“ราชาของพวกเรา” โดย ปราปต์ บุนปาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งทรงมีพระราชปฏิสันถารกับนายวาเด็ง ปูเต๊ะ และภรรยา โดยมีนายธีรพจน์ หะยีอาแว ยืนด้านหลังนายวาเด็งทำหน้าที่ล่ามแปลภาษาพูดมลายูกับนายวาเด็งเป็นภาษาไทย(แฟ้มภาพ)

เพิ่งได้อ่านหนังสือ “มันยากที่จะเป็นมลายู” ของ ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน) ซึ่งปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่พยายามศึกษาทำความเข้าใจอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของชาวมลายูมุสลิมในชุมชนประมงขนาดกลางแห่งหนึ่ง ณ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

เนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้บรรยายถึงสภาวการณ์ที่คนมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผูกโยงตนเองเข้ากับ “สัญลักษณ์ร่วมของชาติไทย” คือ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” เอาไว้อย่างน่าสนใจ

จากคำบอกเล่าของศรยุทธ คนมลายูจะพากันเรียกขานยกย่อง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช” ว่าเป็น “รายอกีตอ” ซึ่งหมายถึง “ราชาของพวกเรา”

Advertisement

ยิ่งกว่านั้น สำหรับชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากรัฐและวัฒนธรรมส่วนกลาง การดูละครหลังข่าวของบรรดาแม่บ้านหลายคนต่างต้องหรี่เสียงทีวีให้เบาลง เพราะพวกเธอมักถูกตำหนิจากสามีหรือผู้เคร่งครัดศาสนาอิสลาม ถึงความไม่เหมาะสมของการเสพสื่อประเภทดังกล่าว

ทว่า การนั่งชม “ข่าวในพระราชสำนัก” ช่วงสองทุ่ม กลับถือเป็นพฤติกรรมที่มีความชอบธรรมของทุกคนในชุมชน

จากข้อมูลที่ศรยุทธบันทึกเอาไว้ หลายคนในชุมชนถึงกับเอ่ยว่า “เรามีรายอที่ดีอย่างนี้แล้ว แต่ทำไมรัฐบาลยังแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ได้”

Advertisement

รวมไปถึง “แบประทับใจจริงๆ ที่รู้ว่าในหลวงกับพระราชินีกะแจ๊ะนายู (พูดมลายู) ได้และยังเป็นภาษาถิ่นเสียด้วย”

ด้วยเหตุนี้ แม้จะมีข้อห้ามทางศาสนา มิให้มีรูปเคารพใดๆ นอกเหนือจากพระเจ้า แต่แทบทุกบ้านในชุมชนก็ยังพยายามจัดหาปฏิทินซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” มาติดอยู่บนฝาบ้านในตำแหน่งที่เหมาะสม

และปฏิทินจำนวนมากมักจะนิยมพิมพ์คำว่า “รายอกีตอ” เอาไว้

ศรยุทธเขียนเล่าเพิ่มเติมอีกว่า “กำไลยางเรารักในหลวง” ก็ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญอีกหนึ่งประเภท ที่ชาวมลายูในชุมชนใช้ในการเชื่อมโยงตนเองเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์

ถึงแม้สัญลักษณ์ประเภทนี้จะเป็นที่นิยมสวมใส่กันในหมู่เด็กชาย ผู้ยังไม่ได้เข้าพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ และเด็กชายหญิงที่ยังไม่เข้าโรงเรียนตาดีกา

แต่น่าสังเกตว่า เวลาคนในชุมชนจะเดินทางเข้าไปในตัวเมืองหรือไปทำธุระที่กรุงเทพมหานคร พวกเขาและเธอ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ มักเลือกซื้อ “กำไลยาง” เส้นใหม่ใส่ติดข้อมือไปด้วยเสมอ

เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่เดินทางข้ามไปทำงานยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีพฤติกรรมการซื้อ-ใส่ “กำไลยาง” ในลักษณะเดียวกัน

พวกเขาและเธออธิบายเหตุผลในการใส่ “กำไลยางเรารักในหลวง” ให้ศรยุทธฟังว่า “เราเป็นคนไทย คนไทยที่อื่นใส่กันเมื่อมีโอกาส (ในเชิงสถานที่) เราก็ต้องใส่”

เรื่องเล่าเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชนั้น เดินทางไปกว้างไกล และผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวันของสามัญชน จนเกิดเป็นความรักความเคารพอย่างลึกซึ้ง เพียงใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image