สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ : อัตราค่าจ้างแรงงานฝีมือมาแล้ว

ขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แรงงานเรียกร้องไปเมื่อวันแรงงานปีนี้ในอัตราวันละ 492 บาทยังไม่มีวี่แววว่าในที่สุดจะได้ขึ้นหรือไม่เท่าไหร่ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 11) ว่า คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 มีมติเห็นชอบ
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ รวม 16 สาขา โดยใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเกณฑ์วัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ

ทั้งนี้ต้องรออีก 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปจึงจะมีผล ทั้งๆ ที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศไปตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 แล้ว

อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือดังกล่าวมี 16 สาขาอาชีพ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มอาชีพใหญ่ๆ คือ

กลุ่มอาชีพช่างก่อสร้าง 5 สาขา 1.ช่างติดตั้งยิปซัม ระดับ 1 ไม่น้อยกว่า 450 ระดับ 2 ไม่น้อย 595 บาทต่อวัน 2.ช่างเขียนแบบก่อสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ไม่น้อยกว่า 645 บาทต่อวัน 3.ช่างปูกระเบื้องผนังและพื้น ระดับ 1 ไม่น้อยกว่า 450 ระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 650 บาทต่อวัน 4.ช่างสีอาคาร ระดับ 1 ไม่น้อยกว่า 465 ระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 600 บาทต่อวัน 5.ช่างก่อและติดตั้งคอนกรีตมวลเบา ระดับ 1 ไม่น้อยกว่า 475 ระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 575 บาทต่อวัน

Advertisement

กลุ่มอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ 4 สาขา 1.ช่างเครื่องประดับ (รูปพรรณ) ระดับ 1 ไม่น้อยกว่า 450 ระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 650 บาทต่อวัน 2.ช่างประกอบติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ ระดับ 1 ไม่น้อยกว่า 430 ระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 550 บาทต่อวัน 3.ช่างฝีมือเครื่องประดับแนวอนุรักษ์ (เทคนิคโบราณ) 525 บาทต่อวัน 4.ช่างเครื่องถม 625 บาทต่อวัน

และกลุ่มอาชีพภาคบริการ 7 สาขา 1.นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (หัตถบำบัด หมายถึงการนวดไทยแบบเน้นเพื่อความสบายและให้เกิดความผ่อนคลายโดยผสมผสานกับรูปแบบของกิจกรรมในสปา ระดับ 1 ไม่น้อยกว่า 460 ระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 575 บาทต่อวัน 2.ผู้ประกอบขนมอบ ระดับ 1 ไม่น้อยกว่า 400 ระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 505 บาทต่อวัน 3.พนักงานต้อนรับส่วนหน้า ระดับ 1 ไม่น้อยกว่า 440 ระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 565 บาทต่อวัน 4.พนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ไม่น้อยกว่า 440 บาทต่อวัน 5.ช่างแต่งผมสตรี ระดับ 1 ไม่น้อยกว่า 440 ระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 650 บาทต่อวัน 6.ช่างแต่งผมบุรุษ ระดับ 1 ไม่น้อยกว่า 430 ระดับ 2 ไม่น้อยกว่า 630 บาทต่อวัน 7.การดูแลผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 500 บาทต่อวัน

แต่การจะได้ค่าจ้างในอัตราแรงงานฝีมือนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะมีกฎ กติกา ที่ต้องปฏิบัติตามอีกพอสมควร ที่สำคัญคือ “อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือนี้มุ่งจะคุ้มครองลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในแต่ละสาขาอาชีพ และแต่ละระดับให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม” (คำชี้แจงคณะกรรมการค่าจ้าง 2561)

Advertisement

แปลว่า แรงงานที่จะได้อัตราค่าจ้างในอัตราแรงงานฝีมือ ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามที่กำหนดโดยคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

ด่านแรกที่ต้องเจอคือ คุณสมบัติของผู้เข้ารับการทดสอบ ดังนี้

1.อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์นับถึงวันสมัครเข้ารับการทดสอบ และ

2.มีประสบการณ์การทำงานหรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับสาขาที่จะทดสอบ หรือ

3.ผ่านการฝึกฝีมือแรงงานหรือฝึกอาชีพ และมีประสบการณ์จากการฝึกหรือปฏิบัติงานในกิจการในสาขาที่เกี่ยวข้อง หรือ

4.เป็นผู้ที่จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพในสาขาที่เกี่ยวข้อง

ตรงนี้ก็นับว่าให้โอกาสแก่คนที่อาจไม่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อนโดยผ่านการฝึกอบรมหรือมีวุฒิการศึกษาวิชาชีพที่กำหนดก็ได้

การประเมินผลการทดสอบ คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้
ความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติงาน ความปลอดภัยในการทำงาน ขั้นตอนวิธีการทำงานที่เหมาะสม การใช้และบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ที่ถูกต้อง การเลือกและใช้วัสดุอย่างประหยัด เวลาที่ใช้ในการปฏิบัติงานมีความเหมาะสม และผลงานสำเร็จ เป็นที่ยอมรับ

ผู้ที่สนใจเข้ารับการทดสอบ สามารถสมัครได้ที่

หน่วยงานภายใต้สังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เก็บค่าทดสอบต่อคน ระดับ 1 จำนวน 100 บาท ระดับ 2 จำนวน 150 บาท และระดับ 3 จำนวน 200 บาท หรือ

หน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นที่ได้รับอนุญาตเป็นศูนย์ทดสอบฯ เก็บค่าทดสอบในอัตรา 500-2,000 บาท* ในแต่ละสาขาอาชีพ และแต่ละระดับ ตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (*ตามประกาศ 11 สิงหาคม 2559 ค่าทดสอบที่สูงที่สุดไม่เกินครั้งละ 4,500 บาท/คน สำหรับช่างเทคนิคเชื่อมสปอตตัวถังสำหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ รองลงมาคือไม่เกินครั้งละ 4,200 บาท/คน สำหรับพนักงานประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ (ขั้นสุดท้าย) แต่ 2 สาขาอาชีพนี้ไม่อยู่ในกลุ่ม 9 มิถุนายน 2565 นี้) หน่วยงานที่อยู่นอกสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเหล่านี้มีการควบคุมโดยคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545

การทดสอบ แบ่งเป็น 2 ภาค คือ 1.ภาคความรู้ เป็นการทดสอบความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติงานที่จำเป็น และ 2.ภาคความสามารถ เป็นการทดสอบทักษะ ความชำนาญงาน รวมถึงทัศนคติในการทำงานที่ดี เป็นการทดสอบการปฏิบัติงานจริงตามแบบและเวลาที่กำหนด คะแนนขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบในแต่ละสาขาอาชีพ และแต่ละระดับ

เกณฑ์การตัดสิน

ผู้เข้ารับการทดสอบจะต้องเข้ารับการทดสอบทั้งสองภาค โดยต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนดของแต่ละภาค และเมื่อรวมคะแนนทั้งสองภาคแล้วต้องมีคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 70

เท่าที่ดูสถิติของแรงงานฝีมือที่ผ่านการทดสอบในแต่ละปีมีไม่มากนัก คือ ในปี 2563 มีผู้เข้ารับการทดสอบ 31,624 คน ผ่าน 21,482 คน (คิดเป็นร้อยละ 68) ช่วงเดือนตุลาคม 2564-มีนาคม 2565 ผู้เข้ารับการอบรมทดสอบ 48,671 คน ผ่าน 28,320 คน คิดเป็นร้อยละ 58 (สถิติแรงงานประจำปี 2563 และสถิติแรงงานรายเดือนมีนาคม 2565) ทั้งนี้ ผู้เขียนยังไม่แน่ใจกับตัวเลขดังกล่าวเนื่องจากในเว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงานพบคำว่า “ทำเนียบผู้ผ่านการรับรองความรู้ความสามารถสาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ผู้เข้าทดสอบ 273,637 คน ผู้ผ่านการทดสอบ 199,107 คน” (https://www.dsd.go.th/DSD/TestInfo/index2559?page=793) โดยไม่ได้ให้ข้อมูลอื่นนอกจากรายชื่อผู้ผ่านการทดสอบ

ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า นอกจากต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามที่กำหนดโดยคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว จะมีทางอื่นที่จะสามารถรับรองแรงงานฝีมือให้ได้รับอัตราค่าจ้างแรงงานฝีมือหรือไม่ อาทิ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขในกรณีผู้มีอาชีพนวดแผนไทย หรือใบอนุญาตขับขี่พร้อมอายุงานหรือประสบการณ์ในกรณีของผู้ขับรถประเภทที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาอีกประการหนึ่งคือ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือตามประกาศครั้งนี้มีเพียง 3 กลุ่มอาชีพซึ่งแยกออกเป็น 16 สาขาอาชีพ แต่ในความจริงแล้ว ยังมีช่างฝีมืออีกกว่า 200 สาขาอาชีพ ทั้งนี้ยังไม่นับพนักงานบริการอีกนับร้อยอาชีพซึ่งปรากฏในการสำรวจอัตราค่าจ้างรายอาชีพ (กรมการจัดหางาน ค่าจ้างรายอาชีพ ปี 2562) นอกจากนี้ ตามประกาศอัตราค่าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน วันที่ 11 สิงหาคม 2559 มีมาตรฐานฝีมือแรงงาน 46 สาขาอาชีพ ใน 4 กลุ่มอาชีพ

อีกประการหนึ่งผู้เขียนยังไม่เคยเห็นตัวเลขว่ามีแรงงานที่ได้รับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือว่ามีจำนวนเท่าใด ที่จริงกระทรวงแรงงานก็น่าจะเผยแพร่ไว้ด้วย (ในปี 2564 ไตรมาส 3 มีช่างฝีมือและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 3.96 ล้านคน และ ผู้ปฏิบัติงานฝีมือ ในด้านเกษตรป่าไม้ และประมง 11.87 ล้านคน ไม่ทราบว่า ในจำนวนนี้มีกี่คนที่ได้รับค่าจ้างตามอัตรามาตรฐานฝีมือ)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือกับค่าจ้างรายอาชีพที่สำรวจโดยกรมการจัดหางาน (2562) จากสำนักจัดหางาน 87 แห่งทั่วประเทศ ในอาชีพที่พอเทียบเคียงกันได้ จะเห็นว่า ในตัวอย่างที่ยกมา 10 อาชีพ อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือสูงกว่าอัตราค่าจ้างรายอาชีพเฉลี่ย (เป็นอัตราที่นายจ้างเสนอ) เกือบทุกรายการยกเว้นช่างออกแบบเครื่องเรือนไม้ (จำนวนเพียง 1 ตัวอย่าง) แต่ก็สูงกว่าช่างสีเครื่องเรือนไม้

ก็เอาใจช่วยว่าทำอย่างไรอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจะถึงมือแรงงานฝีมือมากขึ้น

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image