รัฐธรรมนูญ 59…ปฏิรูป’อย่างไร’ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

คณะรัฐมนตรีเสนอความเห็นต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้แยกหมวดที่ว่าด้วยการปฏิรูปด้านต่างๆ ออกมาเป็นหมวดหนึ่งต่างหาก แทนที่จะซุกไว้ในบทเฉพาะกาล ซึ่งเขียนไว้แล้วในมาตรา 267 ปฏิรูปการศึกษา มาตรา 268 ปฏิรูปตำรวจ มาตรา 269 ปฏิรูปด้านต่างๆ แล้วแต่ใครจะกรอกด้านไหน

ย้อนกลับไปดูปฏิรูปการศึกษา มาตรา 267 ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีร่วมกันดำเนินการและผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาของชาติให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 50 วรรคสองและวรรคสาม และให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามมาตรา 50 วรรคสี่โดยเร็ว โดยจะต้องจัดทำแนวทางการปฏิรูปให้แล้วเสร็จ และเริ่มดำเนินการภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ในกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นสมควรจะเสนอแนะต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณา ตามที่เห็นสมควรก็ได้

แสดงว่าเห็นความสำคัญถึงขั้นยกมาเป็นมาตราหนึ่งโดยเฉพาะ ด้วยความคาดหวังว่า แนวทางและแผนงานปฏิรูปต่างๆ ที่วางไว้จะเกิดสภาพบังคับ รัฐบาลใหม่ไม่อาจปฏิเสธได้ ต้องทำตามว่างั้นเถอะ

Advertisement

โดยเฉพาะปฏิรูปการศึกษา เป็นเรื่องที่ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญย้ำตั้งแต่แรกที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ว่า ต้องบรรจุเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดความต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

แต่ไม่ว่าจะใส่ไว้ในหมวดใด หรือแยกออกเป็นหมวดหนึ่งต่างหากก็ตาม ในระดับรัฐธรรมนูญคงเขียนไว้แต่เพียงกว้างๆ ว่าควรปฏิรูปด้านใดบ้าง รายละเอียดไปว่ากันในระดับกฎหมายลูก

ตรงรายละเอียดในกฎหมายลูกนี่แหละครับ สำคัญมาก และจะมีปัญหา

Advertisement

ไม่ใช่ในขั้นหลักการ ซึ่งแทบทุกฝ่ายล้วนเห็นตรงกันทั้งสิ้นว่า สังคมไทยต้องปฏิรูปแทบทุกด้าน ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข ระบบราชการ พลังงาน ฯลฯ

ประเด็นปฏิรูปด้านใดหรือปฏิรูปอะไรจึงไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ปฏิรูปอย่างไรต่างหาก ทิศทางควรจะไปทางไหน ไปที่ใคร และใครปฏิรูป ปฏิรูปเมื่อไหร่ คำตอบในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ควรมีความชัดเจนในระดับหนึ่งก่อนยกร่างตัวบทกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายลูก

เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาขึ้นตลอด เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เปลี่ยนผู้บริหารทั้งระดับรัฐบาลและระดับกระทรวง การเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งว่า นโยบายของใครถูกต้อง เหมาะสมกว่ากันแน่

ตัวอย่างรูปธรรมก็คือ ปฏิรูปการศึกษา

การยกเลิกนโยบายแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยม ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นนโยบายประชานิยม แต่ก็มีผู้ที่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว

มีงานวิจัยรองรับว่าเกิดประโยชน์กับเด็ก โดยเฉพาะที่ขาดแคลน ขาดโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันราคาถูกมากขึ้นตามลำดับ ทำนองเดียวกับแนวทางใช้เทคโนโลยีทางไกล

ส่วนกรณีเกิดทุจริตจากการประมูล นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ความเห็นต่างเกี่ยวกับแนวทางนโยบายปฏิรูปการศึกษาที่ว่า เป็นเรื่องของปฏิรูปเทคโนโลยี ขณะที่ยังมีการปฏิรูปด้านอื่นๆ อีก ทั้งปฏิรูปครู ปฏิรูปการเรียนรู้

ปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการบริหารจัดการ ซึ่งมีข้อโต้แย้งกันตลอดว่า ควรจะมุ่งไปตรงไหนก่อนหลังและทำอย่างไรในแต่ละเรื่อง

ประเด็นปัญหาจึงไม่ใช่มีแค่ว่าควรจะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกหรือไม่ ซึ่งเป็นเพียงข้อความในกระดาษ แต่อยู่ที่การบังคับใช้ การปฏิบัติของคน

เราไม่มีกระบวนการที่มีประสิทธิกาพที่จะหาข้อยุติในความเห็นต่างเกี่ยวกับนโยบายทางการศึกษา และมาตรการที่นำมาใช้รองรับนโยบายนั้นๆ จึงทำให้เกิดความไม่เสถียร ไร้ความต่อเนื่อง เปลี่ยนไปมาตามอำนาจของผู้บริหารแต่ละชุด ทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ที่หมุนเวียนกันเข้ามา

ทิศทางควรเน้นไปในเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษา แต่ความเป็นจริงกลับมาสู่รวมศูนย์อำนาจ ควรกระจายให้ระดับพื้นที่เป็นกลไกหลัก แต่กลับดึงหรือกอดอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เป็นต้น

ฉะนั้น เขียนรัฐธรรมนูญให้หรูเริ่ดอย่างไร ปฏิรูปก็ไม่สำเร็จ เพราะคน ผู้ปฏิบัติเดินไปคนละทิศคนละทาง ตามความเชื่อของใครของมัน

แม้แต่ในรัฐบาลเดียวกัน ของเดิมที่ควรทำต่อเพราะสอดคล้องกับหลักปฏิรูปการศึกษากลับถูกยกเลิกหยุดเสียเฉยๆ ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายจึงเกิดขึ้นตลอด

ความไม่ต่อเนื่อง ความเห็นต่าง ยังทำให้เกิดกลไกทับซ้อน ดังคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา กับคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และระบบการศึกษา จนเกิดความสับสนว่า คณะไหนแน่คือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา ที่จะทำให้ปฏิรูปการศึกษาต่อเนื่อง

รวมถึง คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ยังไม่สามารถเชื่อมโยงบทบาท จนทำให้ข้อเสนอมีเอกภาพและเกิดความต่อเนื่องทางนโยบายและการปฏิบัติได้

การปฏิรูปด้านใดก็ตาม กลไกระดับบนเหล่านี้ต้องจับเข่าคุยกัน ไม่ใช่แค่จะทำอะไรหรือปฏิรูปอะไร แต่ต้องทำอย่างไรและใครทำ

ถ้าคำตอบสองประการหลังยังไม่ชัด ปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญก็เป็นเพียงหลักการสวยหรู แต่ถึงเวลาปฏิบัติจริงแล้วเหมือนเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image