ไทยพบพม่า : รัฐซ้อนรัฐในรัฐยะไข่

หากจะกล่าวถึงกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อันดับต้นๆ ในพม่าปัจจุบัน นับกันเฉพาะเรื่องความพร้อมด้านกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และความกระเหี้ยนกระหือรือในการรบ คงไม่มีกองกำลังกลุ่มใดโดดเด่นเท่ากับกองทัพอาระกัน หรือ AA (Arakan Army) ที่พูดเช่นนี้ เพราะในบรรดากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายสิบกลุ่มทั่วประเทศ มีกองกำลังที่มีกำลังพลและความพร้อมอย่างดีเพียงบางส่วน ในรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง หรือรัฐกะฉิ่น แต่เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มมี “วาระ” เป็นของตนเอง หลายกลุ่มมองถึงอนาคตการได้อิสระบริหารจัดการรัฐของตนเอง พูดง่ายๆ คือใฝ่ฝันถึงการปกครองแบบสหพันธรัฐ ที่รัฐของกลุ่มชาติพันธุ์สามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ และอีกหลายกลุ่มมองถึงผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นค่าคุ้มครอง หรือมูลค่าของเศรษฐกิจชายแดนในพื้นที่ที่ตนควบคุมอยู่ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล

แก่นแท้ของสงครามกลางเมืองในพม่า และภายใต้ความขัดแย้งทางเชื้อชาติในหลายระดับ คือการรักษาผลประโยชน์และสถานะทางอำนาจ (status quo) ของแต่ละฝ่ายไว้อย่างเหนียวแน่น เราจึงไม่ควรมองว่าความวุ่นวายทางการเมืองในพม่าเป็นเพียงความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ต้องมองลึกลงไปว่าภายในกลุ่มชาติพันธุ์เองก็มีความขัดแย้ง ที่ไม่สามารถหาจุดร่วมตรงกลางได้ง่ายๆ

กองทัพอาระกันเป็นกองกำลังใหม่ ที่เพิ่งจะก่อตั้งเมื่อปี 2009 มานี้เอง ในช่วงสิบกว่าปีมานี้ รัฐยะไข่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่ากลายเป็นสนามรบและพื้นที่ขัดแย้งของหลายฝ่าย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐยะไข่เองก็มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย ทั้งชาวโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ชาวยะไข่มุสลิมอื่นๆ และชาวยะไข่พุทธ นอกจากนี้ รัฐยะไข่ที่ตั้งอยู่ติดกับมหาสมุทรอินเดีย มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากอยู่ติดกับบังกลาเทศ และเป็นเสมือนประตูเปิดออกสู่เอเชียใต้ทั้งภูมิภาค

เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้กองทัพพม่าพยายามถนอมน้ำใจกองกำลังในรัฐยะไข่ไว้ และยังรู้ว่าผู้นำกองทัพยะไข่อย่าง ทุน มรัต นาย (Tun Mrat Naing) ไม่ใช่นายทหารธรรมดาๆ เพราะผู้นำหนุ่มอายุเพียง 43 ปี ผู้นี้มีทั้งบารมี กึ๋น และเป็นที่เคารพของคนในพื้นที่ ภายในไม่กี่ปี เขาสร้างให้กองทัพอาระกันเป็นกองกำลังที่ครบเครื่องที่สุดในพม่า เป็นเหมือนกองกำลังคลื่นลูกใหม่ที่มาแรง และเปิดฉากโจมตีกองทัพพม่าได้เด็ดขาดรุนแรงที่สุด

Advertisement

เมื่อเกิดรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 รัฐยะไข่แทบไม่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง อันสืบเนื่องจากการประท้วงต่อต้านรัฐประหารของประชาชน และการนัดหยุดงานของข้าราชการ ในขณะที่เกิดการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงกระจายไปทั่วประเทศ ท่ามกลางสุญญากาศทางการเมืองยุคบ้านเมืองไร้ขื่อไร้แป กองทัพอาระกันและสันนิบาตสามัคคีแห่งอาระกัน (United League of Arakan หรือ ULA) ซึ่งเป็นปีกการเมืองของกองทัพอาระกัน ร่วมกันก่อตั้งคณะบริหารขึ้นมาเพื่อปกครองและควบคุมรัฐยะไข่ โดยเฉพาะทางตอนเหนือ ที่อยู่ติดกับบังกลาเทศและรัฐฉิ่น

กองทัพอาระกันไม่ได้เข้าไปควบคุมหรือตรึงพื้นที่ในรัฐยะไข่เท่านั้น นอกจากการส่งกองกำลังทหารเข้าไปประจำยะไข่ตอนเหนือแล้ว กองทัพอาระกันยังเข้าไปเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างในรัฐยะไข่ เช่น ให้โรงเรียนทั่วพื้นที่ของตนเปลี่ยนมาร้องเพลงประจำชาติของยะไข่ แทนที่เพลง “กะบา มะเจ” (Kaba Ma Kyei) อันเป็นเพลงชาติของพม่า และยังมีนโยบายอีกหลายอย่างเพื่อฟื้นฟูอัตลักษณ์ของชาวยะไข่ หลังที่ถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมพม่าแท้มายาวนานหลายสิบปี เขตอิทธิพลของกองทัพอาระกันในรัฐยะไข่จึงไม่ต่างกับ “รัฐซ้อนรัฐ” (Deep State) ที่มีอำนาจในแบบของตัวเอง และเกิดขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐแบบพม่าโดยเฉพาะ

ในเขตกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เราเห็นปฏิบัติการทางการทหารที่เข้มข้น และการรักษาผลประโยชน์ของอีลีทผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์นั้นๆ แต่ไม่มีพื้นที่ใดที่จะมีปฏิบัติการในเชิงวัฒนธรรม และการเข้าไปขุดรื้อวัฒนธรรมแบบพม่าแท้ออกจากวิถีชีวิตของผู้คนเท่ากับในรัฐยะไข่ ด้วยกระแสการต่อต้านกองทัพพม่าที่รุนแรง จึงไม่น่าแปลกใจที่กองทัพพม่าพยายามเรียกร้องให้กองทัพอาระกันลงนามในข้อตกลงสงบศึก เพราะรู้ดีว่าหากกองทัพอาระกันเข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ หรือกองทัพพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร และเป็นเป้าหมายหลักของกองทัพพม่าในขณะนี้ได้ล่ะก็ โอกาสที่ฝ่ายปฏิปักษ์จะเติบโตและร่วมกันโจมตีกองทัพพม่าจากทุกด้านก็มีมากขึ้น

ในปี 2020 กองทัพอาระกันลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพพม่า ในขณะนั้นรัฐบาลพม่ายังอยู่ภายใต้การบริหารของพรรค NLD และด่อ ออง ซาน ซูจี กองทัพพม่าเองก็พยายามบอกกับสื่ออยู่หลายครั้งว่าตนมีความสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นกับกองทัพอาระกัน แต่อุดมการณ์และเป้าหมายของกองทัพอาระกันยิ่งใหญ่กว่านั้น ในที่สุดเมื่อเกิดรัฐประหาร หลายฝ่ายรอดูทีท่าของกองทัพอาระกันก่อนเป็นอันดับแรก แม้กองทัพอาระกันจะไม่ได้แสดงตนว่าสนับสนุนกองกำลังฝ่ายประชาชนอย่างชัดเจนเหมือนกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น KNU ของกะเหรี่ยง แต่ในเวลาต่อมาก็พิสูจน์ให้เห็นว่าหากกองกำลังฝ่ายประชาชนต้องการชัยชนะ กลุ่มหนึ่งที่พวกเขาต้องเข้าหาเป็นอันดับต้นๆ ก็คือกองทัพอาระกันของทุน มรัต นาย นี่แหละ

ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างกองกำลัง PDF กับกองทัพอาระกันยังดีอยู่ เมื่อสัปดาห์ก่อน กองทัพอาระกันเพิ่งจัดแถลงข่าว พวกเขาอ่านเกมไว้ว่าการเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังฝ่ายตน กองกำลังฝ่ายอื่นๆ และกองทัพพม่าจะมีมากขึ้นอย่างแน่นอน และยังอ้างว่ากองทัพอาระกันเพิ่งรับอดีตทหาร 100 คน ที่ตัดสินใจโบกมือลากองทัพพม่าและเข้าร่วมกับกองทัพอาระกัน ไฮไลต์ของการแถลงข่าวในครั้งนี้อยู่ที่ประโยคที่ว่า “กองทัพอาระกันต้องการสร้างเพื่อนมากกว่าศัตรู” และกองทัพอาระกันกับเครือข่าย “ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองของกองทัพพม่า” คำว่า “เพื่อน” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงกองกำลัง PDF กับรัฐบาลคู่ขนาน NUG เท่านั้น แต่ยังหมายถึงกองกำลังอื่นๆ

ถึงตอนนี้ ทางออกของปัญหาความขัดแย้งในพม่ามีเพียง 2 ทางเท่านั้น หากไม่เกิดการเจรจาและกองทัพยอมรับข้อเสนอของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และ PDF สงครามกลางเมืองก็จะดำเนินต่อไปอีกยาวนาน จนกว่าจะมีผู้ชนะ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าความขัดแย้งในพม่ามีหลายระดับ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและหมักหมมมายาวนาน คงไม่ได้จบง่ายๆ เหมือนกรณีของรวันดา ที่กองกำลังฝ่ายทุตซี (Tutsi) รบชนะกองกำลังของฮูตู (Hutu) และบุกเข้ายึดกรุงคิกาลี (Kigali) เมืองหลวงของรวันดา นำมาสู่การสถาปนารัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของพอล คากาเม (Paul Kagame) ประธานาธิบดีชาวทุตซี มาจวบจนปัจจุบัน แต่สงครามกลางเมืองในพม่าจะดำเนินต่อไปอีกเนิ่นนาน ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าถึงเมื่อไหร่

ลลิตา หาญวงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image