อย่าผลักผู้ที่ต้องการปฏิรูปให้เป็นพวกล้มล้าง

เมื่อ 90 ปีก่อน ในวันที่ 30 มิถุนายน 2475 พระยามโนปกรณนิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎรได้นำกรรมการราษฎรอีก 3 คน และปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ เข้าเฝ้าสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีบันทึกการเข้าเฝ้าที่จดไว้อย่างละเอียด เกษียร เตชะพีระ ได้อ่านบันทึกแล้วมีความเห็นว่า พระราชดำรัสที่เป็นสาระสำคัญในวันนั้นมี 2 ประการคือ 1) ทรงรู้สึกเสียใจที่ประกาศของคณะราษฎรฉบับที่ 1 ได้กล่าวหาร้ายกาจมากมายอันไม่ใช่ความจริงเลย 2) ทรงทราบข่าวเรื่องจะยึดเงิน ไม่ทราบว่าจะทำจริงหรือไม่เพียงไร ถ้าจะริบ ทรงขอลาออกเสียก่อน เพราะจะยอมร่วมมือริบทรัพย์ญาติด้วยไม่ได้ และจะให้ถอดเจ้านั้น ทำไม่ได้เป็นอันขาด ที่จะให้เจ้ามีน้อยก็ทรงเห็นด้วย เพราะเดี๋ยวนี้ก็มีมากนัก แต่จะถอดถอนไม่ได้ ต้องปล่อยให้ตายไปเอง มีพระราชดำรัสว่า “ในสองอย่าง เป็นไม่ยอมทำ คือ ริบทรัพย์กับถอดเจ้า”

เกษียรกล่าวว่า นี่คือเส้นคั่นสองเส้นที่ห้ามล้ำ นี่คือเงื่อนไขการประนีประนอมของพระองค์ เส้นคั่นเมื่อ 90 ปีก่อนคือ ต้องไม่มีการกล่าวหาร้ายกาจอันไม่ใช่ความจริง และต้องไม่ริบทรัพย์และถอดถอนพระบรมวงศานุวงศ์ออกจากฐานันดรศักดิ์ เส้นคั่นอาจขยับเลื่อนบ้างตามกาลเวลาและบริบทของสังคม แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบัน เส้นคั่นจะเลื่อนไปมากเหลือเกิน คือไม่ใช่ห้ามการกล่าวหาร้ายกาจ หากกำลังจะกลายเป็นว่า ห้ามวิจารณ์แม้ด้วยเหตุผล ห้ามพาดพิงในทางลบแม้แต่กษัตริย์ในอดีต ห้ามทำอะไรที่ไม่ใช่การเคารพเทิดทูน ฯลฯ เมื่อ 90 ปีก่อน พระเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดเส้นคั่น มาบัดนี้ สงสัยว่าใครคือผู้กำหนด รัฐบาล ศาล หรือใครก็ตามที่ต้องการแสดงว่าตนนิยมสถาบันเจ้าแบบสุดโต่ง (ultraroyalist) ก็ไปแจ้งความกล่าวหาได้ว่ามีการละเมิดสถาบันฯ

หนังสือพิมพ์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ลงข่าวว่ามีการจับกุมบุคคล 3 คน ด้วยข้อหาทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยการแต่งตัวหรือโดยมีส่วนร่วมในการจัดทำวีดิทัศน์เลียนแบบบุคคลชั้นสูง ก่อนหน้านี้มีการวิจารณ์ในหน้าข่าวว่าวีดิทัศน์ดังกล่าวไม่เหมาะสมเพราะไม่เคารพผู้พิการ ภายหลังการจับกุม ทั้งหมดถูกนำตัวมาสอบปากคำและแจ้งข้อกล่าวหาที่ศูนย์รับแจ้งความ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นอกจากนี้ ยังแจ้งข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แก่ผู้ที่ถูกจับกุมคนหนึ่งอีกข้อหาหนึ่งด้วย ต่อมา รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รองผบก.ปอท.) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า การจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย สืบเนื่องจากกรณีที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาที่ได้ร่วมกันผลิตและเผยแพร่สื่อโฆษณาที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในตอนบ่ายของวันที่ 16 มิถุนายน ศาลอาญามีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 3 คน โดยใช้หลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 90,000 บาท และกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการในลักษณะหรือทำนองเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก และให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ข้อน่าสังเกตคือ มาตรา 112 บัญญัติว่า  “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ถ้ามีการล้อเลียนจริง จะเข้าข่าย “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย” หรือไม่ และผู้ถูกล้อเลียนที่ “เป็นบุคคลชั้นสูง” จะใช่ “พระมหากษัตริย์หรือพระราชินี” หรือไม่ (เท่าที่ทราบ ยังไม่มีการแต่งตั้งรัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) แต่ปัจจุบัน ตำรวจมักตีความว่า สิ่งใดที่อาจกระทบกระเทือนต่อ “บุคคลชั้นสูง” ถือว่าเข้าข่ายดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว

Advertisement

อย่างไรก็ดี นักกฎหมายมักบอกว่า ในความผิดทางอาญาที่มีการลงโทษโดยการจับคนเข้าคุกนั้น ต้องตีความอย่างเคร่งครัด ทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สมตามคำกล่าวที่ว่า “ปราศจากข้อสงสัย” (beyond the doubt) การใช้มาตรา 112 โดยขยายความจาก “พระมหากษัตริย์ พระราชินี” เป็น “สถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นนามธรรมและครอบคลุมในวงกว้าง คือกว้างกว่าสองพระองค์ที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายนั้น เหมาะสมหรือไม่ การใช้มาตรา 112 เช่นนี้อาจถูกมองว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมือง นั่นคือ ยึดหลักกฎหมายน้อยกว่าหลักการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง

ในวันเดียวกัน ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตนว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสถานีตำรวจนครบาล ดุสิต ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ให้ตนไปพบคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เนื่องจากเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยหมายเรียกดังกล่าวให้ไปพบคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนในวันที่ 12 มิถุนายน แต่เนื่องจากตนและทนายความติดภารกิจ จึงขอเลื่อนไปเป็นวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน เวลา 10.00 น.

ปิยบุตรระบุในเฟซบุ๊กว่า “ผมนำเสนอความเห็นทางวิชาการ เขียน อภิปราย เกี่ยวกับประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั้งในระดับรัฐธรรมนูญและระดับพระราชบัญญัติอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ตั้งแต่สมัยยังเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเข้าสู่แวดวงการเมือง ตลอดเวลากว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบัน ไม่มีการแสดงความเห็น การเขียน การพูดของผมครั้งใดที่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างแน่นอน”

Advertisement

ปิยบุตรยังระบุอีกว่า ตนแสดงความเห็นในเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ก็ด้วยจิตสำนึกและเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เพื่อรักษาประชาธิปไตย และรักษาสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่รอดปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและกำลังเผชิญกับความท้าทายของยุคสมัย ไม่มีความเห็นใดที่ต้องการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ไม่มีความเห็นใดที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มีแต่ความเห็นที่ปรารถนาดีต่อสังคมไทย ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้ทุกคนทุกรุ่นทุกวัย ทุกความคิดเห็นที่แตกต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ โดยยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้ต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ปิยบุตรได้วิเคราะห์มาตรา 112 ผ่านทางเฟซบุ๊กคณะก้าวหน้า สรุปเป็นความเห็นได้ว่า

1) มาตรานี้อยู่ในหมวดของความมั่นคงในราชอาณาจักร ทำให้แนวทางการวินิจฉัยคดีเป็นเรื่องของการควบคุมอาชญากรรมมากกว่าการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน

2) มาตรานี้มีอัตราโทษที่สูงถึง 3-15 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่สูงเกินไป สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ลงโทษไม่เกิน 7 ปี และยังเป็นอัตราโทษหมิ่นประมาทที่สูงที่สุดในโลก

3) มีการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ประกอบกับเจ้าหน้าที่มักไม่ยอมใช้ดุลพินิจ แต่เลือกที่จะสั่งฟ้องไว้ก่อน นำไปสู่การกลั่นแกล้งและการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกได้ด้วย

4) มีการใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวาง ผิดกับประเทศอื่นที่ไม่ถูกนำมาใช้ หรือหากนำมาใช้ก็มีเพียงโทษปรับเท่านั้น

5) เป็นกฎหมายที่มีการตีความอย่างกว้างขวางจนไร้มาตรฐาน ขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองมากกว่ากระบวนการยุติธรรม

ขณะที่เขียนบทความนี้ ยังไม่ทราบว่ากรณีนี้ จะเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ “เจ้าหน้าที่ไม่ยอมใช้ดุลพินิจ แต่เลือกที่จะสั่งฟ้องไว้ก่อน” ตามที่ปิยบุตรวิจารณ์ไว้หรือเปล่า

ขอย้อนกลับไปอ้างอิงเกษียรอีกครั้ง เขาเคยตั้งคำถามเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นพลังทางศีลธรรมหรือพลังทางการเมือง ในสังคมไทย เรามักเชื่อว่าพลังทางศีลธรรมอยู่กับสถาบันสงฆ์ เชื่อกระทั่งว่าหากกษัตริย์ทำอะไรผิดพลาด พระสงฆ์อาจใช้ทศพิศราชธรรมเพื่อถวายคำเตือนแก่กษัตริย์ได้ แต่เวลานี้สถาบันสงฆ์ถอยเข้าสู่เรื่องศีลธรรมส่วนบุคคล เทศน์ในเรื่องศีล 5 เป็นส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยพูดเรื่องศีลธรรมสาธารณะหรือศีลธรรมส่วนรวม มีน้อยรูปที่ทำ และบางรูปที่ทำ เช่น ท่านพุทธทาส จึงเด่นมาก

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงบำเพ็ญการเป็นพลังทางศีลธรรมสาธารณะอย่างเด่นชัดมาก เนื้อหาพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทนั้น เป็นเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับบ้านเมือง เกี่ยวกับส่วนรวม เกี่ยวกับศีลธรรมสาธารณะ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เช่น ควรจะรักสามัคคี ไม่ควรจะแตกแยกกัน เป็นการให้คติ ข้อคิด ข้อปฏิบัติต่อส่วนรวม ขณะเดียวกัน พระราชจริยวัตรของพระองค์เป็นพลังอ่อน (soft power) ทางการเมืองด้วย แต่ก็สามารถเปล่งพลานุภาพได้ในยามจำเป็นของบ้านเมือง กระนั้น ทรงระมัดระวังอยู่เสมอที่จะดำรงไว้ซึ่งระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)

อันที่จริงรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจที่เป็นของปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ เช่น ทรงขอให้แก้ไขมาตรา 107 แห่งรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2517 ที่บัญญัติให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา โดยเปลี่ยนเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองแทน เพื่อพระองค์จะได้ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับวุฒิสภาที่เป็นองค์กรการเมือง ต่อมา เมื่อมีผู้เสนอให้ทรงอาศัยมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญที่ให้ใช้ประเพณีการปกครองเพื่อแต่งตั้ง “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้ใช้ พระองค์ไม่ทรงตอบสนองข้อเสนอดังกล่าว เพราะไม่ใช่กรณีที่จะอ้างประเพณีการปกครองได้

เราอาจตั้งคำถามว่า พระราชอำนาจของกษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง ในเรื่องนี้ นักวิชาการมักอ้างราชาธิปไตยของอังกฤษ และยึดถือหนังสือชื่อ “รัฐธรรมนูญอังกฤษ” เขียนโดย วอลเตอร์ เบจิฮอท ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2410 และดูเหมือนว่ายังจะใช้ได้ในปัจจุบัน เบจิฮอทกล่าวถึงพระราชอำนาจในฐานะที่เป็นสิทธิของราชาธิบดี ที่ทรงครองราชย์แต่ไม่ปกครอง (reign but not rule) ว่ามี 3 ประการคือ

1) สิทธิที่จะทรงให้คำปรึกษาหารือ (the right to be consulted)

2) สิทธิที่จะทรงให้กำลังใจ (the right to encourage) และ

3) สิทธิที่จะทรงตักเตือน (the right to warn)

ในประเทศไทย การใช้มาตรา 112 มีมากเหลือเกิน โดยมีการดำเนินคดีเกิดขึ้นกว่า 150 คดีแล้ว ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มประชาธิปไตยทั่วโลก ที่เริ่มมองว่าการหมิ่นประมาทระหว่างบุคคลธรรมดาเป็นปัญหาระหว่างผู้หมิ่นกับผู้ถูกหมิ่น ผมเคยอ่านจากวรรณกรรมของยุโรปหรืออเมริกาว่า ในอดีต วิธีที่ไม่เป็นอารยะคือการให้โอกาสผู้ถูกหมิ่นท้าดวลกับผู้หมิ่น ก็ดีที่เขาเลิกใช้วิธีนี้แล้ว แต่ยังให้โอกาสผู้ถูกหมิ่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ โดยไม่ถือเป็นคดีอาญาแผ่นดิน ในกรณีการหมิ่นประมาทประมุขของประเทศของเราเองหรือของประเทศอื่น อาจมีการลงโทษจำคุกแบบลหุโทษและหรือมีโทษปรับ ทั้งนี้เพื่อการป้องปราม ถ้าเป็นเพียงการล้อเลียนหรือการวิพากษ์วิจารณ์ธรรมดา ก็มักไม่ดำเนินคดี เพราะถือว่าเป็นการใช้สิทธิในการแสดงออก แต่ถ้าเป็นการ “กล่าวหาร้ายกาจ” จึงดำเนินคดี กระนั้นก็ไม่ค่อยเกิดคดีความกันสักเท่าไร และดูเหมือนการป้องปรามจะได้ผลโดยไม่ต้องใช้วิธีปราบปราม

ผมมีความเห็นว่าควรจะแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 พร้อมทั้งนโยบายและข้อปฏิบัติในการดำเนินคดี เพื่อลดโอกาสการถูกใช้ไปในทางการเมืองและสร้างความแตกแยกในสังคม ขณะเดียวกันก็ควรสร้างความเห็นพ้องต้องกันว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพลังทางศีลธรรมสาธารณะได้ ดังที่พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพลังทางการเมืองได้ โดยทรงใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญและใช้สิทธิของพระองค์ เช่น สิทธิ 3 ประการดังกล่าวข้างต้น

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้อ่านข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เราอาจไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ แต่ถ้าข้อใดมีเหตุผลก็น่าที่จะรับไว้พิจารณาดำเนินการ แทนที่จะปฏิเสธทุกข้อ พร้อมทั้งดำเนินคดีกับผู้ตั้งข้อเสนอ โดยมี mindset ว่า ผู้ใดเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันฯ ผู้นั้นคือผู้ประสงค์แอบแฝงที่จะล้มล้าง แม้ผู้เสนอจะปฏิเสธว่าไม่ต้องการระบอบสาธารณรัฐสักเพียงใด ฝ่ายนิยมระบบเจ้าแบบสุดโต่งก็จะไม่ฟัง การไม่ยอมประนอมแม้เมื่อมีเหตุผล และการใช้การปราบปรามจะไม่สามารถเปลี่ยนความคิดได้ แต่จะผลักไสพลเมืองจำนวนหนึ่งให้ห่างเหินออกไปมิใช่หรือ

โคทม อารียา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image