความเห็นอกเห็นใจกัน

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image