แท็งก์ความคิด : ค้นหา”จอร์จ ออร์เวลล์”

หนึ่งในหนังสือขายดีในมหกรรมหนังสือระดับชาติที่เพิ่งผ่านพ้นของสำนักพิมพ์มติชน

คือหนังสือชื่อ “จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา”

ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Finding George Orwell in Burma”

เขียนโดย Emma Larkin แปรโดย สุภัตรา ภูมิประภาส

แรงดึงดูดจากชื่อเรื่องคือชื่อ “จอร์จ ออร์เวลล์”

Advertisement

ผู้ประพันธ์นิยายเรื่อง “แอนิมอลฟาร์ม” เรื่อง “1984”

แล้วก็อีกเรื่องเกี่ยวกับพม่าโดยตรง “เบอร์มิส เดย์ส”

แต่ละเรื่อง แต่ละชื่อ ล้วนแต่ดังก้องโลก

Advertisement

ยังมีนิยายเรื่องสุดท้ายในชีวิต A Smoking Room Story ที่เกี่ยวโยงกับพม่าอยู่เช่นกัน

พลิกเข้าไปอ่านช่วงต้นๆ ของเล่มยิ่งทำให้อยากติดตาม

ทั้งนี้ เพราะหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากความอยากรู้ของผู้เขียน ซึ่งต้องการแกะรอย จอร์จ ออร์เวลล์ ตอนทำงานเป็นตำรวจในพม่า

จอร์จ ออร์เวลล์ ที่เป็นนามปากกา ส่วนชื่อจริงคือ เอริก อาร์เทอร์ แบลร์ (ค.ศ.1903-1950) ชาวอังกฤษ

เป็นชาวอังกฤษที่มีความเกี่ยวพันกับพม่า

ดังนั้น เมื่อเขาสมัครมาเป็นตำรวจที่พม่าจึงได้รับอนุญาต

หรือจะเรียกอีกอย่างว่า เป็นสาเหตุดึงดูดให้จอร์จ ออร์เวลล์ เลือกไปทำงานที่พม่า

แต่…

ข้อมูลที่ Emma Larkin ได้รับคือ จอร์จมาอยู่พม่าเพียง 5 ปี หลังจากนั้นก็ขอลาออก

แล้วชีวิตก็ผันเข้าสู่การเป็นนักเขียน…

และการต่อต้านจักรวรรดินิยม!

มันเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลา 5 ปีที่ทำให้เอริก อาร์เทอร์ แบลร์ เปลี่ยนไปเป็นจอร์จ ออร์เวลล์

แล้วยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ข้อเขียนช่วงท้ายๆ ของชีวิต ทั้งเบอร์มิส เดย์ส ทั้งแอนิมอลฟาร์ม ทั้ง 1984

และ A Smoking Room Story

มีส่วนสัมพันธ์กับประสบการณ์ตอนที่จอร์จ ออร์เวลล์ อยู่ในพม่า 5 ปีนั้น

หลายบทหลายตอน จอร์จ ออร์เวลล์กลั่นออกมาจากการใช้ชีวิตช่วงนั้น

แล้วมันเกิดอะไรขึ้น?

แหะ แหะ เกริ่นเรื่องมาแบบนี้ ใครจะไม่สนใจ

เท่านั้นเอง เนื้อหาในหนังสือเรื่อง “จิบพม่า ตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา” ก็หลั่งไหลเข้าสู่สมองโดยการอ่าน

ภายในเล่มบรรยายเรื่องราวได้สนุก ไม่เบาโหวง..ไม่หนักอึ้ง

แต่ก็ไม่ขาดอรรถรสของสถานการณ์พม่าในช่วงปิดประเทศ

Emma เล่าเรื่องการตามรอยจอร์จ ออร์เวลล์ ท่ามกลางการควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาลทหาร

พาผู้อ่านไปยัง “มัณฑะเลย์” เมืองหลวงเก่าของพระเจ้าธีบอ และราชินีศุภยาลัต

ณ ที่แห่งนี้ จอร์จ ออร์เวลล์ ได้เข้าไปฝึกเป็นผู้ช่วยผู้กำกับการตำรวจ

พาไปยังเมียวเมียะ เมืองห่างไกลที่อยู่ลึกเข้าไปในภูมิภาคปากแม่น้ำอิรวดี

ณ ที่นั่นเป็นสถานที่ที่ จอร์จ ออร์เวลล์ ไปรับหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

จากนั้นได้แวะเวียนไปที่เมาะละแหม่ง สัมผัสกับความเป็นมาของจอร์จ ออร์เวลล์ และครอบครัวของเขา

แวะไปยังเมือง

สิเรียมใกล้เมืองย่างกุ้งสมัยที่ย่างกุ้งเป็นเมืองหลวง และมีสิ่งอำนวยความสะดวกมาก

แล้วจบท้ายที่กาต่า เมืองตอนเหนือของประเทศพม่า

เมืองสุดท้ายที่จอร์จ ออร์เวลล์ ประจำการก่อนกลับอังกฤษแล้วยื่นใบลาออก

แต่ละตอนที่ Emma พาไปสัมผัส จะมีฉากการจิบน้ำชาเข้ามาสอดแทรกเสมอ

กิจกรรมจิบน้ำชาเป็นที่นิยมของพม่า

และคนที่ Emma ไปหาก็เป็นหนอนหนังสือตัวยงกันทั้งนั้น

Emma บรรยายบรรยากาศแต่ละเมืองให้เห็นภาพ

สภาพการเดินทางที่มีตาสับปะรดคอยจับจ้อง ตำรวจลับคอยติดตามทุกจังหวะเวลา

สิทธิเสรีภาพที่หากันไม่ยากในโลก แทบจะไม่เกิดในพม่า ณ เวลานั้น

รวมทั้งผลกระทบจากการปิดประเทศ

ฉากต่างๆ ที่ Emma เจอะเจอ อธิบายได้สอดคล้องกับบางฉากในนิยายของ จอร์จ ออร์เวลล์

อาทิ เรื่องโทรภาพใน 1984 คำว่า “บิ๊กบราเธอร์” ก็เช่นกัน

สภาพสังคมใน 1984 รวมไปถึงสังคมในแอนิมอลฟาร์ม หลังจากสัตว์เลี้ยงในฟาร์มยึดอำนาจและขับไล่เจ้าของออกไป

อะไรๆ มันก็เหมือนสภาพการณ์ที่เกิดในพม่าช่วงนั้น

ยิ่งนิยายเรื่อง เบอร์มิส เดย์ส ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะฉากของเรื่องคือเมืองกาต่านั่นเอง

หนังสือเรื่อง “จิบพม่าฯ” นี้ หากใครเคยอ่านงานของจอร์จ ออร์เวลล์มาก่อน

ควรจะอ่าน เผื่อจะเห็นแรงบันดาลใจ

ส่วนใครที่ยังไม่เคยอ่านเลย หากได้อ่านอาจเป็นแรงบันดานใจให้ไปอ่าน

เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้คือการแกะรอยตามหาแรงบันดาลใจของนักเขียน

ตามหาแรงบันดาลใจของ “จอร์จ ออร์เวลล์”

แม้ว่า “จอร์จ ออร์เวลล์” จะเสียชีวิตไปแล้วตั้งแต่ ค.ศ.1950

แต่ก็ยังมีผู้สนใจค้นหา

ไม่ใช่ค้นหา “จอร์จ ออร์เวลล์”

หากแต่ค้นหาอื่นๆ ที่ก่อตัวเป็นคุณค่าของจอร์จ ออร์เวลล์

ค้นหาแรงบันดาลใจของเขา ค้นหาตัวตนของเขา

ค้นหาผลงานของเขา

ค้นหาแม้กระทั่งระหว่างบรรทัดที่เขาบรรจงเขียนนิยายอันทรงคุณค่าขึ้นมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image